เครือข่ายผู้หญิงฯ ร้องนายกฯ หนุนงบฯ กำลังคน “ศูนย์พึ่งได้” สธ. เนื่องในวันสตรีสากล

คณะทำงานฯ เครือข่ายผู้หญิง ถือโอกาสวันสตรีสากล 8 มีนาคม ส่งเสียงเรียกร้องมายังนายกรัฐมนตรี ให้มีบทบาทสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพ ช่วยแก้ปัญหา พร้อมชงเพิ่มในกฎหมายประกันสังคม ให้สิทธิผู้ขายบริการทางเพศ เป็นผู้ประกันตนได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในงานเสวนา วันสตรีสากล 68 เสริมพลังผู้หญิงเด็กหญิงทุกคน คณะทำงานเครือข่ายด้านเด็ก สตรี และการป้องกันการค้ามนุษย์ ซึ่งประกอบด้วย มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิพิทักษ์สตรี มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เครือข่ายสตรี 4 ภาค เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงแสวงสันติภาพสามจังหวัดชายแดนใต้ เครือข่ายสุขภาวะสตรีนนท์ เครือข่ายขับเคลื่อนลาคลอด 180 วัน เครือข่ายแรงงานนอกระบบ กทม. และเครือข่ายแรงงานอิสระบางขุนเทียน กทม. ยื่นจดหมายเปิดผนึกเรื่องความก้าวหน้า ข้อเสนอการเข้าถึงสิทธิ ความเสมอภาคของผู้หญิงและเด็กหญิง โดยส่งถึง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน ผ่านผู้แทน สส.ที่เข้าร่วมงานดังกล่าว ณ โรงแรมทีเค พาเลส แจ้งวัฒนะ

ทั้งนี้ เนื้อหาสาระจดหมายเปิดผนึก ระบุว่า จากรายงานถ้อยแถลง เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 ของคณะทำงานแห่งสหประชาชาติ ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กหญิง (CEDAW) ซึ่งได้มีการปฏิบัติภารกิจติดตามความก้าวหน้าประเด็นผู้หญิงในประเทศไทย ได้มีการประชุมสังเกตการณ์กับทั้งในส่วนของ ภาครัฐและภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม มีข้อเรียกร้อง สนับสนุน และข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลไทย

ประเทศไทย อยู่ในอันดับ 65 จาก 146 ประเทศ ในดัชนีช่องว่างระหว่างเพศในระดับโลก พ.ศ 2567 (2024 Global Gender Gap index) และอยู่ในลำดับ 5 จาก 18 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีข้อชื่นชมรัฐบาลไทยที่ได้มีการจัดทำ ปรับปรุง กฎหมายหลายฉบับ อาทิ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ 2551 พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 2568 และยังมีร่าง พ.ร.บ.อีกหลายฉบับที่อยู่ในขั้นตอนของรัฐสภา

คณะทำงานเครือข่าผู้หญิงจึงมีข้อเสนอเชิงนโยบายประเด็นที่รัฐบาลต้องเร่งผลักดัน ยกระดับ สนับสนุน บุคลากร งบประมาณ การส่งเสริมศักยภาพ กลไก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอส่งเสียงและข้อเรียกร้องต่อนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐบาล จากรายงานของคณะทำงาน CEDAW มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ชี้ให้เห็นสถิติข้อมูลของศูนย์พึ่งได้กระทรวงสาธารณสุข ถัวเฉลี่ย 30,000 รายต่อปี ของความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็กหญิง มีความรุนแรงที่ซับซ้อน และโหดร้ายมากขึ้น

คณะทำงานฯ จึงถือโอกาสในวันสตรีสากล ส่งเสียง และมีข้อเรียกร้องมายัง นายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ท่านเป็นผู้หญิง พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ดังนี้

ADVERTISMENT

1.สนับสนุน งบประมาณ กำลังคน ให้สำนักงานปลัด กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งดูแลกำกับ กองบริหารการสาธารณสุข (ศูนย์พึ่งได้ OSCC) ให้มีบทบาทหลักสำคัญ
1.1 ยกระดับ บันทึกความร่วมมือ MOU ระหว่างกระทรวงหลักที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการคุ้มครองป้องกันแก้ไขความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิง เด็กหญิง รวมถึงบุคคลในครอบครัว ให้ได้รับการคุ้มครองตามกรอบของ พ.ร.บ.คุ้มครองครองเด็ก 2546 พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว 2550 และ พ.ร.บ.สุขภาพจิต 2551
โดยในข้อห่วงใยของคณะกรรมการ CEDAW ระบุชัดเจนว่า กลไกโดยรวมยังไม่สามารถทำให้ผู้หญิง เด็กหญิง เข้าถึงการคุ้มครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะขาดลักษณะการทำงานแบบวิชาชีพ ไม่มีแผนการบูรณาการร่วมกันภายในหน่วยงาน และระหว่างกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีข้อจำกัดในงบประมาณและกำลังคน ส่งผลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ เพราะไม่มีแผน แนวทาง บุคคลที่รับผิดชอบที่ชัดเจน
1.2 ยกระดับการทำงานของ ศูนย์ OSCC ของกระทรวงสาธารณสุขระดับอำเภอ ตำบล ให้ผู้หญิงเข้าถึงบริการ 24 ชม. ง่าย สะดวก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย และจัดให้มีคลินิกครอบครัวประจำทุกโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ศูนย์ OSCC โรงพยาบาลอำเภอ และต้องสนับสนุนนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาปัญหาครอบครัว ละเมิดทางเพศ ท้องไม่พร้อม ต้องการคุมกำเนิด หรือเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย สามารถเป็นผู้จัดการรายกรณี บูรณาการกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น อำเภอ สหวิชาชีพจังหวัด
1.3 การสนับสนุน งบประมาณ กำลังคน อุปกรณ์ ให้กองบริหารงานกระทรวงสาธารณสุข ที่เพียงพอ (ดูแลศูนย์ OSCC จำนวน 10,611 ศูนย์ทั่วประเทศ) ให้มีบทบาทในการสร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญวิชาชีพ อาทิ นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพ นักจิตบำบัด จิตแพทย์ครอบครัว นักกฎหมาย เพื่อสนับสนุน ให้คำปรึกษา ฝึกปฎิบัติ ในการประชุม case conference ให้กับคลินิกครอบครัวชุมชนของ รพ.สต. ศูนย์ OSCC/คณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอ (พชอ.) และสหวิชาชีพจังหวัด ให้มีทักษะศักยภาพในการทำหน้าที่ของตนเองได้ อันจะช่วยให้กลไกในระดับพื้นที่ ท้องถิ่นชุมชน อำเภอ จังหวัด ปฎิบัติงานได้อย่างมีความเข้าใจและมีคุณภาพ ที่สามารถชี้วัดผลได้จากความสำเร็จของการลดปัญหาความรุนแรงต่อเด็ก ผู้หญิง และปัญหาสังคมในทุกมิติได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
1.4 ส่งเสริมบทบาทและสนับสนุน งบประมาณ ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองเด็กจังหวัด และ นายอำเภอ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอำเภอ (พชอ.) และสาธารณสุขอำเภอ ในฐานะเลขานุการของคณะกรรมการ ให้สามารถทำหน้าที่บูรณาการสหหน่วยงานระดับอำเภอจัดประชุม case conference กรณีที่คลินิกครอบครัวในตำบลหรือ OSCC อำเภอ พบว่า ในพื้นที่มีครอบครัวเปราะบางในหลายมิติปัญหา ความยากลำบาก เสพสารเสพติด ป่วยจิตเภท และมีการใช้ความรุนแรงกับสมาชิกในครอบครัว จำเป็นต้องมีการคุ้มครองสวัสดิภาพและการบรรเทาทุกข์คนในครอบครัวแบบเร่งด่วน
1.5 เร่งรัด สนับสนุน งบประมาณ ให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำหลักสูตร คู่มือการคุ้มครองสวัสดิภาพ เด็ก สตรี บุคคลในครอบครัว จากการถูกกระทำความรุนแรง อันเนื่องมาจากความยากลำบาก ยาเสพติด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ป่วยจิตเภท ใช้ความรุนแรง ให้กับโรงเรียนนายอำเภอ และทุกหลักสูตรของผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทย
1.6 สนับสนุน งบประมาณ ศูนย์พิทักษ์เด็กสตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลุ่มงานสอบสวนคดีเพศ ความรุนแรงในครอบครัว การค้ามนุษย์ ของกองบังคับการจังหวัด และประจำสถานีตำรวจ รวมถึง เร่งรัด โรงเรียนนายร้อย เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้าเรียน เป็นนักเรียนนายร้อยหญิง ที่ทุกคนสามารถที่จะเลือกเป็น พนักงานสอบสวนหญิง ในความผิดชอบต่อคดีเพศ ความรุนแรงในครอบครัว และคดีค้ามนุษย์ในเด็กและผู้หญิง หรือความรับผิดชอบในสายงานอื่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงในเรื่องของอาชีพ และทำให้ผู้เสียหายหญิงมีความมั่นใจในการเข้าร้องทุกข์มากขึ้น

รัฐต้องไม่กระตุ้นความรุนแรง “กัญชา กระท่อม ยาเสพติด”
1.7 รัฐบาลต้องไม่จัดทำนโยบายที่ส่งผลกระทบ กระตุ้น ให้เกิดการทุบตีทำร้ายในครอบครัว การคุกคาม ละเมิด แสวงหาประโยชน์ทางเพศในทุกรูปแบบ อันจะเป็นการซ้ำเติม ส่งผลต่อความรุนแรงต่อผู้หญิง และเด็กหญิงมากขึ้น ขอให้รัฐบาลยกเลิกร่าง พ.ร.บ.สถานบันเทิงคอมเพล็กซ์ แทงหวย พนันบอลออนไลน์ถูกกฎหมาย และขอให้พิจารณาปรับแก้กฎหมายให้ กัญชา กระท่อม เป็นยาเสพติด เพราะมีผลกระทบต่อความรุนแรงในครอบครัว พฤติกรรมและความรุนแรงระหว่างเด็ก การเสพติดยา การพนัน ครอบครัวแตกแยก ส่งผลให้เด็กมากกว่า 1 ล้านคน หลุดออกจากระบบโรงเรียน
“กระทรวงศึกษาธิการ จึงควรเร่งยกระดับมาตรฐาน โรงเรียนปลอดภัย คุ้มครองเด็ก และให้เด็กเป็นศูนย์กลางของ การประเมินผลการสอนของคณะครูและผู้บริหารของโรงเรียน โดยรัฐบาลควรสนับสนุน นักจิตวิทยา ประจำโรงเรียน ร่วมบูรณการการทำงานกับท้องถิ่น OSCC เพื่อให้คำปรึกษาเด็ก พ่อแม่เด็ก และคณะครู รวมถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพและแผนฟื้นฟูครอบครัวเด็ก เพื่อลดปัญหาความรุนแรงและพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก ส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรม จิตสาธารณะ ให้เด็กมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างสร้างสรรค์”

ADVERTISMENT

แก้กฎหมายเลือกปฏิบัติต่อเพศหญิง
2.การสนับสนุน ปรับปรุง แก้ไข กฎหมายที่มีการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงและเด็กหญิง
2.1 การยกเลิก มาตรา 5 6 และ 7 ใน พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 เพื่อให้อิสระและเสรีภาพต่อผู้ค้าประเวณี ในการขายบริการทางเพศ โดยไม่มีความผิดอันจะเป็นการช่วยลดปัญหาการถูกแสวงหาประโยชน์จากเจ้าของกิจการค้าประเวณี แมงดา การทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ รวมถึงการให้มีมาตรการทางสังคม การบำบัด ฟื้นฟู เยียวยา การเข้าถึงกองทุนอาชีพ ให้อยู่บนความสมัครใจของผู้ขายบริการทางเพศ เป็นสำคัญ

ชงผู้ขายบริการทางเพศ สมัครผู้ประกันตนได้
ทั้งนี้ ขอให้มีการปรับเพิ่มในกฎหมายประกันสังคม ในกลุ่มอาชีพอิสระ ครอบคลุม ผู้ขายบริการทางเพศ สามารถสมัครเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 39 และมาตรา 40 ซึ่งขณะนี้เครือข่ายแรงงานนอกระบบ นักวิชาการแรงงาน และเครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน ได้ยื่นข้อเสนอต่อสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการปรับปรุงด้านสิทธิประโยชน์ให้ใกล้เคียงกับมาตรา 33 เพื่อได้รับการคุ้มครอง และสนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงานและสิทธิประโยชน์ของแรงงานกลุ่มอิสระ ซึ่งรวมถึงผู้ขายบริการทางเพศด้วย
2.2 ขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐบาล ได้สนับสนุนการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่…) พ.ศ. …. ว่าด้วยการเพิ่มวันการลาคลอด 180 วัน ลูกจ้างได้ค่าจ้างเต็ม ลูกจ้างชายสามารถใช้สิทธิลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตรได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายฯ ในวาระ 1 ซึ่งมติกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้พิจารณาแล้วเสร็จในเรื่องการขยายวันลาคลอด จาก 98 วัน เป็น 120 วัน และแม่สามารถลาเพื่อดูแลบุตร ได้อีก 15 วัน ถ้าลูกเจ็บป่วยหรือพิการ (โดยได้รับค่าจ้าง จากนายจ้าง 50 เปอร์เซ็นต์ จากประกันสังคม 50 เปอร์เซ็นต์) อีกทั้งให้คู่สมรสสามารถลางานมาดูแลบุตรหรือภรรยา ได้อีก 15 วันทำงาน (โดยได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง)

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างกฎหมายฯ ได้นำรายงานการพิจารณากฎหมาย เข้าสู่วาระ 2-3 ชั้นสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เครือข่ายแรงงานหญิง จึงขอให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และรัฐบาล ได้เร่งสนับสนุนผ่านกฎหมายฯ เพื่อให้นำออกมาใช้โดยเร็ว อีกทั้งเพื่อให้ทันกับสถานการณ์การปรับเพิ่มประชากรที่มีคุณภาพในอนาคตของประเทศไทย 2.3 ขอให้รัฐบาล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา สนับสนุนนโยบาย เรื่องสิทธิความเป็นมารดา ต่อเนื่องจากสิทธิลาคลอด โดยให้มีการจัดตั้งศูนย์นมแม่ และศูนย์เลี้ยงเด็กเล็กปฐมวัย ในเขตย่านอุตสาหกรรม หรือบริเวณศูนย์ใกล้สถานประกอบการ ที่ปลอดภัย รวมถึงสนับสนุนการลางานได้รับค่าจ้างเต็ม เมื่อมีการขอลาจาก อาการปวดประจำเดือน และการให้สิทธิผู้หญิงที่ยากลำบาก หรือมีรายได้น้อย สามารถรับการสนับสนุนผ้าอนามัยฟรีที่มีคุณภาพ
คณะทำงานเครือข่ายด้านเด็ก สตรี และการป้องกันการค้ามนุษย์ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านนายกรัฐมนตรีหญิง คณะรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน จะพิจารณาข้อเสนอเพื่อการขับเคลื่อนปรับปรุงแก้ไขให้เกิดการปฎิบัติจริงทั้งในระดับนโยบาย กฎหมาย ท้องถิ่น และระดับชาติ