เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก

กรุงเทพฯเมื่อร้อยกว่าปีก่อนมีสภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร ผู้คนหน้าตาอย่างไร ทำผมทรงอะไร ใส่เสื้อผ้าแบบไหน เราอาจจะเคยเห็นกันมาบ้างแล้วจากหนังหรือละครที่จำลองขึ้นมา แต่ถ้าหากใครอยากเห็นภาพจริงที่ไม่ได้จำลองขึ้นมาในยุคหลัง ช่วงนี้ก็เป็นโอกาสดีที่จะได้เห็นกันแบบเต็มอิ่มในนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ

นิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก” จัดโดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับไทยเบฟฯ เพื่อเฉลิมฉลองในโอกาสที่ฟิล์มกระจกและต้นฉบับภาพถ่ายชุดหอพระสมุดวชิรญาณของสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกโดยยูเนสโกเมื่อปีที่แล้ว

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2560 ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ประกาศให้ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ เป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก ในฐานะที่เป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและศิลปวัฒนธรรมซึ่งได้บันทึกลงบนแผ่นฟิล์มที่ใช้กระจกเป็นตัวบันทึกภาพก่อนที่จะมีการใช้แผ่นฟิล์มเซลลูลอยด์

ฟิล์มกระจกที่ได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลกในครั้งนี้ ประกอบด้วยฟิล์มกระจกที่ถ่ายทำในยุคสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นการบันทึกภาพบุคคล เหตุการณ์ สถานที่ในยุคนั้น ผ่านมุมมองของผู้ถ่ายภาพ โดยเฉพาะภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

เพื่อเผยแพร่ภาพถ่ายจากฟิล์มกระจกซึ่งเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ของชาติให้ประชาชนได้ศึกษา เรียนรู้ และเปิดโอกาสให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมเฉลิมฉลอง กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติจึงคัดเลือกภาพมาจัดแสดงนิทรรศการ โดยแบ่งออกเป็น 8 หัวเรื่อง ได้แก่

 

1.มองสยามผ่านฟิล์มกระจก นำเสนอการถ่ายภาพตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา

2.สัญลักษณ์ของชาติ นำเสนอภาพที่เกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ของชาติไทย ได้แก่ ช้างไทย และศาลาไทย

3.พระราชพิธี พิธี และเหตุการณ์สำคัญ อาทิ ภาพที่เกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีโสกันต์ พระราชพิธีเปิดพระบรมรูปทรงม้า พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ

4.การพัฒนาประเทศ นำเสนอภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของวิวัฒนาการความเจริญก้าวหน้าและเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ถูกนำเข้ามาใช้ในบ้านเมือง

5.ศิลปวัฒนธรรมและประเพณี อาทิ ภาพเกี่ยวกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ ที่พักอาศัย การเดินทาง การประกอบอาชีพ การค้าขาย การแต่งกายของบุรุษและสตรีไทย การแสดงนาฏศิลป์

6.อาคารสถานที่ นำเสนอภาพเกี่ยวกับโบราณสถาน วัด อาคารสถานที่ สถาปัตยกรรมต่าง ๆ ที่สร้างขึ้นในช่วงสมัยนั้น

7.บุคคล นำเสนอภาพบุคคลสำคัญที่มีบทบาทต่อสังคมสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5

8.สยามกับสังคมโลก นำเสนอภาพการเสด็จประพาสต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับนานาประเทศได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ อย่าง การเสวนา การอวดภาพจากนักสะสมและบุคคลที่มีชื่อเสียง การจำหน่ายของที่ระลึก การสาธิตการทำฟิล์มกระจกและการถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจก และร่วมถ่ายภาพย้อนยุคกับ “ฉายานิติกร”


ใครสนใจสามารถเข้าชมได้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 25 พฤษภาคม-28 กรกฎาคมนี้ เวลา 08.30-19.00 น. วันพุธ-วันอาทิตย์ (หยุดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์) สำหรับคณะบุคคลหรือสถานศึกษาที่ต้องการเข้าชมและร่วมกิจกรรมการเสวนาเป็นหมู่คณะ ต้องติดต่อระบุวันเวลาและจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรม หรือสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร.0-2281-1599 ต่อ 222 ในวันและเวลาราชการ