PTSD ภาวะเครียดหลังภัยพิบัติ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

PTSD

รู้จัก “PTSD” ภาวะเครียดหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญ อันตรายที่ไม่ควรมองข้าม อาจเกิดขึ้นชั่วขณะหรือเป็นปี แพทย์ชี้อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตเรื้อรัง แนะวิธีดูแลใจให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

พญ.ดุจฤดี อภิวงศ์ จิตแพทย์โรงพยาบาลพระรามเก้าให้ข้อมูลว่า โรค PTSD เป็นภาวะทางจิตใจที่เกิดขึ้นหลังจากบุคคลต้องเผชิญกับเหตุการณ์ร้ายแรงที่กระทบกระเทือนร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ภัยธรรมชาติ อุบัติเหตุร้ายแรง หรือแม้แต่เห็นภาพหรือสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักจากเหตุการณ์รุนแรง

โดยอาการ PTSD เป็นผลต่อเนื่องมาจากภาวะเครียดรุนแรงฉับพลัน Acute Stress Disorder ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเดือนแรกหลังเผชิญเหตุการณ์ แต่ PTSD เป็นภาวะที่อาจอยู่กับเรานานเป็นเดือนหรือเป็นปี หากไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสม อาการอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ความสัมพันธ์ และอาจจะมีภาวะแทรกซ้อนเช่นโรคซึมเศร้าตามมาได้

อาการต่าง ๆ เกิดจากการทำงานของระบบประสาทและสมอง มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อประสาทฮอร์โมนความเครียด โดยระบบประสาทอัตโนมัติของคนมีอยู่สองระบบ ได้แก่ ระบบซิมพาเทติก (Sympathetic) ซึ่งเป็นฝั่งกระตุ้นที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว พร้อมรับมือกับภัยอันตราย และระบบพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic) ซึ่งเป็นฝั่งผ่อนคลาย ช่วยให้ร่างกายฟื้นตัวจากความเครียด ระบบทั้งสองต้องทำงานสมดุลกัน หากระบบซิมพาเทติกทำงานมากเกินไป จะทำให้เกิดผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็วตื้น ตื่นตัว กล้ามเนื้อเกร็ง วิตกกังวล และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตและร่างกาย

สำหรับผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็น PTSD ได้แก่ ผู้ที่ประสบภัยพิบัติหรือเหตุการณ์สะเทือนขวัญโดยตรง บุคคลที่สูญเสียคนใกล้ชิดในเหตุการณ์รุนแรง อาการของ PTSD มีหลายรูปแบบ เช่น ภาพเหตุการณ์ย้อนกลับ (Flashbacks) ฝันร้ายและนอนไม่หลับ ความวิตกกังวลและตื่นตระหนกง่าย หวาดกลัว เลี่ยงสถานการณ์ที่กระตุ้นความทรงจำเหตุการณ์นั้น เหม่อลอย ซึ่งอาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หากพบว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีอาการเหล่านี้ ควรรีบขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ

พญ.ดุจฤดี อภิวงศ์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า
พญ.ดุจฤดี อภิวงศ์ จิตแพทย์ โรงพยาบาลพระรามเก้า

พญ.ดุจฤดีให้ข้อมูลอีกว่า แม้ PTSD จะเป็นภาวะที่ซับซ้อน แต่การดูแลตัวเองอย่างถูกต้องสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ การสังเกตและยอมรับอารมณ์ของตัวเอง การฝึกหายใจ (Breathing Exercise) การจดบันทึกความรู้สึก (Journaling) และการฝึกอยู่กับปัจจุบัน (Mindfulness & Meditation) เป็นวิธีที่ช่วยลดความเครียดได้ นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์และคาเฟอีน เนื่องจากอาจกระตุ้นให้เกิดอาการวิตกกังวลและนอนไม่หลับ

ADVERTISMENT

นอกจากนี้ กิจกรรมเสริมที่ช่วยลดความเครียดและฟื้นฟูจิตใจ ได้แก่ ศิลปะบำบัด (Art Therapy) เช่น การวาดภาพหรือปั้นดินที่ช่วยให้สมองจดจ่อและลดความเครียด ดนตรีบำบัด (Music Therapy) เช่น การฟังเพลงที่ให้ความรู้สึกสงบ หรือเล่นดนตรีเพื่อช่วยให้สมองผ่อนคลาย ออกกำลังกายแบบผ่อนคลาย (Relaxing Exercise) เช่น โยคะ ไทชิ ว่ายน้ำ หรือการเดินเล่นในธรรมชาติ ออกกำลังกาย รวมถึงงานอดิเรกที่ชอบและผ่อนคลาย หรือการเข้าสังคมและทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่น เช่น การพบปะเพื่อนฝูง หรือเข้าร่วมกิจกรรมอาสาสมัครเพื่อสร้างความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง

“PTSD เป็นภาวะที่ต้องได้รับการดูแล อย่าปล่อยให้ตัวเองหรือคนใกล้ชิดต้องเผชิญกับมันตามลำพัง หากรู้สึกว่ายังรับมือไม่ไหว หรือมีอาการรุนแรงจนกระทบต่อชีวิตประจำวัน ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพราะการได้รับการรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้ฟื้นตัวได้เร็วขึ้น นอกจากนี้ การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม เช่น การนอนหลับให้เพียงพอ แบ่งเวลาพักระหว่างวัน และพูดคุยกับคนที่ไว้ใจได้ จะช่วยให้จิตใจกลับมาแข็งแกร่งได้อีกครั้ง”

ADVERTISMENT

การดูแลสุขภาพจิตที่ดีที่สุด คือการมีสติและการรับรู้อารมณ์ของตัวเอง การสำรวจตัวเองว่าเครียดเกินไปหรือไม่ และจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม การฝึกมีสติ (Mindfulness) ช่วยให้เรารับรู้ปัจจุบันและวางแผนอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียด ควรตั้งสติให้มั่น การฝึกสติไว้ก่อนเปรียบเหมือนกับการเรียนรู้การว่ายน้ำก่อนตกน้ำ หากไม่มีการฝึกเตรียมพร้อม เมื่อเกิดอาจทำให้เกิดความตื่นตระหนก และส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้ การรู้เท่าทันตนเองและการหยุดเสพข่าวที่สร้างความเครียดมากเกินไป เป็นกุญแจสำคัญในการป้องกันภาวะ PTSD และรักษาสุขภาพจิตให้แข็งแรง พญ.ดุจฤดีกล่าว