
จากปากคำคนทำหนังสือ “มณฑล ประภากรเกียรติ” ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน เผยแม้วิธีเสพสื่อของคนจะเปลี่ยน แต่หนังสือจะไม่มีวันตายตราบใดที่มนุษย์ยังมีการเรียนรู้ ยันในฐานะคนทำหนังสือไม่มีสำนักพิมพ์ไหนเจตนาที่จะทำหนังสือแพง
“หนังสือยังคงนุ่มนวลและแยบยล ตราบใดที่มนุษย์ยังต้องการความรู้ หนังสือคงไม่หายไปไหน” นายมณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน บอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากได้เฝ้ามองบรรดานักอ่านที่เข้ามาเยี่ยมชมบูธ “สำนักพิมพ์มติชน” ภายในงาน “สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23” ที่จัดขึ้นโดย สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ที่ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ชั้น LG ฮอลล์ 5-8 เขตคลองเตย ระหว่างวันที่ 27 มี.ค. – 8 เม.ย. ที่ผ่านมา
หลังจบงาน นายมณฑล ประภากรเกียรติ ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชน เปิดเผยถึงผลสำเร็จของบูธสำนักพิมพ์มติชนว่า ยอดขายทะลุเป้า แบบเกินคาด โดยหนังสือที่ขายดีเป็นอันดับ 1 ของสำนักพิมพ์คือ หนังสือชุด “ประวัติจีนกรุงสยาม เล่ม 1-3”
“จากภาพรวมยอดขายโอเคในระดับหนึ่ง ตอนแรกเรากังวลเรื่องภัยพิบัติ บวกกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ แต่กระแสกลับค่อนข้างดี เราได้ตามเป้าที่เราอยากได้ หนังสือประเภทที่ขายเป็นหนังสือแนวสาระความรู้ ประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องที่เรายืนหนึ่งอยู่แล้ว เช่นหนังสือ ประวัติจีนกรุงสยาม ภารตะ-สยาม มูฯ ไทย ไสยฯ อินเดีย หนังสือเหล่านี้ เป็นซิกเนเจอร์ของมติชนอยู่แล้ว ส่วนหนังสือประเภทที่มาแรงในช่วงที่ผ่านมาของตลาดในภาพรวมน่าจะเป็นหนังสือพัฒนาตัวเอง สร้างแรงบันดาลใจ นวนิยาย” นายมณฑล กล่าว

ก่อนที่ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มติชนจะพูดถึงความต่างของหนังสือเล่มและโลกออนไลน์ว่า “หนังสือเล่มมีธรรมชาติ มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างจากออนไลน์ เราอาจจะสู้ไม่ได้เรื่องความเร็ว แต่หนังสือมีคอนเทนต์ที่ไม่ต้องแข็งกับสิ่งที่เรียลไทม์ มันลึกกว่า สื่อสารกับคนได้นุ่มนวลแล้วก็แยบยลกว่า หนังสือเล่มคงไม่หายไปไหนตราบใดที่มนุษย์ยังมีการเรียนรู้ มีการค้นคว้าหาข้อมูล ไม่มีทางที่อินเตอร์เน็ตจะมาตอบแทนได้ บริบทมันแตกต่างกัน หนังสือ 500 หน้า อินเตอร์เน็ตไม่สามารถสรุปยอดได้ทุกหน้าอยู่แล้ว ข้อมูลที่ได้แตกต่างชัดเจน”
แม้ว่าวิธีการเสพสื่อของคนจะเปลี่ยนไป หันมาเสพอะไรที่ย่อยง่าย ชับไว
“วิธีการอ่านสมัยนี้คนอาจจะหันมาเสพอะไรที่ย่อยง่าย ชับไว เพราะเขาอาจจะมีเวลาในการเสพคอนเทนต์น้อยลง มีเรื่องของสตรีมมิ่งเข้ามา ไม่ได้แปลว่าคนอ่านหนังสือที่เบาสมองบางคนยังต้องการหนังสือที่เป็น Knowledge เหมือนเดิม แต่เป็น Knowledge ที่สามารถย่อยให้เข้าเขาใจได้ง่ายมากขึ้น”
“แนวโน้มอนาคตของหนังสือมันจะไม่มีวันตาย เพียงแต่ว่าหนังสือที่เราเห็นในรอบ 10 ปีหรือ 20 ปี ที่ผ่านมา คนจะคาดเดายากมากกว่าหนังสือจะเป็นอย่างไร คนทำหนังสือทำมาเพื่อตอบโจทย์คน สร้างมาเพื่อคน ดังนั้นหนังสือจะมีการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนรูปแบบเปลี่ยนคอนเทนต์ ตามบริบทของสังคม เพราะบริบทของคนเปลี่ยนแปลงไป เพราะว่าดังนั้นอีก 10 ปีจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เหมือนช่วงที่สังคมมีเรื่องการเมือง หนังสือการเมืองก็จะขายนี้ หรือในช่วงนี้หนังสือแนวธุรกิจการสร้างตัว อาจจะขายดีก็ได้ เพราะคนอาจจะโหยหาอะไรแบบนี้”
“เรื่องหนังสือแพง ในฐานะคนทำหนังสือไม่มีสำนักพิมพ์ไหนเจตนาที่จะทำหนังสือแพง ดีมานด์ของหนังสือทุกวันนี้น้อยอยู่แล้ว เพราะไม่ใช่สิ่งที่เป็นปัจจัยสี่แต่ตัวเลขรายได้ที่ผ่านมาของคนไทยไม่ขยับ แต่สิ่งอุปโภคบริโภคแพงขึ้น ราคาทุกอย่าง ส่วนเรื่องหนังสือปลอมเป็นเรื่องของการคอรัปชั่น เหมือนการก๊อบเพลง ก๊อบเกมส์ มีผลกระทบแน่นอนแต่หลายบริษัทก็ยังอยู่ได้ ไม่ได้เป็นผลกระทบที่ทำให้หนังสือตาย แต่เป็นผลกระทบทางธุรกิจต่อสำนักพิมพ์ เป็นเรื่องที่หลายหน่วยงานต้องช่วยกัน รัฐฯต้องหันกลับมามองและช่วยเหลือ เพราะหนังสือมันเป็นสิ่งที่สร้างคน พอคนมีความรู้ เอาความรู้เหล่านี้ไปสร้างชาติต่อ หากรัฐสนับสนุนการทำหนังสือ ลดภาษีกระดาษนำเข้า ลดภาษีพื้นที่จัดแสดงการขายหนังสือ จะช่วยสำนักพิมพ์ได้เยอะ” นายมณฑล กล่าว
นายมณฑล กล่าวปิดท้ายว่า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติในครั้งนี้ สำนักพิมพ์ผ่านวิกฤตที่คนไทยทั้งประเทศผ่านวิกฤตภัยพิบัติมา ตอนแรกเราเป็นกังวลเพราะไม่ใช่สภาวะปกติที่เกิดขึ้น แต่กระแสที่กลับมายังมีความหวังให้เราเสมอ ทุกๆ วันคนยังแน่น ยังแวะเวียนกันมาอยู่ ตราบใดที่นักอ่านยังมีหวัง ยังอ่านหนังสือ ยังมาหา มาพูดคุยกับนักเขียน ทีมขาย บรรณาธิการ พวกเราก็ไม่มีวันหมดหวัง หนังสือก็ไม่มีวันตาย มันอยู่ได้ด้วยคน ถ้าคนอยากอ่าน อยากเรียนรู้ อยากสร้างอะไรบางอย่าง เราก็ยังมีการทำหนังสืออยู่ คนที่อยากรู้อยากอ่าน คือลมหายใจที่คนทำหนังสือได้รับเสมอมา อย่างไรหนังสือก็ไม่มีวันตาย ไม่ไปไหน
หากเพียงนักอ่านต่อลมหายใจ หนังสือจะไม่มีวันตาย