
อุทกภัยเชียงรายปีนี้หนักหนา แม้ว่าสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่มีหลายพื้นที่ยังคงวิกฤต และต้องเผชิญกับความเสียหายที่ตามมาหลังน้ำลด รวมทั้งมีประชาชนและสัตว์เลี้ยงจำนวนมากที่ยังรอคอยการช่วยเหลือ และเยียวยา
เชียงราย นับว่าเป็นจังหวัดที่มีความโดดเด่นด้านศิลปะ มีศิลปินร่วมสมัยอยู่มากที่สุดจังหวัดหนึ่งของประเทศไทย มีพื้นที่อันยอดเยี่ยมสำหรับงานอาร์ตที่หลากหลาย เชื่อมโยงทั้งประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ความเชื่อ และศาสนาของคนในพื้นที่ เกิดเป็นเสน่ห์ที่ทำให้นักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นพากันมาเยี่ยมเยียน
“ประชาชาติธุรกิจ” พลิกปูมจังหวัดเชียงราย เมืองแห่งศิลปินและประติมากรรม กับสถานที่เรื่องชื่อ “วัดร่องขุ่น-พิพิธภัณฑ์บ้านดำ-ไร่เชิญตะวัน”
จังหวัดเชียงราย เหนือสุดแดนสยาม มีประวัติความเป็นมาอันยาวนาน เดิมเป็นที่ตั้งของหิรัญนครเงินยางเชียงแสน ซึ่งเป็นนครหลวงก่อนการกำเนิดอาณาจักรล้านนา มีภาษาถิ่น ประเพณี วัฒนธรรม และศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์ จากการผสมผสานกันของรูปแบบล้านนา ไทใหญ่ ไทเขิน และไทลื้อจากสิบสองปันนา
เชียงรายขึ้นชื่อว่าเป็น “เมืองศิลปะ” กำเนิดศิลปินชื่อดังระดับปรมาจารย์ของวงการศิลปะในประเทศไทยอย่าง “ถวัลย์ ดัชนี” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2544 และ “อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์” ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พ.ศ. 2554
วัดร่องขุ่น ศรัทธาเมืองเชียงราย
หากนึกถึงเชียงราย สถานที่แรกที่หลายคนรู้จักคงไม่พ้น “วัดร่องขุ่น” ซึ่งแต่เดิมเป็นวัดเล็ก ๆ สภาพค่อนข้างเสื่อมโทรม ก่อนจะกลายเป็นศาสนสถานที่สวยงามด้วยสถาปัตยกรรมและงานศิลปะเต็มไปด้วยลวดลายอ่อนช้อยประณีต ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศให้มาเยี่ยมชมตลอดทั้งปี โดยได้รับการบูรณะโดยอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ใช้เวลาก่อสร้างนานถึง 13 ปี
ความโดดเด่นภายในวัดคือ พระอุโบสถสีขาวที่ตั้งอยู่บนเนิน ประดับด้วยช่อฟ้าใบระกาวิจิตรงดงาม ตกแต่งลวดลายด้วยกระจกสีเงินเป็นเชิงชั้นลดหลั่นกัน หน้าบันประดับด้วยพญานาค มีทางเดินเป็นสะพานทอดยาว หมายถึงการเดินข้ามวัฏสงสารมุ่งสู่พุทธภูมิ ที่สำคัญภายในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังฝีมือของอาจารย์เฉลิมชัยด้วย
อุโบสถของวัดร่องขุ่นที่มีสีขาวบริสุทธิ์ได้กลายเป็นเอกลักษณ์ที่จดจำของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ จึงเรียกวัดร่องขุ่นว่า “Thailand White Temple” หรือวัดขาว
อุทกภัยเชียงรายในครั้งนี้ วัดร่องขุ่นไม่ได้รับผลกระทบและถือเป็นพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งอาจารย์เฉลิมชัย และทีมได้ลงพื้นที่สำรวจและช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยมอบเงินบริจาคในเบื้องต้นไปมากกว่า 5 แสนบาท
บ้านดำ ถวัลย์ ดัชนี
“พิพิธภัณฑ์บ้านดำ” ตั้งอยู่ ณ ตําบลนางแล อําเภอเมือง จังหวัดเชียงราย สถาปัตยกรรมที่ อ.ถวัลย์ ดัชนี ออกแบบสร้างสรรค์ด้วยตัวเอง จัดแสดงผลงานศิลปะพื้นบ้านของช่างท้องถิ่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ประกอบด้วยอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นภาคเหนือกว่า 25 หลัง และอาคารสถาปัตยกรรมท้องถิ่นประยุกต์หลายหลัง ซึ่งทั้งหมดทาด้วยสีดำ ประดับด้วยไม้แกะสลักลวดลายสวยงาม
ภายในจัดแสดงหนังจระเข้ขนาดใหญ่ หนังงู เขาสัตว์ชนิดต่าง ๆ สิ่งของที่ใช้ในการดำรงชีวิตในอดีต ตลอดจนผลงานของ อ.ถวัลย์ ดัชนี นับเป็นศิลปะสถานที่สร้างจินตนาการให้แก่ผู้พบเห็นในหลาย ๆ มุมมอง
ทั้งนี้ เดือนกันยายน 2567 ถือเป็นเดือนสำคัญของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย เนื่องจากเป็นทั้งเดือนเกิด และเป็นวาระครบรอบ 10 ปีแห่งการจากลาของ อ.ถวัลย์ ดัชนี (27 กันยายน 2482-3 กันยายน 2557)
ไร่เชิญตะวัน ประติมากรรมขบคิด
“ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน” ก่อตั้งโดยพระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือที่รู้จักกันว่าท่าน “ว.วชิรเมธี” พระนักคิด นักเขียน นักเทศน์ และนักพัฒนาสังคม ตั้งอยู่ ณ บ้านใหม่สันป่าเหียง ตำบลห้วยสัก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย บนเนื้อที่กว่า 170 ไร่ ท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น ทิศเหนือติดทุ่งนา ทิศใต้ติดอ่างเก็บน้ำห้วยสัก ทิศตะวันออกติดอ่างเก็บน้ำห้วยสัก ทิศตะวันตกติดถนนของชุมชน
ศูนย์วิปัสสนาสากลไร่เชิญตะวัน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็น “ศูนย์กลางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาสู่ประชาคมโลก” (International Meditation Center) โดยที่มาของชื่อเชิญตะวันนั้น หมายถึง “เชิญธรรมะมาเป็นแสงสว่างนำทางชีวิต”
ภายในไร่เชิญตะวัน เป็นที่ตั้งของสำนักงานมูลนิธิวิมุตตยาลัย สถาบันวิมุตตยาลัย มหาวิชชาลัยพุทธเศรษฐศาสตร์ (สถาบันการศึกษาทางเลือกเพื่อการพัฒนาตามปรัชญาพุทธเศรษฐศาสตร์) โดยมีประติมากรรมจำนวนมากซึ่งแอบซ่อนปริศนาธรรมไว้ให้ผู้เข้าชมได้ขบคิดเป็นแนวทางดำเนินชีวิต อาทิ อัจฉริยะสามเณร หอศิลป์ ว.วชิรเมธี ตลอดจนหุ่นซูเปอร์ฮีโร่ต่าง ๆ
สิงห์ปาร์ค…แลนด์มาร์ก ท่องเที่ยวเชิงเกษตร
อีกหนึ่งแลนด์มาร์กสุดโด่งดังของจังหวัดเชียงรายคือ “สิงห์ปาร์ค” หรือไร่บุญรอด แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีพื้นที่เกษตรกรรมและไร่ชารวมกว่า 8,000 ไร่ ภายในมีกิจกรรมมากมาย ไม่ว่าจะเป็น การปั่นจักรยาน รถรางบริการนำเที่ยวชมในไร่ตามจุดต่าง ๆ ให้อาหารสัตว์ ตลอดจนมีการปลูกพืชตามฤดูกาล โดยช่วงฤดูหนาวมีทุ่งดอกคอสมอส ทุ่งปอเทือง ผลไม้ และชา เป็นต้น
โดยแลนด์มาร์กหรือจุดเช็กอินที่ใครก็ตามจะไม่พลาดเมื่อมาเยือนสิงห์ปาร์ค หรือไร่บุญรอด ก็คือถ่ายรูปคู่กับรูปปั้นสิงห์สีทองขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่อย่างโดดเด่นหน้าทางเข้าไร่
ในยามที่เชียงรายเกิดอุทกภัยใหญ่ ช่วงวิกฤตดังกล่าว สิงห์ปาร์คได้เปิดพื้นที่ลานจอดรถ รองรับรถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ของประชาชนในพื้นที่ที่ต้องการอพยพ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ตลอดจนเปิดครัวกลางเพื่อเป็นศูนย์จัดทำอาหารปรุงสุกส่งมอบให้กับเครือข่ายในพื้นที่ด้วย