
เคยถาม ChatGPT ว่าถ้าอ่านหนังสือให้เท่า ChatGPT ด้วยความเร็วของมนุษย์ต้องใช้เวลากี่ปี คำตอบที่ได้คือ 6 พันปี เราจึงเลิกพยายามเก่งกว่า AI เลยจุดที่จะถามแล้วว่า AI จะมีผลกระทบอย่างไร เพราะวันนี้มันกระทบแล้ว
ที่มิวเซียมสยาม มติชน ผนึกกำลังพันธมิตร จัดงาน “Knowledge Fest เทศกาลอ่านเต็มอิ่ม 2025 x เทศกาลดนตรีกรุงเทพฯ” ระหว่างวันที่ 8-9 มีนาคม 2568
ไฮไลต์หนึ่งภายในงาน คือ เวที “BookTalk: AI กับความท้าทายใหม่ในโลกคอนเทนต์” ที่ชวนทุกคนไปสำรวจแง่มุมใหม่ ๆ ของ AI ที่นับวันจะเข้ามามีบทบาทในโลกคอนเทนต์และชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น ในโลกปัจจุบันที่ AI พัฒนาล้ำหน้าขึ้นทุกวัน ความท้าทายที่ต้องเผชิญคืออะไร และเราจะใช้ AI ให้เป็นประโยชน์ได้มากแค่ไหน
โดยได้รับเกียรติจาก “นายต่อวงศ์ ซาลวาลา” หรือ “พี่หาว 2how” ผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพและเทคโนโลยีดิจิตอล ร่วมพูดคุย และ “นายทีปกร วุฒิพิทยามงคล” นักเขียนและนักแปลอิสระ เป็นผู้ดำเนินรายการ
หนีไม่พ้น AI เก่งกว่าเรา แต่อย่าให้ถูกกลืน
ต่อวงศ์ เผยถึงความสำคัญของการเรียนรู้ AI ว่า ไม่มีทางหนี AI พ้น เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เมื่อคลื่นมาเเล้ว จะปล่อยให้คลื่นกลืนเรากลับไปในมหาสมุทรไม่ได้ เราต้องโต้คลื่น
ตนคิดแบบนี้กับทุกเทคโนโลยีที่เข้ามา และไม่เคยกลัว เพราะเทคโนโลยีทำให้ชีวิตง่ายขึ้นทุกอย่าง ในเมื่อทำให้ง่าย ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกลัว
“คนเราต้องใช้เวลาเรียนรู้นับ 10 ปี แต่ AI ใช้เวลาแค่เดือนเดียวก็เรียนรู้ทันเราแล้ว เราต้องหยิบกระดานโต้คลื่นมาวิ่งบนยอดคลื่น และสนุกกับมัน”
ช่วงแรก ๆ ที่เริ่มต้นใช้ AI เมื่อก่อนลองใช้ Midjourney ซึ่งมีมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว ตอนั้นเคยลองทำภาพ ปรากฏว่าช้าและได้ภาพอะไรมาก็ไม่รู้ จนกระทั่งไม่ได้ใช้เพราะรู้สึกว่าไม่ดีเท่าที่ควร
จากนั้น ช่วงปีที่ผ่านมาได้กลับมาลองใช้ดูอีกครั้ง และตกใจมาก เพราะภาพที่ออกมานั้นช่างภาพไม่มีทางถ่ายได้ หรือถ้าได้ก็ยากมาก
จึงเริ่มรู้สึกว่า AI เป็นคลื่นที่น่ากลัวมาก ทำให้ต้องพยายามศึกษาและควบคุม ก่อนจะพบว่า AI เก่งกว่าเรามาก เหมือนเราเป็นเจ้านายแต่มีลูกน้องที่เก่งกว่า
“เราไม่ควรให้ AI ทำแบบที่เราคิด เพราะ AI เก่งกว่าเป็นหมื่นเท่า ความรู้ AI เหมือนมหาสมุทร แต่ความรู้เราเหมือนกะละมัง เราเป็นแค่ช่างภาพที่อยากได้ภาพแบบหนึ่งและไปบังคับ AI”
ต้องเปลี่ยนความคิด ในเมื่อ AI เก่งกว่า จะให้ AI ทำตามเราทำไม เราต้องเปลี่ยนตัวเองจากช่างภาพ ไปเป็นเป็นบรรณาธิการภาพแทน เราไม่ต้องไปบอกว่าใช้กล้องอะไร เลนส์อะไร รูรับแสงเท่าไร เพียงแค่จ้างช่างภาพไปถ่ายภาพ ซึ่งนั่นคือ AI เราแค่เลือกภาพในขั้นสุดท้าย
“ถ้าเราไปบอกว่าแสงต้องมาจากทางไหน ใช้เลนส์เท่าไหน แบบนั้นคือวิธีการใช้ AI ที่ไม่ได้ประโยชน์อะไร”
ยกตัวอย่างเช่น ถ้าจะทำสารคดีเกี่ยวกับลำธารที่เขาใหญ่ เราบอกแค่นั้นก็พอ แล้วปล่อยช่างภาพไปถ่าย ไม่ต้องบอกว่าลำธารควนมีต้นไม้ตรงไหน เพราะช่างภาพที่เก่งจะรู้เอง
AI คุยภาษาไทยได้ AI เข้าใจ และรู้ลึก ให้แต่งนิราศก็แต่งได้ แต่เราก็ต้องดูด้วยว่าผิดหรือเปล่า เราต้องมีความรู้ด้วย ดังนั้น คนที่ใช้ AI ได้เก่ง จะต้องเชี่ยวชาญและมีความรู้ในเรื่องนั้น ๆ เพียแต่ไม่ต้องลงมือทำเองก็ได้ ใช้ AI ทำแทน ต่อวงศ์ กล่าว
“เคยถาม ChatGPT ว่าถ้าจะอ่านหนังสือให้เท่า ChatGPT ด้วยความเร็วปกติของมนุษย์ต้องใช้เวลากี่ปี คำตอบที่ได้คือ 6 พันปี เราจึงเลิกที่พยายามเก่งกว่า AI ที่สำคัญคือ AI ไม่ต้องรออัพเดตเวอร์ชั่นแบบรายปี แต่เปลี่ยนทุกสัปดาห์”
AI ทำชีวิตง่ายขึ้น แต่มีข้อต้องระวัง
ต่อวงศ์ เล่าถึงความสะดวกเมื่อใช้ AI ว่า ถ้าอยากทำคอนเทนต์เรื่องเลนส์กล้องสักตัวหนึ่ง เมื่อก่อนต้องไปหาข้อมูลเยอะมาก นาน 6-7 เดือนกว่าจะรู้ลึก ไม่ก็ต้องไปหาในกูเกิล ซึ่งเจอบ้างไม่เจอบ้าง แต่เมื่อมี AI เพียงแค่คุยกับมันไปเรื่อย ๆ แต่ในขั้นสุดท้ายจะไม่ให้ AI เขียนบรรยายให้ มิเช่นนั้นงานก็จะเหมือนกันหมด
ข้อควรระวัง คือ AI แต่ละตัวเก่งไม่เหมือนกัน และเชื่อถือไม่ได้ทั้งหมด บางตัวข้อมูลไม่ถูกต้อง ทำให้เราต้องรู้ในสิ่งที่เราจะถาม หรือใช้ AI หลายๆ ตัวในการค้นหา หรือถามแย้ง เพราะการที่ถามแย้งจะทำให้รู้ว่า AI บางตัวก็เอาใจคนใช้ เห็นดีเห็นงามกับผู้ถามทุกเรื่อง ถ้าถามในทางที่ผิด ก็อาจได้คำตอบที่ผิดด้วย
“AI เร็วมาก งานที่แต่ก่อนใช้เวลา 6 เดือน เหลือเพียง 15 นาที เร็วมากจนทำให้การทำคอนเทนต์เเม่นยำ พูดตามตรงว่ารู้สึกสงสารคนที่อยู่วงการเดียวกันแต่ไม่ได้ใช้ AI เพราะเราสามารถทำได้วันละ 5-10 คอนเทนต์ โดยไม่เหนื่อยเลย”
ต่อวงศ์ ย้ำว่า AI เป็นได้หลายอย่าง เป็นทั้งที่ปรึกษา เป็นพนักงานค้นข้อมูลให้ ตลอดจนตรวจสอบความถูกต้องให้ ทุกอย่างจึงง่ายไปหมด
“ทุกวันนี้จ่ายให้ AI ราวเดือนละ 6 พันบาท แต่ลองคิดว่าถ้าเจ้างพนักงานคนหนึ่งเดือนละ 6 พันบาท เราจะไม่ได้อะไร ค่าจ้างเท่านี้แม่บ้านยังไม่มาทำเลย แต่ถ้าเราจ่ายให้ AI จะเทียบเท่าการได้พนักงานเก่ง ๆ และมีประสบการณ์ประมาณ 50 คนอยู่รอบตัวเรา”
“ได้นอนกลางวัน และมีเวลาเยอะขึ้น เพราะแต่ก่อนต้องใช้เวลามากกว่าจะได้ข้อมูลที่ไม่มีใครมี แต่ตอนนี้เราทำงานไปด้วยได้พร้อมกับทำอะไรหลาย ๆ อย่าง”
อีกไม่นานคุณลุงคุณป้าก็จะทำได้ เพราะอัตราเร่งในการเก่งของ AI นั้นเร็วมาก เก่งกว่ามนุษย์มาก เราต้องเรียนประถม มัธยม และมหาวิทยาลัย แต่ AI ไม่ต้อง กลุ่มคน Baby Boomer เหมาะสมที่สุด สำหรับการใช้ AU เพราะมีทั้งประสบการณ์ ความรอบคอบ มีเวลา และมีเงินหลังเกษียณ ถ้าตนพบเจอคนเก่ง ๆ และมีประสบการณ์ก็จะบอกให้ใช้ AI เสมอ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาอย่างหนึ่งของ AI คือต้องเสียเงีน ถ้าจะใช้ AI เก่ง ต้องเสียเงิน ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำมาก จ่ายเดือนหนึ่ง 6 หมื่นบาท ถึง 1 แสนบาท เพื่อเข้าถึง AI ที่ฉลาดมาก ๆ ซึ่งเราจ่ายไม่ได้
AI เป็นเหมือนระบบการศึกษา คนมีเงินจ่ายก็จะได้เรียน ดังนั้น ตอนนี้แม้ใช้ของฟรีก็ขอให้ลองใช้ไปก่อน ถ้าไม่ใช้จะไม่รู้ว่ามันน่ากลัว ต้องใช้ไปเรื่อย ๆ
อีกอย่างคือ เราไม่สามารถไปตรวจจับความถูกต้องของ AI ได้ แต่ให้ AI ตรวจสอบกันเองได้ ว่าสิ่งนี้สร้างมาจาก AI หรือเปล่า เพราะเราไม่มีทางที่จะไปดูได้ว่าใช่หรือไม่ใช่ AI นั้นเนียนขึ้นเรื่อย ๆ เราจึงต้องให้ AI ตรวจสอบ ต่อวงศ์กล่าว
ห้ามขี้เกียจกับ AI ต้องตั้งคำถามอยู่เสมอ
ต่อวงศ์ ย้ำว่า ต้องเอ๊ะ (สงสัย หรือ ตั้งคำถาม) กับ AI อยู่เสมอ เพราะการที่เรามีประเด็นมากขึ้น เท่ากับงานของเราจะมีความแตกต่างจากคนอื่น
ตนยังเชียร์ให้คนที่มีความรู้ในสายงานนั้น ๆ มาใช้ AI และอย่าคิดว่าเราเก่ง ถ้าคนที่เก่งน้อยกว่าเราครึ่งหนึ่งแล้วใช้ AI เขาสามารถแซงเราได้สบาย ๆ
พร้อมยกตัวอย่างว่า จะไม่ให้ AI เขียนบรรยายให้ ทั้งที่จริง AI สามารถทำได้ง่ายมาก แต่นั่นก็หมายความว่าใคร ๆ ก็ทำได้ วิธีคือจะต้องคุยกับมันจนเราได้ประเด็น จนประเด็นนั้น ๆ อยู่ในตัวเรา ห้ามขี้เกียจที่จะเล่นกับ AI ให้เป็นเหมือนนักดนตรีที่ต้องซ้อมเป็นพันครั้ง
เวลาคุยกับ AI จะได้ประเด็นใหม่ ๆ อยู่เสมอ เพราะ AI จะตอบคำถามที่ทำให้เรามีทางเลือก เมื่อถามต่อจะทำให้ได้ประเด็นที่ลึกกว่าเดิม
“ถ้าเป็นนักเขียนไม่ต้องให้ AI เขียนให้ แต่ต้องคุยกับมัน แตกประเด็น และหาทางเลือก ซึ่งถ้าคนที่ไม่ใช่นักเขียน จะเลือกไม่เป็นว่าอันไหนดีไม่ดี ดังนั้น การที่เราจะทำงานกับ AI ได้ดี คือเราต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้น ๆ เสียก่อน”
แม้ AI จะทำให้คอนเทนต์เฟ้อ แต่ทุกวันนี้ต่อให้ไม่มี AI คอนเทนต์ก็คล้าย ๆ กันไปหมด แต่จะกลายเป็นเรื่องดีสำหรับคนมีของ เพราะอย่างไรก็จะไม่ซ้ำใคร เราจะเป็นคนผลิตคอนเทนต์ที่มีความเฉพาะมาก และแตกต่างโดยใช้ AI ยิ่งเฟ้อยิ่งดี เพราะจะเห็นว่าเราไม่เหมือนใคร
“เลยจุดที่จะถามว่าเอไอจะมีผลกระทบอย่างไร เพราะมันกระทบแล้ว คลื่นมันมีหลายลูกแล้ว ต้องเรียนรู้ไปด้วยกัน อยากให้ลองใช้ ถ้าไม่ใช้จะไม่รู้”