ศุกร์ 13 – อาทิตย์ 15 ธันวาฯนี้ กลุ่มคนรักต้นไม้ ประกาศจัดงานใหญ่ Green Festival 2024 ภายใต้แนวคิด “No Tree, No Breath, No Life” เพื่ออนุรักษ์ต้นไม้ใหญ่ในเมือง นำโดย กทม.ร่วมกับกลุ่ม Big Trees, สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง, สมาคมรุกขกรรมไทย, We Park และพันธมิตรองค์กรด้านพื้นที่สีเขียว
นอกจากมีกิจกรรม Nature Hunt ล่าขุมทรัพย์กู้โลกแล้ว ในงานจะจัดแข่งขันปีนต้นไม้ด้วย ปีนในระดับชิงแชมป์ประเทศไทย 2024 โดยนักปีนมืออาชีพ 7 ประเทศ ได้แก่ สวีเดน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, มาเลเซีย และไทย มีรุกขกรระดับชาติเป็นผู้คุมกติกา พร้อมถ่ายทอดเรื่องต้นไม้ดักฝุ่นด้วย นับเป็นอีเวนต์เหมาะกับเทรนด์โลก
เช่นเดียวกับงาน “FEED MUSIC 2024 : GREEN FEST” เทศกาลดนตรีในสวนที่เครือมติชนจัดขึ้นเมื่อ 7- 8 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมฟังดนตรีจากศิลปินชื่อดัง และสาระความรู้ดีๆ จากเวทีทอล์ก กลางลานสนามหญ้า ณ มิวเซียมสยาม
ไฮไลต์หนึ่งที่น่าสนใจ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล หรือ “อาจารย์เอก” แห่งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มาร่วมแบ่งความรู้เรื่องต้นไม้ด้วยในฐานะ “รุกขกร” มืออาชีพ กับหัวข้อ “เมืองสีเขียว บทบาทของต้นไม้ในการสร้างสมดุลให้กับชีวิต”
แน่นอนในบทบาทนี้อาจมีหลายคนไม่รู้ เพราะภาพจำของอาจารย์เอกคือ นักวิชาการสายฮาร์ดคอร์ ที่กล้าคอมเมนต์ในทุกเรื่องของการเมือง
“ความหมายของรุกขกร ถ้าเป็นผมคงเป็นรุกขกรรมกรมากกว่า (หัวเราะ)” อาจารย์เกริ่นความเป็นตัวเอง ทำให้ผู้ฟังหัวเราะไปตาม ๆ กัน
พร้อมเข้าเรื่องว่า “ไม่เข้าใจเหมือนกัน ทำไมคนเมืองจำนวนมากรังเกียจต้นไม้ ไม่อยากกวาดใบไม้ ทั้งที่ใจหนึ่งก็อยากได้ร่มเงา”
อันนี้ถือเป็นปัญหา ทำให้ธรรมชาติเสียสมดุล โลกเราเคยมีป่าไม้ 3 เท่า จาก 100 ปีที่แล้ว แต่เราตัดไม้ทำลายป่าไปแล้ว 2 ใน 3 ของต้นไม้ที่เคยมี ประชากรโลกปัจจุบันทะลุ 8,000 ล้านคนไปแล้ว ในวิถีชีวิตทุกวันนี้ มนุษย์ใช้ไฟฟ้า เปิดแอร์ แล้วก็ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 80% ของไฟฟ้าที่มาจากเชื้อเพลิง ที่มาจากฟอสซิล ซึ่งเป็นคาร์บอนที่มีการสะสมไว้มาก แล้วย้อนกลับสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้โลกร้อนขึ้นจากการกระทำของมนุษย์
ผศ.ดร.ปริญญาย้ำว่า เมื่อ กทม.ตัดต้นไม้แบบกุดก็เป็นปัญหาเช่นกัน ต้องรู้วิธี ส่วนจุดเปลี่ยนผมเกิดขึ้นเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ตอนนั้นผมเป็นรองอธิการบดีที่ท่าพระจันทร์ ธรรมศาสตร์ ก็ระดมพรรคพวกกับคุณอรยา สูตะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Big Trees ไปพบกับพลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าฯ กทม.สมัยนั้น
เพื่อไปหารือว่า ทางธรรมศาสตร์กับ Big Trees มีหลักสูตรจัดอบรมรุกขกรให้กับคนดูแลต้นไม้ของ กทม.ทั้ง 50 เขต ทาง กทม.ก็ยินดีร่วมด้วย ถือเป็นจุดเริ่มต้น
เพราะการตัดแต่งต้นไม้ในเมือง ต้องตัดให้เป็นร่มเงา ให้เป็นก้านแผ่ร่มด้านบน ตัดแต่งกิ่งด้านล่าง เดิมเคยมีหลักสูตรรุกขกร 40 วัน จึงปรับมาเป็น 6 วัน โดยเน้นภาคปฏิบัติ ซึ่ง 5 ปีแรกผ่านไปได้มีการอบรมรุกขกรไปแล้ว 500 คน
“พลเมืองตระหนักความเป็นเจ้าของประเทศ รัฐบาลอย่าไปรอ ถ้าเราลงมือทำ เขาจะฟังเรา อย่างเรื่องการตัดแต่งต้นไม้ในเมือง ถือว่าค่อนข้างทำสำเร็จ”
ผศ.ดร.ปริญญาเล่าว่า แรงบันดาลใจของการเป็นรุกขกร มาจากที่ผมไปประเทศสิงคโปร์เมื่อปี 2555 มีงานสัมมนาที่มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นเมืองที่เย็นไม่ร้อน เพราะต้นไม้เยอะกว่ากรุงเทพฯ 4 เท่า
ถือเป็นตัวอย่างเมืองที่ต้นไม้อยู่ร่วมกับอาคาร กับถนนได้ เหตุที่ร่มเงาจากต้นไม้ เย็นกว่าสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพราะมีการออสโมซิสของต้นไม้ ส่งน้ำจากรากไปถึงใบแบบมีสเต็ปในตัวเอง จนไปถึงใบแล้วก็มีการคายน้ำออก ทำให้ใต้ต้นไม้เหมือนมีแอร์ไอน้ำ
“อย่างหน้าบ้านผมมีต้นไม้ใหญ่ก็จะมีรถชอบมาจอดใต้ต้นไม้หลบแดด เพราะเย็นสบายกว่า”
ซึ่งมีงานวิจัยรองรับแล้ว ถ้าเด็กโตมากับต้นไม้ ชีวิตจะมีจินตนาการ สมดุล ชีวิตมีความสุข ส่วนเด็กที่โตมากับปูน หรือไอแพด ชีวิตจะแห้งแล้งมาก และจะทำลายธรรมชาติหนักกว่าเดิม
กทม.ยุคนี้ มาถึงจุดเปลี่ยนสมัยคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. ที่ประกาศนโยบายปลูกต้นไม้ล้านต้น ตอนนี้ได้กี่ต้นแล้ว ต้องไปอัพเดตกัน
ซึ่งโครงการนี้ช่วยให้เมืองร่มรื่นมากขึ้น “ต้นไม้” ถือเป็นเครื่องมือที่ลดโลกร้อนได้ดีที่สุด และมั่นใจว่า ยังไม่มีเทคโนโลยีใด ๆ ที่สู้ต้นไม้ได้
ขอย้ำว่า ยังมีอยู่หน่วยงานหนึ่งที่ชอบตัดต้นไม้ นั่นคือ กรมทางหลวง เพราะเมื่อใดที่มีการขยายถนนจาก 2 เลนเป็น 4 เลน เขาก็จะตัดต้นไม้ออก
อย่างถนนสายหนึ่งย่านหนองจอกเคยมีต้นไม้ใหญ่ 2 ฟาก ร่มรื่นมาก แต่เมื่อขยายถนน กรมทางหลวงก็ตัดเหี้ยน ผมเสียดาย
กล่าวถึงภาวะโลกร้อน อาจารย์เอกบอกว่า “ตามหลัก สภาวะโลกร้อนจะร้อนเกิน 1.5 องศาเซลเซียสไม่ได้ แต่ตอนนี้อยู่ที่ 1.1 องศาเซลเซียสแล้ว คาดว่าประมาณปี 2573 จะแตะขึ้นไปถึงที่ 1.5 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นจุดที่เราแก้ไม่ได้ แก้ไม่ทัน ต่อให้ทำอาณานิคมที่ดาวอังคารสำเร็จก็ไม่เพียงพอ เลิกพูดไปเลยเรื่องหาบ้านหลังที่ 2 มีอยู่บ้านนี้บ้านเดียว เราต้องรักษาบ้านหลังนี้ไว้ให้ได้ เครื่องมือที่รักษาบ้านนี้ไว้ได้ก็คือต้นไม้ นอกจากปลูกใหม่แล้ว เราต้องรักษาของเดิมด้วยการตัดแต่งให้ถูกวิธีด้วย ซึ่งเป็นหลักสำคัญ”
รุกขกรหนุ่มใหญ่ วัย 56 ปี ชาวแปดริ้ว กล่าวย้ำอีกว่า วันนี้เราอยู่ในยุคสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแล้ว เราเริ่มเห็นดาดฟ้า ระเบียง ผนังอาคารที่มีต้นไม้ปกคลุม ซึ่งในเมืองอย่างกรุงเทพฯ ก็สามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวได้ อยู่ตึกแถวดาดฟ้าก็ปลูกต้นไม้ได้เช่นกัน
ตัวอย่างอาคารป๋วย 100 ปี ที่ ม.ธรรมศาตร์ ศูนย์รังสิต แบบแรกมีการปูพื้นหญ้าบนหลังคาเพียงอย่างเดียว ตอนนั้นผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน และบริหารศูนย์รังสิต จึงขอเปลี่ยนแบบให้มีการปลูกต้นไม้ ปลูกผักแทน
ซึ่งหลังคาเขียวป้องกันความร้อนเข้ามาในอาคารได้ถึง 30% เท่ากับช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 30%
การแก้ปัญหาโลกร้อนส่วนหนึ่งก็มาจากระบบอาหาร แต่ละอย่างในจานข้าวของท่านเดินทางมาไกลแค่ไหน การเดินทางมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เหมือนกับฝุ่นพิษ PM 2.5 ที่มีมากขนาดไหน เราต้องตั้งคำถามกับเรื่องเหล่านี้
แนวทางที่จะช่วยได้บ้างคือ เราเน้นสนับสนุนสินค้าท้องถิ่นให้มากขึ้น เพื่อจะได้มีการขนส่งที่น้อยลง เป็นการประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอน ทุกท่านที่มีดาดฟ้า ควรจะปลูกผัก ปลูกต้นไม้ ทำอะไรก็ได้ให้มีต้นไม้มาช่วยเรื่องปรับสมดุลด้านสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.ปริญญากล่าวว่า มีคู่มือการปลูกต้นไม้ ที่ร่วมกับกลุ่ม Big Trees ทุกคนสามารถไปดาวน์โหลดได้ ในนั้นจะมีการแนะนำชนิดของต้นไม้ที่เหมาะกับการปลูกในพื้นที่ต่าง ๆ
ตัวผมแนะนำต้นยางนา ซึ่งเป็นต้นไม้พื้นถิ่นของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา แนะนำให้ไปดูป่ายางนาที่วัดจุฬามณี อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเหลือผืนป่าสุดท้ายประมาณ 30 ไร่
อย่างไรก็ตาม ผมขอว่า ถ้าท่านเห็นการตัดต้นไม้ที่ไหน ขอให้ช่วยกันบอกว่า “อย่าตัดเลย”
แล้วรีบโทร.หาผู้บริหารเมือง เพื่อหาทางหยุดการตัดต้นไม้ในเมือง ก่อนที่เมืองจะร้อนไปกว่านี้
ต้นไม้ในกรุงเทพฯมีเยอะ แต่รอการถูกตัดมากกว่า พื้นที่ว่างเปล่าที่มีต้นไม้ใหญ่ก็เตรียมถูกตัด เพื่อทำสิ่งปลูกสร้าง ทำศูนย์การค้า บ้านจัดสรร
ผมอยากเสนอผู้ว่าฯชัชชาติ ให้ช่วยกันผลักดันข้อบัญญัติ กทม. “ให้ต้นไม้ใหญ่เป็นสมบัติของเมือง”
เหมือนประเทศสิงคโปร์ที่มีกฎหมายป้องกัน เพราะถือว่า ต้นไม้ใหญ่เป็นสมบัติของชาติ ห้ามตัดทิ้งเอง เพราะเป็นชีวิตของเมือง ต้องทำไปพร้อมกับปลูกต้นไม้ใหม่มาทดแทน และรักษาของเดิมไว้ด้วยการตัดแต่งให้ถูกวิธี
ตอนนี้ยังมีการเปิดอบรมรุกขกรอยู่เรื่อย ๆ ขอให้ทุกท่านที่สนใจช่วยกันคนละไม้คนละมือ
ในประเทศไทยตอนนี้มีพื้นที่ป่าไม้อยู่แค่ประมาณ 33% ถือว่าน้อยเกินไป เราต้องเพิ่มให้ได้อย่างน้อย 40%
กรุงเทพฯสามารถเป็นเมืองตัวอย่างได้ในการเพิ่มต้นไม้ (แบบจริงจัง) เพราะประเทศไทยมีพื้นที่รกร้างอยู่จำนวนมาก ทั้งที่ราชพัสดุ ที่สาธารณะ ถ้าเรามีนโยบายดี ๆ ก็สามารถเพิ่มพื้นที่ป่าได้ทั่วประเทศอีกเช่นกัน
ล่าสุด ไทยมี 3 จังหวัดที่ไม่มีป่าไม้เลย นั่นคือ นนทบุรี ปทุมธานี และอ่างทอง ผมเลขขอชวน “บิ๊กแจ๊ส” (พลตำรวจโทคำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานี ให้มาช่วยกันทำเรื่องนี้ คือทำให้ปทุมธานีหลุดออกจากรายชื่อจังหวัดที่ไม่มีป่าไม้ และขอชวนจังหวัดนนทบุรีอ่างทอง มาเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ถึง 40% ดีกว่า
ขอคนกรุงเทพฯ อย่ารังเกียจต้นไม้ เพราะเด็กที่โตในเมืองที่มีแต่คอนกรีตจิตใจจะไม่ละเอียดอ่อน ถ้าต้องการเห็นลูกหลานของเรามีความอ่อนโยน รักผู้อื่น และคิดถึงธรรมชาติ ก็ควรรักษาโลกใบนี้ให้เป็นบ้านของเราอยู่ตราบนานเท่านาน
“เราต้องรักษาธรรมชาติ ธรรมชาติไม่ไช่สิ่งอื่นใด ธรรมชาติคือเรา ช่วยกันเพิ่มต้นไม้ เพื่อเรา เพื่อลูกหลานของเรา และเพื่อชีวิตของทุกคนบนโลกใบนี้ดีกว่า”
ตลอดหนึ่งชั่วโมงที่ ผศ.ดร.ปริญญา ในฐานะ “หมอต้นไม้” บอกเล่าเชิงร้องขอให้ผู้ฟังในงานรู้สึกเห็นประโยชน์ของต้นไม้นั้น จะสังเกตเห็นว่าอาจารย์ทุ่มเทข้อมูลและเล่าด้วยน้ำเสียงจริงจัง ล้วนบ่งบอกถึงจิตวิญญาณความเป็นตัวตนและความชอบในด้านไลฟ์สไตล์ที่พึงรักษ์โลก รักษ์สิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกัน การเรียนการสอนที่พึงสอนลูกศิษย์ให้รักความเป็นธรรมศาสตร์ ความเป็นมนุษย์ และความตรงไปตรงมาของวิชาที่ว่าด้วย “กฎหมาย”
นับเป็นการทอล์กที่สร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการรักษ์โลก การรับมือกับวิกฤตโลกร้อน และภัยพิบัติที่กระทบทุกมุมโลก เป็นโอกาสสำคัญที่ได้ช่วยกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมงานได้มีความรู้ เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงผลดี-ผลเสีย
พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิตประจำวัน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ โดยมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนแนวคิดเรื่องความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง โดยผ่านการเชื่อมโยงชีวิตประจำวันกับการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อปกป้องโลกใบนี้ให้ไม่ร้อนไปกว่านี้
“ส่วนตัวผมแคร์เรื่องมลพิษ ไม่อยากให้คนเมืองเผชิญกับสิ่งเหล่านี้ อย่างรถอีวีผมขับมาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว ตั้งแต่ตลาดไม่บูม ผมเช่าขับ และเปลี่ยนรถมาแล้ว 5 คัน ผมว่าดีนะ คาร์บอนฯ ในเมืองก็ลดลง”
“วันว่างของผมก็ขี่จักรยาน พายเรือ วันก่อนก็พายอยู่ในคลองย่านหนองจอก ก็เห็นคนมาหาปลาแบบธรรมชาติ แนวประมงเชิงรุกที่ไม่ทำลายธรรมชาติมากเกินไป”
หรืออย่างเดือนก่อนผมมีภารกิจไปจังหวัดเพชรบุรี เมืองเพชรมีของดีมากมาย ทั้งธรรมชาติ ภูเขา แม่น้ำ ทะเล วัดวังโบราณ และปูนปั้นอันวิจิตร แต่เสียตรงที่ต้นไม้ใหญ่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นต้นไม้โบราณ แต่ได้รับการดูแลอย่างไม่ถูกวิธี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การราดยางมะตอยไปชิดโคนต้นไม้ การทำแบบนี้จะทำให้รากต้นไม้ไม่สามารถหายใจ หรือถ่ายเทอากาศได้
ต้นไม้จะโทรมลงไปเรื่อย ๆ อีกไม่ช้าก็ทยอยตายจากไป
ผมเลยอยากชวนเทศบาลเมืองเพชรบุรี หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ให้มาช่วยกันเปลี่ยนวิธีดูแลต้นไม้ใหญ่กันดีกว่า รวมถึงการตัดแต่งต้นไม้ให้ดูสวยงามและปลอดภัย
เพื่อให้เมืองเพชรดูร่มรื่นด้วยต้นไม้เหมือนในอดีตอีกครั้ง ผมยินดีไปช่วยเป็นวิทยากรให้ ไม่มีค่าตัว ค่ารถก็ไม่เอา ขอแค่หม้อแกงถาดเดียวครับ