“ดาราศาสตร์อิสลามฉบับชาวบ้าน” ครั้งแรกย่านเมืองเก่าสงขลา จุดเริ่มต้นการผสานศาสตร์และศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมือง เปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้ค้นหาความหมายของดาราศาสตร์ที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิต โดยหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา และกลุ่มเครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ-เชฟรอน
คำกล่าวที่คุ้นหูอย่าง “ให้ดวงดาวนำทาง” อาจฟังดูเป็นเพียงสำนวน แต่แท้จริงแล้ววิถีชีวิตของเราต่างเกี่ยวโยงคู่ท้องฟ้า โดยเฉพาะมิติด้านศาสนาที่นำไปสู่องค์ความรู้ที่เรียกว่า “ดาราศาสตร์พหุวัฒนธรรม”
แววตาของผู้คนที่แหงนมองท้องฟ้าผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่ตั้งเรียงรายกลางย่านเมืองเก่าสงขลา สะท้อนความใคร่รู้ปนตื่นเต้นที่ได้เห็นดวงดาวด้วยตาตนเองท่ามกลางฉากหลังของตลาดบ้านบนและมัสยิดอุสาสนอิสลาม พร้อมดวงจันทร์บอลลูนขนาดใหญ่ที่ตั้งตระหง่าน

ความงดงามที่ปรากฏเบื้องหน้าไม่เพียงสร้างความประทับใจแก่ชุมชนและนักท่องเที่ยวที่สัญจรผ่านมา แต่ยังจุดประกายความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับดาราศาสตร์อิสลาม หรือ “อัลฟาลัก” วิชาวิทยาศาสตร์มรดกของสังคมมุสลิมที่ศึกษาเกี่ยวกับตำแหน่งและการเคลื่อนที่ของวัตถุท้องฟ้า ซึ่งหลอมรวมวิถีชีวิต ความเชื่อ และศาสนาของชาวมุสลิมไว้อย่างลึกซึ้ง
กิจกรรม “ดาราศาสตร์อิสลามฉบับชาวบ้าน” จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในย่านเมืองเก่าสงขลา โดยหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา และกลุ่มเครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ ผ่านการสนับสนุนโดยบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ณ ตลาดบ้านบน มัสยิดอุสาสนอิสลาม อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการผสานศาสตร์และศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมือง พร้อมเปิดพื้นที่ให้ชุมชนได้ค้นหาความหมายของดาราศาสตร์ที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิต
วิถีมุสลิม-วิถีดาราศาสตร์
ธีรยุทธ์ ลอยลิบ หัวหน้าหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา กล่าวว่า ในทุก ๆ วัน วิถีชีวิตของชาวมุสลิมไม่อาจแยกออกจากดาราศาสตร์ได้ เพราะอัลฟาลัก คือรากฐานของศาสนาอิสลามที่บรรพบุรุษใช้กำหนดการปฏิบัติศาสนกิจเพื่อสร้างระเบียบในวิถีชีวิตประจำวัน ทั้งการกำหนดเวลาละหมาด การกำหนดทิศกิบลัต ไปจนถึงการกำหนดวันสำคัญทางศาสนา
นายธีรยุทธ์ ลอยลิบ หัวหน้าหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา
“ทุกศาสนาล้วนเชื่อมโยงกับดาราศาสตร์ ซึ่งเราเรียกว่า ดาราศาสตร์พหุวัฒนธรรม โดยเฉพาะในศาสนาอิสลามที่ใช้ท้องฟ้าเป็นเครื่องนำทาง”
ด้วยบริบทของพื้นที่สงขลาซึ่งมีประชากรมุสลิมกว่า 80% หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา จึงมุ่งให้ความรู้แก่เยาวชน ครู ไปจนถึงผู้นำศาสนาที่มีความสามารถในการตัดสินใจ โดยหลายคนยังไม่ทราบว่าดาราศาสตร์มีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันของพวกเรามากเพียงใด
จึงอยากสร้างความตระหนักรู้ผ่านกิจกรรมดาราศาสตร์อิสลามฉบับชาวบ้านให้เข้าถึงง่ายและไม่ใช่เรื่องวิชาการเกินไป ก่อนหน้านี้เราให้ความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งกิจกรรมล่าสุดถือเป็นการลงพื้นที่จริงครั้งแรก โดยเริ่มต้นจากสงขลาซึ่งเป็นหัวเมืองใหญ่ และมีแผนจะต่อยอดไปจังหวัดอื่น ๆ เช่น ปัตตานี และยะลาในเดือนต่อไป
“หลายคนอาจไม่เคยตั้งคำถามว่าเฟสของดวงจันทร์เกิดขึ้นได้อย่างไร หรือทำไมเวลาละหมาดถูกกำหนดไว้เช่นนั้น แท้จริงท้องฟ้าคือปฏิทินที่แม่นยำที่สุดสำหรับการทำศาสนกิจ”
หากเข้าใจดาราศาสตร์อิสลาม จะเห็นเหตุและผลของพิธีกรรมทางศาสนา เช่น การหาทิศกิบลัตที่นครมักกะฮ์จากเงาดวงอาทิตย์ โดยไม่ต้องรอเสียงเรียกละหมาดเสมอไป ปลายทางหากทุกคนเข้าใจความรู้พื้นฐานก็จะใช้เหตุผลวิทยาศาสตร์อธิบายควบคู่กับมิติด้านศาสนาได้ และสร้างมาตรฐานสากลจากดาราศาสตร์และวัฒนธรรมในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม สะท้อนว่าดาราศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยกำหนดความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ
ขับเคลื่อนสงขลาให้เป็นเมืองสร้างสรรค์
ดร.จเร สุวรรณชาต ประธานกลุ่มเครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ กล่าวถึงบทบาทของดาราศาสตร์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ว่า สงขลาเป็นเมืองที่มีรากลึกของพหุวัฒนธรรม และเชื่อมโยงกับดวงดาวมาตั้งแต่สมัยก่อน
ดร.จเร สุวรรณชาต ประธานกลุ่มเครือข่ายสถาปนิกสร้างสรรค์ทักษิณ
โดยดาราศาสตร์อิสลามถือเป็นส่วนหนึ่งที่แฝงอยู่ในวิถีชีวิตของคนพื้นที่ หากสังเกตเราจะเห็นว่าสัญลักษณ์ของศาสนาอิสลามมีดวงดาวเป็นองค์ประกอบ จึงเห็นโอกาสที่จะนำองค์ความรู้ดาราศาสตร์สื่อสารผ่านกิจกรรมนี้ร่วมกับทางหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ สงขลา และเชฟรอนในย่านเมืองเก่าสงขลา ซึ่งเป็นพื้นที่ของโครงการ “ศูนย์การเรียนรู้ย่านเมืองเก่า คิด บวก ดี” ที่พัฒนาผ่านการทำงานร่วมกับเชฟรอนกว่า 8 ปี
โดยตลาดบ้านบนเดิมทีเป็นชุมชนมุสลิมและเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวอยู่แล้ว การเติมดวงดาวเข้าไปในเรื่องราวของย่านทำให้พื้นที่แห่งนี้มีเสน่ห์มากขึ้นในเชิงวัฒนธรรม และเสริมการท่องเที่ยวไปในตัว
ดร.จเรกล่าวเสริมว่า มุ่งและยกระดับสู่การเป็นเมืองมรดกโลก ดังนั้นเราต้องมองย้อนกลับไปสำรวจความคิดของคนรุ่นก่อนว่าแสวงหาอะไร และมองเรื่องดวงดาวกับเมืองอย่างไร การหลอมรวมศาสตร์และศิลป์ให้เข้ากับวิถีชีวิตของชุมชนจึงเป็นอีกก้าวสำคัญในการอนุรักษ์วิถีดั้งเดิมสู่คนรุ่นต่อไป และให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่า ดวงดาวไม่ได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ทางศาสนา แต่ยังเป็นมรดกทางปัญญาที่สร้างความหมายในวัฒนธรรมของชาวมุสลิมในทุกสมัย
เชฟรอน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า จังหวัดสงขลาเปรียบเสมือน “บ้านหลังที่สอง” ของเชฟรอน ที่ดำเนินธุรกิจและสร้างความผูกพันกับชุมชนมายาวนานกว่า 40 ปี
โดยเชฟรอนมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ สิ่งที่เชฟรอนให้ความสำคัญไม่แพ้กับการสร้างความมั่นคงทางพลังงานคือสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนของสังคม โดยสงขลาถือเป็นพื้นที่สำคัญที่เราสนับสนุนมรดกทางวัฒนธรรมและการศึกษาผ่านหลากหลายโครงการ
นางสาวพรสุรีย์ กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
ไม่ว่าจะเป็นโครงการอนุรักษ์ย่านเมืองเก่าสงขลา หรือการส่งเสริมองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ผ่านการสนับสนุนหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา สงขลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้ดาราศาสตร์มุสลิมแห่งแรกของไทย และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของภาคใต้
สำหรับกิจกรรมดาราศาสตร์ในครั้งนี้ เชฟรอนได้เชื่อมโยงสองพันธมิตรหลัก เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์กิจกรรมที่ผสานมรดกทางวัฒนธรรมกับองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ ทั้งในมิติของศาสตร์ดั้งเดิมที่เกี่ยวโยงกับศาสนาและศาสตร์สมัยใหม่เข้าด้วยกัน โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชน พร้อมเสริมสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้บ้านหลังที่สองของเชฟรอนเติบโตไปพร้อมกัน

“ทุกครั้งที่เงยหน้ามองท้องฟ้า สิ่งที่เห็นจะไม่ได้มีเพียงหมู่ดาวที่ส่องแสงลงมา แต่เรายังสัมผัสได้ถึงเรื่องราวเบื้องหลังของศาสนาและวัฒนธรรมที่หมุนรอบตัวเราไม่ต่างกับดวงดาวที่โคจรรอบจักรวาล โดยองค์ความรู้ด้านดาราศาสตร์ไม่เพียงช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์บนท้องฟ้า แต่ยังสะท้อนความเชื่อ ศาสนา และวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมา ให้เราตระหนักได้ว่าวิถีดวงดาราได้บอกเล่าวิถีชีวิตโดยแท้จริง”