206 ปี อิน-จัน คอลเล็กชั่นแฝดสยามเมืองไทย

“พลบค่ำวันหนึ่งในปี ค.ศ.1824 Robert Hunter (โรเบิร์ต ฮันเตอร์) หรือที่คนไทยสมัยนั้นรู้จักกันดีในชื่อว่า นายหันแตร พ่อค้าชาวสกอต เจ้าของห้างมอร์แกนและฮันเตอร์ ซึ่งเข้ามาค้าขายในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เหลือบไปเห็นร่างร่างหนึ่งที่มี 2 หัว 4 แขน 4 ขากำลังว่ายอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา ก่อนที่จะปีนขึ้นเรือลำหนึ่ง

โดยร่างที่พ้นน้ำขึ้นมานั้นกลับกลายเป็นเด็ก 2 คนที่มีลำตัวเชื่อมต่อกัน” นับเป็นปฐมบทของตำนานอิน-จัน แฝดสยาม หรือ Siamese Twins อันลือลั่นไปทั่วโลก

ตามประวัติเล่าต่อกันมาว่า แฝดสยามอิน-จัน เกิดปี 1812 ในครอบครัวยากจนปลายแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2) ที่บ้านแหลมใหญ่ แขวงเมืองแม่กลอง (จังหวัดสมุทรสงคราม) พ่อเป็นชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพเข้ามาอยู่ในสยาม ส่วนแม่ชื่อนาก ส่งผลให้แฝดสยามอิน-จันมีเลือดเป็นลูกครึ่งจีน ช่วงชีวิตต่อมาเป็นไปได้ว่า อิน-จันย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองหลวง จนนายฮันเตอร์พ่อค้าใหญ่ไปเห็นเข้าที่แม่น้ำเจ้าพระยาในปี 1824

ด้วยวิสัยพ่อค้าที่เห็นถึง “รายได้” อย่างงามในการขายความเป็นแฝดสยามที่มีลำตัวติดกัน ทำให้ฮันเตอร์เข้าหุ้นกับกัปตันคอฟฟิน หรือ Abel Coffin (อาเบล คอฟฟิน) กัปตันเรือชาวนิวอิงแลนด์ได้ทำสัญญา “เช่าซื้อ” อิน-จัน ในปี 1829 ให้เดินทางไปยุโรป-สหรัฐเป็นเวลา 5 ปี

โดยมอบเงินส่วนหนึ่ง (20 ชั่ง) ให้พ่อแม่ และตกลงจะแบ่งผลประโยชน์ให้อิน-จัน เดือนละ 10 เหรียญ ตลอดสัญญาการเดินทางการพำนักอยู่ในต่างประเทศ ผู้เช่าซื้อเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทุกอย่าง

เดือนเมษายน 1829 อิน-จันออกเดินทางจากสยามไปยังสหรัฐด้วยเรือใบ 3 เสา “Sachem” โดยอาจจะอยู่ในฐานะ “สินค้า” เนื่องจากไม่มีชื่ออิน-จันอยู่ในรายชื่อผู้โดยสาร จากนั้นอีกประมาณ 4 เดือน

เรือใบ Sachem เข้าเทียบท่าที่เมืองบอสตันในวันที่ 16 สิงหาคม 1829 ซึ่งตอนนั้นแฝดสยามอิน-จันมีอายุได้ประมาณ 18 ปี และจะไม่ได้หวนกลับคืนมาสู่สยามอีกเลย

ล่วงมาอีก 189 ปีต่อมา มีคนไทยคนหนึ่งได้รวบรวม Collection Chang & Eng ทั้งภาพและสิ่งพิมพ์เก่าแก่อายุกว่า 170 ปี และได้รับเชิญจากกระทรวงการต่างประเทศ ให้นำคอลเล็กชั่นชุดนี้ไปแสดงในงานความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-สหรัฐครบรอบ 185 ปี โดยเชิญทายาทแฝดสยาม “อิน-จัน” จากสหรัฐเดินทางมาร่วมงานนี้ด้วย

ม.ล.ธีรพันธ์ ทวีวงศ์ เจ้าของคอลเล็กชั่นชุดนี้กล่าวว่า ได้ใช้เวลารวบรวมทั้งภาพถ่ายเก่าและสิ่งพิมพ์โบราณที่เกี่ยวข้องกับอิน-จัน มากว่า 5 ปี “อิน-จันนี่ติดหูผมมาตั้งแต่เด็ก ๆ อ่านเจอใน น.ส.พ.-หนังสืออ่านเล่น และการ์ตูนเป็นภาพวาดเสียเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาก็เป็นภาพพิมพ์ก๊อบปี้ต่อ ๆ กันมา ไม่ค่อยมีภาพถ่ายที่เป็นของจริง ผมก็เริ่มต้นสะสมจากการได้ภาพถ่ายอิน-จันที่เป็นภาพการ์ดเดอวิสิทเป็นใบแรก”

การ์ดเดอวิสิท เป็นภาพถ่ายรุ่นแรก ๆ ที่อัดจากฟิล์มกระจก ลงบนกระดาษบางที่ใช้อัดรูปและแปะเข้ากับกระดาษแข็งเป็นแผ่นรองพื้น มีตราสัญลักษณ์เจ้าของห้องถ่ายภาพอยู่เบื้องหลัง ในกรณีของอิน-จันเข้าใจว่า อาจจะอัดไว้แจกหรือขายในระหว่างเปิดการแสดง เนื่องจากทั้งสองเป็นบุคคลคู่แฝดตัวติดกันที่มีชื่อเสียง ตระเวนเปิดการแสดงไปทั่วตั้งแต่อยู่กับกัปตันคอฟฟิน จนกระทั่งหันมาเปิดการแสดงด้วยตัวเองในภายหลัง

ภาพการ์ดเดอวิสิทอิน-จันทั้ง 4 ใบของ ม.ล.ธีรพันธ์ ทวีวงศ์ มีทั้งรูปคู่อิน-จันใส่สูทอยู่ในวัยกลางคน รูปถ่ายคู่กับลูกชาย 2 คน และรูปถ่ายครอบครัวบังเกอร์ในปี 1865 (Bunker-ชื่อสกุลที่อิน-จันใช้ในปี 1844 หลังจากที่ทั้งสองขอโอนสัญชาติเป็นชาวอเมริกันและแต่งงานกับพี่น้องตระกูล Yates ในปี 1843)

ต่อจากนั้นก็ได้สะสมภาพพิมพ์เก่าอิน-จันในวัยหนุ่ม ภาพแกะจากแม่พิมพ์ไม้ รวมไปถึง น.ส.พ.-สิ่งพิมพ์เก่าที่ลงข่าวเกี่ยวกับอิน-จันไว้ด้วย

“เท่าที่ผมอ่านประวัติอิน-จันจากหนังสือเอกสารสิ่งพิมพ์เก่า ผมคิดว่า ที่ทั้ง 2 ยอมจากสยามไปตั้งแต่อายุยังไม่เต็ม 18 ปีดีนัก ใจหนึ่งอาจจะต้องการแสวงหาโอกาสของชีวิตที่ดีกว่าในสหรัฐเป็นความท้าทาย โดยชีวิตช่วงต้น ๆ หลังจากขึ้นบกที่บอสตันอาจจะไม่มีความสุขนัก เพราะอย่าลืมว่าทั้งคู่ถูกซื้อมาเพื่อตระเวนเปิดการแสดงไปตามเมืองต่าง ๆ ทั่วสหรัฐ ในฐานะคนแปลกประหลาดที่มีตัวติดกัน

ความหวังหนึ่งก็คือ อยากผ่าตัดแยกร่างออกจากกันเพื่อใช้ชีวิตเหมือนคนปกติ แต่เมื่อแนวทางนี้ทำไม่ได้ในสมัยนั้นเขาก็ต้องปรับตัวยอมรับในสิ่งที่เป็นอยู่ และพบว่า ความแปลกประหลาดนี้สามารถทำเงิน สร้างเนื้อสร้างตัวได้ จนสุดท้ายก็ลงหลักปักฐานแต่งงานซื้อที่ดินทำไร่ฝ้ายที่ Trap Hill, North Carolina มีลูกหลานที่เกิดจากคนทั้งสองสืบมาจนกระทั่งถึงปัจจุบัน”

นับเป็นคนไทยคู่แรกที่ไปสร้างรากฐานในสหรัฐ ก่อนที่จะมีการเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในเวลาต่อมา