
ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ สำรวจพบร่องรอยแนวคันดิน บ่งชี้ว่าอาจมีอีกชุมชนโบราณขนาดใหญ่อีกเมืองเคยอยู่อาศัยมาก่อน และตั้งซ้อนทับกับเมืองเก่านครราชสีมา
สืบเนื่องจากโครงการวิจัย “การสังเคราะห์ภูมิสารสนเทศและสถิติของ คูเมืองโบราณ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย” ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ อาจารย์ประจำภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบร่องรอยการเคยมีอยู่ของแนวคันดินโบราณในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ซึ่งอาจบ่งชี้ถึงการมีอยู่ของชุมชนโบราณ ก่อนที่จะมีการสร้างแนวคูเมืองเก่านครราชสีมา ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.2199-2231)
การค้นพบนี้เกิดจากการสำรวจและแปลความหมายภาพถ่ายทางอากาศ ที่ถ่ายไว้ในปี พ.ศ. 2497 โดยกรมแผนที่ทหาร ซึ่ง ศ.ดร.สันติพบว่าในทางภูมิศาสตร์ พื้นที่โดยรอบเมืองเก่านครราชสีมา เป็นที่ราบน้ำท่วมถึงของคลองตะคองเก่า ที่ไหลมาจากลำตะคองทางทิศตะวันตก ผ่านทางตอนเหนือของแนวคูเมือง ซึ่งปัจจุบันเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนปัจจุบันอย่างหนาแน่น
แต่เมื่อพิจารณาภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายไว้ในปี พ.ศ. 2497 ศ.ดร.สันติพบแนวคล้ายคันดินที่ทอดยาวเป็นเส้นตรงอย่างต่อเนื่องทางตอนเหนือ ตะวันตก และทางตะวันออกของคลองตะคองเก่า จึงแปลความว่าอาจจะเป็นขอบเขตของอีกชุมชนโบราณทางตอนเหนือของพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา ซึ่งมีคูเมืองล้อมรอบเป็นสี่เหลี่ยมอย่างชัดเจน

แนวคิดการแปลความ
ถึงแม้ว่าสภาพปัจจุบัน พื้นที่โดยรอบเมืองเก่านครราชสีมาจะถูกเปลี่ยนแปลงอย่างมากจากกิจกรรมการอยู่อาศัยของชุมชนเมืองในปัจจุบัน แต่จากการแปลความ แนวที่คาดว่าเป็นแนวคันดินโบราณ พิจารณาร่วมกับพฤติกรรมการไหลของคลองตะคองเก่า พบว่าไม่เป็นไปตามธรรมชาติของกระบวนการทางน้ำปกติทั่วไป ซึ่งมีตัวบ่งชี้ความผิดปกติทางภูมิศาสตร์อยู่ 2 ประเด็นคือ
- ในฤดูน้ำหลาก เมื่อมวลน้ำจากลำตะคองเก่าไหลหลากจากทิศตะวันตก เข้ามาปะทะแนวคันดินทางทิศตะวันตก (ปัจจุบันคือแนวถนนซอยประปา) มวลน้ำจะถูกกั้นด้วยคันดิน ทำให้น้ำเอ่อนองอยู่บริเวณนอกคันดิน ซึ่งในเวลาต่อมา ผลจากการที่มวลน้ำทั้งหมดต้องทยอยไหลเข้าช่องแคบ ๆ ตามร่องน้ำที่แนวคันดินเปิดระบายไว้ พื้นที่ร่องน้ำนอกคันดินจึงถูกกัดกร่อนสูง ตะกอนถูกพัดพาไปตามร่องน้ำมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ จนกลายเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ และพัฒนาเป็นบึงหรือหนองน้ำในเวลาต่อมา อยู่หน้าแนวคันดิน (ปัจจุบันคือ อ่างอัษฎางค์)
- มวลน้ำจำนวนมากที่ขังอยู่นอกคันดินจะถูกคันดินบังคับให้ไหลผ่านเข้ามาหลังแนวคันดิน ด้วยความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ลำตะคองเก่าเมื่อเข้ามาภายในพื้นที่หลังแนวคันดิน (พื้นที่ชุมชนโบราณ) จะถูกกัดกร่อนในแนวราบอย่างรุนแรงเช่นกัน ทำให้ธารน้ำมีความคดโค้งมากกว่าปกติ (กวัดแกว่งมากกว่าธารน้ำทั่วไป) ทั้งนี้ ก็เนื่องมาจากมวลน้ำจำนวนมากที่ควรไหลหลากทั่วทั้งพื้นที่เท่า ๆ กัน ถูกรวมไว้นอกคันดินและถูกบีบถูกรีดให้ฉีดเข้ามาตามร่องลำตะคองเก่าเพียงอย่างเดียว

โดยแนวคันดินรูปร่าง 4 เหลี่ยม
ขอบเขตพื้นที่จากการรังวัดแนวคันดิน พบว่าแนวคันดินดังกล่าวครอบคลุมพื้นที่รูปสี่เหลี่ยม ประกอบด้วยคันดินที่เห็นได้ชัดเจนด้านทิศเหนือยาว 2 กิโลเมตร ส่วนคันดินทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก ในเบื้องต้นไม่สามารถประเมินความยาวได้ เนื่องจากแนวคันดินเดิม ต่อเนื่องล้อไปกับแนวคูเมืองนครราชสีมา
ซึ่งจากสมมุติฐานตั้งต้นที่ว่า ขอบเขตทางทิศใต้คือถนนจอมพล จะประเมินได้ว่าชุมชนโบราณนี้มีรูปร่างใกล้เคียงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ช่วยสนับสนุนในอีกแง่มุมว่า แนวคันดินนี้ไม่ใช่ บาราย (Baray) หรือแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ในวัฒนธรรมเขมรโบราณ ที่นิยมสร้างเป็นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ในอัตตราส่วน กว้าง : ยาว มักมีสัดส่วน 1 : 2 แทบทั้งสิ้น
นอกจากนี้ จากการตรวจวัดขนาดพื้นที่ กว้าง 2 กิโลเมตร x ยาว 1.7 กิโลเมตร คำนวณได้ว่าชุมชนนี้มีพื้นที่ 3.4 ตารางกิโลเมตร หรือเทียบเท่ากับ 2,125 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นชุมชนขนาดใหญ่ ใหญ่กว่าเมืองเก่านครราชสีมาถึง 2 เท่า และใหญ่กว่าชุมชนโบราณอื่น ๆ ที่กล่าวมาในข้างต้น
จากการค้นพบดังกล่าว ศ.ดร.สันติ ภัยหลบลี้ ให้ความเห็นว่า เป็นเพียงการศึกษาเบื้องต้นจากข้อมูล โทรสัมผัส (Remote Sensing) ซึ่งจำเป็นจะต้องมีการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีเพิ่มเติมในรายละเอียด เพื่อพิสูจน์ทราบความถูกต้องจากการแปลความนี้ อย่างไรก็ตาม หวังว่าผลการแปลความนี้จะช่วยเป็นแนวทางตั้งต้นในการศึกษาวิจัยทางโบราณคดีในพื้นที่ และเป็นข้อมูลจุดประกายให้พี่น้องชาว จ.นครราชสีมา มีความภาคภูมิใจในประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยิ่งใหญ่และยาวนานในท้องถิ่นของตน

(ที่มา : กรมแผนที่ทหาร)