เจ้าสัวพาชมศิลปะสื่อผสม สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม @MOCA BANGKOK

เป็นนิทรรศการอีกงานหนึ่งที่น่าสนใจ เมื่อ MOCA BANGKOK ได้นำเสนอ “Mammals” หรือ “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” ผ่านนิทรรศการเดี่ยว โดย “วิษณุพงษ์ หนูนันท์” ศิลปินไฟแรง ผู้พลิกทุกโจทย์ธรรมดาให้กลายเป็นผลงานเหนือความคาดหมาย

นิทรรศการนี้สะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และความหมายของการดำรงอยู่ ซึ่งเปิดให้เข้าชมฟรี ตั้งแต่วันนี้-2 มีนาคม 2568 ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน ชั้น G, MOCA BANGKOK

วิษณุพงษ์ หนูนันท์-บุญชัย เบญจรงคกุล-คณชัย เบญจรงคกุล
วิษณุพงษ์ หนูนันท์-บุญชัย เบญจรงคกุล-คณชัย เบญจรงคกุล

ทายาทเจ้าสัวสนับสนุนงานศิลปะ

งานนี้ “บุญชัย เบญจรงคกุล” เจ้าสัวผู้ก่อตั้ง MOCA BANGKOK ได้เดินทางมาร่วมเปิดงาน พร้อมด้วยกลุ่มศิลปิน และผู้บริหาร

“คณชัย เบญจรงคกุล” ทายาทเจ้าสัวบุญชัย ในฐานะผู้อำนวยการ MOCA BANGKOK กล่าวว่า ทาง MOCA BANGKOK ภูมิใจที่ได้มีส่วนสนับสนุนกับนิทรรศการเดี่ยวของ วิษณุพงษ์ หนูนันท์ ในครั้งนี้ นิทรรศการนี้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างศิลปินกับผู้ชม ในรูปแบบที่ลึกซึ้งและมีความหมาย ทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองที่อาจนำไปสู่แรงบันดาลใจใหม่ ๆ

ซึ่งผลงานของ “หนูนันท์” ใช้วิธีการเล่าเรื่องและแสดงมุมมองของศิลปินที่ถ่ายทอดออกมาอย่างเป็นเอกลักษณ์ เปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนให้เห็นถึงตัวตนของเราว่าตัวเรานั้นเป็นใคร ทั้งในแง่ของร่างกาย จิตใจ และวัฒนธรรม และในยุคที่โลกหมุนไวและเปลี่ยนแปลงเร็ว

นิทรรศการนี้จะช่วยให้เราได้หยุดคิดแล้วกลับมาพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาติ เป็นการใช้ศิลปะเป็นเลนส์ที่ช่วยให้เราได้เห็นความเชื่อมโยงลึก ๆ ของชีวิต และชวนให้เราคิดว่าจะทำยังไงให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น เพราะเราทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของโลกใบเดียวกัน

ADVERTISMENT

“MOCA BANGKOK อยากให้ทุกคนได้รับแรงบันดาลใจ ความสงบ และความเชื่อมโยงกับสิ่งรอบตัวกลับไปหลังจากที่ได้ชมนิทรรศการนี้ ทำให้เรามองสัตว์ มนุษย์ และโลกธรรมชาติในมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม และรู้สึกต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสมดุลและความยั่งยืนให้กับชีวิตรอบตัวเราทุกคน รวมถึงอยากเชิญชวนแฟนผลงานของหนูนันท์ รวมถึงคนรักศิลปะทั่วไป ไม่ควรพลาดชมนิทรรศการนี้”

ADVERTISMENT

12 ผลงาน สื่อถึงสตรีและสัตว์

Mixed Media (Multimedia) เป็นเทคนิคการนำสื่อผสมมาใช้ในงานศิลปะ เกี่ยวกับจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ หรืองานวาดเส้น ที่มีวัสดุหรือกลวิธีต่าง ๆ เข้าไปผสมไว้ด้วยกัน และไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นงานศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ สำหรับการระบุว่าเป็นงานศิลปะแบบผสมประเภทใดนั้น จะขึ้นกับลักษณะของงานโดยองค์รวมว่าจัดอยู่ในประเภทงานแบบใดเป็นหลัก

เช่น งานนิทรรศการ “Mammals” ของวิษณุพงษ์ หนูนันท์ เป็นงานปั้น (ประติมากรรม) เป็นหลัก และได้นำกลวิธีการวาดสีน้ำมันเข้าไปใช้ผสมร่วมด้วย (การวาดสีน้ำมันเป็นจิตรกรรม) จึงเรียกงานนิทรรศการนี้ว่าเป็นประติมากรรมสื่อผสม

วิษณุพงษ์ หนูนันท์ กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของผลงานชุดนี้เกิดจากการสำรวจหัวใจตนเอง เนื่องจากเขาชื่นชอบการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการวาดหรือการปั้นที่มี “ผู้หญิง” เป็นองค์ประกอบหลัก จนเกิดเป็นคำถาม และต่อยอดสู่การค้นหาคำตอบจากศาสตร์และศิลป์หลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ ตลอดจนสื่อสังคมต่าง ๆ

แม้ว่า “Mammals” จะเป็นชื่อนิทรรศการ แต่ธีมหลักของผลงานทั้ง 12 ชิ้นนี้ แท้จริงแล้วคือ “หัวใจ” ความหมายเชิงชีววิทยา ถึงอวัยวะที่สูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกาย และความหมายเชิงจิตวิญญาณ จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสายใยความผูกพันของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมแน่นแฟ้นยิ่งกว่าสัตว์ประเภทอื่น

“Mammals” ประกอบด้วย ผลงานทั้งหมด 12 ชิ้นงาน แต่ละชิ้นงานประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ สตรีและสัตว์ ที่สะท้อนความหมายกันและกัน เพื่อเปิดทางสู่การสร้างความเข้าใจใหม่ เกี่ยวกับ “ชีวิต” และ “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม”

อาทิ “วาฬ” ผลงานที่วิษณุพงษ์ หนูนันท์ เลือกมาเป็นตัวเอกบนหน้าโปสเตอร์ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกที่แม้ว่าจะหายใจเหนือน้ำได้ ก็ยังคงอาศัยอยู่ในมหาสมุทร ซึ่งวาฬไม่ได้แค่เอาชีวิตรอดไปวัน ๆ แต่กลับเติบโตเป็นเจ้าสมุทรผู้ยิ่งใหญ่ได้ สะท้อนภาพของสตรีที่ต้องเอาชีวิตรอด ทั้งที่วิวัฒนาการธรรมชาติทำให้ผู้หญิงเป็นผู้ที่ต้องเสียสละในการตั้งครรภ์ ผ่านความเจ็บปวดในการนำมนุษย์อีกคนมาสู่โลกใบนี้

“กระทิง” ผลงานที่ดูหวือหวาที่สุดในนิทรรศการนี้ กับภาพสตรีเปลือยพร้อมผ้าสีแดง ยืนอยู่ต่อหน้ากระทิงดุ ซึ่งสื่อถึงมาทาดอร์ (Matador) วัฒนธรรมการสู้วัวกระทิงของสเปนที่มีชื่อเสียงระดับโลก แต่กีฬาที่มีประวัติยาวนานนี้กลับยังไม่เปิดรับความเท่าเทียมให้กับเพศหญิง ทำให้ปัจจุบันในประเทศสเปนมีมาทาดอร์หญิงเพียง 4 คนเท่านั้น สะท้อนภาพโลกการทำงานที่หลายครั้งผู้หญิงยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมในบางอาชีพ

“ช้าง” อีกหนึ่งผลงานที่กลั่นกรองออกมาจากประสบการณ์ส่วนตัวของวิษณุพงษ์ หนูนันท์ เอง ที่ได้ประสบกับความสูญเสียภายในครอบครัว นำมาสู่ผลงาน “ช้าง” สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ตั้งท้องนานที่สุดในโลก คือ 22 เดือน ที่เขาตั้งใจสื่อถึงสุภาษิตไทย “ช้างตายทั้งตัว เอาใบบัวมาปิด” ซึ่งผู้ชมต้องค้นหาเองว่า สิ่งที่ปิดบังไว้ไม่มิด ในผลงานชิ้นนี้คืออะไรกันแน่

นอกจากนี้ยังผลงาน แมว สิงโต ม้าลาย กระทิง และแรด ซึ่งผู้ชมแต่ละท่านจะได้รับสารแบบใด ตั้งคำถามอะไรกับผลงานแต่ละชิ้น และตีความออกมาอย่างไร ล้วนขึ้นอยู่กับมุมมองและประสบการณ์ของแต่ละคน