สำนักพิมพ์มติชน ทะลุเป้า นักอ่านรุ่นใหม่ (ทุ่ม) เทใจซื้อหนังสือ

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-8 เมษายน 2568 รูดม่านลงแล้วด้วยความสำเร็จอีกครั้ง แม้จะต้องเผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ไม่มีใครคาดคิด จนต้องเพิ่มวันจัดงาน 8 เมษายน ขึ้นมาอีกวัน และกำลังซื้อทางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม ผู้คนก็ยังเชื่อมั่นในการอ่าน แห่ร่วมงานทะลุ 1.3 ล้านคน แถมค่าเฉลี่ยต่อวันยังสูงกว่าปีก่อน และที่น่าดีใจคือเป็น Gen Z มากที่สุด ตอกย้ำว่า “การอ่านไม่มีวันตาย”

ข้อมูลที่น่าสนใจจาก สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ระบุว่า สำนักพิมพ์กว่า 80% พึงพอใจในการขาย แม้จะมีปัจจัยลบเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์) มีผู้เข้าร่วมงานเฉลี่ย 7-8 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่วันเสาร์-อาทิตย์ เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.3-1.5 แสนคนต่อวัน และวันที่ 6 เมษายน 2568 มีผู้เข้าร่วมงานมากกว่า 1.7 แสนคน ถือเป็นสถิติใหม่ในการจัดงานครั้งนี้

สำหรับค่าเฉลี่ยของการซื้อหนังสือพบว่า นักอ่านใช้จ่ายเงินซื้อหนังสือเฉลี่ย 600-1,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 30.88% ตามด้วย 1,000-1,500 บาท คิดเป็นสัดส่วน 14.70% และมากกว่า 3,000 บาท คิดเป็นสัดส่วน 12.84%

ส่วนกลุ่มนักอ่านที่เข้ามาใช้บริการมากที่สุด คือ Gen Z คิดเป็นสัดส่วน 43.65% ตามด้วย Gen Y คิดเป็นสัดส่วน 36.1% และ Gen X คิดเป็นสัดส่วน 19.75% ในจำนวนดังกล่าวแบ่งเป็น เพศหญิง 66% เพศชาย 27% และ LGBTQ+ 6% รวมถึงไม่ระบุเพศอีกประมาณ 1%

ADVERTISMENT

สำหรับบูท J02 “สำนักพิมพ์มติชน” ในงานสัปดาห์หนังสือฯครั้งนี้ มาในคอนเซ็ปต์ “Read Friendly” เข้าถึงนักอ่านทุกเพศทุกวัย ด้วยการชวนมาสัมผัสเสน่ห์ของการอ่านในแบบที่เรียบง่าย อบอุ่น และเต็มไปด้วยความหมาย

ADVERTISMENT

เพราะสำนักพิมพ์มติชนเชื่อว่าหนังสือเป็นสะพานที่พาทุกคนไปสู่ความเข้าใจ ความสุข และสายสัมพันธ์อันลึกซึ้ง ไม่ว่าจะอ่านคนเดียว อ่านกับเพื่อน หรือแบ่งปันช่วงเวลาดี ๆ กับสัตว์เลี้ยง หนังสือจึงเป็นเพื่อนที่อยู่ข้าง ๆ เสมอ ไม่มีเส้น ไม่มีกรอบ ไม่จำกัดอายุหรือความสนใจ

ความพิเศษคือได้ “TUNA Dunn” (ตุลยา ตุลย์วัฒนจิต) ศิลปินเจ้าของลายเส้นที่โดดเด่นด้านความเรียบง่าย เป็นผู้ออก Key Visual บูท พร้อมกับการคอลแลบส์ครั้งสำคัญกับ ช็อกโกแลต “กานเวลา” ที่มาร่วมรังสรรค์ของพรีเมี่ยมสุดพิเศษให้บรรดานักอ่าน

ที่สำคัญ สำนักพิมพ์มติชนได้ยกทัพหนังสือกว่า 22 ปกใหม่ ทั้งแนวประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สารคดี วิชาการ การเมือง ไลฟ์สไตล์ และอัตชีวประวัติ มาเสิร์ฟนักอ่านแบบจุใจตลอด 13 วันเต็ม พร้อมเปิดพื้นที่ร่วมพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิด และจุดประกายความรู้ระหว่างนักอ่านและนักเขียนด้วยการแจกลายเซ็นหนังสือ และคัดสรรเวทีทอล์กคุณภาพ ให้นักอ่านได้เต็มอิ่มกับอรรถรสและสาระความรู้แบบจัดเต็มตลอดการจัดงาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่บูท J02 นั้นบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคักตลอดระยะเวลาการจัดงาน โดยมีบุคคลมีชื่อเสียงในหลากหลายวงการทยอยแวะเวียนมาที่บูทสำนักพิมพ์มติชนอย่างไม่ขาดสาย พร้อมเลือกซื้อหนังสือเล่มที่ถูกใจ

อาทิ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผอ.สถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย ที่หยิบหนังสือ “The Age of Surveillance Capitalism ยุคทุนนิยมสอดแนม” ติดไม้ติดมือกลับบ้านไป หรือ นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่เลือกหนังสือ “ภารตะ-สยาม มูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย” ซึ่งเขียนโดย คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง, “เครื่องแบบ ทรงผม หน้าเสาธง ไม้เรียว” โดย ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์, รวมถึง “Likable Japan เมืองที่ใช่ ยังไงก็ชอบ” โดย ปริพนธ์ นำพบสันติ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อจบงาน 13 วัน สำนักพิมพ์มติชน ประสบความสำเร็จทำยอดขายได้ทะลุเป้า โดย 10 อันดับหนังสือขายดีประจำบูท ประกอบด้วย อันดับ 1 หนังสือชุด ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1-3, อันดับ 2 ภารตะ-สยาม มูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย, อันดับที่ 3 ภารตะ-สยาม? ผี พราหมณ์ พุทธ?, อันดับที่ 4 ศาสนาผี, อันดับที่ 5 ภารตะ-สยาม ศาสนาต้อง (ไม่) ห้ามเรื่องการเมือง,

อันดับที่ 6 ประชาธิปไตยไทยที่ถดถอย สมรภูมิการเมืองไทยสู่ความขัดแย้งใหม่ที่ยังไม่จบ, อันดับที่ 7 Soft Power อำนาจโน้มนำ หนทางสู่ความสำเร็จในการเมืองโลก, อันดับที่ 8 เปลี่ยนอีสานให้เป็น “ไทย” อุดมการณ์รัฐชาติกับสำนึกการเมืองของคนที่ราบสูง, อันดับที่ 9 Likable Japan เมืองที่ใช่ ยังไงก็ชอบ และอันดับที่ 10 Accidentally Wes Anderson : Adventures

“นายมณฑล ประภากรเกียรติ” ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน เผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า งานหนังสือในครั้งนี้ ถือว่าเราประสบความสำเร็จ หนังสือที่เป็นซิกเนเจอร์ของสำนักพิมพ์อย่างแนวสาระความรู้ และประวัติศาสตร์ เช่น ประวัติจีนกรุงสยาม และภารตะ-สยาม มูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย เป็นหนังสือขายดี จากตอนแรกที่กังวลเรื่องภัยพิบัติ ประกอบกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ

สำนักพิมพ์มติชน

งานสัปดาห์หนังสือในครั้งนี้ สำนักพิมพ์ผ่านวิกฤตที่คนไทยทั้งประเทศเพิ่งเผชิญมา ตอนแรกเราเป็นกังวลเพราะไม่ใช่สภาวะปกติที่เกิดขึ้น แต่กระแสที่กลับมายังมีความหวังให้เราเสมอ ทุก ๆ วันคนยังแน่น ยังแวะเวียนกันมา ตราบใดที่นักอ่านยังมีหวัง ยังอ่านหนังสือ ยังมาหา มาพูดคุยกับนักเขียน ทีมขายและบรรณาธิการก็ไม่มีวันหมดหวัง

“หนังสือไม่มีวันตาย มันอยู่ได้ด้วยคน ถ้าคนอยากอ่าน อยากเรียนรู้ อยากสร้างอะไรบางอย่าง เราก็ยังมีการทำหนังสืออยู่ คนที่อยากรู้อยากอ่าน คือลมหายใจที่คนทำหนังสือได้รับเสมอมา อย่างไรก็ตามหนังสือก็ไม่มีวันตาย ไม่ไปไหน”

สำนักพิมพ์มติชน