
“บรรทัดทอง” ถนนสายสั้น ๆ ใจกลางกรุงเทพฯ วันนี้ทำเลได้แปรเปลี่ยนแล้วอย่างสิ้นเชิง จากย่านเซียงกง (ขายอะไหล่เก่า) และศูนย์รวมร้านจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์กีฬาในอดีต เพราะอยู่ติดกับสนามกีฬาแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย)
ด้วยนโยบายสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หรือ PMCU ในฐานะผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน มีแผนบูรณาการและพัฒนาอาคารซึ่งเป็นตึกแถวทั้ง 2 ฟากของถนนสายนี้
ให้เป็น “แหล่งรวม” ของร้านอาหาร “แนวสตรีตฟู้ด” ที่ดูทันสมัย สะอาด ปลอดภัย โดดเด่นด้วยตัวเองทั้งรสชาติและดีไซน์
เพื่อสร้าง “จุดขาย” ดึงดูดนักชิมและนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมาเช็กอินตามเทรนด์ เหมือนย่านดัง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นและเกาหลี
ทิศทางความน่าจะเป็นของ “บรรทัดทอง” เดินมาถูกทางแล้ว ทว่าช่วงที่ผ่านมาเกิดกระแสดราม่าด้านลบบนโลกออนไลน์ ทั้งเรื่องราคา รสชาติอาหาร ร้านค้าปิดตัวเอง และค่าเช่าที่แพง
ล้วนทำให้ภาพลักษณ์ติดลบ ทั้ง ๆ ที่ “โอกาส” มาถึงแล้ว และมีหลาย ๆ ร้านค้าประสบความสำเร็จ จึงมีการรวมพลังสร้าง Mindset ใหม่ เพื่อผลักดันให้บรรทัดทองเป็น Solf Power ที่จับต้องได้

สวรรค์ของคนรักสตรีตฟู้ด
ดร.ชนะชาย นิมิตรพงศ์ศักดิ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารย่านบรรทัดทอง และ นายสุรพงษ์ เมฆะวรากุล เลขาฯ สมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารย่านบรรทัดทอง กับอีกบทบาทเป็นเจ้าของร้าน Nam Dao Huu (น้ำเต้าหู้) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ใจจริงต้องการเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ถนนเส้นนี้มีความเข้มแข็งและเดินหน้าต่อไปได้
เพราะที่ผ่านมาบรรทัดทองได้รับความนิยมอย่างมากจากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ๆ รวมถึงนิสิต จุฬาฯ และนักศึกษาทั่วไป
เรียกว่า “แจ้งเกิดได้แล้ว” ในแง่เป็นศูนย์รวมร้านอาหารแนวเก่าที่เด่นด้วยรสชาติความอร่อย และแนวใหม่ที่ทันสมัย ถือเป็นสตรีตฟู้ดระดับประเทศที่คนเริ่มจดจำ
เนื่องจากบรรยากาศโดยรวมมีชีวิตชีวาและคึกคักในยามค่ำคืน เป็นแหล่งแฮงเอาต์แบบไนต์ไลฟ์ และอยู่ในย่านใจกลางเมืองเดินทางสะดวก
แต่เมื่อเกิดกระแสไม่สร้างสรรค์ต่างวาระต่างประเด็นในโลกออนไลน์ จึงไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมทั้งหมด ทั้งทำเลและผู้ประกอบการอีกจำนวนมาก
ยิ่งเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหว และสงครามทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจ ก็ทำให้ภาวะเศรษฐกิจซึม ๆ ซบ ๆ

ในฐานะตัวแทนผู้ประกอบการจึงต้อง “รวมพลัง” ผลักดันให้บรรทัดทองเดินหน้าต่อไปได้อย่างเข้มแข็ง เป็นคอมมิวนิตี้สตรีตฟู้ดที่ทรงพลัง เพื่อดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาจับจ่ายใช้สอยได้อย่างต่อเนื่อง
เป็นการช่วยกันสร้างความมั่นใจให้กับทุกฝ่าย ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ว่ากรุงเทพฯ ดี มีความพร้อมในการใช้ชีวิต และ “บรรทัดทอง” เป็นสวรรค์ของคนรักสตรีตฟู้ดอย่างแท้จริง
ปรับตัวสร้างฐานสู่เยาวราช 2
สำหรับประเด็นเรื่องค่าเช่าที่มีราคาสูงนั้น ทางสมาคมมองว่า แม้จะเป็นปัญหา แต่การแก้ปัญหาจริง ๆ อาจมีแนวทางอื่น ๆ ที่สามารถปรับตัวรับมือได้ โดยการสร้างฐานรากให้มั่นคง
เช่น เราจะนำพาผู้คนหรือดึงดูดผู้บริโภคจากที่ต่าง ๆ ให้เข้ามาเดินเที่ยว จับจ่ายใช้สอย และชิมอาหารตามร้านค้าในย่านบรรทัดทองให้มากขึ้นได้อย่างไร
รวมถึงการเพิ่มเวลาในการขายให้มากขึ้นจะดีกว่ามั้ย เพราะปัจจุบันร้านค้าส่วนใหญ่จะเปิดช่วงเย็นค่ำ
“ต้องเข้าใจก่อนว่า คนที่มาเดินบรรทัดทองเขาไม่ได้ตั้งใจมากินเป็นมื้อ ๆ อยู่แล้ว หรือกินให้ครบร้าน เพราะร้านมีเยอะมาก แต่เขาตั้งใจมากินมาชิมอะไรที่อร่อย ๆ อย่างละนิดละหน่อย หรือมาเช็กอินตามสมัยนิยม”
จากปัจจัยและองค์ประกอบของบรรทัดทอง รวมถึงความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ทั้งรัฐและเอกชน ทุกวันนี้ส่งผลให้ “บรรทัดทอง” กลายเป็น “เยาวราช 2” ถือเป็นถนนสายสตรีตฟู้ดชื่อดังของกรุงเทพฯ อีกแห่งหนึ่ง
โดยมีจุดขายหรือ Positioning แตกต่างกัน เยาวราชเป็นสตรีตฟู้ดแบบโอลด์ทาวน์ ไชน่าทาวน์ เป็นพี่เบิ้มระดับประเทศ มีความเป็นตำนานและมีฐานรากแข็งแรงแล้ว
ขณะที่บรรทัดทองเป็นน้องใหม่มาแรง มีสีสัน ทันสมัย ประเภทอาหารคาว-หวานก็เป็นแนวใหม่ ๆ อาจมีแนวดั้งเดิมผสมอยู่บ้าง ซึ่งโดนใจนักชิมคนรุ่นใหม่
“แต่บรรทัดทองก็ต้องมีการปรับโครงสร้าง คัดกรอง และเลือกร้านอาหารที่จะมาช่วยเสริมสร้างฐานรากให้มั่นคงมากขึ้นด้วยเช่นกัน”
Food Destination+Experience
ดังนั้น เมื่อความต้องการของผู้บริโภคมาแบบนี้ แต่ละร้านควรลองนำเสนอเมนูใหม่ ๆ อาจจะเริ่มต้นในราคาที่เข้าถึงง่าย โดยทางสมาคมมีความหวังอยากให้สตรีตฟู้ดสายนี้มีความน่ารักและมีระเบียบมากขึ้น
แนวทางหนึ่งที่จะช่วยบูมบรรทัดทองให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังยั่งยืนได้นั้น ดร.ชนะชายและนายสุรพงษ์คิดเหมือนกันว่า เราต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Food Destination เพราะประเทศไทยมีแหล่งวัฒนธรรมที่มีความโดดเด่น ไม่ยากที่จะทำให้บรรทัดทองเป็นจุดหมายปลายทางที่จะได้รับความนิยม มีชื่อเสียงในเรื่องอาหาร
และคีย์ซักเซสที่จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้ามาได้มาก ๆ ก็คือ สร้างความเป็น “Food Experience” หรือการเปิดประสบการณ์ใหม่ร่วมกับอาหาร ซึ่งไม่จำกัดอยู่แค่รสชาติของอาหารเท่านั้น แต่นักท่องเที่ยวสามารถสัมผัสได้ถึงวัฒนธรรมสตรีตฟู้ดของคนเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ได้ ซึ่งเป็นการสร้างประสบการณ์ที่พิเศษและน่าจดจำ
ยุคสมัยก่อนการทำร้านอาหารเป็นอาชีพดูอาจไม่ค่อยมีเกียรติ แต่ปัจจุบันแนวความคิดนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว เพราะกระแสทั่วโลกและการคิดจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านธุรกิจเกี่ยวกับอาหารกำลังเป็นเทรนด์
ทำให้ “คนรุ่นใหม่” อยากเป็น “เจ้าของร้านอาหาร” มากขึ้น ปัจจุบันมีการผันตัวเองมาประกอบอาชีพร้านอาหารแบบนับไม่ถ้วน ไม่ใช่อาชีพที่น่าอายอีกต่อไป
จะสังเกตเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ยอมทิ้งเงินเดือนที่ได้ไม่ถึง 25,000 บาท มาประกอบอาชีพนี้กันมากขึ้น และตั้งแต่หลังวิกฤตโควิด-19 หลายธุรกิจในโลกก็เริ่มเปลี่ยนไป
อัตราการรับพนักงานประจำก็ลดน้อยลง เมื่อคนไม่มีงานรองรับ สุดท้ายแล้วก็หันมาขายของ เปิดร้านอาหาร บางมุมอาจมองได้ว่าร้านอาหารเริ่มเฟ้อขึ้น
บวกกับการขยายตัวของภาคธุรกิจอาหารที่สูงขึ้น แต่คนกินมีเท่าเดิม แถมเงินในกระเป๋าก็ลดน้อยลง ตามภาวะเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ
เมื่อร้านอาหารมีเยอะขึ้น ผู้บริโภคก็กระจายออกไป จากร้านที่เคยขายได้เยอะ ๆ ก็ลดลง โดยผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น บรรทัดทองจึงต้องหาจุดขาย หาคีย์สำคัญที่จะทำให้ถนนเส้นนี้เป็นแหล่งรวมของร้านอาหาร 300 ร้านที่ยั่งยืน
Food Calendar บิ๊กอีเวนต์
อีกแง่มุมน่าคิด ถนนบรรทัดทองอาจไม่ได้เป็นแค่แหล่งรวมร้านอาหารสตรีตฟู้ดชื่อดังเท่านั้น แต่สามารถก้าวสู่การเป็นหมุดหมายใหม่แห่งโลกอีเวนต์ มีการสร้างกิจกรรมที่น่าสนใจ เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการจัดงานที่เกี่ยวกับอาหารดัง ๆ เด่น ๆ เพื่อดึงดูดนักชิมจากทั่วสารทิศ
ด้วยการรวมพลังของภาครัฐและเอกชนในย่านนี้ เพื่อสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการอาหารไทย
ยกตัวอย่าง งาน Bangkok Car Free Day 2024 เป็นกิจกรรมที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จัดขึ้น เพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยวิธีที่ไม่ใช้รถยนต์ส่วนตัว
ปรากฏว่าช่วงระหว่างที่จัดงานนั้น มีการปิดถนนบรรทัดทองให้เป็น “ถนนคนเดิน” ซึ่งได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม
ทางสมาคมจึงเห็นโอกาสอยากให้ทุก ๆ ปีของถนนบรรทัดทองเป็น Food Calendar หรือปฏิทินที่มีการจัดกิจกรรมสตรีตฟู้ดที่ชัดเจนและต่อเนื่อง
ทั้งกระตุ้นให้ชาวโลกมาร่วมปักหมุดความอร่อยแบบ “ห้ามพลาด” เพื่อช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวและเติบโตได้ในหลาย ๆ มิติ