กรมอุทยานฯ แนะ 9 ข้อปฏิบัติเมื่อเจอช้างป่า พร้อมการสังเกตช้างป่า หากจ้องมองเขม็งให้รีบหนีทันที
สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช แจ้งเตือนการปฏิบัติตัวเมื่อเจอช้างป่า กรณีท่องเที่ยว เดินป่า ได้แก่
1.เวลาเจอช้างป่าระยะกระชั้นชิด อย่ารีบส่งเสียงดังไล่ เพราะช้างป่าบางตัวอาจตกใจหรือรำคาญเสียงคนจะวิ่งเข้าหาคนทันที
2.สังเกตภูมิประเทศรอบตัว หาต้นไม้ใหญ่เพื่อหลบซ่อน
3.กรณีที่ช้างป่าวิ่งเข้าหาหากมีสัมภาระต่าง ๆ ให้ทิ้งสัมภาระ ทำตัวให้เบาและคล่องตัวที่สุด
4.กรณีที่ช้างป่าวิ่งเข้าให้ส่งเสียงดัง กรีดร้อง โห่ร้อง รวมถึงชูแขน ชูมือโบกไปมา พร้อมทั้งเคลื่อนที่ออกจากจุดที่พบช้างป่า
5.กรณีที่ต้องหลบหลีก ให้หนีลงที่ลาดชัน เนื่องจากช้างป่ามักไม่กล้าวิ่งลงทางชันอย่างรวดเร็วมาก เพราะโดยมากจะทำให้ช้างป่าหกล้มและเสียหลักได้โดยง่าย
6.กรณีที่ต้องหลบหลีกทางราบ ให้วิ่งในแนวเฉียง 45 องศา หลบไปตามแนวต้นไม้ใหญ่ เนื่องจากช้างมีขนาดตัวใหญ่จะทำให้การเลี้ยวหรือกลับตัวค่อนข้างช้า
7.หากวิ่งหนีแล้วหกล้ม ช้างวิ่งมาถึงตัวเข้าทำร้าย ให้พยายามตั้งสติ กลิ้งหลบให้พ้นรัศมีช้างป่า แล้วรีบลุกวิ่งต่อทันที
8.กรณีที่หลบไม่ทัน และหากมีโอกาสให้ใช้ไม้หรืออุปกรณ์ที่มี ทิ่มบริเวณตาหรือโดนเล็บของช้างป่า เพื่อให้ช้างหยุดชะงัก แล้วรีบวิ่งหลบหนีต่อไป
9.เมื่อปลอดภัยจากช้างป่าให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่โดยเร็วที่สุด
นอกจากนี้ วิธีสังเกตช้างป่า หากเห็นช้างป่าในระยะใกล้ เห็นว่าช้างหูกาง งวงนิ่ง และจ้องมองเขม็ง ให้รีบหนีออกจากบริเวณนั้นทันที อย่างไรก็ตาม ไม่ควรยืนถ่ายรูปช้างป่าในระยะใกล้ ไม่เดินตามช้างป่า ไม่ส่งเสียงดัง เก็บอาหารให้มิดชิด ตั้งจุดพักค้างคืนในบริเวณที่จัดไว้ให้ และต้องปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่