เวชศาสตร์ชะลอวัย ไลฟ์สไตล์สังคมยุคใหม่ กับ “หมอเพื่อน ก๊วนหมอมงลง”

แพทย์หญิงกอบกุลยา จึงประเสริฐศรี
แพทย์หญิงกอบกุลยา จึงประเสริฐศรี
ผู้เขียน : สินนภา ดีเลิศพัฒนา

เคยไหมที่ประสบปัญหานอนไม่หลับ เครียด ไมเกรน ลำไส้แปรปรวน ลดน้ำหนักไม่ลงสักที เหล่านี้เป็นปัญหาที่ถูกปรึกษามากขึ้น ในการรักษาเวชศาสตร์ชะลอวัยและป้องกัน การแพทย์แนวใหม่ที่เน้นการรักษาแบบใช้ยาน้อยลง สุขภาพแข็งแรงยั่งยืนมากขึ้น

ชีวิตคนยุคใหม่ สัญญาณอันตราย

แพทย์หญิงกอบกุลยา จึงประเสริฐศรี หรือ “หมอเพื่อน” จาก “ก๊วนหมอมงลง” อดีตรองนางสาวไทยปี 2552 ที่มาบอกเล่ากับ “ดีไลฟ์-ประชาชาติฯ” ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ Premier Life Center โรงพยาบาลพญาไท 2 ถึงเทรนด์ของผู้ที่เข้ามารับการรักษาที่ Premier Life Center ว่า เริ่มมีสถิติที่น่าสนใจและน่าค้นหามาก

เพราะผู้ที่เข้ามารับบริการและปรึกษาจะแบ่งกลุ่มได้ 2 ประเภท ได้แก่ กลุ่มคนที่สุขภาพดีอยู่แล้ว แต่อยากจะดีขึ้นอีก ทำนองคนที่อยากลืมตาตื่นขึ้นมาตอนอายุ 80 ปีแล้วยังจำคนรักของตัวเองได้ดี และกลุ่มคนยุคใหม่ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากความเครียดจากงาน สังคม และการใช้ชีวิต

ในแง่ของการดูแลสุขภาพ ผู้เข้ารับการรักษาหลายคนไม่ต้องการใช้ยา และค้นหาวิธีไหนที่ใช้ยารักษาน้อยที่สุดแต่สุขภาพยืนยาวมากที่สุด ซึ่งเป็นจุดที่กลไกของการรักษาเวชศาสตร์ชะลอวัย และการป้องกันแตกต่างจากการรักษาในรูปแบบทั่ว ๆ ไป

หมอเพื่อนเล่าติดตลกว่า หากพบเจอปัญหาตื่นเช้าไม่สดชื่น กดเลื่อนนาฬิกาปลุกหลายรอบ กลางวันเพลีย ๆ ขี้เกียจทำงาน รู้สึกง่วง อ่อนล้า หิวบ่อย อยากชากาแฟ อยากเติมน้ำตาลเข้าร่างกาย ตกเย็นสดชื่น ตกกลางคืนตาสว่าง คิดงานออกปิ๊ง อาจเป็นไปได้ว่า “สุขภาพเริ่มจะไม่ดีแล้ว”

เป็นภาวะของคนในโลกปัจจุบันที่ต้องรู้แล้วว่ากำลังเข้าสู่ภาวะอาการหมดไฟ หรือ Burn-Out Syndrome โดยมีปัญหาสุขภาพแฝงอยู่ อาทิ กรดไหลย้อน ขับถ่ายไม่ดี ผดผื่นขึ้นง่าย เป็นไมเกรนสม่ำเสมอ ควรพึงระวังถึงสุขภาพลำไส้และฮอร์โมนข้างในที่ต้องดูแลจริงจัง

ADVERTISMENT

การรักษาสุขภาพแนวใหม่-ใช้ยาน้อยลง

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า Preventive Medicine หรือ “เวชศาสตร์ป้องกัน” ซึ่งที่ผ่านมาจากอดีตถึงปัจจุบันแพทย์ทุกคนถูกสอนเสมอตั้งแต่สมัยเรียน คือการใช้ยาเพียงอย่างเดียว

แต่ที่สหรัฐอเมริกาย้ำและเน้นอย่างมาก ที่จะให้การแพทย์ใช้ยาในปริมาณที่น้อยลงเรื่อย ๆ ฉะนั้น การรักษาต้องกลับด้าน ปัจจุบันคนมาโรงพยาบาลเพราะอาการเจ็บป่วย แต่ในอนาคต คนที่มาโรงพยาบาลจะกลับกัน คือมาโรงพยาบาลแล้วเล่าถึงอาการป่วยของตัวเอง เพื่อหาวิธีจะทำอย่างไรให้มีการใช้ยาน้อยลง

ADVERTISMENT

“หมอเพื่อน” บอกถึงการดูแลแบบป้องกันว่า ต้องเริ่มตั้งแต่ยังไม่เจ็บป่วย หรืออาจจะเจ็บป่วยแล้วก็ได้ เป็นการดูแลแบบไหน ไลฟ์สไตล์แบบไหนที่เหมาะสม การดูแลการกินง่าย ๆ อย่างที่คุณหมอชอบก็คือ 3 อ. ได้แก่ อาหารดี ออกกำลังกายดี และอารมณ์ดี

ซึ่งหลาย ๆ อ. เหล่านี้ ทางเวชศาสตร์ป้องกันจะบอกว่า ไม่ต้องรอให้ อ. ไหนมีปัญหา ให้ใช้การตรวจพื้นฐานเข้าช่วย เช่น คุณบอกว่าเครียดหรือไม่ ก็ใช้การตรวจ Happy Hormones หรืออาหารที่ควรกินมีอะไรบ้าง ก็ใช้การตรวจวิตามินดูระดับวิตามินที่สมควรจะเติม เพราะฉะนั้นการตรวจจะเพิ่มมากขึ้นอีกหนึ่งขั้น

“อันนี้เป็นการดูแลเชิงลึกของเวชศาสตร์ป้องกัน เราชะลอการเป็นโรคต่าง ๆ เราไม่รอให้น้ำตาลขึ้นแล้วเป็นเบาหวาน แต่เราควบคุมระดับฮอร์โมนที่ควรควบคุมอย่าง อินซูลิน หากอนาคตถ้าฮอร์โมนตัวนี้ขึ้น อีก 5 ปีเตรียมเป็นเบาหวานได้เลย” หมอเพื่อนอธิบายเพิ่มเติม

ในการรับประทานอะไรก็แล้วแต่ ทุกคนต้องรู้จักประเมินคุณภาพต่อสุขภาพ ร่างกายด้วย แน่นอนว่าเรื่องของคุณภาพ มาตรฐานในการผลิตเป็นสิ่งสำคัญ ในภาษาแพทย์จะมีสิ่งที่เรียกว่า เวชศาสตร์เชิงประจักษ์ หรือ Evidence Based Medicine คือการใช้งานวิจัยใด ๆ ก็แล้วแต่ที่ออกมา จะใช้หลักฐานเพื่อนำมารักษาให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนควรจะเลือกบริโภคตามหลักนี้เช่นกัน

“ยิ่งฟังหมอเพื่อนมากเท่าไหร่ ยิ่งรู้สึกว่ากินยากมากขึ้น น้ำตาลคือยาพิษกินไม่ได้ ตัดต่อ GMO ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเอสโตรเจน พลาสติกเยอะมากก็ไม่ดี จริง ๆ ในรายละเอียดเหล่านี้ อาหารจากพืชเป็นสิ่งที่ดีในอนาคตข้างหน้า เพราะฉะนั้นการเลือกอาหารการกิน เลือก Plant-Based Protein ไม่มีทรานส์แฟต ไม่มีสารกันบูด เป็นพื้นฐานที่เราต้องเลือก” หมอเพื่อนกล่าวย้ำ

รู้ทริกด้านสุขภาพก่อน 10 ปีล่วงหน้า

3 อย่างสุดท้ายที่หมอเพื่อนอยากฝากไว้คือ เรื่องของสุขภาพดีและชีวิตจะยืนยาวอยู่ที่ลำไส้ คนจะงามงามที่ลำไส้ สุขภาพดีภายในจากระดับลึกอย่างแท้จริง อะไรที่บริโภคเข้าไปจะเป็นตัวบ่งชี้ถึงฮอร์โมนและจุลินทรีย์ทั้งหมด ดังนั้น อาหารเป็นสิ่งแรกที่ต้องเลือกสรร

ข้อต่อมาคือเรื่องของ Epigenetics เช่น ความดัน เป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ กว่า 90% ของร่างกายมนุษย์มียีนส์เหนือ DNA หรือ Epigenetics เป็นตัวบ่งชี้ว่าจะเป็นโรคหรือไม่ แต่หากรักษาสุขภาพดี ๆ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็มีโอกาสที่จะหลีกหนีจากโรคทางกรรมพันธุ์ได้

และข้อสุดท้ายคือ ภูมิคุ้มกันสำคัญที่สุด หลายคนอาจเคยได้ยินชื่อของ NK Cell หรือเม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีอยู่ในร่างกาย เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกัน และเป็นภูมิต้านทานแต่กำเนิด ซึ่งการรับประทานอาหารและสุขภาพทางการนอนล้วนส่งผลกระทบต่อ NK Cell ทั้งหมด

ซึ่งทุกอย่างจะย้อนกลับมาในจุดเริ่มต้นที่ว่า สุขภาพร่างกายเป็นอย่างไร เซลล์ต่าง ๆ ทำงานดีหรือไม่ รับประทานวิตามินพอเพียงหรือเปล่า สามารถตรวจได้แบบเฉพาะบุคคล รวมไปถึงระดับน้ำตาล เพื่อหาสิ่งที่เหมาะสมได้ เพราะการดูแลสุขภาพไม่ใช่แค่การทำตามเทรนด์ แต่คือการมองไปในระยะยาว การดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่นๆ จึงเป็นสิ่งสำคัญในการรักษาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืน