
งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 แม้ยอดขายทรงตัวจากเหตุแผ่นดินไหว และกำลังซื้อชะลอตัว แต่ยังคึกคัก นักอ่านแห่เข้าร่วมงานเกินเป้า ทะลุ 1.3 ล้านคน เติบโตราว 5% เซอร์ไพรส์ Gen Z มามากสุด ดันมังงะได้รับความนิยมตาม ด้านสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ เดินหน้าขยายตลาดต่างประเทศ ดันไทยเป็นฮับเจรจาลิขสิทธิ์ของอาเซียน
กำลังซื้อชะลอตัว แต่นักอ่านยังคึกคัก
นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เผยว่า การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-8 เมษายน 2568 ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
เห็นได้จากจำนวนนักอ่านที่เข้าร่วมงานตลอด 13 วัน มีมากกว่า 1.3 ล้านคน เติบโตขึ้นราว 5% ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่าการจัดงานครั้งนี้จะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด จากสถานการณ์แผ่นดินไหว ในประเทศเมียนมา และส่งแรงสั่นสะเทือนมายังประเทศไทย ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบทำให้ต้องปิดให้บริการเร็วกว่ากำหนดในวันดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์คลี่คลาย และกลับมาจัดงานตามปกติพบว่า นักอ่านกลับมาเข้าร่วมงานสัปดาห์หนังสือฯ เกินกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยพบว่าในวันที่ 29 มีนาคม 2568 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว 1 วัน มีนักอ่านเข้าร่วมงานมากกว่า 1.3 แสนคน ชี้ให้เห็นว่านักอ่านยังให้ความสนใจ และมุ่งมั่นที่จะมาเลือกซื้อหาหนังสือ
ขณะเดียวกันในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) มีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ย 7-8 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.5 แสนคนต่อวัน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยในวันที่ 6 เมษายน 2568 มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1.7 แสนคน ถือเป็นสถิติใหม่ในการจัดงานครั้งนี้
ทั้งนี้ ยังพบว่ากลุ่มนักอ่านที่เข้ามาใช้บริการมากที่สุด คือ Gen Z คิดเป็นสัดส่วน 43.65% ตามด้วย Gen Y คิดเป็นสัดส่วน 36.1% และ Gen X คิดเป็นสัดส่วน 19.75% ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นเพศหญิง 66% เพศชาย 27% และ LGBTQ+ 6% รวมถึงไม่ระบุเพศอีกประมาณ 1%
สำหรับค่าเฉลี่ยของการซื้อหนังสือ พบว่า นักอ่านใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือเฉลี่ย 600-1,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 30.88% ตามด้วย 1,000-1,500 บาท คิดเป็นสัดส่วน 14.70% และมากกว่า 3,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 12.84%

ทั้งนี้ หนังสือที่ได้รับความนิยมมากที่สุดยังคงเป็น หนังสือมังงะ ตามด้วยหนังสือนิยายและวรรณกรรม หนังสือจิตวิทยาและให้กำลังใจ หนังสือพัฒนาตนเอง (How to) และตำราเรียน ตามลำดับ สะท้อนให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาว่าการที่ Gen Z เป็นผู้เข้าร่วมงานมากสุด ทำให้หนังสือมังงะได้รับความนิยมตามไปด้วย
ปัจจัยที่ทำให้งานสัปดาห์หนังสือฯ ครั้งนี้ประสบความสำเร็จมีหลายประการ ได้แก่ การสร้างชุมชนนักอ่านที่เข้มแข็ง ทำให้นักอ่านยังคงมางานจำนวนมาก รวมทั้งยังช่วยประชาสัมพันธ์ ส่งต่อข่าวสารข้อมูล ทำให้เกิดความมั่นใจและเดินทางมาร่วมงานมากขึ้น
รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย การเชิญชวนอินฟลูเอนเซอร์ เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างคอนเทนต์เพื่อประชาสัมพันธ์งาน ทำให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น
ตลอดจนการเตรียมความพร้อมก่อนงาน มีการจัดกิจกรรมเตรียมความพร้อมให้กับสมาชิกก่อนถึงวันงาน เพื่อให้ทุกคนสามารถปรับตัวและเตรียมความพร้อมในการขายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ที่สำคัญคือการสร้างบรรยากาศที่น่าสนใจ การสร้างบรรยากาศการเดินงานหนังสือในรูปแบบใหม่ ทำให้ผู้เข้าร่วมงานสามารถใช้เวลาอยู่กับกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่
ทั้งนี้ การตอบสนองต่อสถานการณ์ แม้จะมีเหตุการณ์แผ่นดินไหวเกิดขึ้น แต่ผู้เข้าร่วมงานกลับมาเพิ่มขึ้นในสัปดาห์ที่สองหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในงานและความเหนียวแน่นของชุมชน การสนับสนุนจากสมาชิก ทำให้สามารถรักษายอดขายและจำนวนผู้เข้าร่วมงานได้ในระดับที่น่าพอใจ
ภาพรวมของการจัดงานในปีนี้ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เห็นได้จากจำนวนสำนักพิมพ์ที่เข้าร่วมงาน จำนวนผู้อ่านที่เข้าร่วมงานซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ขณะที่ยอดขายโดยภาพรวมใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ราว 400 ล้านบาท โดยสำนักพิมพ์กว่า 80% พึงพอใจในการขาย แม้จะมีปัจจัยลบเกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งสถานการณ์แผ่นดินไหว เศรษฐกิจที่ผันผวนทั้งภายในและต่างประเทศ ส่งผลต่อความเชื่อมั่น และทำให้กำลังซื้อชะลอตัว
“ผู้อ่านยังคงซื้อหนังสืออยู่ แต่อาจซื้อเฉพาะเล่มที่ตั้งใจไว้ ไม่ได้ซื้อนอกเหนือจากนั้นมากนัก แต่มุมที่น่าสนใจคือกลุ่มร้านหนังสือลดราคาและหนังสือราคาถูกกลับขายดีขึ้นมาก สะท้อนได้ว่าผู้อ่านอยากอ่านหนังสือเล่มใหม่ ๆ อยู่ และอาจมองหาหนังสือราคาถูกเหล่านี้เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง” นายสุวิชกล่าว
ดันไทยเป็นฮับเจรจาลิขสิทธิ์
นายสุวิชกล่าวอีกว่า การจัดกิจกรรมภายในงานครั้งนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากโดยเฉพาะ “Bangkok Rights Fair 2025” ที่พบว่ามีการซื้อขายลิขสิทธิ์ภายในงานมากถึง 271 คู่ จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 135 บริษัท ใน 14 ประเทศและเขตแดน ประกอบด้วย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รัสเซีย เวียดนาม สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อินเดีย และอินโดนีเซีย ในกลุ่มประเทศดังกล่าวแบ่งเป็นบริษัทต่างชาติ 43 ราย และบริษัทไทย 92 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นจำนวนผู้ซื้อ 63 ราย และผู้ขาย 107 ราย
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้มียอดการซื้อขายลิขสิทธิ์เกิดขึ้นภายในงานมากกว่า 68 ล้านบาท โดยในอนาคตจะมีการยกระดับการเจรจาซื้อขายหนังสือให้มากขึ้น และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางหนังสือของอาเซียนอย่างเต็มตัวในปี 2569
ปีนี้ถือว่าสมาคมประสบความสำเร็จในด้านของการขยายตลาดไปต่างประเทศอย่างมาก เห็นได้จากการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ Taipei Book Fair Foundation เพื่อเข้าร่วมงาน Taipei International Book Exhibition 2026 ในฐานะ Guest of Honor โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะมีสำนักพิมพ์ไทยเข้าร่วมงานดังกล่าวจำนวน 30 สำนักพิมพ์ และมีมูลค่าการขายลิขสิทธิ์อยู่ที่ประมาณ 15.7 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ร่วมกับ Taiwan Creative Content Agency เพื่อเข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยน Fellowship Program หรือทุนสนับสนุนการเข้าร่วมงานระหว่างสำนักพิมพ์ หรือตัวแทนลิขสิทธิ์จากไต้หวันและไทย ในงาน Taipei International Book Exhibition และ Bangkok International Book Fair โดยทุนจะครอบคลุมค่าตั๋วเครื่องบินไป-กลับ และค่าที่พัก 3 วัน 4 คืน รวมถึงความร่วมมือด้านการจัดกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนข้อมูลอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ระหว่างทั้งสองฝ่าย
“สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย พร้อมเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ ผลักดันหนังสือไทยเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ และชูความหลากหลายของกิจกรรม โดยมั่นใจว่าภายใน 2 ปี จะพาหนังสือไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอาเซียน จากนั้น 5 ปี สู่ศูนย์กลางเอเชีย และเป้าหมายสูงสุดคือการเป็นศูนย์กลางของโลกภายใน 10 ปี”