
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ณ Ballroom 1 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ “มติชน” จัดงานสัมมนา “Matichon Leadership Forum 2025 Trust Thailand : เชื่อมั่นประเทศไทย” เวทีหนึ่งในงานนี้ คือ เสวนา “เชื่อมั่นของดีไทย ดันซอฟต์พาวเวอร์ไกลสู่เวทีโลก” โดย “น.สพ.วันชัย ตันวัฒนะ” รองผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วย “เชฟไอซ์-ศุภักษร จงศิริ” จากร้านศรณ์ (Sorn) เจ้าของรางวัลมิชลิน 3 ดาว ร้านแรกในประเทศไทย และนายอธิกร ศรียาสวิน เป็นผู้ดำเนินรายการ
ความสำเร็จร้านศรณ์-รอยยิ้มคือซอฟต์พาวเวอร์
เชฟไอซ์ เผยถึงจุดเริ่มต้นของตัวเองว่า ไม่ใช่แค่เติบโตมาในครอบครัวที่ทำร้านอาหาร แต่เติบโตมาในร้านอาหารเลย นั่นคือ ร้าน “บ้านไอซ์” เป็นตึกแถวในย่านประชาชื่น ใกล้กับบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ทำให้ไม่มีพื้นที่วิ่งเล่นรอบ ๆ บ้าน จึงต้องวิ่งเล่นในครัว

ตอนเรียนมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศ จะมีเวลาเรียนและเวลาเล่นน้อยกว่าเวลาทำงาน เพราะตอนนั้นเกิดวิกฤตฟองสบู่แตก ทำให้ต้องทำอาหารเพื่อเอาตัวรอดในต่างประเทศ “ยุคสมัยนั้นไม่มีคำว่า เชฟ มีแต่ กุ๊ก ซึ่งพ่อแม่ไม่ให้เรียนแน่นอน แม้จะอยากเรียนก็ตาม”
เมื่อกลับมาจากต่างประเทศ ก็มาสานต่อธุรกิจร้านอาหารบ้านไอซ์ เนื่องจากคุณย่า (สัจจารี จงศิริ) มีอายุมากแล้ว ถึงจุดหนึ่งแม้ยังอยากทำอาหารอยู่ แต่ต้องรันธุรกิจไปด้วย จึงอยากเบรกดาวน์ ทำให้ลงไปเรียนรู้ ไปอยู่กับชาวนา ชาวไร่ ชาวประมง และร้านอาหารเก่า ๆ ที่ภาคใต้ของประเทศไทย
“รู้สึกเหมือนเราไม่ได้ทำอาหาร ตอนนั้นไปบ้านภรรยา เห็นอาม่าภรรยาแบกผักกระเฉด มีเตาถ่าน และเครื่องปรุงนิดหน่อย อาม่าทำผัดหมี่กระเฉด อร่อยมาก จึงคิดว่าต่างจากย่าเรา เพราะย่าเราทำร้านอาหาร แต่อาม่าภรรยาคือความรักและเวลาที่ให้กับอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปกับที่เราทำมา…อาม่าไม่สนใจด้วยว่าลูกหลานจะกินหรือไม่ แต่ทำไว้เผื่อหลานหิว จึงสัมผัสได้ว่าความรักกับเวลาที่ขาดหายไป”
ตอนนั้นแผนการก่อตั้งร้านศรณ์เริ่มเป็นเค้าโครงขึ้นมา เพราะมีวัตถุดิบที่มาไม่ถึงกรุงเทพฯ และขายที่บ้านไอซ์ไม่ได้ ด้วยวิธีทำที่ลำบาก ประกอบกับต้องการความรักและเวลาที่ให้กับอาหาร จากนั้นภรรยาก็ตั้งครรภ์พอดี จึงตั้งชื่อร้านศรณ์เป็นชื่อเดียวกับชื่อลูกตัวเอง
ร้านศรณ์จึงเริ่มจากการหลงรักและโหยหาในสิ่งที่เราทำ เหมือนการรักใครสักคนและอยากรู้จักเขามากขึ้น จึงลงไปภาคใต้เพื่อค้นหาสิ่งต่าง ๆ และสิ่งที่เห็นทั้งการทำพริกแกง การคั้นกะทิ ก็พบว่าไม่สามารถเจอได้อีกแล้วในกรุงเทพมหานคร
การลงไปอยู่ภาคใต้ 2 ปี เพื่อเรียนรู้และไปอยู่กับคนในพื้นที่ หลายอย่างที่ค้นพบ ทำให้กลั่นกรองรวมกันเป็น ร้านศรณ์ “ตัวผมไม่ได้เรียนจบด้านอาหาร แต่พอรู้ว่ารักก็ต้องไปเรียนโดยตรงเลย และต้องหาความรู้มากกว่าปกติ เป็นความหลงใหลในสิ่งที่ทำ ถ้าทำได้ดี เราก็จะรู้สึกดี อาชีพทำอาหารคือการทำให้คนมีความสุข เป็นอาชีพที่ดีที่สุดแล้ว ทำให้เขาท้องอิ่ม และเราแฮปปี้” เชฟไอซ์กล่าว
ร้านศรณ์ยังใช้วิธีดั้งเดิมในการทำอาหาร ไม่ว่าจะเป็นการใช้มือคั้นกะทิ การตำพริกแกงด้วยครก การใช้เตาถ่านหุงข้าว ความแตกต่างของร้านศรณ์ คือ รสชาติ วัตถุดิบ และที่สำคัญ คือ ความรัก ความจริงใจ ความรู้สึกที่ใส่ไปในอาหาร จะมีความอบอุ่นและความรัก
ใน 1 วัน ร้านศรณ์รับแขกจำนวน 40 คน ผ่านการเปิดจองเดือนต่อเดือน ซึ่งมีลูกค้าประจำที่สนับสนุนร้านมาตั้งแต่วันที่ยังไม่มีอะไร เมื่อก่อนไม่ต้องจอง แต่ตอนนี้ต้องจอง ทางร้านจึงต้องโทร.ถามก่อนว่าเดือนนี้อยากมาหรือไม่ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครปล่อยที่นั่ง
“ตัวผมเองอยากทำให้คนไทยอร่อยก่อน ไม่ใช่ต่างชาติมาจ่ายเท่าไหร่ก็ได้ เราจะรับแต่ต่างชาติ แล้วรวยสบายไม่ได้ ยังไงก็ต้องทำอาหารไทยให้คนไทยอร่อยก่อน ทำให้ลูกค้าไทยเยอะ ขณะที่นักท่องเที่ยวก็เยอะ เมื่อเราได้รางวัลต่าง ๆ มา”
ส่วนนักท่องเที่ยวที่มา ชอบเรื่องราวที่ศรณ์นำเสนอ ทั้งเรื่องวัตถุดิบและสิ่งที่ไปพบเจอมาล้วนเหมือนหนังเรื่องหนึ่ง โดยมีไฮไลต์เป็นข้าว กับข้าว เครื่องเคียง และผักแบบไทย ๆ ซึ่งต้องเเชร์กันบนโต๊ะ ไม่ใช่อาหารจานเดี่ยวแบบตะวันตก
“ความสำเร็จของร้านศรณ์ คงเป็นความซื่อสัตย์กับอาหาร ความตั้งใจกับอาหาร และทุกคนที่คิดแบบเดียวกัน มีความรักต่ออาหาร รักลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นหน้าร้านหรือหลังร้าน เราไม่เคยหลอกใคร และไม่เคยหลอกตัวเอง”
เชฟไอซ์กล่าวถึงเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ว่า ในฐานะคนทำอาหาร และทำได้เฉพาะอาหารใต้ แต่แค่อาหารใต้ยังมาได้ไกลขนาดนี้ ยังมีอีกหลายภาคที่น่าค้นให้ ซึ่งร้านศรณ์จะไม่ใช่ 3 ดาวมิชลิน ร้านสุดท้ายแน่นอน แค่วัฒนธรรมภาคใต้ภาคเดียวยังมีพลังขนาดนี้
“รอยยิ้มสยาม” คือ ซอฟต์พาวเวอร์ จากประสบการณ์ตรงในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่พนักงานต้องใส่แมส ซึ่งลูกค้าชาวต่างชาติบอกว่า เขาไม่ได้เห็นรอยยิ้ม ดังนั้น ยิ้มสยามไม่แพ้ใคร และพนมมือไหว้ สวัสดีครับ ขอบคุณครับ ขอโทษครับ เรามีความสุภาพ นอบน้อม มีความต้อนรับอยู่ในใจ เรามีครบกันอยู่แล้วในทุก ๆ ด้าน

หมูเด้งไม่ใช่แค่ฮิปโปแคระ
น.สพ.วันชัยกล่าวว่า จุดเริ่มต้นของกระแสหมูเด้งไม่ใช่เรื่องปกติ ต้องยกเครดิตให้ พี่เลี้ยง “เบนซ์-อรรถพล หนุนดี” ที่จับพฤติกรรมของฮิปโปแคระในวัยเด็กมาทำเป็นคลิปวิดีโอและเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย ทำให้เป็นไวรัลอย่างรวดเร็ว ซึ่งแตกต่างจากสมัยก่อน กว่าลูกสัตว์ที่เกิดใหม่จะเป็นข่าวต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่ง
เนื่องด้วย เบนซ์ อรรถพล พี่เลี้ยงหมูเด้ง เป็นแอดมินเพจ “ขาหมู แอนด์เดอะแก๊ง” อยู่แล้ว จากการดูแลขาหมู หมูหวาน หมูตุ๋น หมูมะนาว รวมไปถึงคาปิบาร่า ทำให้มีแฟนคลับจำนวนมาก และก่อนหน้านี้ที่มีกระแสคาปิบาร่า ก็ทำให้กางเกง “กะปิปลาร้า” มียอดขายทะลุล้านบาท กลายเป็นกระแสคู่กับกางเกงช้าง ซึ่งเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยตอนนั้น
“เราทำงานสวนสัตว์ นอกจากจะมีสัตว์ให้คนเข้าไปชมแล้ว ยังมีการอนุรักษ์ การแพร่พันธุ์สัตว์ ตรงนี้เป็นสิ่งที่ตอบความสำเร็จในการแพร่พันธุ์สัตว์ของเรา เพราะปัจจุบันฮิปโปแคระเป็นสัตว์หายาก เหลือเพียง 2-3 พันตัว และมีเพียง 4-5 ร้อยตัว ในสวนสัตว์ทั่วโลก”
กระแสของหมูเด้ง ทำให้ผู้เข้าชมสวนสัตว์เปิดเขาเขียวเติบโตขึ้นเท่าตัว จาก 1-3 พันคน เป็น 4-5 พันคนต่อวันในวันธรรมดา และแตะหมื่นคนในวันเสาร์-อาทิตย์ รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวในสวนสัตว์อื่น ๆ ด้วย นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว จากที่ตั้งเป้าไว้ 2 แสนคน ในปีนี้ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.8 แสนแล้ว
“สำหรับเรื่องซอฟต์พาวเวอร์ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย หมูเด้งไม่ใช่แค่ฮิปโปแคระแล้ว แต่มีแบรนด์ตัวเอง มีโลโก้ มีกลุ่มสินค้า ตรงนี้จะขยายความร่วมมือออกไป โดยเฉพาะในต่างประเทศ ในการส่งเสริมให้คนช่วยกันอนุรักษ์ฮิปโปแคระในธรรมชาติด้วย” น.สพ.วันชัยกล่าว