ภาพ : เฟซบุ๊ก ช่อง one Lakorn
เรื่องราวของท้าวศรีสุดาจันทร์ ยังคงปรากฏอยู่ในความรับรู้ของผู้คนในปัจจุบัน แม้เวลาจะผ่านมานานหลายร้อยปี โดยเฉพาะในภาพยนตร์ เรื่อง “สุริโยไท” (2544) และที่กำลังเป็นกระแสอยู่คือ “แม่หยัว” (2567) แต่แท้จริงแล้ว ท้าวศรีสุดาจันทร์ลอบคบชู้กับขุนวรวงศาธิราช และลอบฆ่าสมเด็จพระไชยราชาธิราช จริงหรือ
คบชู้ขุนวรวงศาธิราช
ท้าวศรีสุดาจันทร์ เป็น 1 ใน 4 พระสนมของสมเด็จพระไชยราชาธิราช ประกอบด้วย ท้าวศรีสุดาจันทร์ ท้าวอินทรสุเรนทร์ ท้าวอินทรเทวี และท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ซึ่งทั้งสี่จะมีศักดิ์เท่ากัน ต่อเมื่อพระสนมองค์ใดสามารถประสูติพระราชโอรสที่จะได้เสวยราชย์ หรือได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์แล้ว
พระสนมองค์นั้นจึงจะได้รับการยกฐานะขึ้นสูงกว่าพระสนมองค์อื่น กลายเป็น “แม่อยู่หัว” ดังเช่น ท้าวศรีสุดาจันทร์ ได้เป็นแม่อยู่หัวเพราะโอรส คือ “พระยอดฟ้า” ได้เสวยราชย์เป็นกษัตริย์องค์ต่อมาแทนพระราชบิดา คือ สมเด็จพระไชยราชาธิราช
สมเด็จพระไชยราชาธิราชครองราชสมบัติได้ 12 ปี ก็เสด็จสวรรคต (พ.ศ. 2077-2089) จากนั้นพระยอดฟ้าจึงขึ้นเสวยราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา แต่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ มีพระชนมายุ 11 พรรษา ดังนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์ จึงเป็นผู้ประคับประคองและว่าราชการภายในราชสำนักแทน โดยพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า
“ฝ่ายสมณพราหมณาจารย์มุขมนตรีกวีราชนักปราชญ์ บัณฑิตโหราราชครูสโมสรพร้อมกัน ประชุมเชิญพระยอดฟ้าพระชนม์ได้ 11 พระวษา เสด็จผ่านพิภพถวัลยราชประเวณีสืบศรีสุริยวงศ์อยุธยาต่อไป แล้วนางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ ผู้เป็นสมเด็จพระชนนี ช่วยทำนุบำรุงประคองราชการแผ่นดิน”
แต่ต่อมาก็เกิดเรื่องราววุ่นวายภายในราชสำนัก เนื่องจากท้าวศรีสุดาจันทร์ลักลอบสมัครสังวาสกับ “พันบุตรศรีเทพ” และให้เลื่อนตำแหน่งเป็น “ขุนชินราช” รักษาหอพระข้างใน หลังจากนั้น ท้าวศรีสุดาจันทร์ก็ทรงครรภ์ และเลื่อนตำแหน่งขุนชินราชให้เป็น “ขุนวรวงศาธิราช”
พร้อมให้อำนาจเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระยอดฟ้า อำนาจขุนวรวงศาธิราชจึงมีเพิ่มขึ้น ก่อนที่ท้าวศรีสุดาจันทร์จะตั้งพระราชพิธีราชาภิเษก ยกขุนวรวงศาธิราช เป็น “เจ้าพิภพกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา” หรือพระเจ้าแผ่นดินในเวลาต่อมา
พระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ระบุว่า “ครั้นอยู่มานางพระยาแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ เสด็จไปประพาสเล่น ณ พระที่นั่งพิมานรัถยาหอพระข้างหน้า ทอดพระเนตรเห็นพันบุตรศรีเทพ จึงสั่งสาวใช้ให้เอาเมี่ยงหมากห่อผ้าเช็ดหน้าไปพระราชทานพันบุตรศรีเทพ
พันบุตรศรีเทพรับแล้วก็รู้อัชฌาสัยว่านางพระยามีความยินดีรักใคร่ พันบุตรศรีเทพจึงเอาดอกจำปาส่งให้สาวใช้เอาไปถวายแก่พระนาง พระยานางก็มีความกำหนัดในพันบุตรศรีเทพเป็นอันมาก”
“จึงมีพระเสาวนีย์สั่งพระยาราชภักดี ว่าพันบุตรศรีเทพเป็นข้าหลวงเดิม ให้เอาเป็นที่ ขุนชินราช รักษาหอพระข้างใน…ครั้นพันบุตรศรีเทพเป็นขุนชินราช เข้าไปอยู่รักษาหอพระข้างในแล้ว นางพระยาก็ลอบลักสมัครสังวาสกับด้วยขุนชินราชมาช้านาน แล้วดำริจะเอาราชสมบัติให้สิทธิกับขุนชินราช จึงตรัสสั่งพระยาราชภักดีให้ตั้งขุนชินราชเป็นขุนวรวงศาธิราช”
“พระยอดฟ้าโอรสเรายังเยาว์นัก สาละวนแต่จะเล่น จะว่าราชกิจการแผ่นดินนั้น เห็นเหลือสติปัญญานัก อนึ่งหัวเมืองฝ่ายเหนือเล่ามิปกติ จะไว้ใจแก่ราชการมิได้ เราคิดจะให้ขุนวรวงศาธิราชว่าราชการแผ่นดิน กว่าราชบุตรเราจะจำเริญวัยขึ้น…
นางพระยาจึงมีพระเสาวนีย์ตรัสสั่งปลัดวังให้เอาราชยานและเครื่องสูงแตรสังข์ กับขัตติยวงศ์ออกไปรับขุนวรวงศาธิราช เข้ามาในราชนิเวศมนเทียรสถาน แล้วตั้งพระราชพิธีราชาภิเษกยกขุนวรวงศาธิราชขึ้นเป็นเจ้าพิภพกรุงเทพทวารวดีศรีอยุธยา”
วางยาพิษพระไชยราชาธิราช ?
สมเด็จพระไชยราชาธิราช เสด็จสวรรคตเมื่อ พ.ศ. 2089 “รศ. (พิเศษ) นพ.เอกชัย โควาวิสารัช” ระบุในหนังสือ “ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาเหตุสิ้นพระชนม์” ว่า เอกสารชั้นต้นที่กล่าวถึงการสวรรคตของสมเด็จพระไชยราชาธิราช สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 แบบ คือ
1.ไม่ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้สวรรคต เช่น พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์ ได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า “…ศักราช 908 มะเมีย ศก เดือนหกนั้น สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้านฤพาน จึงสมเด็จพระเจ้ายอดฟ้า พระราชกุมารท่านเสวยราชสมบัติพระนครศรีอยุธยา…”
2.ทรงพระประชวรปัจจุบัน ก่อนที่จะเสด็จสวรรคตระหว่างทางที่เสด็จกลับกรุงศรีอยุธยา หลังจากที่พระองค์ทรงเผด็จศึกเชียงใหม่แล้ว ในพระราชพงศาวดารฉบับพระหัตถเลขาได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…ศักราช 889 ปีกุน นพศก (พ.ศ. 2070) ทรงพระประชวรปัจจุบัน เสด็จสวรรคต ณ มัชฌิมวิถีประเทศ มุขมนตรีเชิญพระบรมศพ เข้าพระนครศรีอยุธยา…”
3.ทรงถูกลอบวางยาพิษโดยแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ หลังจากที่พระองค์เสร็จการศึกที่เชียงใหม่ และเสด็จกลับสู่กรุงศรีอยุธยาเรียบร้อยแล้ว แต่มีเอกสารชั้นต้นเพียง 2 ชิ้นเท่านั้นที่เขียนว่า สมเด็จพระไชยราชาธิราชสวรรคตเพราะถูกลอบวางยาโดยแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ คือ
บันทึกของ “ฟือร์เนา เม็งดีช ปิงตู” หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ปินโต” ทหารรับจ้างชาวโปรตุเกสที่มาช่วยกรุงศรีอยุธยารบกับหงสาวดี และเชียงใหม่ ในสมัยนั้น และอีกชิ้นคือ “ฟร็องซัว อ็องรี ตูร์แบ็ง” หรือ “ตุรแบ่ง” ซึ่งน่าจะใช้เอกสารของปินโตเป็นส่วนหนึ่งของต้นฉบับ
ส่วนหนึ่งในเอกสารของปินโต กล่าวถึงท้าวศรีสุดาจันทร์ลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระไชยราชาธิราช ว่า “พระนางถวายน้ำนมให้พระเจ้าแผ่นดินเสวย ซึ่งแสดงฤทธิ์ยาได้ผล เพราะพระเจ้าแผ่นดินได้เสด็จสวรรคตภายใน 5 วันหลังจากเสวยน้ำนมแล้ว…”
รศ. (พิเศษ) นพ.เอกชัยวิเคราะห์ว่า เรื่องภายในพระราชสำนักอยุธยาที่ปินโตได้เขียนไว้ละเอียดมาก ดูจะผิดปกติวิสัยของคนภายนอกทั่วไปที่ไม่อาจล่วงรู้เรื่องราวภายในราชสำนักได้ โดยเฉพาะปินโตที่เป็นชาวต่างชาติ ยิ่งชวนให้สงสัยว่าเขารับรู้เรื่องราวเหล่านี้โดยละเอียดได้อย่างไร
จึงสันนิษฐานว่าแหล่งข่าวของเขาน่าจะมาจากตลาด ชุมชน หรือชาวบ้านที่มีการซุบซิบนินทาเรื่องราวในราชสำนัก จึงทำให้ข้อมูลที่ปินโตรับรู้มานั้นอาจมีการแต่งเสริมขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องปกติของข่าวลือโดยทั่วไปอยู่แล้ว
ทั้งนี้ สิ่งที่เอกสารชั้นต้นระบุตรงกัน คือ แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์เป็นพระชายาของสมเด็จพระไชยราชาธิราช, ขุนวรวงศาธิราชเป็นชู้กับแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์, แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศาธิราชปลงพระชนม์พระยอดฟ้า, ขุนวรวงศาธิราชยกตนขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์
แต่สิ่งที่ไม่ตรงกันก็คือการที่แม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ลอบวางยาพิษสมเด็จพระไชยราชาธิราช ซึ่งปรากฏอยู่ในบันทึกของปินโตเพียงฉบับเดียว จึงเชื่อว่าสมเด็จพระไชยราชาธิราชน่าจะทรงพระประชวรและสวรรคตในระหว่างทางเสด็จกลับจากศึกเชียงใหม่ ไม่ได้ถูกลอบวางยาพิษโดยแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม : “ท้าวศรีสุดาจันทร์” ลอบวางยาพิษฆ่า “สมเด็จพระไชยราชาธิราช” พระสวามี จริงหรือ ?
ศิลปวัฒนธรรม : “ท้าวศรีสุดาจันทร์” คบชู้ ลอบสังวาสกับข้าหลวงในวัง ยกตำแหน่งให้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ?
หนังสือ “ชันสูตรประวัติศาสตร์ ไขปริศนาเหตุสิ้นพระชนม์” โดย “รศ. (พิเศษ) นพ.เอกชัย โควาวิสารัช”
พระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ์
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)