
สิ้นเสียงรถด่วนขบวนสุดท้าย เปิดประวัติ “ผ่องศรี วรนุช” ศิลปินแห่งชาติ ราชินีลูกทุ่งคนแรกของไทย
นับเป็นข่าวเศร้าของวงการเพลงลูกทุ่งและวงการบันเทิงไทย เมื่อกรมส่งเสริมวัฒนธรรม โดยกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ได้ประกาศว่า “ผ่องศรี วรนุช” ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) พ.ศ. 2535 เสียชีวิตแล้วอย่างสงบในวัย 85 ปี
ผ่องศรี วรนุช ได้รับสมญานามว่าเป็น “ราชินีลูกทุ่งคนแรกของประเทศไทย” เกิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2482 ณ บ้านเรือนแพ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท บิดาชื่อ “ฉาก” เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ มารดาชื่อ “เล็ก” เป็นแม่ค้าขายขนม มีพี่น้องรวม 6 คน เป็นชาย 2 คน และหญิง 4 คน โดยผ่องศรี วรนุช เป็นลูกคนที่ 4
ผ่องศรี วรนุช เรียนหนังสือชั้นประถม 1-4 ที่โรงเรียนวัดแก่นเหล็ก เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ต้องออกจากโรงเรียนเพราะฐานะทางบ้านไม่เอื้ออำนวย
หลังออกจากโรงเรียน ผ่องศรี วรนุช ได้ไปสมัครขอทำงานกับละครเร่ “คณะคุณหนู สุวรรณประกาศ” ซึ่งเป็นละครเร่ชื่อดังจากเพชรบุรี ซึ่งไปแสดงที่ชัยนาทพอดี ในฐานะเด็กรับใช้ทั่วไป
ด้วยความที่รักการร้องเพลง และมีแก้วเสียงที่โดดเด่น คณะละครเร่จึงสนับสนุนให้ได้ร้องเพลงสลับฉากหน้าม่าน และแสดงเป็นตัวประกอบบ้าง จนกระทั่งขยับเป็นนางเอกประจำคณะ ได้แสดงในเรื่อง “สโนไวท์” ด้วยอายุที่น้อยที่สุดในบรรดานักแสดงละครเร่ด้วยกัน
จากนั้นผ่องศรี วรนุช ได้ตัดสินใจอำลาคณะละครเร่หลังอยู่มา 2 ปี โดยเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร จากการชักชวนของ “นายวัลลภ วิชชุกร” พระเอกประจำคณะ ซึ่งได้พาไปหา “ครูมงคล อมาตยกุล” และรับผ่องศรี วรนุช ไว้เป็นศิษย์
การเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ในครั้งนี้เองทำให้ผ่องศรี วรนุช ได้รู้จักครูเพลงอีกหลายท่าน อาทิ ครูไพบูลย์ บุตรขัน, ครูป. ชื่นประโยชน์, ครูตุ้มทอง โชคชนะ เป็นต้น
ด้วยแรงผลักดันของนายวัลลภ วิชชุกร และครูมงคล อมาตยกุล ประกอบกับน้ำเสียงอันโดดเด่น ทำให้ผ่องศรี วรนุช ได้มีโอกาสขึ้นร้องเพลงรับเชิญตามวงดนตรีต่าง ๆ
จากนั้นผ่องศรี วรนุช ได้นำเงินที่สะสมจากการร้องเพลงมาซื้อผลงานเพลงของ “สุรพล พรภักดี” ชื่อเพลง “หัวใจไม่มีใครครอง” และบันทึกแผ่นเสียงเป็นเพลงแรกในชีวิตนักร้อง เมื่อปี พ.ศ. 2498 โดยมีครูมงคล อมาตยกุล เรียบเรียงเสียงประสาน
ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน “สุรพล สมบัติเจริญ” ได้พบกับผ่องศรี วรนุช และทาบทามให้บันทึกแผ่นเสียงเนื่องจากติดใจในน้ำเสียงเพลงหัวใจไม่มีใครรองเป็นอย่างมาก โดยมอบให้ “ครูสำเนียง” เขียนเพลงแก้กับเพลง “ลืมไม่ลง” และเกิดเป็นเพลงชื่อว่า “ไหนว่าไม่ลืม”
ผลปรากฏว่าเพลงไหนว่าไม่ลืม มีชื่อเสียงเป็นอย่างมาก กลายเป็นเพลงดังที่สุดแห่งยุค พลอยให้เพลง “ลืมไม่ลง” ของสุรพล สมบัติเจริญ ที่บันทึกเสียง ล่วงหน้าไปแล้วกลับโด่งดังคู่กันอีกด้วย
นับเป็นการเปิดประวัติศาสตร์เพลงแก้ที่งดงาม และมีเพลงอื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย อาทิ หนาวจะตายอยู่แล้ว (สุรพล) – หนาวแล้วหรือพี่ (ผ่องศรี), ลูกแก้วเมียขวัญ (สุรพล) – อาลัยรัก (ผ่องศรี), น้ำตาผัว (สุรพล) – น้ำตาเมียหลวง (ผ่องศรี) เป็นต้น
พ.ศ. 2508 นับเป็นปีแห่งเกียรติยศของผ่องศรี วรนุช โดยได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 จากผลงานเพลง “กลับบ้านเถิดพี่”
จากนั้น ผ่องศรี วรนุช ได้ตั้งวงดนตรีลูกทุ่งเป็นของตนเอง นับเป็นวงดนตรีลูกทุ่งวงแรกของเมืองไทยที่มีหัวหน้าวงเป็นผู้หญิง โดยประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น
นอกจากนี้ ผ่องศรี วรนุช ยังได้รับพระราชทานรางวัลแผ่นเสียงทองคำเป็นครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2522 จากเพลง “โธ่ผู้ชาย”
รางวัลเสาอากาศทองคำพระราชทาน 3 ปีซ้อน เมื่อปี พ.ศ. 2518 จากเพลง “กินข้าวกับน้ำพริก” พ.ศ. 2519 จากเพลง “เขามาทุกวัน” และ พ.ศ. 2520 จากเพลง “จันทร์อ้อน”
รางวัลพระราชทานพิเศษ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะนักร้องลูกทุ่งหญิงเกียรตินิยมยอดเยี่ยม เพราะชนะเลิศเสาอากาศทองคำ 3 ปีซ้อน
รางวัลกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทยพระราชทาน ครั้งที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2532 จากเพลงไหนว่าไม่ลืม เพลง “ฝากดิน” และครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2534 จากเพลง “ด่วนพิศวาส”
ประกาศเกียรติคุณพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะนักร้องผู้ขับร้องเพลงใช้ภาษาไทยได้ถูกต้องและชัดเจน เมื่อ พ.ศ. 2534
นอกจากนี้ ผ่องศรี วรนุช ยังได้แสดงภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง อาทิ มนต์รักบ้านนา เกาะสวาทหาดสวรรค์ และเสน่ห์บางกอก เป็นต้น
จากประวัติชีวิตและผลงานดังกล่าว คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ผ่องศรี วรนุช เป็นศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะ การแสดง (นักร้องลูกทุ่ง) เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2535