
“โอลิมปิก” มหกรรมที่ชาวโลกมีส่วนร่วมมากที่สุด หลากหลาย เชื้อชาติ ชนชั้น ความฝัน ภาพจำและบทตำนาน โดยเฉพาะ โอลิมปิก 2024 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ที่ได้สร้างความประทับใจในมิติต่างๆ ที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
1. สนามแข่งอลังการยั่งยืน
ความรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ถูดอวดโฉมผ่าน “สนามจัดการแข่งขัน” อาทิ สวนหน้าพระราชวังแวร์ซาย ถูกเนรมิตรให้เป็น สถานที่จัดการแข่งขันขี่ม้าประเภทต่าง ๆ และกีฬาปัญจกีฬาสมัยใหม่ (modern pentathlon)
สนามกีฬาแห่งนี้ได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะเพื่อให้พระราชวังเป็นฉากหลังสำหรับกล้องโทรทัศน์ ส่วน “กร็องปาแล” สิ่งก่อสร้างที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของกรุงปารีส ในฐานะสถานที่ใช้จัดงานมหกรรม นิทรรศการศิลปะ ถูกใช้เป็นที่จัดแข่งขันกีฬาฟันดาบ และเทควันโด
ภายใต้ความงดงามตระการตาของการนำสถานที่สำคัญของเมืองมาจัดเป็นสนามกีฬานั้น ทางฝรั่งเศสได้นำแนวคิด “Sustainable” หรือ แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาปรับใช้ โดยยึดการใช้พื้นที่ดั้งเดิมให้เกิดประโยชน์
อาทิ การใช้สนามแข่งขันชั่วคราวกลางแจ้ง ในสวนสาธารณะช็องเดอมาร์ส ซึ่งมีด้านหลังเป็น “หอไอเฟล” แลนด์มาร์กอันโด่งดังของประเทศ นอกจากนั้นยังได้เลือกใช้ย่านที่จนที่สุดในกรุงปารีสมาเป็นหมู่บ้านนักกีฬาเพื่อเป็นการเพิ่มมูลค่า พื้นที่จึงได้ทั้งความงดงามและได้พัฒนาเศรษฐกิจไปในตัวโดยที่ไม่ต้องสร้างสนามใหม่ซึ่งสิ้นเปลืองงบประมาณ
2. พิธีเปิด โชว์ปารีสให้โลกจำ
พิธีเปิดโอลิมปิกครั้งนี้จัดขึ้นนอกสนามกีฬาเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โอลิมปิกสมัยใหม่ เพื่อแสดงหนึ่งในมรดกทางวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส นั่นคือ นครปารีส
โดยนำนักกีฬา 6,800 คน ขึ้นเรือล่องไปตามแม่น้ำแซนในระยะทาง 6 กิโลเมตร ผ่านสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของปารีส อย่าง “ศาลาว่าการกรุงปารีส”( France Grand Tour ),มหาวิหารนอเทรอดาม” (Notre Dame Cathedral) ,“พิพิธภัณฑ์ลูฟว์” (Louvre Museum ) ,“จตุรัสคองคอร์ด” (PLACE DE LA CONCORDE),“พิพิธภัณฑ์ออร์เซ” (Musée d’Orsay or The Orsay museum),“หอไอเฟล” (Eiffel Tower) ฯลฯ
แทรก ด้วยโปรแกรมศิลปะซึ่งแบ่งออกเป็น 12 องก์สะท้อนถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศส ผลตอบรับมีทั้งส่วนที่ชื่นชมส่วนศิลปะ การแสดงดนตรี และการแสดงปิดท้าย แต่วิพากษ์วิจารณ์ความยาวของพิธี และดราม่าในการแสดงบางองก์ หนังสือพิมพ์ Le Monde แห่งฝรั่งเศส มองว่าเป็น “การแสดงที่เหมือนความฝัน” ที่แสดงให้เห็นถึงประเทศที่ “เปิดกว้าง” และ “ไม่กลัวความขัดแย้ง”
3. อภิมงลง แม่เซลีน
“เซลีน ดิออน” ดีว่าระดับตำนาน จากแคนาดาส่งพลังเสียงจากหอไอเฟล ในเพลง ”Hymne A L‘Amour”(อีมอาลามูร์ :สดุดีความรัก )อายุ 75 ปี ของ “เอดิต ปียัฟ” (Édith Piaf) นักร้องผู้ยิ่งใหญ่ของฝรั่งเศส เนื้อเพลงแสดงถึงความรักและความทุ่มเทอย่างลึกซึ้ง สอดคล้องกับสไตล์โรแมนติกแบบปารีเซียง และสำหรับเซลีน ดิออน นี่คือ การกลับคืนสู่การร้องเพลงที่สร้างความปีติน้ำตารื้นตื้นตันไปทั่วโลก หลังจากที่เธอต้องเผชิญกับโรคร้ายและรักษาตัวอยู่นาน
4. ชุดพิธีการ ท้องถิ่นต้องอินเทรนด์
เป็นหนึ่งในไฮไลต์ที่ทำให้คนไทยทั่วประเทศหันมาสนใจการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ในปีนี้กันอย่างคึกคัก เมื่อเกิดการเปิดตัวชุดพิธีการโอลิมปิกของประเทศต่าง ๆ ที่ซึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากแบรนด์ดังและดีไซเนอร์ชั้นนำ เพื่อนำเสนอเอกลักษณ์ที่หลากหลายของประเทศที่เข้าร่วม บอกเล่าเรื่องราวของประเพณี ความคิดสร้างสรรค์ และความภาคภูมิใจของชาติอย่างมีรสนิยมในระดับสากล
โดย “มองโกเลีย” ได้รับกระแสความชื่นชมอย่างล้นหลามเนื่องจากมีการสอดแทรกสัญลักษณ์ต่าง ๆ ทางวัฒนธรรมของพวกเขาเอาไว้ โดยดีไซน์เนอร์ “Michel & Amazonk” ส่วนประเทศอื่น ๆ ที่เข้าตา อาทิ ไต้หวัน สาธารณรัฐเช็ก เอสโทเนีย เฮติ แคนาดา อียิปต์ ไนจีเรีย เยอรมัน และเกาหลีใต้ ส่วนเจ้าภาพฝรั่งเศสเอง ก็เปิดตัวชุดซึ่งใส่สีธงชาติลงไปผสมผสานกันอย่างเรียบหรูและลงตัวเช่นกัน
นอกจากแฟชั่นของเหล่านักกีฬาแล้ว ยังมีแฟชั่นแบบจัดหนักจัดเต็มของกองเชียร์แต่ละประเทศ ที่เรียกได้ว่ามองจากอีกเมืองยังรู้ว่ามาเชียร์ใคร อย่างเช่น ผู้ชมชาวฝรั่งเศสที่ได้ใส่ชุดโมนาลิซ่ามาเจ้าชมการแข่งขันกลางแจ้ง หรือแม้แต่ผู้ชมชาวออสเตรเลีย ได้ได้คอนเพลย์เป็นจิงโจ้ สัตว์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในชาติของพวกเขา นับเป็นอีกหนึ่งสีสันที่สร้างรอยยิ้มให้แก่โอลิมปิกปีนี้ได้เป็นอย่างดี
5. วิวาห์แบรนด์หรู
ปารีส ฝรั่งเศส ได้ประกาศการแต่งงานสินค้าหรูหรา และ กีฬาโอลิมปิก เป็นครั้งแรก หลังจากที่ผู้สนับสนุนหลักในช่วงที่ผ่านมามักเป็น รองเท้ากีฬา น้ำอัดลม รถยนต์ จะมีก็แต่ Omega นาฬิกา ผู้จับเวลาอย่างเป็นทางการเท่านั้น
แต่ในโอลิมปิก 2024 “LVMH” ยักษ์ใหญ่ด้านสินค้าหรูหรา ได้ลงทุน 150 ล้านยูโร เพื่อสนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ เราจึงได้เห็น “Moët Hennessy” จะเสิร์ฟไวน์ แชมเปญ และคอนยัคให้กับแขก VIP ถาดเชิญเหรียญรางวัลของ “Louis Vuitton” เป็นต้น
แรงดึงดูดสำคัญ ของการเข้ามาทำตลาดในมหกรรมโอลิมปิก นอกเหนือจากความเป็นนครแห่งวัฒนธรรมของปารีสแล้ว โอลิมปิก 2024 ยังมีสัดส่วนจำนวนนักกีฬาหญิงเพิ่มขึ้นจนเทียบเท่านักกีฬาชาย มุมมองที่ว่า กีฬาส่งเสริมแรงบันดาลใจ อุดมคติ และไลฟ์สไตล์ของชนชั้นกลางทั้งหมดซึ่งเป็นเป้าหมายของแบรนด์หรู แม้กระทั่งการชดเชยยอดขายที่ตกต่ำลงในตลาดเมืองจีน
6. 1,200 มื้อ มิชลินสตาร์ และไวรัลมัฟฟิน
เมื่อการกินแบบฝรั่งเศส คืออีกหนึ่งสุดยอดมรดกทางวัฒนธรรม เชฟมิชลินสตาร์ 4 คน จึงเข้ามารับหน้าที่เป็นผู้เข้ามาเตรียมอาหารในหมู่บ้านนักกีฬา โดยทำงานร่วมกับนักโภชนาการด้านกีฬา ร้านอาหารขนาด 3,500 ที่นั่งได้รับการสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมดเพื่อให้บริการอาหารจากทั่วทุกมุมโลก
โดย 1,200 จาก 40,000 มื้ออาหารในแต่ละวันจะเป็นอาหารระดับมิชลินสตาร์ เมนูประมาณ 30% ของการแข่งขันจะเป็นแบบมังสวิรัติ จากการเฝ้าสังเกต ไก่เสียบไม้หรือเนื้อไก่เป็นอาหารยอดนิยม เช่นเดียวกับแซลมอน เพราะให้โปรตีน ส่วนทีมแบดมินตันส่วนใหญ่มาจากเอเชียไม่ชอบขนมปังมากนัก
อร่อยจนเป็นไวรัลดูจะเป็นคำที่นิยามสถานการณ์ด้านอาหารการกินภายในหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกในขณะได้เป็นอย่างดี ภายหลังจากที่ ‘เฮนริก คริสเตนเซ่น’ (Henrick Christiansen) นักกีฬาว่ายน้ำทีมชาตินอร์เวย์ได้ถ่ายคลิปรีวิว “Muffin Chocolate” ภายในหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งเขาได้บอกว่ามันอร่อยมาก ๆ และได้ทำคลิปเกี่ยวกับการกินขนมชนิดนี้ จนเกิดการสถาปนาตนเองเป็น “Muffin Man” ซึ่งทำเอาเหล่านักกีฬาคนอื่น ๆ ต่างแห่กันไปลองชิมมัฟฟินดังกล่าวพร้อมกับยืนยันความอร่อยแสงออกปากของเจ้ามัฟฟินนี้ผ่านโซเชียลมิเดียของตนกันอย่างล้นหลาม
7. แปลงนักกีฬา เป็น คอนเทนต์ครีเอเตอร์
หนึ่งในการตัดสินใจที่ยอดเยี่ยมที่สุด คือ การที่สปอนเซอร์อย่างซัมซุงได้มอบโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ “Galaxy Z Flip6 Olympic Edition” ให้เหล่านักกีฬาโอลิมปิก 2024 เกือบ 17,000 เครื่อง และมีการอนุญาตให้นักกีฬาสามารถเซลฟี่ในสนาม การแข่งขันได้
ผลก็คือ บรรดานักกีฬาพร้อมใจกันเป็น “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” ชนิดที่นักข่าวไม่ต้องทำข่าวอยู่ฝ่ายเดียว นักกีฬาก็ไม่ต้องรอไมค์ รอกล้องสำนักข่าว ก็สามารถผลิตคอนเทนต์แบบ “เรียลไทม์” ไหลออกมาไม่ขาดสาย พวกเขาช่วยกันถ่ายทำคอนเทนต์ชีวิตความเป็นอยู่ในหมู่บ้าน นักกีฬากันอย่างคึกคักเป็นครั้งแรกจนเกิดเป็นไวรัลมากมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาหารภายในหมู่บ้าน การแลกพิน รวมถึงน้ำใจนักกีฬาและมิตรภาพระหว่างเหล่านักกีฬาเมื่อเวลาขึ้นรับเหรียญรางวัล
ตัวอย่างที่เห็นอย่างชัดเจนสำหรับคนไทย คือ “เทนนิส-ภาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” ตระเวนถ่ายคลิปในหมู่บ้านนักกีฬา มาลงอย่างสนุกสนาน มีขีวิตชีวา หรือ “จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง” ถ่ายภาพตัดผมทรงใหม่ในบิวตี้ซาลอน พร้อมแคปชั่นแบบน่ารักๆ “เอิ่ม ! ตัดผมรอไปรับเหรียญค้าบ ช่างก็เนรมิตมาซะไม่ดูหน้าเลย”
8. มีมนักกีฬาสร้างไวรัล
เพราะในโลกโซเชียลทุกสิ่งคือมีมไม่เว้นแม้แต่ภาพเท่ ๆ ขณะการแข่งขันของนักกีฬาโอลิมปิกที่เรียกได้ว่านอกจากฝีมือแล้วนั้นท่าทางและสีหน้าของพวกเขายังได้สร้างรอยยิ้มให้แก่ผู้เข้าชมหลายต่อหลายคน
ไม่ว่าจะเป็นท่ายิงปืนของ “ชเว แทฮัน” ที่มีท่าทางการเล็งองศาอันเป็นเอกลักษณ์ จนชาวไทยต่างพากันแซวท่าทางนั้นของเขาว่า “แอ่นระแนง”(ตามชื่อเพลง) นอกจากนั้นยังมีการตัดต่อแสนฮาของ “เท่ง เถิดเทิง” ที่ผ่านตาผู้คนไปแล้วราว 30 ครั้ง จนแพลตฟอร์ม X ต้องออกแถลงว่าภาพดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดกันเลยทีเดียว
9. ชุมนุมตำรวจโลก
บรรดานักท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่งชาวปารีสเอง คงจะรู้สึกแปลกตา ที่เห็น กองกำลังทหาร และตำรวจ ในชุดเครื่องแบบต่างๆ ที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ฝรั่งเศส เฝ้าระวัง และลาดตระเวนตามท้องถนนในปารีสอย่างคึกคัก นั่นก็เป็นเพราะ เจ้าภาพฝรั่งเศส ได้ร้องขอให้ประเทศต่างๆ ส่งกองกำลังเข้ามาร่วมรักษาความสงบ ซึ่งได้รับการการตอบรับจาก ประเทศต่างๆ
อาทิ สเปน สหราชอาณาจักร และเยอรมนี รวม 40 ประเทศ ส่งตำรวจ และทหาร 1,750 นาย มาช่วย ร่วมกับตำรวจและตำรวจฝรั่งเศสอีกราว 35,000 นายโดยเฉพาะ สหราชอาณาจักร ได้ส่งหน่วยทหารพร้อมขีปนาวุธประทับบ่า ต่อต้านอากาศยาน มาร่วมปฎิบัติภารกิจ
10. โอลิมปิก คอร์บอนต่ำ
ผู้จัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ได้ให้คำมั่นว่าการแข่งขันครั้งนี้จะเป็น “การแข่งขันที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา” โดยจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ลอนดอนในปี 2012 และริโอในปี 2016 ลงได้ครึ่งหนึ่ง จากค่าเฉลี่ย 3.5 ล้านตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือเพียง 1.75 ล้านตัน
ฝรั่งเศสเน้นการใช้สนามกีฬาที่มีอยู่แล้วแทนที่จะดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารโอลิมปิกขนาดยักษ์เหมือนในอดีต ในกรณีที่ต้องการการก่อสร้าง คือการสร้างสิ่งก่อสร้างที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างไม้ คอนกรีตปล่อยคาร์บอนต่ำ ไปจนถึงการขนส่งเศษหินลงมาตามแม่น้ำด้วยเรือลากจูงแทนที่จะเป็นรถบรรทุก
รวมถึงเรื่องที่กล่าวถึงกันมากคือ หมู่บ้านกีฬาไม่มีเครื่องปรับอากาศ แต่หันไปใช้ฉนวนกันความร้อนและม่านบังแดดประสิทธิภาพสูง รวมถึงระบบประปาใต้พื้นแบบกลับด้านที่เชื่อมต่อกับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพในท้องถิ่น ซึ่งดึงน้ำเย็นจากใต้พื้นดินในช่วงฤดูร้อนและดึงความร้อนจากใต้ดินในช่วงฤดูหนาว
11. กีฬา Gen-Z จูเนียร์
แม้ว่าโอลิมปิก 2024 จะมี Gen-Z (อายุ 12-27 ปี )จำนวนมากเข้าร่วมการแข่งขัน แต่ สเก็ตบอร์ด คือแหล่งรวมนักกีฬาที่อายุน้อยที่สุด นอกจากจะเป็นกีฬาชุมนุม Gen-Z ระดับ จูเนียร์แล้ว สเก็ตบอร์ดยังเป็นกีฬาหลากสีสันเครื่องแต่งกายที่สดใสอีกด้วย อริซา ทรูว์ นักสเกตบอร์ดจากออสเตรเลีย วัย 14 ปี คว้าเหรียญทอง จากการลงแข่งขันในประเภทประเภท Women’s Skateboarding Park Final
ขณะที่เหรียญเงินเป็นของ ฮิรากิ โคโคน่า (15)จากญี่ปุ่น และเหรียญทองแดงเป็นของ สกาย บราวน์ (16)จากสหราชอาณาจักร เช่นเดียวกับ”น้องเอสที” วารีรยา สุขเกษม สาวน้อยวัย 12 ปี เป็นนักกีฬาไทยที่อายุน้อยที่สุด ที่ได้เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โดยแข่งในประเภทสเก็ตบอร์ดประเภทสตรีทหญิงที่ Place de la Concorde ที่กรุงปารีส ซึ่งจะเป็นประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่ บนเส้นทางอันอีกยาวไกลของเธอ
12. กีฬา Boomers
ส่วนกีฬาที่ทำสถิติ นักกีฬาที่มีอายุมากที่สุดเข้าร่วมคือ กีฬาขี่ม้า ซึ่งมีนักกีฬาช่วงวัย Boomers (60-67) เข้าร่วม ได้แก่ ฮวน อันโตนิโอ เจมิเนซ(65) จากเสปญ , โรฟ โกราน แบงสัน (62) จากสวีเดน ,ไพอัส ชไวเซอร์ (61)จากสวิสเซอร์แลนด์ ถัดจากนี้ เข้าสู่โซน Gen X ได้แก่ สองนักกีฬาขี่ม้า และหนึ่งนักเทเบิลเทนนิส คือ มาริโอ เดสลอริเออร์ (59) จากแคนาดา ,สตีเฟน ปีเตอร์ส (59) จากสหรัฐฯ และเจิ้ง จื้ออิง(58) นักเทเบิลเทนนิส จากทีมชาติชิลี
13. เปิดประตู Intersex ในโอลิมปิก
กลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ถูกจับตามองมาที่สุดในการแข่งขันกีฬามวยสากล หญิง ที่เกิดเป็นดราม่าใหญ่เมื่อในวันที่ 1 สิงหาคม “อิมาน เคลิฟ” นักชกจากแอลจีเรีย สามารถเอาชนะ “แองเจลา คารินี” นักชกหญิงชาวอิตาลี ได้ภายใน 46 วินาที เหตุเกิดจากการที่แองเจลาขอถอนตัวเนื่องจากเธอถูกชกเข้าที่ใบหน้าและบอกว่ามันเป็นหมัดที่หนักมากที่สุดในชีวิตที่เธอเคยเจอ
ประเด็นดังกล่าวกลายเป็นข้อพิพาทเรื่องการตรวจเพศ และประเด็นเรื่องของ Intersex (ผู้ที่มีภาวะซับซ้อนทางเพศหรือมีสองเพศในคนเดียว) ซึ่งในอดีตจะต้องมีการตรวจเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด และทางผู้เข้าแข่งขันที่เป็น Intersex นั้นจะต้องกินยาระงับฮอร์โมนเพศชายหรือเข้ารับการผ่าตัดแปลงเพศแล้วเท่านั้น จึงจะสามารถเข้าแข่งขันได้
อย่างไรก็ตามประเด็นอ่อนไหวนี้ยังคงเป็นข้อโต้เถียงไปอีกยาวๆ การตรวจอย่างเคร่งครัดได้รับการโต้แย้งว่าไม่เป็นธรรมกับผู้มีความผิดปกติ และ อิมาน เคลิฟ สามารถแข่งขันได้ต่อไป จนคว้าเหรียญทองได้ในที่สุด
14. ส่องกล่องปริศนา : ปารีสจะตามคุณไป
เชื่อว่านี่อาจเป็นอีกหนึ่งในไฮไลต์ที่ผู้ชมอาจสงสัยว่าข้างในมีอะไรกันแน่ในเจ้ากล่องยาว ๆ ที่นักกีฬามักจะได้รับตอนขึ้นเหรียญรางวัล ซึ่งหากทุกท่านกำลังขมวดคิ้วสงสัยอยู่วันนี้เรามีคำตอบมาให้ทุกท่านแล้วว่าแท้จริงแล้ว ภายในกล่องนั้นคือภาพโปสเตอร์อย่างเป็นทางการของโอลิมปิก 2024 ผลงานของ “อูโก แกตโตนี” (Ugo Gaton) ที่ได้ใช้เวลาวาดถึง 4 เดือน โดยมีแนวคิดงานเป็น “Games Wide Open” นอกจากความพิเศษของโปสเตอร์นี้แล้ว ฝรั่งเศสยังได้เล่นใหญ่ด้วยการนำเอา ‘ชิ้นส่วนของหอไอเฟล’ มาใส่ในเหรียญรางวัลแต่ละเหรียญ ทำให้ผู้ได้รับเหรียญนั้นได้พาปารีสกลับบ้านอย่างแท้จริง
15. แลก PIN เชื่อมใจ
เว็บไซต์อย่างเป็นทางการของโอลิมปิกระบุว่าการแลกเปลี่ยน PIN หรือ “เข็มแลกเปลี่ยน” เป็น “กีฬาที่ไม่เป็นทางการของโอลิมปิก”แม้กิจกรรมนี้จะพบเห็นได้ทั่วไปในโอลิมปิกตลอดหลายปีที่ผ่านมา แต่ในโอลิมปิก 2024 การแลก PIN ระหว่างนักกีฬา โค้ช อาสาสมัคร นักสะสม ได้กลายมาเป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก
เนื่องจากนักกีฬาจำนวนมากได้บันทึกเรื่องราวการแสวงหา PIN ของตนเองผ่านโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยละลายพฤติกรรม ได้เป็นอย่างดี ดังเช่น “เทนนิส” พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ที่ถ่ายคลิปการเดินแลก PIN นำพาเธอไปพบเพื่อนนักกีฬาหลายเชื้อช่าติ ซึ่งเป็นที่ถูกอกถูกใจของแฟนคลับอย่างมาก
“เข็มแลกเปลี่ยน” จากประเทศไทย เป็นที่ต้องการของนักสะสมลำดับต้นๆ เป็นรูปตราสัญลักษณ์ของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งเป็นช้างเผือกที่มีพระมหาพิชัยมงกุฎอยู่เหนืออุณาโลมบนหลังช้าง และยืนอยู่บนตราสัญลักษณ์ 5 ห่วงโอลิมปิก ซึ่งตราสัญลักษณ์นี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานให้เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2494 และได้ใช้มาจนถึงปัจจุบันนี้
16. “วิว กุลวุฒิ”
ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของ แบดมินตันไทย กลายเป็นเหรียญแรกในการแข่งขันโอลิมปิกปีนี้ของไทย เมื่อ “วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์” นักกีฬาแบตมินตันชายเดี่ยว ที่เพิ่งจะลงแข่งโอลิมปิกเป็นครั้งแรก คว้าเหรียญเงิน จากการแข่งขันรอบชิงเหรียญทอง กับ “วิคเตอร์ แอ็กเซลเซ่น” จากเดนมาร์ก
นับเป็นการพาแบตมินตันไทยมาได้ไกลที่สุดนับตั้งแต่ กีฬาแบดมินตัน ถูกบรรจุเข้าในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ในปี 1992 ซึ่งทีมแบดมินตันไทย ไม่เคยได้สัมผัสเหรียญรางวัลใดๆเลยราวกับมีอาถรรพ์ ความสำเร็จของ วิว กุลวุฒิ จึงทั้งเป็นการปลดล็อค และสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬาแบดมินตันไทยในโอลิมปิก และทัวร์น่าเมนต์ระดับนานาชาติ ในขณะที่ วิว กุลวุฒิ ยังมีโอกาสมุ่งสู่ เหรียญทองโอลิมปิกในครั้งต่อไป
โอลิมปิก 2024 ยังเป็นการเข้าร่วมแข่งขันของ 3 แชมป์โลกตำนานแบดมินตันไทย นั่นคือ วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ แชมป์โลกชาย “เมย์-รัชนก อินทนนท์ แชมป์โลกหญิง” และ “บาส-เดชาพล พัววรานุเคราะห์”- “ปอป้อ-ทรัพย์สิรี แต้รัตนชัย” แชมป์โลกคู่ผสม
17. ภาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ Greatest Of All Time
เตะสุดท้ายอันแสนน่าภาคภูมิใจของ “เทนนิส-ภาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ” สร้างตำนานยิ่งใหญ่ ไปตลอดกาล ในฐานะแชมป์เหรียญทองสมัยที่ 2 เป็นนักกีฬาไทยคนแรกที่ได้เหรียญโอลิมปิกถึง 3 เหรียญ จากการแข่งขันกีฬาเทควันโด รุ่น 49 กิโลกรัม ที่ได้รับในวันเกิดของเธอเอง และได้กล่าวว่าเหรียญนี้เป็นของขวัญวันเกิดที่ดีที่สุด
ความสำเร็จของเทนนิส สร้างแรงบันดาลใจที่ว่า คนไทยสามารถก้าวขึ้นเป็นนักกีฬาชั้นแนวหน้าของโลกได้ ด้วยความมุ่งมั่น ตั้งใจ มีวินัย และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต้องอาศัยความเสียสละอย่างสูง โดยเฉพาะในช่วง 1 ปีสุดท้ายก่อนการแข่งขันโอลิมปิก ที่เธอต้องต่อสู้ทั้งกับสภาพร่างกาย และจิตใจ จนสามารถเอาชนะทุกอุปสรรคจนสามารถสร้างประวัติศาสตร์วงการกีฬาไทยได้เป็นผลสำเร็จ และเป็นหนึ่งในความสุขสูงสุดของคนไทย
18. แจ้งเกิดแบบสุดปัง
นอกจากเตะสุดท้ายของ เทนนิส ภาณิภัค ที่ได้คว้าเหรียญทองมาอย่างดงามจะสร้างความภาคภูมิใจให้แก่ประเทศไทยแล้ว ในการแข่งขันปีนี้ยังได้แจ้งเกิดเหล่านั้นกีฬาไทยหน้าใหม่ในสนามโอลิมปิก ที่ไปแข่งขันครั้งแรกก็สามารถคว้าเหรียญรางวัลกลับบ้านได้อย่างน่าภาคภูมิใจ
ไม่ว่าจะเป็นตัวเปิดเหรียญแรกของประเทศในปีนี้อย่าง วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ 1 เหรียญเงิน จากการแข่งขันแบดมินตัน ชายเดี่ยว ต่อด้วย จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง 1 เหรียญทองแดง การแข่งขันมวยสากลสมัครเล่น หญิง รุ่น 66 กิโลกรัม, ฟ่าง ธีรพงศ์ ศิลาชัย 1 เหรียญเงิน จาก การแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่น 61 กิโลกรัม, ออย สุรจนา คำเบ้า 1 เหรียญทองแดง การแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่น 49 กิโลกรัม
19.แบรนด์ไทยได้ซีน
การคว้าเหรียญเงินประวัติศาสตร์ ของ วิว กุลวุฒิ วิทิตศานต์ ส่งผลให้ชื่อ โรงเรียนแบดมินตันบ้านทองหยอด” ได้รับการกล่าวขานชื่นชม ในฐานะผู้ทุ่มเทสร้างนักแบดมินตันจากเยาวชน สู่ระดับโลก แผ่อานิสงค์ไปถึงบริษัท บีทีวาย ฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตขนมไทยภายใต้แบรนด์ บ้านทองหยอด ที่วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ จากนั้นก็ถึงซีนเด็ดของ“หงส์ไทย”ยาดมสมุนไพรไทยกระปุกเขียว กลายเป็นอาวุธข้างกายของ ฟ่าง ธีรพงศ์ ศิลาชัย ฮีโร่เหรียญเงิน ยกน้ำหนัก
และปิดท้ายด้วยการชิงจังหวะฝากร้านในช่วงให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนต่างชาติ ของเทนนิส พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ เมื่อถูกถามเรื่องการเลิกแข่งขันในนามทีมชาติ เธอก็ตอบเรื่องอาการบาดเจ็บ และการที่ต้องกลับไปสอนเด็กๆที่ “Panipak Taekwondo” ถ้าพวกคุณอยากเรียนเทควันโด ก็มาที่ประเทศไทย แล้วมาเรียนกับหนูได้นะคะ
20. น้ำใจไทย + น้ำใจนักกีฬา
นักกีฬาไทย ได้รับเสียงชื่นชม ด้านความมีน้ำใจนักกีฬา ซึ่งถือเป็นอุดมคติสากล และโดดเด่นขึ้นเมื่อควบคู่กับมารยาทแบบไทย “เมย์” รัชนก อินทนนท์ นักตบลูกขนไก่ขวัญใจชาวไทย คือ ผู้นำเรื่องนี้ ทั้งการไหว้ให้เกียรติคนถูสนาม โอบกอดลา ไท่ ซื่อหยิง คู่แข่งจากไต้หวัน ในขณะที่ จันทร์แจ่ม สุวรรณเพ็ง นักมวยหญิง ตอบรับความมีน้ำใจนักกีฬาของ อิมาน เคลิฟแอลจีเรีย ที่มานั่งค้ำเชือก เพื่อรอจับมือ และภาพแห่งความภาคภูมิใจ ที่ พาณิภัค วงศ์พัฒนกิจ ก้มกราบ “โค้ชเช” กลางสนาม หลังสร้างเหรียญทองประวัติศาสตร์เทควันโด
ความประทับใจที่มัดรวมนี้ เป็นแค่บางส่วน ไม่ครบถ้วน เพราะผู้อ่านสามารถเพิ่มเติมได้อีกหลายข้อ ตามใจนึกคิดของแต่ละบุคคล เช่นเดียวกับ “โอลิมปิก 2024” ฝรั่งเศส ที่กำลังจะก้าวสู่ พาราลิมปิก 2024 ระหว่างวันที่ 7 กันยายน ถึง 18 กันยายน 2567 เพื่อสร้างความประทับใจบทใหม่ต่อไป