
ปานตะวัน รัฐสีมา : ภาพ
กำลังจะเริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-7 วันที่ 10-20 ตุลาคม 2567 โดยพบกับ “สำนักพิมพ์มติชน” ได้ที่บูท J02 ในคอนเซ็ปต์ “Read Every Day” ผ่านการถ่ายทอดเรื่องราวการอ่านให้กลายเป็นกิจวัตรประจำวัน โดยผู้ออกแบบศิลป์ในครั้งนี้ คือ “ตุล-ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “TUNA Dunn” ศิลปินเจ้าของลายเส้นเรียบง่าย แต่มาพร้อมความหมายอันลึกซึ้ง
“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความรู้จักกับ TUNA Dunn ให้มากขึ้น เพื่อให้บรรดานักอ่านและแฟน ๆ ของสำนักพิมพ์มติชน เข้าใจความหมายอันลึกซึ้งที่ศิลปินต้องการสื่อสารออกมาผ่านลายเส้นและภาพวาดอันเรียบง่าย เมื่อเดินเข้าสู่บูท J02 ในงานมหกรรมหนังสือ
“ทูน่า ดัน” หรือ “ทูน่า ดุล”
หลายคนมักเรียกชื่อ TUNA Dunn ว่า “ทูน่า ดัน” และ “ทูน่า ดุล” พร้อมสงสัยว่าชื่อไหนถูกต้องกันแน่ ซึ่ง ตุลยา เผยว่า ที่จริงแล้วสามารถเรียกได้ทั้ง 2 แบบตามความสะดวก แต่ถ้าอ่านตามหลักภาษาอังกฤษ ก็คงเป็น “ทูน่า ดัน”
สำหรับที่มาของชื่อ TUNA Dunn มาจากช่วงมัธยมศึกษาที่ครูชาวต่างชาติพยายามย่อชื่อ และเรียกชื่อนักเรียนไทยให้อ่านง่ายขึ้น จากคำว่า “ตุลยา” จึงเป็น “ตุล-ย่า” และเพี้ยนเป็น “ทูน่า” ในที่สุด เมื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัย เพื่อนหลายคนที่ไม่ได้มาจากโรงเรียนเดียวกันก็เรียกว่า ทูน่า เช่นกัน ชื่อนี้จึงกลายเป็นซิกเนเจอร์
ตุลยา เผยอีกว่า แม้ปกติไม่ค่อยอ่านหนังสือที่เป็นข้อความมากเท่าไรนัก แต่อ่านเป็นหนังสือภาพที่เกี่ยวกับศิลปะหรือดูภาพมากกว่า อันที่จริงเคยเขียนหนังสือกราฟิกโนเวล เป็นคนที่ใช้ Text กับภาพคู่กันมาตลอดในการเล่าเรื่อง รู้สึกว่าเป็นสองอย่างที่ทำงานร่วมกันได้ ต่างเสริมซึ่งกันและกัน Text เป็นตัวต้นไอเดีย ส่วนภาพเป็นสิ่งที่ตอบสนอง เป็นอะไรที่ซัพพอร์ตกันได้ ถ้าอ่านเยอะ รีเสิร์ชเยอะ งานก็จะมีมวลและเรื่องราวมากขึ้น
ความสุขผ่านการทำงานศิลปะ เหมือนการมีอะไรบางอย่างที่อยากจะอธิบายหรือระบายออกไป ซึ่งอาจจะระบายผ่านวิธีอื่นไม่ได้ จึงสื่อสารผ่านงานศิลปะแทน การทำงานศิลปะมีความเป็น Therapy พอสมควรเพราะเป็นการใช้เวลาอยู่กับตัวเอง
เพราะการอ่านอยู่ในชีวิตประจำวัน
สำหรับการร่วมงานกับสำนักพิมพ์มติชนออกแบบศิลป์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ Read Every Day ตุลยา เผยว่า เป็นอะไรที่ค่อนข้างเรียบง่าย จากสถิติที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางว่า คนไทยอ่านหนังสือ 8 บรรทัดต่อปี จึงรู้สึกว่าอยากถ่ายเทความรู้สึกที่ไม่ได้กดดันในการอ่านหนังสือออกมา ทำให้การอ่านหนังสือผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ต้องจริงจัง ไม่ต้องทำให้การอ่านดูยิ่งใหญ่กว่าสิ่งที่ตัวมันเป็น เพราะจริง ๆ การอ่านเป็นอะไรที่แสนจะเรียบง่ายและอยู่ในชีวิตประจำวัน
จึงพยายามตีความออกมาเป็นแคแร็กเตอร์คนต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และมีหนังสือ มีการอ่าน พร้อมลูกเล่น และการแซวอยู่ในนั้น เพื่อให้เชื่อมโยงกับบรรดานักอ่านมากขึ้น ซึ่งวัตถุประสงค์คือต้องการให้คนเห็นแล้วรู้สึกสบายใจ ผ่อนคลาย และสนุก
ภาพแรก เป็นกลุ่มคนยืนเรียงกัน 3 คน อาจจะใช่เพื่อนหรือไม่ใช่ก็ได้ คอนเซ็ปต์มาจาก มีคนหนึ่งอ่านหนังสืออยู่ อีกคนแอบเห็นแล้วเนื้อหาสนุกมากจนอยากอ่าน แม้ทุกคนจะมีหนังสือของตัวเองอยู่แล้ว แต่หนังสือคนข้างหน้าสนุกเกินไป ถึงกับต้องวางหนังสือของตัวเอง และขออีกคนอ่าน
ภาพที่สอง เป็นรูปคนตัวใหญ่อ่านหนังสือเล่มเล็ก และคนตัวเล็กอ่านหนังสือเล่มใหญ่ ต้นแบบของแคแร็กเตอร์นี้ มาจากรากฐานของคำว่า อย่าตัดสินหนังสือจากปก “Don’t judge a book by its cover” จึงปรับคำเป็น “Don’t judge a reader by their book” อย่าตัดสินผู้อ่านจากหนังสือ ซึ่งเชื่อมโยงกับนักอ่านหลายคนที่บางครั้งหนังสือที่อ่านอาจจะไม่ตรงกับบุคลิกเลย หรือเซอร์ไพรส์มากที่บางคนอ่านหนังสือแบบนี้
จุดสำคัญของภาพนี้คือต้องสื่อสารออกมาให้ดูง่าย จึงเลือก Contrast แคแร็กเตอร์ด้วยความใหญ่และความเล็กแทน ให้ความรู้สึกเหมือนกำลังรออยู่ที่ป้ายรถเมล์และหยิบหนังสือขึ้นมาอ่าน แต่แคแร็กเตอร์ขัดแย้งกับหนังสือที่อ่านมาก
ภาพที่สาม คือ “กองดอง” เป็นการแซวบรรดานักอ่านหรือคนที่ชอบซื้อหนังสือเยอะ ๆ แต่ดองหนังสือ “รู้สึกว่าเป็นทุกคน เราก็เป็น” จึงเกิดเป็นภาพของคนที่ซื้อหนังสือมาเพิ่มเรื่อย ๆ แต่หนังสือเก่าเยอะมากจนกำลังจะถล่มลงมาทับอีกคนแล้ว เป็นการแซวว่าหนังสือเยอะแล้วนะ อ่านบ้าง มันจะถล่มลงมาแล้ว
สำหรับความท้าทายของงานครั้งนี้ ตุลยากล่าวว่า อันที่จริงตอนตีความคอนเซ็ปต์ไม่ได้ยากมาก และรู้สึกว่าเข้าทาง แต่ยากตรงวิธีการทำงานของตัวเอง เมื่อตีความว่า Every Day จึงวาดออกมาหลายรูปแบบมากในตอนแรก และค่อยมาพิจารณาว่าภาพไหนที่เหมาะสมกับมติชน ความยากจึงอยู่ที่การเลือกชิ้นงาน
“รู้สึกเป็นเกียรติมากที่สำนักพิมพ์มติชนให้ความสนใจ เราเป็น Illustrator ไม่ได้ทำงานกับสิ่งพิมพ์มากนัก แม้จะเคยเขียนหนังสือมาก่อนก็ตาม รู้สึกว่าสนุกที่ได้กลับมาทำงานที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ หรือสิ่งพิมพ์อีกครั้ง และ Read Every Day เป็นคอนเซ็ปต์ที่เข้าถึงง่าย” ตุลยากล่าว
“เราอยากให้เป็นอะไรที่ไม่กดดัน เพราะคอนเซ็ปต์ Read Every Day ไม่กดดันอยู่แล้ว ทุกคนจะอ่านยังไงก็ได้ ไม่เครียด อยากอ่านแค่นี้ก็อ่านแค่นี้ ไม่อยากให้เป็นหน้าที่ว่าเราต้องอ่าน หรือเครียดว่าเราอ่านหนังสือน้อยอยากสบาย ๆ อ่านนิดอ่านหน่อย แค่ยืนอ่านข้อความสั้น ๆ อันหนึ่งก็คืออ่านแล้ว”