
เรื่อง : สุวัฑ แซงลาด ภาพ : ภูริณัฐ พูลธัญกิจ
คุยกับ ‘ออฟ-ธรรมธวัช ศรีสุข’ นักเขียนหนุ่มเจ้าของพ็อกเก็ตบุ๊ค ‘เล่าเข้าปาก’ ที่รวม 14 บทสัมภาษณ์ เรื่องราวผู้คนที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ และบทเพลงที่หลายๆ คนคิดถึง ผู้ยืนยันว่าอยากทำงานหนังสือเล่มนี้ด้วยจิตวิญญาณ และหันหลังให้งานบนโซเชียลมีเดีย เพราะอยากกลับไปทำอะไรที่เป็นแบบ physical จับต้องได้ ซึ่งระหว่างที่ทำหนังสือเล่มนี้มีเหตุการณ์ที่น่าเศร้า คือ พ่อเสีย เขาจึงมีความคิดถึงบางอย่างที่ต้องจัดการ และหนึ่งในวิธีจัดการที่ดีที่สุด คือการกลับไปทำความฝันในวัยเด็กให้สำเร็จ
ธรรมธวัช เล่าถึงที่ไปที่มาของงานเล่มนี้ว่า เขาเป็นคนชอบดูหนังชอบฟังเพลงแล้วก็ทำงานประจำเป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ พอทำงานข่าวแล้วประเด็นต่างๆ มันค่อนข้าง Fix ให้เขาไม่ค่อยได้ทำงานที่เป็นเชิงสัมภาษณ์ หรือว่าบทความอย่างที่เขาอยากจะเขียน จึงอยากหาพื้นที่เพื่อเขียนในสิ่งที่เป็นจิตวิญญาณ แล้วก็ทำในสิ่งที่เขาอยากทำจริงๆ จึงตัดสินใจสร้างเพจขึ้นมาชื่อ ‘เล่าเข้าปาก’ เพื่อทำคอนเทนท์พูดถึงหนัง และบทสัมภาษณ์ผู้คนในยุค 2000s
โดยเพจ ‘เล่าเข้าปาก’ ปล่อยคอนเทนท์อยู่ประมาณ 4 ปี แต่ในที่สุดเขาก็ติดหล่มที่รู้สึกว่าตัวเองไม่อยากทำงานบนโซเชียลมีเดียต่อไปแล้ว เพราะพอทำไปแล้วโดนบีบด้วยเงื่อนไขข้อจำกัดของ Facebook ที่ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ หรือกฎการมองเห็นที่บังคับให้ซื้อโฆษณา
“พอตัวเองเป็นคนที่ทำอะไรด้วยแพชชั่นมากๆ มันเลยรู้สึกว่าคุณค่าของงานมันถูกลดทอนลงบ้างนิดนึง ซึ่งถือเป็นข้อเสียของเราที่จิตไม่นิ่งพอที่จะต่อสู้กับเรื่องอะไรแบบนี้ จึงเป็นไอเดียว่าเราอยากเลิกทำเพจ หรือทำงานบนโซเชียล Media จนในที่สุดก็มีความคิดย้อนไปที่ความฝันแรกของตัวเอง คือเราเติบโตกับการอ่านหนังสือก็เลยเอาบทสัมภาษณ์มีมาทำเป็นหนังสือ เพราะอยากต่อยอดเป็นหนังสือ แล้วก็สัมภาษณ์เพิ่ม ซึ่งมีประมาณ 3-4 บทสัมภาษณ์ที่ถูกปล่อยไปในเพจ”
ธรรมธวัชเล่าต่อว่า ในวันที่ตัดสินใจว่าเลิกทำเพจ เขานึกขึ้นได้ว่าตัวเองอยากต่อยอดจากบทสัมภาษณ์ที่มีอยู่แล้วทุกเรื่องที่อยู่ในนั้น และงานบทสัมภาษณ์แต่ละชิ้นตอนนั้นก็ถูกถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์ม จึงมีแก่นไอเดียบางอย่างว่าถ้าเขาทำ Pocketbook ที่เป็นบทสัมภาษณ์แล้วก็ถ่ายภาพด้วยกล้องฟิล์มทั้งเล่ม สิ่งเหล่านี้น่าจะเติมเต็มความฝันในวัยเด็กของตัวเองได้
“คือเราทำงานข่าวออนไลน์มาระยะ 10 ปี ก็ค่อนข้างอิ่มตัวกับการที่เราเขียนบนออนไลน์ แม้มันสามารถเขียนได้ยาวจริง รูปมันสวยจริง แต่เรารู้สึกว่าเสน่ห์ของมันมันหายไป เพราะทุกวันนี้งานโซเชียลมีเดียมันพูดถึงในแง่ของเชิงพาณิชย์การตลาดมากกว่าแพชชั่นที่เรามี เราเลยอยากกลับไปทำอะไรที่เป็นแบบ physical จับต้องได้กับหนังสือที่มันมีกลิ่นกลิ่นกระดาษ มี texture ของกระดาษที่สามารถเปิด เรารู้สึกว่าการอ่านจากด้านหน้ามันโฟกัสมากกว่า
คือถ้าเราจะไถหน้าจอโทรศัพท์มัน เราจะสามารถไถไปเรื่อยๆ เราอาจจะหลุดประเด็นบางอย่างที่คนเขียนเขาต้องการนำเสนอ หรือบางทีอาจจะเลื่อนฟีดเร็วๆ จนผ่านคอนเทนต์นั้นไปเลยโดยที่จริงๆ เขาตั้งใจทำงานชิ้นนั้นมานานเป็นสัปดาห์
แต่ว่าถ้าเกิดคุณได้อ่านในหนังสือ มันก็คือเราวางโทรศัพท์ลง แล้วก็ตั้งใจอ่านมันคุณจะใช้เวลาอ่านแบบเป็นปีก็ไม่เป็นไรแต่เมื่อได้อ่านแล้วมันเหมือนเราหลุดไปอยู่กับมัน” นักเขียนหนุ่มกล่าว
ทำเพื่อยืนยันว่าความฝันนั้นยังอยู่ดี
ธรรมธวัชเล่าว่า เหตุผลอีกอย่างที่ตัดสินใจทำหนังสือ ‘เล่าเข้าปาก’ คือความฝันตอนเด็กๆ ที่เมื่อก่อนทำให้เป็นคนชอบดูหนังเพราะว่าพ่อเป็นคนพาไปโรงหนัง และระหว่างที่นั่งรอหนังฉายมันจะมีช่วงเวลาประมาณ 1 หรือ 2 ชั่วโมง เขาจะโดนพ่อเอาไปปล่อยไว้ที่ร้านหนังสือ แล้ววิ่งเล่นเหมือนเด็กวิ่งในสวนสนุก แล้วพ่อก็จะบอกว่าให้เวลาเดินดูหนังสือนะ อยากได้เล่มไหนก็ไปหยิบมาเดี๋ยวพ่อซื้อให้
ซึ่งระหว่างทำหนังสือเล่มนี้ก็เกิดเหตุการณ์เศร้า ‘พ่อเสีย’ เมื่อพ่อจากไปเขาจึงมีความคิดถึงบางอย่างที่ต้องจัดการ แล้วหนึ่งในวิธีจัดการที่ดีที่สุดคือการกลับไปทำความฝันในวัยเด็กให้มันสำเร็จ ซึ่งทุกครั้งที่พูดถึงงานชิ้นนี้เขาจะบอกเสมอว่า “เพื่อให้พ่อเห็นว่าความฝันมันสำเร็จแล้ว” และพ่อมีส่วนประกอบร่างเราทำให้เป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือ
หรือแม้แต่ย้อนกลับไปในวันที่เข้าไปทำงานข่าวออนไลน์พ่อก็สนับสนุนทุกอย่าง หนังสือเล่มนี้จึงเป็นหนึ่งในคำตอบที่ว่า สิ่งที่ถูกถูกประกอบร่างมามันเห็นผลแล้วนะ และถือเป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่อยากจะทำงานชิ้นนี้
ไม่ทำตอนนี้ ก็ไม่รู้จะทำตอนไหน ?
ธรรมธวัช เล่าต่อว่า การที่ออกจากงานประจำมา มันแค่เป็นการบอกกับตัวเองว่าเออเราทำงานในสายสื่อมา 10 ปี ถือเป็นข้างเป็นระยะเวลานานพอที่ควรจะขยับหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อหาสเต็ปใหม่ๆ ให้กับชีวิต แต่หากเขาฝืนทำอยู่ทำอีกสัก 15 – 20 ปี เขาอาจจะไม่มีแรง ไม่มีไฟ แล้วก็ตายด้านไปในที่สุด ปุ่มความคิดสร้างสรรค์ในหัวคงไม่เหลืออีกแล้ว เพราะโดนตีกรอบไว้ด้วย Engagement ยอดไลค์ ยอดแชร์ แล้วก็ Content ที่ซัพพอร์ตให้ได้ยอด หรือต้องทำงานเพื่อให้มีโฆษณาเข้ามา ซึ่งตอนนี้ตัวเขาเองแค่ได้ไม่เชื่อในเรื่องนั้นแล้ว ขอเชื่อแค่ว่าตัวเองอยากทำอะไรก็พอ
ยุค 2000s สารตั้งต้นของ ‘เล่าเข้าปาก’
ธรรมธวัช เล่าถึงเรื่องนี้ว่า ความสนใจตั้งต้นของเขาคือเรื่องหนังกับเรื่องเพลง ซึ่งภาพรวมมันคือยุค ยุค 2000s มันคือหนังและคนที่อยู่ในวงแวดวงดนตรีในยุคนี้ ถ้าเรื่องเด่นที่อยากจะยกตัวอย่างในเล่มคือ ‘พี่เอส-คมกฤษ ตรีวิมล’ ผู้กำกับหนังดังหลายเรื่อง อาทิ เพื่อนสนิท, สายลับจับบ้านเล็ก และเป็นหนึ่งในผู้กำกับแฟนฉัน รวมถึงเรื่องอนงค์ที่ทำรายได้นับร้อยล้านบาทไปเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา
ยกตัวอย่างหนังเรื่องเพื่อนสนิทคงไม่ต้องอวยเยอะ เพราะหลายคนน่าจะมีความทรงจำกับหนังเรื่องนี้ ซึ่งได้สร้างแรงบันดาลใจให้หลายคนอยากเรียนทางศิลปะ อยากไปมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อยากไปเที่ยวงานลูกทุ่งวิจิตร อยากเรียนคณะศิลปะแบบไข่ย้อย แล้วบางคนอาจจะมีโมเมนต์ที่แอบชอบเพื่อนตัวเองเหมือนในหนัง ซึ่งหนังมัน Relate กับทุกคนหมดเลย คิดว่าแล้วบทสัมภาษณ์นี้จะทำให้ทุกคนกลับไปดูหนังด้วยรายละเอียดที่มันลึกขึ้นในแต่ละฉากในแต่ละโมเมนต์
อีกเรื่องหนึ่งน่าจะเป็น ‘อำลาสกาล่า’ ที่ไปถ่ายไปถ่ายมาในวันที่โรงหนังสกาล่าปิดตัวไป ด้วยความที่ไม่ได้คาดหวังว่าอยากจะไปทำคอนเทนต์ แต่แค่ชวนรุ่นน้องไปสถานที่นี้ด้วยกันเผื่อมีอะไรเกิดขึ้นไป ก็ได้ไปเจอกับลุงคนหนึ่ง ที่เขามาเที่ยวสกาล่าตั้งแต่วันแรกที่โรงหนังเปิด แล้วเขาก็ได้ไปพบเจอกับผู้คน ได้นัดกันกับเพื่อนได้เดทกับผู้หญิง ได้แต่งงานกับภรรยาก็เพราะโรงหนังแห่งนี้จนวันสุดท้ายเขาก็แต่งตัวเหมือนเดิมแบบในวันแรกมาเพื่อบอกลาสถานที่ที่เป็นความทรงจำของเขา
แม้ในวันนั้นหลายคนอาจจะไปโฟกัสกับพนักงานคนที่สูทเหลืองซึ่งทำหน้าที่ฉีกตั๋ว แต่เราดันไปสะดุดตากับคนเนี้ก็ถือว่าเป็นแบบโมเมนต์พิเศษที่ได้เจอคุณลุงท่านนี้ แล้วทุกวันนี้หลายคนก็ยังโหยหาสถานที่แบบโรงหนังสกาล่าอยู่
บทสัมภาษณ์ของนักแสดงแจ้งเกิดจาก Goal Club
อย่าง ‘พี่โจ๊ก-อัครินทร์ อัครนิธิเมธรัฐ’ มันก็คือธีมของยุค 2000s คือยุคนั้นมันเป็นมันมีหนังที่เป็นไอคอนิคแล้วก็ภาพจำหลายเรื่องหนึ่งในนั้นก็คือเรื่อง ‘Goal Club เกมล้มโต๊ะ’ ที่เป็นหนังไทยแนวแอ็คชั่น-ดราม่า ที่ออกฉายใน ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าคนทีอายุ 30 ปีขึ้นไป ก็จะมองพี่โจ๊ก เป็นแบบ Iconic มากๆ เพราะว่ายุคนั้นหนังเรื่องนี้เป็นหนังที่ใหม่ทั้งการเล่าเรื่อง ทั้งนักแสดงนำหน้าใหม่ พี่โจ๊กก็เลยเป็นเหมือนบุคคลที่อยู่ในจุดที่เราอยากจะได้เขามาสัมภาษณ์ อยากนั่งคุยด้วยเพราะว่าเราชื่นชมในตัวเขาในแง่ของการแสดงมากๆ
หรืออย่าง ‘พี่โบ TK-สุรัตนาวี ภัทรานุกุล’ (Triumphs Kingdom) ก็เป็นสัญลักษณ์ของยุค 99 ลากมายุค 2000s กว่า ซึ่งทุกวันนี้บทเพลงของเขาก็ยังทำงานอยู่ และกลับมาโลดแล่นในอีเวนท์ในงานโชว์คอนเสิร์ต จึงอยากพูดถึงการเดินทางของ TK
แล้วก็ในพาร์ทของพี่จอยซ์ที่เคยมีคดีก็จะมีการแบบมีการพูดถึงความเป็นมิตรภาพระหว่างพี่โบว์กับพี่จ๊อย แล้วก็พูดถึงหนังเรื่อง ‘Goal Club เกมล้มโต๊ะ’ ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเดียวของพี่โบว์ที่เคยเป็นนางเอกหนังไทย เป็นแง่มุมที่เค้าไม่เคยเล่าเรื่องนี้มาก่อน
นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่น่าสนใจอย่าง พี่โอ๊ค-พี่กบ Big Ass ซึ่งเคยมีบทสัมภาษณ์ในประชาชาติออนไลน์เรื่องธุรกิจ ‘ห้องซ้อมดนตรี สังกะสี Studio’ ที่เราอยากนำเสนอ เพราะในมุมของวง Big Ass แง่ของการเป็นนักดนตรีและเป็นนักแต่งเพลงเขาถูกพูดถึงมาไม่รู้กี่รอบแล้ว ซึ่งพี่ทั้ง 2 คนทำธุรกิจที่เป็นแพชชั่นสานต่อความฝันมาก ซึ่งมันไม่ใช่แค่ธุรกิจส่วนตัว แต่ยังเป็นสานที่ที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กรุ่นใหม่มากมาย แล้วก็ทำให้วงดนตรีที่เคยหายไปตามกาลเวลาได้กลับมาอยู่ใน Scene ทางดนตรีอีกครั้ง
ซึ่งวงดนตรี Underground หลายๆ วง เช่น วง OBLIVIOUS, RITALINN และ HAREM BELLE ก็ได้กลับมาอยู่ในดนตรีอีกครั้งเพราะว่าห้องซ้อมพี่โอ๊ค-พี่กบ มันเลยเป็นมากกว่าธุรกิจแต่มันเป็นเหมือนสถานที่ที่สร้างแรงบันดาลใจแล้วก็จุดไฟให้ Scene ดนตรี Underground ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งถือเป็นอีกแง่มุมของพี่ๆ ทั้งสองที่ออกนอกเหนือจากชีวิตนักดนตรี
หลังจากเปิดตัวหนังสือเล่มนี้แล้ว ตั้งใจจะทำอะไรต่อ?
มีความตั้งใจปล่อยหนังสือแล้วก็ขายก่อน แล้วก็ให้หนังสือมันเดินทาง เราจะพยายามเอาหนังสือไปวางที่ร้านหนังสืออิสระ แล้วก็พยายามทำอีเวนท์โดยชวนคนที่ถูกสัมภาษณ์ในเล่มมานั่งพูดคุยกัน เป็นอีเวนท์เพื่อซัพพอร์ตการขาย เพราะหนังสือเราจะไม่ไปวางร้านใหญ่ที่เป็นเชนทั่วไปเพราะว่าเขาหักเปอร์เซ็นค่อนข้างสูง
“การนำหนังสือเข้าไปอยู่ในร้านใหญ่ พอหนังสือถูกนำไปวางเฉยๆ บนชั้นวางมันไม่มีการพูดคุยกับคน หนังสือมันไม่สามารถพูดออกมาได้ว่าฉันเป็นใครพูดเรื่องอะไร มันต้องการคนที่ต้องรู้จักประมาณหนึง ถึงเดินเข้ามาซื้อในร้านใหญ่ได้ แต่การอยู่ร้านอิสระหรือว่าการทำอีเวนท์ขายเราได้สื่อสารกันว่าหนังสือเป็นแบบไหนพูดเรื่องอะไร ไม่เหมือนการจัดงานนิทัศการหรืองานอีเวนท์ที่ทุกคนจะได้แบบเข้าใจว่ามันหนังสือเป็นอะไร
หลังจากที่เดินสายโปรโมทหนังสือตามที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้ว ก็คงพักสักเดือนหนึ่งแล้ววางแผนทำเล่ม 2 ต่อ ซึ่งยอดขายตอนนี้ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ เกินกว่าที่ตั้งเป้าไว้ในทีแรก เพราะด้วยความที่เราเป็นคนโนเนม ไม่ได้มีชื่อเสียงในแง่ของการเป็นนักเขียน หรือ Content Creator อะไรมาก แต่ว่าจากคนรู้จักเพจ ‘เล่าเข้าปาก’ ที่ติมตามมาก็เข้าใจสิ่งที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ ก็ทำให้มีกำลังใจที่จะพาหนังสือเดินทางต่อไปในทางที่มันอยากจะให้เป็น”