ครบรอบ 10 ปี “Chiang Mai Design Week” จากจุดเริ่มต้นในท้องถิ่นสู่เวทีนานาชาติ เทศกาลสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงเมือง สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคเหนือกว่า 5 พันล้านบาท ปีนี้จัดใหญ่ทั่วเมืองเชียงใหม่ ตั้งแต่วันนี้-15 ธันวาคม 2567
เริ่มต้นขึ้นแล้วสำหรับงาน “เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567” (Chiang Mai Design Week 2024 : CMDW2024) ซึ่งจัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เพื่อเป็นเวทีสำคัญให้นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ ศิลปิน และช่างฝีมือท้องถิ่น ได้มีพื้นที่ปล่อยของ นำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนความรู้เพื่อพัฒนาทักษะและนวัตกรรมสร้างสรรค์ในวงกว้าง
อีกทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ประกอบการ นักออกแบบ และนักลงทุน ให้ได้ทำงานร่วมกัน เป็นการแลกเปลี่ยนทักษะและการสร้างโอกาสการเชื่อมต่อเชิงพานิชย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งส่งเสริมการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืน
ความพิเศษคือ Chiang Mai Design Week ในครั้งนี้ นับเป็นการเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปี โดยจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “SCALING LOCAL : Creativity, Technology, And Sustainability-For Reviving Recovery” โดยมุ่งเน้นการต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรในชุมชนสู่ผลลัพธ์ระดับโลก โดยยังให้ความสำคัญของพื้นที่ชุมชนที่สามารถโอบรับผู้คนและอยู่รอดได้ในสถานการณ์โควิด-19
นำเสนอกิจกรรม 6 รูปแบบกว่า 150 โปรแกรม ตั้งแต่วันนี้-15 ธันวาคม 2567 บน 2 พื้นที่หลัก ได้แก่ ย่านเมืองเก่าเชียงใหม่ กลางเวียง (อนุสาวรีย์สามกษัตริย์-ล่ามช้าง) และย่านช้างม่อย-ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ เชียงใหม่ (TCDC เชียงใหม่)-ท่าแพ และพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัด เช่น หางดง และสันกำแพง เป็นต้น
10 ปี Chiang Mai Design Week
Chiang Mai Design Week เป็นเทศกาลงานออกแบบประจำปีของจังหวัดเชียงใหม่ จัดโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ต่อเนื่องกันเป็นปีที่ 10 แล้ว ตั้งแต่ปี 2558
โดยทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนมุมมอง ประสบการณ์ แหล่งพบปะและแบ่งปันความรู้ด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ควบคู่กับการสร้างประสบการณ์ร่วมกับงานออกแบบให้แก่เด็กและเยาวชน ชุมชน นักท่องเที่ยว หรือผู้ที่สนใจ
ภายในเทศกาลจะมีการจัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น นิทรรศการ งานเสวนา เวิร์กช็อป กิจกรรมศิลปะและการแสดงดนตรี ที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต พร้อมแต่งแต้มสีสันและความมีชีวิตชีวาของเมืองเชียงใหม่ให้อบอวลไปด้วยบรรยากาศแห่งความคิดสร้างสรรค์
โดยเริ่มตั้งแต่ย่านกลางเวียง ที่มั่งคั่งด้วยศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น เรื่อยไปจนถึงย่านช้างม่อย-ท่าแพ ที่ตั้งของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) เชียงใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งความรู้ด้านการออกแบบอันทันสมัย
นอกจากนี้ Chiang Mai Design Week ยังจัดโปรแกรมอื่น ๆ กระจายไปยังพื้นที่สำคัญทั่วเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้ทุกคนได้เยี่ยมชมเมืองเชียงใหม่ในมุมมองที่แตกต่าง พร้อมสัมผัสกับประสบการณ์สร้างสรรค์อย่างใกล้ชิด
ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ผ่านมา Chiang Mai Design Week ไม่ได้หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่พัฒนาอย่างต่อเนื่องจนสร้างพลวัตที่หลากหลายในการผลักดันให้เชียงใหม่ก้าวสู่การเป็น “City Branding” ในฐานะเมืองแห่งความคิดสร้างสรรค์ ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ขององค์การยูเนสโก (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) และศูนย์กลางการออกแบบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
สะท้อนถึงพลังของการออกแบบที่ขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม พร้อมสร้างแรงบันดาลใจให้กลุ่มคนคืนถิ่น (homecoming) กลับมาพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง
จากจุดเริ่มต้น สู่เวทีนานาชาติ
Chiang Mai Design Week เริ่มต้นในปี 2558 ด้วยความร่วมมือระหว่างศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) และหน่วยงานท้องถิ่น มุ่งเน้นการแสดงอัตลักษณ์ของเชียงใหม่ผ่านการผสานศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมเข้ากับแนวคิดร่วมสมัย
ต่อมาในช่วงปี 2558-2559 เทศกาลได้ขยายขอบเขตด้วยการริเริ่มตลาดสร้างสรรค์ (Creative Market) ควบคู่กับการจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการและเวิร์กช็อป เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างนักออกแบบและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นรูปแบบการจัดเทศกาลสร้างสรรค์ พยายามจะให้เกิดการสร้างเครือข่ายของความคิดสร้างสรรค์ที่จับต้องได้และต้องขายได้
ต่อมาในช่วงปี 2569-2562 เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ได้พัฒนาสู่เวทีระดับชาติและนานาชาติ อย่างเต็มรูปแบบ โดยดึงดูดนักออกแบบและผู้สนใจจากทั่วประเทศและภูมิภาคเอเชีย
มีการจัดแสดงนิทรรศการจากนักออกแบบชื่อดังทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการผสมผสานเทคโนโลยีเข้ากับงานออกแบบสร้างสรรค์ ทั้งยังมีความร่วมมือระหว่างช่างฝีมือท้องถิ่นและนักออกแบบร่วมสมัย เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ผสานภูมิปัญญาเข้ากับแนวคิดการออกแบบสมัยใหม่เพื่อตอบโจทย์ตลาดยุคใหม
จนกระทั่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 ปี 2563-2564 เทศกาลได้ปรับตัวสู่การส่งเสริมแนวคิดสร้างสรรค์เพื่อความยั่งยืน เน้นการออกแบบที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และริเริ่มโครงการ “HomeComing Creator” ที่พานักออกแบบและนักสร้างสรรค์คืนถิ่น กลับมาบ้านเกิดเพื่อสนับสนุนนักสร้างสรรค์จนเกิดเป็นคอมมิวนิตี้หลากหลายสาขา
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา Chiang Mai Design Week ได้ขับเคลื่อนงานเทศกาลให้สอดคล้องกับการที่เชียงใหม่ได้รับการยกย่องเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านหัตกรรมและศิลปะพื้นบ้าน ขององค์การยูเนสโก (The UNESCO Creative Cities Network-UCCN) มากยึ่งขึ้น โดยมีส่วนสำคัญในการผลักดันความร่วมมือกับนักสร้างสรรค์นานาชาติ
ขณะเดียวกัน เทศกาลยังคงรักษาความเชื่อมโยงกับรากเหง้าท้องถิ่นผ่านการริเริ่มโครงการ “Creative Village” ที่เปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการผลิตและจัดกิจกรรมสร้างสรรค์ในพื้นที่ต่าง ๆ ของเมือง เช่น กาดกองเก่าล่ามช้าง ตลาดชุมชนที่ได้รวบรวมสินค้า อาหาร เครื่องดื่มและบริการท้องถิ่น โดยคนในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงร่วมมือร่วมใจกันจัดตั้งขึ้น เป็นต้น
สร้างมูลค่าเศรษฐกิจภาคเหนือ 5 พันล้าน
“นางสาวอิ่มหทัย กันจินะ” ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่ เผยว่า Chiang Mai Design Week ได้สร้างผลกระทบเชิงบวกในหลายมิติทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ตลอดการเดินทางร่วม 1 ทศวรรษที่ผ่านมา Chiang Mai Design Week ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่เมืองเชียงใหม่ โดยได้ปลุกกระแสความตื่นตัวให้กับผู้คนในภูมิภาคเห็นถึงความสำคัญของงานสร้างสรรค์ และการใช้ Creativity and Design เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในชุมชน และเป็นเหมือนหมุดหมายใหม่ให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเข้าใจว่าการท่องเที่ยวเชียงใหม่ ไม่ได้จำกัดเฉพาะแค่การท่องเที่ยวตามสถานที่ทั่วไป แต่ยังรวมถึงพื้นที่สร้างสรรค์ด้วย
โดยปัจจุบัน Chiang Mai Design Week เปรียบเสมือน “ยานแม่” ของงานสร้างสรรค์ประจำปี ที่ดึงดูดให้งานและกิจกรรมอื่น ๆ ในจังหวัดปรับตัวจัดงานในช่วงเวลาเดียวกัน เพื่อให้ภาพรวมของเมืองเชียงใหม่เต็มเปี่ยมด้วยพลังสร้างสรรค์และกิจกรรมที่หลากหลาย และนักท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์สัมผัสประสบการณ์สุดพิเศษไปด้วย นางสาวอิ่มหทัยกล่าว
เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ยังได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญทางเศรษฐกิจ โดยดึงดูดนักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมเทศกาลทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งมาจากหลากหลายประเทศ เช่น ไต้หวัน ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ และประเทศในยุโรปและอเมริกา
โดยตลอด 9 ปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวและผู้เข้าร่วมเทศกาล กว่า 1,022,869 คน และจากการเก็บข้อมูลในปี 2561-2564 เทศกาลได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ภาคเหนือ รวมกว่า 5,361.56 ล้านบาท
อีกทั้งยังช่วยฟื้นชีวิตให้อาคารเก่าทั่วเมืองผ่านการดึงดูดนักลงทุนให้มาพัฒนาพื้นที่ปรับปรุงอาคารเหล่านั้นให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ส่งผลให้เทศกาลกลายเป็นกลไกสำคัญในการกำหนดยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนเมืองเชียงใหม่อย่างสร้างสรรค์
นอกจากนี้เทศกาลยังได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญในการเชื่อมโยงศิลปะข้ามศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นการจับคู่นักออกแบบหัตถกรรมกับเชฟรุ่นใหม่เพื่อสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และสร้างคุณค่าใหม่ให้เกิดขึ้น เป็นต้น
เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นางสาวอิ่มหทัยกล่าวเสริมว่า Chiang Mai Design Week ได้ยึดมั่นในการดำเนินกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เน้นการ “ทำให้ดู” มากกว่าการ “สั่งให้ทำ” โดยตั้งแต่ปีแรกของเทศกาล ได้ไอเดียนักสร้างสรรค์และสถาปนิก ออกแบบพาวิลเลียนนิทรรศการที่สามารถดัดแปลงใช้ซ้ำได้ต่อเนื่อง
โดยหลังจากผ่านมาเป็นปีที่ 10 พาวิลเลียนทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งประดิษฐ์จากปีแรกทั้งสิ้น ส่วนป้ายให้ข้อมูลเทศกาลนำกลับมาใช้ซ้ำทุกปี โดยปีนี้เปลี่ยนวัสดุที่ใช้ทำป้ายมากกว่า 95% มาเป็นฟิวเจอร์บอร์ดและกระดาษลัง แทนการใช้โฟมบอร์ด ที่หลังจบเทศกาลสามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้
อีกทั้งยังใช้สื่อออนไลน์และดิจิทัลแทนการใช้สิ่งพิมพ์ มีการใช้จอ LED โซลาร์เซลล์ และจากปี 2563 ที่แผ่นพับเทศกาลผลิต 30,000 ฉบับ และสูจิบัตร 150 เล่ม เราปรับลดจำนวนอย่างต่อเนื่อง และปี 2567 ผลิตเพียง 20,000 ฉบับ ซึ่งลดลงไป 30% และมีการใช้กระดาษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ยังมีการใช้รถรางไฟฟ้า Shuttle Bus ตลอดจนพื้นที่ของการจัดงานยังถูกออกแบบให้สามารถเดินเท้าถึงกันได้ รวมถึงมีจักรยานให้บริการ
ทั้งนี้ในส่วนของผู้ประกอบการภายในงานเทศกาล ได้จัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้และทางเลือกวัสดุ ส่งเสริมให้ทุกคนใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ทุกคนเกิดการเรียนรู้ในการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการปรับตัวเพื่อปูทางสู่การทำธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต
เทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ 2567 : ‘SCALING LOCAL’ พลิกโฉมท้องถิ่นสู่สากลด้วยความคิดสร้างสรรค์ เทคโนโลยี และความยั่งยืน นางสาวอิ่มหทัยกล่าว