
ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก หลังจากโซเชียลแห่แชร์คลิปที่ “รศ.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าราชการ กทม. ออกมาขอความร่วมมือสื่อมวลชนในการติดตามรายงานสถานการณ์ข่าวการช่วยเหลือผู้ติดอยู่ภายใต้ซากอาคาร สตง. ที่สื่อสารอย่างชัดเจน ตรงประเด็น ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
ประชาชาติธุรกิจ ชวนมารู้จักกับ “รศ.ทวิดา กมลเวชช” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลมใต้ปีกสุดแกร่งของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. เจ้าของฉายา “เจ้าแม่ดาต้าภัยพิบัติ”
รศ.ทวิดา เป็นบุตรสาวของนายทวีศักดิ์ กมลเวชช อดีตผู้อำนวยการเขตพญาไท สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง), ปริญญาโท การบริหารสาธารณะ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ปริญญาเอก การบริหารสาธารณะและนโยบาย จาก University of Pittsburgh, สหรัฐอเมริกา
ส่วนประสบการณ์ด้านการทำงานนั้น รศ.ทวิดา เคยดำรงตำแหน่งมากมาย ได้แก่
- คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้แทนคณะรัฐศาสตร์ สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการภัยพิบัติ การจัดการเครือข่ายทางสังคมการวิเคราะห์และออกแบบนโยบายสาธารณะ การบริหารเชิงกลยุทธ์ การจัดการความเสี่ยง การศึกษาวิจัยทางสังคมศาสตร์
- อาจารย์ประจำภาควิชาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.)
- คณะอนุกรรมการสำนักงานข้าราชการกรุงเทพมหานคร คณะอนุกรรมการการระบายน้ำและการจราจรกรุงเทพมหานคร
ที่ผ่านมา รศ.ทวิดา เป็นมือวางอันดับ 1 ในการจัดการเหตุภัยพิบัติในกรุงเทพมหานครมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน อาทิ การจัดการวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การจัดการออกแบบนโยบายสาธารณะ ภายในกรุงเทพมหานครด้วยความคุ้นเคยและเชี่ยวชาญในพื้นที่เป็นอย่างดี
นอกจากการจัดการปัญหาภัยพิบัติในกรุงเทพมหานครแล้ว รศ.ทวิดา เคยถูกส่งตัวมาช่วยเหลือการจัดการภัยพิบัติ ภายหลังเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 6 จังหวัดภาคใต้ เมื่อปี 2547 ในฐานะผู้เเทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาอีกด้วย
สำหรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา รศ.ทวิดา แสดงศักยภาพในการทำงานผ่านการอธิบายสถานการณ์การค้นหาผู้สูญหายผ่านสื่อได้อย่างเข้าใจง่าย และบอกถึงเหตุผลที่ไม่สามารถให้คนเข้าพื้นที่ค้นหาผู้รอดชีวิตจากอาคาร สตง.ถล่ม ในวินาทีที่ตรวจพบสัญญาณชีพของผู้รอดชีวิต
“ตอนนี้ทุกวินาทีมีค่ามากจริง ๆ เมื่อตรวจจับสัญญาณต้องการความเงียบ เพราะสัญญาณที่เราตรวจจับได้อ่อนจะไม่ได้ยิน ทำให้เห็นพื้นที่ลำบาก และช่วยเหลือได้ล่าช้า”
เป็นเหตุให้นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เลือกออกจากพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวก และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแลและผู้บัญชาการเหตุการณ์เท่านั้น
ประสบการณ์ลุยแก้ปัญหาภัยพิบัติทั้งหมดที่ว่ามา พิสูจน์ได้แล้วว่า ฉายาเจ้าแม่ภัยพิบัติ ไม่ได้ได้มาเล่น ๆ เรามีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่แข็งแกร่งไม่แพ้ผู้ว่าฯ