ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำร่องใช้ AI ตรวจจับรอยโรคมะเร็งตับ-มะเร็งท่อน้ำดี

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ใช้ AI ตรวจจับรอยโรค อ่านผลคัดกรองมะเร็งตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ย่นเวลารักษา หากพบในระยะเริ่มต้น ช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิต นำร่องโครงการที่ .บ้านหลวง .น่าน เนื่องจากเหนืออีสาน เป็นพื้นที่เสี่ยง จากพฤติกรรมบริโภคที่เสี่ยงต่อการติดพยาธิใบไม้ในตับ

รศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูลรักษาการคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่า ปัจจุบันโรคมะเร็งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อระบบสาธารณสุขของประเทศไทย และผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปีจากสถิติเมื่อปี 2565 พบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในประเทศไทยรวม 183,541 ราย จากจำนวนประชากรรวม 70,078,198 คน

ทั้งนี้ มะเร็งตับเป็นสาเหตุให้คนไทยเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 จากโรคมะเร็งทั้งหมด โดยมีผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 27,963 รายต่อปี คิดเป็นร้อยละ 15.2 ซึ่งในทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้ป่วยมะเร็งตับเสียชีวิต 3 ราย และในทุก วัน จะมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับ จำนวน 74 ราย

โรคมะเร็งตับเป็นมะเร็งที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากที่สุดในประเทศไทย และยังติดอันดับ 4 ของโลกในส่วนของอัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งตับสูงสุด รองจากจีน อินเดีย และสหรัฐอเมริกา โดยจะพบมากในผู้ที่เกิดก่อนปี .. 2535 เนื่องจากในขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี 

มะเร็งตับมี 2 ชนิด คือมะเร็งเซลล์ตับที่มีสาเหตุหลักมาจากการได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซีเรื้อรัง การดื่มแอลกอฮอล์ ไขมันพอกตับจากโรคเบาหวานและโรคอ้วนเกิดการอักเสบเรื้อรัง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60  ของโรคมะเร็งตับ

ส่วนอีกร้อยละ 40 คือมะเร็งท่อน้ำดีมีสาเหตุจากการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ซึ่งจะมีอุบัติการณ์การเกิดมาก โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่มีพฤติกรรมการบริโภคที่เสี่ยงต่อการติดพยาธิใบไม้ในตับ เช่น การบริโภคปลาน้ำจืด และอาหารสุก ดิบ

ADVERTISMENT
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
รศ.นพ.ธีรภัทร อึ้งตระกูล รักษาการคณบดีคณะแพทยศาสตร์ศรีสวางควัฒน ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

นำ AI ตรวจจับรอยโรคมะเร็งตับท่อน้ำดี

รศ.นพ.ธีรภัทรกล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจคัดกรองมะเร็งตับเป็นสิ่งจำเป็น และเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยวินิจฉัยผู้ป่วย ซึ่งผู้ป่วยมะเร็งตับร้อยละ 70-80 เข้าสู่กระบวนการรักษาเมื่อมีอาการหนัก หรือเข้าสู่ระยะลุกลาม ทำให้การรักษายากขึ้น

เพื่อให้ตรวจพบผู้ป่วยได้ในระยะเริ่มต้น การตรวจคัดกรองมะเร็งตับในกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี หรือซี อย่างสม่ำเสมออย่างน้อยทุก 6-12 เดือน โดยใช้อัลตราซาวนด์ จะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย แต่ก็มีข้อจำกัดด้านบุคลากรที่ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีเป็นคนตรวจ และอ่านผล

ADVERTISMENT

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์จึงมุ่งมั่นพัฒนานวัตกรรมรักษาโรงมะเร็ง โดยใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษายกระดับการตรวจคัดกรองมะเร็งตับ ด้วยการเรียนรู้เชิงลึกระยะไกลหรือ “AICEDA LIVERW” เพื่อให้สุขภาพคนไทยในพื้นที่ห่างไกลได้มีโอกาสตรวจคัดกรองที่จะช่วยลดความเสี่ยง โดยเฉพาะโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นโรคเฉพาะถิ่น เกิดมากในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยได้มีการสร้างโมเดลปัญญาประดิษฐ์ จากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ด้วยเทคนิคการเรียนรู้เชิงลึก ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอเพื่อใช้ในการอ่านผลการตรวจคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี ซึ่งเป็นการตรวจจับรอยโรค ด้วยภาพอัลตราซาวนด์สองมิติโดยอัตโนมัติ

ทั้งนี้ ได้มีการทำโครงการนำร่องที่อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน ซึ่งมีปัญหาการเกิดโรคพยาธิใบไม้ในตับ และปัจจุบันมีชาวบ้านที่ได้รับการตรวจคัดกรองแล้วประมาณ 2,000 คน โดยจะต้องมีการตรวจคัดกรองทุก 6-12 เดือน

การตรวจแบบนี้มีจุดเด่น คือ ใช้ได้ทั้งมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ทั้งยังสามารถแปลผลด้วยเอไอภายใน 1.30 นาที และมีความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 90 ช่วยย่นระยะเวลารอผลตรวจการคัดกรองมะเร็งตับในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีข้อจำกัดเรื่องแพทย์ผู้ตรวจ ซึ่งจะต้องมีความสามารถในการอ่าน และประเมินผลอัลตราซาวนด์ ดังนั้น จึงต้องพัฒนาบุคลากรเข้ามาเสริมด้านนี้เพิ่มขึ้น รวมทั้งพัฒนาเอไอให้มีความสามารถ และมีความแม่นยำมากขึ้น   

ทั้งนี้ การคัดกรองวิธีนี้ยังไม่ได้อยู่ในการตรวจสุขภาพปกติ ยังไม่ครอบคลุมสิทธิการรักษา ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึง ดังนั้น การตรวจคัดกรองเพื่อประเมินความเสี่ยง จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดอัตราการเกิดโรค และเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตได้อีกด้วย รศ.นพ.ธีรภัทรกล่าว

ดันยานวัตกรรม เข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยว่าโรคมะเร็งตับสามารถรักษาได้หากตรวจพบในระยะเริ่มต้น โดยใช้วิธีผ่าตัด หรือการจี้เพื่อเอาก้อนเนื้อที่เป็นเซลล์มะเร็งออก ทำให้ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตได้ถึง 60 เดือน

กรณีตรวจพบในระยะกลางซึ่งต้องรักษาโดยการใช้เคมีบำบัดและการอุดเส้นเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง มีอัตราการรอดชีวิตประมาณ 30 เดือน

แต่ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบก็คือ ผู้ป่วยจะตรวจพบและเข้าสู่การรักษาเมื่อเข้าสู่ระยะที่ 3 หรือ 4 ซึ่งเป็นระยะลุกลาม และมีความยากในการรักษา ผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาและการรักษาแบบประคับประคอง ซึ่งอัตราการรอดชีวิตอยู่ที่ 4-8 เดือน    

ปัจจุบันการรักษาผู้ป่วยมะเร็งมีความก้าวหน้ามากขึ้น รักษาได้ด้วยยานวัตกรรมในผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลาม ซึ่งจะให้ผลในการรักษาที่ดีกว่า ช่วยชะลอการลุกลามของโรค และช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระหว่างการรักษา

เปรียบเหมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับระยะลุกลาม ผู้ป่วยทุกคนควรมีโอกาสได้รับการรักษาด้วยยานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งสุขภาพที่ดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนทุกคน การเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพหรือยานวัตกรรม หมายถึงโอกาสในการใช้ชีวิตที่ยืนยาวขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในด้านการรักษา ซึ่งการที่จะให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพหรือยานวัตกรรมมากขึ้น จะต้องบรรจุรายการยานวัตกรรมให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพของระบบสาธารณสุขไทย ทุกคนควรมีสิทธิเข้าถึงการรักษาที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพโดยไม่ถูกจำกัดด้วยสถานะทางเศรษฐกิจ เป็นการจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์
พญ.จอมธนา ศิริไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์มะเร็งวิทยา โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

กองทุนมะเร็ง ความหวังเข้าถึงสิทธิรักษาด้วยยานวัตกรรม

พญ.จอมธนากล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับในประเทศไทยยังมีความต้องการความก้าวหน้าในการรักษา และการเข้าถึงยานวัตกรรม ซึ่งยามุ่งเป้าเพื่อรักษาโรคมะเร็งได้รับการขึ้นทะเบียนมาตั้งแต่ปี 2551 ส่วนยาภูมิคุ้มกันบำบัดได้รับการขึ้นบัญชียาหลักเมื่อปี 2563  

แต่การเข้าถึงสิทธิในการรักษาด้วยยามุ่งเป้า ยังเข้าถึงผู้ป่วยในบางกลุ่มเท่านั้น ส่วนยาภูมิคุ้มกันบำบัด ยังไม่ได้รับการบรรจุในสิทธิขั้นพื้นฐาน ผู้ป่วยไม่ว่ากลุ่มใดยังไม่สามารถเข้าถึงได้

การเข้าถึงยานวัตกรรมไม่เพียงแต่ช่วยผู้ป่วย แต่ยังช่วยลดภาระของระบบสุขภาพและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว การรักษาที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาเป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและสังคมในการพัฒนาเศรษฐกิจได้

ที่ผ่านมา มีความพยายามจากหลายภาคส่วนในการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ และองค์กรภาคประชาชน เพื่อจะช่วยผลักดันการเข้าถึงยานวัตกรรมได้เร็วขึ้น

โดยมีแนวคิดในการจัดตั้งกองทุนยามะเร็ง โดยทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ศึกษาร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อหาแนวทางสร้างความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนยามะเร็งเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงยานวัตกรรมได้มากขึ้น

การจัดตั้งกองทุนยามะเร็ง เป็นแนวคิดหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยานวัตกรรม โดยเรียนรู้จากโมเดลของหลาย ประเทศ เช่น อังกฤษ อิตาลี และไต้หวัน ซึ่งมีการจัดตั้งกองทุนยามะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยกำลังศึกษาการนำแนวคิด วิธีการมาปรับใช้ตามบริบทของพื้นที่ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดหลายประการโดยเฉพาะในเรื่องของโครงสร้างการบริหารจัดการ หน่วยงานที่จะเป็นเจ้าภาพในการบริหารจัดการดูแลทั้งระบบ รวมทั้งเงินทุนในการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องศึกษาในรายละเอียด

แม้ว่าจะยังไม่สามารถจัดตั้งได้เป็นรูปธรรม แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความพยายามในการหาทางเลือกใหม่ในการช่วยแก้ไขปัญหา เป็นการจุดประกายให้ทุกภาคส่วนให้หันมาให้ความสำคัญและบูรณาการความร่วมมือ

หากไม่เริ่มตั้งแต่วันนี้ ผู้ป่วยมะเร็งตับก็จะยังอยู่กับการรักษาในรูปแบบเดิม ผู้ป่วยก็จะไม่ได้สิทธิในการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพและยานวัตกรรม ที่เป็นประโยชน์ในการรักษาอย่างเต็มที่และเท่าเทียม