
เหตุแผ่นดินไหว กรมสุขภาพจิตชี้ความกังวลที่มากไปหรือน้อยไปอาจเป็นปัญหาได้ รู้จักหลักจิตวิทยา “Yerkes-Dodson Law” ความกังวลที่พอเหมาะจะรับมือกับสถานการณ์ได้ดีที่สุด
กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า หลายคนได้เคยประสบกับแผ่นดินไหวครั้งแรกจากเหตุการณ์ครั้งล่าสุดที่เกิดขึ้น แม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาอันสั้น แต่ก็เพียงพอให้เกิดความตื่นตระหนก หลายคนรีบวิ่งออกจากบ้าน วิ่งลงจากตึกเป็นสิบชั้น ทั้งที่บางคนไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าเกิดอะไรขึ้น แต่บางคนก็อยู่เฉย ๆ โดยไม่ได้กังวลอะไร
เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงสิ่งที่นักจิตวิทยาเรียกว่า “Yerkes-Dodson Law” หรือ “กฎความสัมพันธ์ระหว่างความตื่นตัวกับประสิทธิภาพ” ซึ่งอธิบายว่า คนเราจะทำงานหรือรับมือกับสถานการณ์ได้ดีที่สุดเมื่อมีระดับความตื่นตัว หรือความกังวลอยู่ในระดับ “พอเหมาะ” ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป
โดยให้ลองนึกภาพเป็นกราฟรูปโค้งกลับหัว (Inverted U) ที่ปลายด้านซ้ายคือความกังวลต่ำมาก ซึ่งอาจเฉื่อยชา ไม่สนใจสัญญาณเตือน ในขณะที่ปลายด้านขวาคือความกังวลสูงเกินไป ซึ่งอาจตื่นตระหนก คิดอะไรไม่ออก และตอบสนองผิดพลาด ส่วนตรงกลางคือจุดที่พอดีที่สุด กล่าวคือตื่นตัวพอที่จะรับรู้และตัดสินใจอย่างมีสติ
ในบริบทของภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว ความกังวลจึงไม่ใช่เรื่องแย่หากอยู่ในระดับที่ช่วยให้เตรียมตัว และตอบสนองอย่างเหมาะสม เช่น การรู้ทางหนีไฟ เตรียมชุดฉุกเฉิน หรือฝึกแผนรับมือเบื้องต้นไว้ล่วงหน้า
ในทางตรงกันข้าม หากกังวลมากจนคิดแต่เรื่องเลวร้ายที่สุด อาจกลายเป็นภาวะเครียดสะสม โรคเครียดเฉียบพลัน หรือ PTSD ได้ ทั้งนี้ คำแนะนำเบื้องต้น ได้แก่
- รู้จักสังเกตตัวเอง หากรู้สึกว่าตื่นกลัวหรือเฉยชาจนเกินไป ควรประเมินว่าอยู่ตรงจุดไหนของโค้ง Yerkes-Dodson Law
- ฝึกหายใจลึก ๆ เพื่อช่วยควบคุมระดับความกังวลให้อยู่ในระดับที่จัดการได้
- ตระหนักแต่ไม่ตระหนก การมีแผนสำรองและซ้อมรับมือ ทำให้จิตใจมั่นคงขึ้น
- หาความรู้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อไม่ให้ข่าวลือหรือความไม่รู้เพิ่มความเครียดโดยไม่จำเป็น
“ความกังวลไม่ใช่ศัตรู หากเรารู้จักใช้ให้ถูกจังหวะ อาจกลายเป็นพลังที่ช่วยให้เรารับมือกับวิกฤตอย่างมีสติและปลอดภัย”
