โอม ค็อกเทล นักการเงินประจำวง วางแผนอย่างไรให้รีไทร์ได้ในวัย 40

(เครดิตภาพ Ohm Cocktail)

ส่องแนวคิดการวางแผนเกษียณของโอม ปัณฑพล กับการอำลาวงการของค็อกเทลในปี 2568 คิดอย่างไรให้รีไทร์ได้แบบไม่เดือดร้อนเรื่องเงิน

สะเทือนวงการดนตรีตั้งแต่การประกาศเตรียมอำลาวงการในปี 2568 ของวงดนตรีร็อกระดับประเทศอย่าง “ค็อกเทล (Cocktail)” ที่เปิดเผยไทม์ไลน์นับถอยหลังมาตั้งแต่ 2 ปีก่อน ทำให้คอนเสิร์ตในครั้งนี้เป็นอีเวนต์ที่ทุกคนรอคอย ที่ในทีแรกที่จะจัดเพียงแค่ราชมังคลากีฬาสถาน ก็เพิ่มขึ้นเป็นจัดใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อบอกลาแฟน ๆ อย่างทั่วถึง

ค็อกเทลเป็นวงดนตรีที่ให้ความสุขกับคนไทยมาตั้งแต่ปี 2545 มีชื่อเสียงและโด่งดังจากผลงานเพลง “ซ้ำซ้อน” “หลบหน้า” และ “เศษซากความฝัน” และรุ่งโรจน์บนเส้นทางดนตรีมาอย่างยาวนาน ซึ่งแม้ว่าการอำลาเส้นทางอาชีพจะเกิดขึ้นกับทุกวงการ แต่สำหรับค็อกเทลที่มีแนวทางชัดเจนมาในวันที่ไม่มีใครคาดคิด และเกิดก่อนที่วงจะหมดความนิยม สร้างความประหลาดใจให้กับแฟนคลับอย่างมาก

แล้วอะไรที่ทำให้พวกเขาตัดสินใจอย่างนั้น “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปหาคำตอบจากแนวคิดวางแผนการเงินเตรียมรับวัยเกษียณ ฉบับนักดนตรีและอาจารย์ด้านนิติศาสตร์ ที่โอมแบ่งปันไว้ในงาน Settrade Streaming Day 2019 ในหัวข้อ “วางแผนชีวิตฉบับโอม Cocktail-ปัณฑพล ประสารราชกิจ”

โอมกล่าวว่า ตอนเด็ก ๆ จนมาถึงวัยเริ่มทำงานไม่ได้มีแนวคิดด้านการออมเงินมาก่อน เศษเงินที่เหลือในแต่ละเดือนก็ถูกทิ้งไว้อย่างนั้น จนกระทั่งไปเรียนต่อและกลับมาเดินสายอาชีพนักดนตรี เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีเงินเข้ามามากขึ้น จากเงินเดือน 12,000 บาทที่เคยได้ตอนเป็นอาจารย์ผู้ช่วยคณะนิติศาสตร์ เพิ่มมาเป็น 80,000 บาทต่อเดือน เป็นจุดเริ่มให้คิดถึงการเก็บออมมากขึ้น

แนวทางการเก็บเงินของเพื่อนในวงช่วงแรก เขาเรียกเก็บคนละ 10,000 บาท แต่เขายอมรับว่าเป็นวิธีที่ทำได้ยาก เนื่องจากพอเงินเข้ากระเป๋าแล้ว ไม่มีใครอยากที่จะจ่ายเงินถ้าไม่ใช่ของที่อยากได้ เขาจึงแก้ปัญหาด้วยการตั้งกองทุนเกษียณอายุของวงขึ้นมา โดยเงินที่ได้มาจะถูกโยนเข้าที่กองทุนนี้ก่อนจะไปถึงมือเพื่อน ๆ ทำให้ทุกคนไม่รู้สึกเสียดาย เนื่องจากไม่เคยเห็นเงินก้อนนั้นมาก่อน

ADVERTISMENT

สาเหตุที่ทำแบบนี้ โอมระบุว่า ศิลปินเป็นอาชีพที่มีอายุการทำงานสั้นด้วยสุขภาพ และความนิยมในวันที่อุตสาหกรรมดนตรีเติบโตขึ้นในทุกวัน เขาจึงมองว่ามันเป็นความเสี่ยงที่อาชีพนี้ต้องเผชิญ ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วอาชีพนี้ก็ได้ทำได้เพียง 10-15 ปี และเขาเองที่เริ่มเส้นทางนี้ในวัย 24 ก็จะถึงเวลาเกษียณในวัย 39-40 ปี

แม้ว่านักดนตรีจะมีรายได้เยอะแตะ 300,000-400,000 บาทต่อเดือน แต่เมื่อเทียบกับอาชีพข้าราชการที่ทำงานได้นานกว่า และมีเงินบำนาญตอบแทน ถ้าเฉลี่ยไปในตอนแก่แล้วก็การมีกองทุนต่างหากที่จะทำให้เราอยู่รอดเพื่อตอบรับการขาขึ้น-ขาลงของชีวิต

ADVERTISMENT

ต่อมาจึงเป็นการกำหนดเป้าหมายว่าปลายทางให้ได้ จึงจะสามารถเตรียมทรัพยากรได้ถูก รู้จำนวนเงินที่ใช้ และวิธีเดินทางให้ถึงเป้า โอมเสนอว่า ให้ทุกคนตั้งเป้าไว้ในใจว่าอยากมีใช้เท่าไหร่ ซึ่งสำหรับกองทุนของวงของเขาหาเงินได้ 2.6-3 ล้านบาทต่อปี และเขาจะเล่นดนตรีไปอีก 6 ปี (2568) ได้ประมาณ 18 ล้านบาท หาร 5 คน ตกคนละไม่ถึง 4 ล้านบาทด้วยซ้ำ

เขามองว่า เอามาใช้ในอายุ 40 ปีคงไม่เพียงพอ ถ้าพอจะต้องตกคนละ 20 ล้านบาท นั่นหมายความว่า กองทุนนี้ตั้งเป้าไว้ที่ 100 ล้านบาท เขาจึงแบ่งเงินสำรองไว้ 2-3 ทาง 1.นำไปเปิดร้านอาหารคาเฟ่ 2.นำไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ และ 3.ตั้งใจจะซื้อโลหะมีค่าและลงทุนอื่น ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อกระจายความเสี่ยง และให้แน่ใจว่าต่อให้ไม่ได้ตามเป้า เงินต้นที่มีอยู่จะต้องไม่หายไป

โอมระบุหลักคิดการเงินที่ต้องตั้งเป้าหมายในแต่ละช่วงวัย จึงจะรู้ว่าต้องหาเงินเท่าไหร่เพื่อให้ใช้ชีวิตแบบไม่มีหนี้สิน ปลอดภัยกับตัวเองและครอบครัว ซึ่งถึงแม้ว่าจะไม่ได้ตามเป้า แต่การกำหนดเป้าหมายจะป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดได้

เดินทางมาถึงปี 2568 ที่โอมเข้าสู่ช่วงวัย 40 และการจากลาวงดนตรีในตำนานของไทยไปอีกวงหนึ่ง เชื่อว่าทุกคนคงไม่อยากจะพลาดโมเมนต์สำคัญในคอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายที่จะเปิดจำหน่ายในวันที่ 15 มีนาคม 2568 นี้ ซึ่งสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่นี่