
งานสัปดาห์หนังสือฯ คึกคักตลอด 13 วัน ลงทะเบียน 1.3 ล้านคน ยอดขายทรงตัวเจอพิษแผ่นดินไหว เผยคน 3 เจน X-Y-Z ร่วมงานมากสุด ดันมังงะได้รับความนิยม สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ขยายตลาดต่างประเทศ ชูไทยเป็นฮับเจรจาลิขสิทธิ์ของอาเซียน
การจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 วันที่ 27 มีนาคม-8 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ บรรยากาศตลอด 13 วัน เป็นไปอย่างคึกคัก แม้ยอดขายทรงตัวจากเหตุแผ่นดินไหว
นักอ่านยังคึก-กำลังซื้อชะลอ
นายสุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เผยว่า งานครั้งนี้ประสบความสำเร็จมาก จากผู้เข้าร่วมงานตลอด 13 วัน มีมากกว่า 1.3 ล้านคน เติบโต 5% เป็นไปตามเป้าหมาย แม้จะเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้งานต้องปิดเร็วกว่ากำหนดในวันนั้นวันเดียว พร้อมชดเชยเพิ่มวันคือวันที่ 8 เมษายน 2568
อย่างไรก็ตาม นักอ่านก็กลับมาร่วมงานเกินกว่าที่คาด เฉพาะวันที่ 29 มีนาคม มีนักอ่านลงทะเบียนถึง 1.3 แสนคน ชี้ให้เห็นว่านักอ่านยังให้ความสนใจ และมุ่งที่จะมาเลือกซื้อหาหนังสือ
ซึ่งวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) มีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ย 7-8 หมื่นคนต่อวัน วันเสาร์-อาทิตย์ อยู่ที่ 1.3-1.5 แสนคนต่อวัน สูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และวันที่ 6 เมษายน มีผู้ร่วมงานกว่า 1.7 แสนคน ถือเป็นสถิติใหม่
ทั้งนี้ ยังพบว่ากลุ่มนักอ่านที่มาใช้บริการมากที่สุด คือ Gen Z คิดเป็นสัดส่วน 43.65% ตามด้วย Gen Y 36.1% และ Gen X 19.75% ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นเพศหญิง 66% เพศชาย 27% LGBTQ+ 6% ไม่ระบุเพศ 1%
ค่าเฉลี่ยของการซื้อหนังสือพบว่า นักอ่านใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือเฉลี่ย 600-1,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 30.88% ตามด้วย 1,000-1,500 บาท สัดส่วน 14.70% และมากกว่า 3,000 บาท สัดส่วน 12.84%
ที่ได้รับความนิยมมากสุดยังคงเป็นหนังสือมังงะ นิยาย วรรณกรรม หนังสือจิตวิทยาและให้กำลังใจ หนังสือพัฒนาตนเอง (How to) และตำราเรียน ตามลำดับ
ปัจจัยที่ทำให้งานประสบความสำเร็จ ได้แก่ การสร้างชุมชนนักอ่านที่เข้มแข็ง และการส่งต่อข่าวสารข้อมูล ทำให้เกิดความมั่นใจให้คนเดินทางมาร่วมงานมากขึ้น
รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดีย การเชิญชวนอินฟลูเอนเซอร์เข้ามามีส่วนร่วมสร้างคอนเทนต์ ทำให้มีการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่กว้างขึ้น รวมถึงการสร้างบรรยากาศในรูปแบบใหม่ ทำให้ผู้ร่วมงานใช้เวลาอยู่กับกิจกรรมมากขึ้น
ขณะที่ยอดขายใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาราว 400 ล้านบาท โดยสำนักพิมพ์กว่า 80% พึงพอใจในการขาย แม้มีปัจจัยลบเกิดขึ้นทั้งแผ่นดินไหว เศรษฐกิจที่ผันผวนทั้งในและต่างประเทศ ทำให้กำลังซื้อชะลอตัว
“ผู้อ่านยังคงซื้อหนังสืออยู่ แต่ซื้อเฉพาะเล่มที่ตั้งใจไว้ ส่วนกลุ่มร้านหนังสือลดราคาและหนังสือราคาถูกกลับขายดีขึ้น สะท้อนว่าผู้อ่านอยากอ่านหนังสือเล่มใหม่ ๆ และหาหนังสือราคาถูกเป็นทางเลือก”
ดันไทยเป็นฮับเจรจาลิขสิทธิ์
นายสุวิชเสริมว่า ส่วน Bangkok Rights Fair 2025 มีการซื้อขายลิขสิทธิ์ถึง 271 คู่ จากผู้เข้าร่วมทั้งหมด 135 บริษัท ใน 14 ประเทศและเขตแดน ประกอบด้วย เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน ไทย เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย รัสเซีย เวียดนาม สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ อินเดีย และอินโดนีเซีย แบ่งเป็นบริษัทต่างชาติ 43 ราย บริษัทไทย 92 ราย ในจำนวนนี้แบ่งเป็นผู้ซื้อ 63 ราย ผู้ขาย 107 ราย
ส่งผลให้มียอดการซื้อขายลิขสิทธิ์ภายในงานมากกว่า 68 ล้านบาท อนาคตจะยกระดับการเจรจาซื้อขายหนังสือให้มากขึ้น และผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางหนังสือของอาเซียนในปี 2569
ปีนี้ถือว่าการขยายตลาดไปต่างประเทศดีขึ้น เห็นได้จากการ MOU กับ Taipei Book Fair Foundation ในงาน Taipei International Book Exhibition 2026 โดยตั้งเป้ามี 30 สำนักพิมพ์เข้าร่วม ด้วยมูลค่าการขายลิขสิทธิ์ 15.7 ล้านบาท รวมถึงการ MOU กับ Taiwan Creative Content Agency โครงการแลกเปลี่ยน Fellowship Program หรือทุนสนับสนุนการเข้าร่วมงานระหว่างสำนักพิมพ์ หรือตัวแทนลิขสิทธิ์จากไต้หวันและไทย
“สมาคมจะเดินหน้า 4 ยุทธศาสตร์ผลักดันหนังสือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ภายใน 2 ปีจะพาหนังสือไทยขึ้นแท่นศูนย์กลางอาเซียน อีก 5 ปีสู่ศูนย์กลางเอเชีย และเป็นศูนย์กลางระดับโลกภายใน 10 ปี”