บัญชา ธนบุญสมบัติ “ยกเมฆ” มาเล่า รวมเรื่องราวน่าทึ่งของ “ลม ฝน ฟ้า อากาศ” ในแง่ทุมใหม่ที่เชื่อมโยงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของมนุษย์ทั่วโลก
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ Bao Café สาขาสีลมซอย 7 สำนักพิมพ์มติชนจัดงานเสวนา “Bao Book: รวมมิตร (myth) เรื่องมวลเมฆ” ฟังหลากหลายเรื่องราวเกี่ยวกับก้อนเมฆบนฟากฟ้า วิทยากรโดย “บัญชา ธนบุญสมบัติ” นักวิทยาศาสตร์ผู้หลงใหลในมวลเมฆ ผู้เขียนหนังสือ “ยกเมฆ: เรื่องเล่าเคล้าวัฒนธรรมก้อนเล็ก ๆ จากฟากฟ้า” และ “All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก ฉบับปรับปรุง” และดำเนินรายการโดย อัญชัญ พัฒนประเทศ
โดยมี นายสรพันธ์ บุนปาน รักษาการกรรมการผู้จัดการ บริษัท งานดี จำกัด นางสาสนฤชล อธิธนบูรณ์ กรรมการผู้จัดการ ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป และนางชวรัตน์ พงศ์สถาพร รองกรรมการผู้จัดการ ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป ให้เกียรติร่วมฟังเสวนา
บัญชา ธนบุญสมบัติ ได้พาผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปท่องในโลกกว้างของมวลเมฆ ชวนฟังเกร็ดเกี่ยวกับปรากฏการณ์ลมฟ้าอากาศในแง่มุมใหม่ ทั้งด้านวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์จากมนุษยชาติในทุกพื้นที่ทั่วโลก
โดยกิจกรรม “Bao Book: รวมมิตร (myth) เรื่องมวลเมฆ” ในครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคักและเป็นกันเองตั้งแต่ก่อนเริ่มการเสวนา
มวลเมฆ ท้องฟ้า หลากความเชื่อ หลายวัฒนธรรม
บัญชา กล่าวว่า เรื่องของมวลเมฆและท้องฟ้าไม่ทำเป็นต้องจำกัดอยู่แค่วิทยาศาสตร์ แต่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องภาษา วัฒนธรรม ความเชื่อพื้นถิ่นต่าง ๆ มากมาย ซึ่งมีเสน่ห์ด้วย
โดยยกตัวอย่างคำว่า “พระอาทิตย์ทรงกลด” ในภาคเหนือมีเรียกถึง 3 ชื่อ คือ “ตะวันก๋างจ้อง” ซึ่งใช้กันโดยทั่วไป ”ตะวันซุบกรุ๊ป” และ “ตะวันตือเกิ่ง”
ขณะที่คำว่า ฝนตกปรอย ๆ ในภาษาอีสานจะใช้คำว่า “ฝนริน” ภาคเหนือใช้ “ฝนอ่อย” ภาคใต้ใช้ “ฝนลงดอก” และที่น่าสนใจคือคำว่า “ฝนสิม” ที่มีใช้เฉพาะเเถบจังหวัดเพชรบุรีเท่านั้น
‘ยกเมฆ’ ที่ไม่ใช่การกุเรื่อง
บัญชา กล่าวว่า “ยกเมฆ” ในปัจจุบันมีความหมายว่ากุเรื่องขึ้นมา แต่ในสมัยโบราณ คำว่า ยกเมฆ คือการมองท้องฟ้าแล้วทำนายทายทัก
โดยยกตัวอย่างจาก ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่อง ก้านกล้วย ซึ่งตรงกับคำให้การชาวกรุงเก่า เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพออกจากเมืองเพื่อไปรบกับพระมหาอุปราชา เมื่อวันขึ้น 12 ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พุทธศักราช 2135 ระหว่างนั้นเกิดศุภนิมิต หมู่เมฆปรากฏเป็นพระเศวตฉัตรขึ้นที่ทิศใต้ เวียนเป็นทักษิณาวัตรไปทางทิศเหนือ
บัญชา กล่าวอีกว่า แม้คนปัจจุบันอาจไม่เชื่อ แต่หากให้เดาใจคนโบราณ ตอนยกทัพออกจากเมืองและเห็นเมฆเป็นเศวตฉัตร นั่นหมายถึงความเป็นมงคล สะท้อนว่าเมื่อเห็นท้องฟ้าเป็นรูปสวยงามต่าง ๆ จะทำการอะไรก็สำเร็จแน่ นี่คือวิชายกเมฆ เป็นการยกเมฆขึ้นมากล่าวอ้าง และทำนานว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร
หรือจะเป็น “ขุนช้างขุนแผน” ที่ว่า “ตรงเข้าไปในป่าแล้วปลุกตัว เป่าทั่วด้วยคาถาประกาศิต ขยับยืนยกเมฆดูนิมิต เห็นรูปนารายณ์เรืองฤทธิ์ติดอัมพร” หรือ ในไกรทอง “จึ่งดูนิมิตเมฆฉาย เป็นรูปนารายณ์เรืองศรี” เป็นต้น
ไม่เพียงแต่ในทวีปเอเชียเท่านั้น แต่ทางตะวันตกก็มีเช่นกัน โดยเรียกว่า “Nephomancy” ซึ่งมาจากคำในภาษากรีก คือ Nephos (เมฆ) + Manteia (การทำนายทายทัก) ที่น่าทึ่งมากคือมีมาตั้งแต่สมัยเมโสโปเตเมียแล้ว ว่าถ้าเมฆเป็นแบบใด จะมีคำทำนายอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นการทำนายเกี่ยวกับการรบของกษัตริย์ พืชพรรณธัญญาหาร หรือภัยแล้งเป็นต้น สิ่งเหล่านี้มีมาตั้งแต่โบราณอย่างน้อย 3,000 ปี
วิทยาศาสตร์และอดีต
บัญชา กล่าวว่า ทุกคนเมื่อมองท้องฟ้าก็จะมีความคิดแตกต่างกันไป เรื่องฟ้าฝนเกี่ยวข้องกับทุกคน และผูกพันกับทุกวัฒนธรรม ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะเข้ามามีบทบาทในภายกหลัง ไม่เกิน 200 ปี
ยกตัวอย่างเช่น “พายุงวงช้าง” คนโบราณเรียกว่า ”นาคเล่นน้ํา” โดยระบุว่าด้านบนจะเป็นเมฆทึบครึ้ม ซึ่งตรงกับโมเดลทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน คนโบราณสังเกตเห็นอย่างชัดเจน เพียงแต่ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นแบบนั้น เมื่อวิทยาศาสตร์เข้ามาจึงอธิบายว่ากลไกการเกิดน้้นเป็นอย่างไร เป็นต้น
ขณะที่ปรากฏการณ์ฟ้าผ่า คนโบราณบอกว่ามีสายฟ้าพุ่งขึ้นมาจากผืนดินตรง ๆ ในหนังสือหนังสือแสดงกิจจานุกิจระบุชัดเจนว่า “บางทีคนเหนเปนไฟฟ้าขึ้นไปจากแผ่นดินก็มีโดยมาก” ซึ่งภายหลังวิทยาศาสตร์พิสูจน์แล้ว มีหลักฐานเชิงประจักษ์ และหลักฐานทางภูมิศาสตร์
อย่างไรก็ดี การตีความของคนสมัยโบราณบางอย่างถูกต้อง และบางอย่างก็ไม่สามารถตีความได้เนื่องจากมีความซับซ้อนเกินไป
ลมล่องข้าวเบา
บัญชา กล่าวว่า คนไทยในปัจจุบันมักเล่นว่าวช่วงฤดูร้อน แต่ในสมัยโบราณจะเล่นว่าวช่วงฤดูหนาว เนื่องจากลมว่าวจะมาจากทางทิศเหนือ ซึ่งก็คือลมหนาวนั่นเอง
คำว่า ลมว่าว บางพื้นถิ่นจะเรียกลมล่อง แต่ถ้าเป็นลมหนาวแรกที่พัดมา ในภาคกลางจะเรียกว่า “ลมล่องข้าวเบา” ดังปรากฏในบทเพลง “ร้องไห้กับเดือน” ในท่อนที่ว่า “เคยเคลียคลอ พะนอเดินเล่นกับน้อง ครั้งเมื่องานเดือนเพ็ญสิบสอง เมื่อตอนลมล่องข้าวเบา”
ในขณะที่คนภูไท เรียกว่า “ลมข้าวดอ” หมายถึงลมหนาวแรกที่มาและเริ่มเก็บเกี่ยวข้าวเบาได้ สะท้อนถึงเสน่ห์ของภาษาถิ่น และวัฒนธรรมที่ผูกโยงกับธรรมชาติ
ใครว่าฤดูหนาวไม่ค่อยมีเมฆ
บัญชา กล่าวว่า คนมักบอกว่าฤดูหนาวไม่ค่อยมีเมฆ ซึ่งไม่เป็นความจริง กลับกันคือช่วงฤดูหนาวอาจมีเมฆรูปแบบแปลก ๆ ที่ไม่พบในฤดูอื่น เช่น พบเมฆที่แบ่งท้องฟ้าเป็น 2 ฝั่ง สีขาวและสีฟ้า หรือจะเป็นเมฆจานบิน ซึ่งปกติมักจะเกิดใกล้ ๆ ภูเขาด้วยกลไกบางอย่าง แต่ในฤดูหนาวอาจเกิดเมฆจานบินเต็มท้องฟ้าเหนือพื้นที่ราบก็เป็นได้
ดังนั้น ฤดูหนาวหรือฤดูต่าง ๆ จะมีความจำเพาะของตัวเอง ซึ่งบางครั้งคาดไม่ถึง และไม่อยู่ในตำรา แต่มีโอกาสเกิดได้เหมือนกัน
เมฆบางอย่างเกิดได้ทุกที่ เช่น “เมฆหมั่นโถว” ในช่วงที่อากาศสดใส หรือ “เมฆเจดีย์” ที่มาในตอนเช้า นั่นหมายถึงฝนจะตกกระหน่ำตอนหลังเที่ยงวัน เนื่องจากเมฆมีน้ำเยอะและก่อตัวสูงมาก
“ไม่ว่าจะไทย จีน หรือฝรั่ง ถ้าสังเกตจะเห็นว่าเรื่องฟ้าฝนนั้นตรงกัน เพียงแต่ชื่อเรียกต่างกัน เช่น คนจีนเรียกเมฆเจดีย์ แต่ฝรั่งเรียก Towering Cumulus ที่แปลว่าเมฆก้อนสูงคล้ายหอคอย
ฝน ฟ้า เทพเจ้า
บัญชา กล่าวว่า มีการศึกษาเกี่ยวกับ เทพปกรณัมเปรียบเทียบ พบว่า ในตำนานนอร์ส ทางสแกนดิเนเวีย มีเทพ “ธอร์” ต่อสู้กับ “ยอร์มุงกัน” (งูยักษ์) ส่วนทางกรีกมี “ซุส” ขณะที่สลาฟมี “เปรุน” ซึ่งล้วนสู้กับพญางูเหมือนกัน และเทพเจ้าต่างมีอาวุธเป็นสายฟ้าทั้งสิ้น ที่น่าสนใจคือทางอินเดีย “พระอินทร์” ก็มีอาวุธเป็นสายฟ้าและสู้กับงูเช่นเดียวกัน
แก่นของเรื่องในแต่ละตำนานคือ พญางูไปขโมยเมฆจากท้องฟ้า ซึ่งจะทำให้ไม่มีฝนตก และเกิดภัยแล้งตามมา คนสมัยก่อนจึงเดือดร้อน เนื่องจากทำเกษตรกรรม โดยเทพเหล่านี้ต้องมาช่วยด้วยการสู้กับพญางู แลถใช้สายฟ้าผ่าพญางู เมื่องูตายฝนก็ตกลงมา เทพเหล่านี้จึงถูกยกย่องในทุกวัฒนธรรมว่าเป็นเทพแห่งสายฟ้า และนำความชุ่มชื้นกลับมาสู่โลก
“เรื่องเหล่านี้คือเสน่ห์ของการศึกษาข้ามศาสตร์ และเชื่อมโยงกัน ทำให้เห็นมิติต่าง ๆ ซึ่งแก่นเรื่องเหมือนกัน เพียงแต่อยู่ต่างที่และเติมรายละเอียดต่าง ๆ ลงไป”
เชื่อมโยง 2 ศาสตร์
บัญชา กล่าวว่า บางครั้งการตั้งคำถามง่าย ๆ นำไปสู่ความรู้ทั้งในเชิงวัฒนธรรม เกี่บวกับการทำนาย และความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ได้เช่นกัน ถ้าสองอย่างเชื่อมเข้าหากันจะเป็นความงดงามอย่างมาก แต่ในประเทศไทยมักจะแยกกัน จะไม่ค่อยเห็นนักวิทยาศาสตร์พูดเรื่องโหราศาสตร์ แต่ก็ต้องแยกด้วยว่าเป็นความเชื่อทางวัฒนธรรม
“ผมไม่เคยดูถูกความเชื่อเรื่องผีสาง เทวดา ผมรู้สึกว่านี่เป็นความเชื่อเชิงวัฒนธรรม ถ้าคุณไปดูถูกแบบนั้นต้องระวัง เพราะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกล้มตลอดเวลา เช่น โทมัส ยัง (Thomas Young) บอกว่าแสงเป็นคลื่น แล้วก็เชื่อกันมา แต่วันหนึ่งมีเรื่องควอนตัม แสงกลาเป็นอนุภาคได้ด้วย หรือนักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มก็บอกว่าเป็นทั้งสองอย่าง แม้แต่วิทยาศาสตร์ก็สามารถปรับเปลี่ยนความเชื่อได้ ดังนั้น อย่าไปบอกใครว่าอันนี้ผิดอันนี้ถูก”
เรื่องย่อ “ยกเมฆ: เรื่องเล่าเคล้าวัฒนธรรมก้อนเล็กๆ จากฟากฟ้า”
“ยกเมฆ: เรื่องเล่าเคล้าวัฒนธรรมก้อนเล็กๆ จากฟากฟ้า” คือ ผลงานใหม่ล่าสุดของ “บัญชา ธนบุญสมบัติ” นักวิทยาศาสตร์ผู้หลงใหลในมวลเมฆผู้เคยบอกเล่าเรื่องราวของเจ้าก้อนปุยสีขาวไว้ใน “All about Clouds เล่มนี้มีเมฆมาก” ที่ในครั้งนี้ กลับมาพร้อมกับสารพัดเรื่องน่ารู้ของลมฟ้าอากาศ
ในยุคปัจจุบัน เมื่อกล่าวถึงปรากฏการณ์ลมฟ้าอากาศ เรามักมุ่งเน้นไปยังข้อมูลข่าวสารการพยากรณ์อากาศรายวัน หรือการคาดการณ์อนาคตของภูมิอากาศโลกซึ่งเป็นการใช้ “วิทยาศาสตร์” มาอธิบาย
ทว่าความจริง เรื่องราวเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศยังมีมิติอื่น ๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ซึ่งสอดคล้องกับไปวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เช่น
- “ยกเมฆ” วิชาทำนายทายทักในสมัยโบราณ
- ภูมิปัญญาไทยในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่าด้วย “ฝนฟ้าอากาศ” และว่าด้วย “ฟ้าผ่า”
- อริสโตเติลอธิบาย “ปรากฏการณ์ฟ้าฝน” อย่างไร?
- “General Winter” นโปเลียนแพ้ “ใคร” ในรัสเซีย?
- ฝนตก “ห่า” หนึ่งมากแค่ไหนกัน?
ช่องทางการสั่งซื้อ
- ร้านหนังสือ Matichon Book Club สาขาประชานิเวศน์ 1 เวลาทำการ : จันทร์-ศุกร์ 09.00-18.00 น.
- เว็บไซต์สำนักพิมพ์มติชน : https://www.matichonbook.com
- Line Shopping : https://shop.line.me/@matichonbook
- Shopee : https://shopee.co.th/matichonbook_officialshop
- Lazada : https://www.lazada.co.th/shop/matichonbookofficialshop
- TikTok : www.tiktok.com/@matichonbook