เปิดพินัยกรรม ปมแตกหักผู้สืบสันดานตระกูลดัง ธรรมนูญธุรกิจครอบครัว

เปิดพินัยกรรม “ธุรกิจครอบครัว” ตระกูลดัง-เครือข่ายใหญ่ในสังคมชั้นนำ เกมการต่อสู้เพื่อสืบทอดกิจการ มรดกเลือดข้น

ความขัดแย้งระหว่างพี่น้องตระกูล “ปิยะอุย” ทายาทผู้ก่อตั้งโรงแรม “ดุสิตธานี” แดงขึ้นมา จาก “ผู้ถือหุ้นรายใหญ่” ไม่อนุมัติงบการเงินปี 2567 ทั้งที่ผ่านการตรวจสอบและลงนามรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เรียบร้อยแล้ว ทำให้ดุสิตธานีไม่สามารถส่งงบการเงินไตรมาส 1/68 ได้ทันเวลา

รายใหญ่ที่พูดถึงคงจะเป็นใครไปไม่ได้ นอกจาก “บริษัท ชนัตถ์และลูก จำกัด” (49.74%) มรดกตกทอดของผู้เป็นแม่มอบให้ลูกทั้งสามคนไว้ก่อนจากไปในปี 2563

ก่อนที่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อำนาจจะตกอยู่ในมือของสองสาว “สีณี เธียรประสิทธิ์” และ “สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค” เนื่องจากพวกเธอได้โหวตปลด “ชนินทธ์ โทณวณิก” พี่ชายคนโต ออกจากตำแหน่งกรรมการบริษัท

หลังจากเกิดเรื่องขึ้น แทนที่โรงแรมระดับชั้นนำของประเทศ จะได้ร่วมวง “อวด” ศักยภาพของบริษัทผ่านผลประกอบการ Q1/68 กลายเป็นว่า เรื่องพี่น้องทะเลาะกัน กลับถูกพูดถึงแทนเสียอย่างนั้น

วงล้อชาติตระกูลชั้นนำ

สำหรับอาณาจักรดุสิตธานี ก่อตั้งโดยทายาทพ่อค้าไม้ชื่อดังในภาคกลาง และภาคเหนือ “ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย” ในวัย 28 ปี หลังจากจบการศึกษาที่สหรัฐอเมริกา

ADVERTISMENT

ชีวิตครอบครัว ท่านผู้หญิงชนัตถ์สมรสกับ “ปวิต โทณวณิก” บุตรชายพระยาโทณวณิกมนตรี (วิสุทธิ์ โทณวณิก) ผู้ก่อตั้งสถานธนานุเคราะห์ มีบุตรด้วยกัน 3 คน ได้แก่

  • ชนินทธ์ โทณวณิก แต่งกับ วิภาดา ณ สงขลา ทายาทเจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ
  • สินี เธียรประสิทธิ์ แต่งกับ ฐิตินันท์ เธียรประสิทธิ์
  • สุนงค์ สาลีรัฐวิภาค แต่งกับ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทายาทพลโทณรงค์ สาลีรัฐวิภาค อดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์และเจ้ากรมการพลังงานทหาร ผู้ริเริ่มการขุดเจาะน้ำมันที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ และผู้ก่อตั้งปั๊มน้ำมันสามทหาร (ปัจจุบันคือ ปตท.)

แม้จะเกิดความขัดแย้งภายในที่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่า ต้นสายปลายเหตุคืออะไร แต่ธุรกิจก็ต้องไปต่อ นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ออกมาพูดถึงกรณีนี้ว่า ความขัดแย้งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานของบริษัท เพราะคนที่บริหาร คือ ตน ไม่ใช่คนในข่าว

ระหว่างการดำรงตำแหน่ง CEO นาน 9 ปี ศุภจียึดเอาประโยชน์ของผู้ถือหุ้นทุกกลุ่มเป็นหลัก ไม่ใช่ของใครกลุ่มใดกลุ่มนึง ส่วนความไม่พอใจในการบริหารที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุ ศุภจีกล่าวว่า ทายาทจากทั้งสองฝั่งมีบทบาทในบริษัทเท่าเทียมกัน และทำงานอยู่ร่วมกันในหลายตำแหน่ง ทั้งในสายบริหารและด้านการเงิน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งหลักฐานว่าบริษัทดำเนินไปด้วยระบบ ไม่ใช่การผูกขาดอำนาจจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

จริงอยู่ที่ว่า การแย่งชิงผลประโยชน์ทางธุรกิจ ความต้องการในเงิน ทอง และอำนาจเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับพี่น้องสายเลือดเดียวกัน คงจะเป็นเรื่องประหลาดใจสังคมทุกครา ซึ่งนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทายาทไฮโซทำธุรกิจชนชั้นนำในประเทศที่ทั้ง “ดัง” และ “รวย” ฟาดฟันกัน

ศึกหุ้นวินด์ 6 พันล้าน บ้าน ‘ณรงค์เดช’

ย้อนกลับไปในปี 2561 ศึกระหว่างพี่น้องตระกูล “ณรงค์เดช” ดุเดือดและเป็นที่เลื่องลือ หลังจากที่ “คุณหญิงพรทิพย์ ณรงค์เดช” เสียชีวิตลง ทิ้งมรดกหมื่นล้านอย่างอาณาจักร “เคพีเอ็น กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น” ไว้ ผ่านมาเพียง 6 ปี 3 พี่น้องขัดแย้งกันถึงชั้นศาลกับการต่อสู้ด้วยกฎหมายจากข้อพิพาททางธุรกิจ รวมถึงทรัพย์สมบัติที่เป็นของ “กงสี”

เรื่องราวการห่ำหั่นกันในครั้งนี้กินเวลากว่า 7 ปี และขั้วตรงข้ามแบ่งฝั่ง “ณพ” ลูกชายคนกลาง “คุณหญิงกอแก้ว บุญยะจินดา” แม่ยาย กับ “กฤษณ์” พี่ชายคนโต “กรณ์” น้องชายคนสุดท้อง และ “เกษม” ผู้พ่อ โดยมีชนวนสำคัญ คือ การซื้อขาย “หุ้นวินด์ เอนเนอร์ยี่” ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ฝั่งพ่อและสองพี่น้องฟ้องร้องณพ

ก่อนที่เจ้าตัวจะยื่นฟ้อง “กฤษณ์” พี่ชายคนโต คดีความผิดฐานยักยอกทรัพย์มูลค่า 35 ล้านบาท ปมค่าเช่าที่ดินต่างจังหวัด เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ศาลพิพากษาให้กฤษณ์ติดคุก 44 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่เนื่องจากคดีอยู่ในศาลชั้นต้น เวลาต่อมาได้ขอประกันตัวด้วยวงเงิน 4 แสนบาท และขอต่อสู้คดีต่อไปในชั้นศาลอุทธรณ์

มรดกเลือด ‘ธรรมวัฒนะ’ ตำนาน 48 คดี

ดูเหมือนว่าความร้อนในศึกสายเลือดของณรงค์เดชจะทุเลาลงจากคำตัดสินของศาล แต่ไม่ใช่กับความสัมพันธ์ของพี่น้องที่ต่อสู้กันเองมานานหลายปี เหมือนกับ “ธรรมวัฒนะ” อีกตระกูลที่พูดพาดพิงพูดถึงว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกับซีรีส์ “เลือดข้น คนจาง”

เริ่มต้นจากการเสียชีวิตของ “สุวพีร์ ธรรมวัฒนะ” ผู้เป็นแม่ เมื่อปี 2533 ที่เป็นอัมพาตจากการถูกลอบยิง ระหว่างนั้นเองสมาชิกในครอบครัวก็ได้ถูกลอบทำร้ายมาเรื่อย ๆ

ปี 2525 นางสาวกุสุมา ลูกคนที่ 3 ผู้ดูแลทรัพย์สิน ถูกลอบยิงตาย

ปี 2534 นายเทอดชัย ธรรมวัฒนะ  ถูกอุ้มหาย ไร้ร่องรอย

ปี 2542 นายห้างทอง ธรรมวัฒนะ พี่ชายคนโตจบชีวิตภายในบ้าน พร้อมจดหมายลาและปืนในมือ ตำรวจสันนิษฐานว่า ถูกฆาตรกรรม หรือ ฆ่าตัวตาย เนื่องจากข้อพิพาทระหว่างพี่น้อง เรื่องทรัพย์สินมรดก

ปี 2546 นายนพดล ธรรมวัฒนะ น้องชายที่อยู่ด้วยในคืนเกิดเหตุ ถูกจับข้อหาฆ่าจัดฉากอำพราง

สุดท้ายในปี 2553 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานโจทก์อ่อน  และระบุว่าเป็นการฆ่าตัวตาย

ส่วนคดีความที่พี่น้องธรรมวัฒนะฟ้องร้องกันเองกว่า 48 คดีนั้นกินเวลานานกว่าสิบปี ฟาดฟันกับไปมาแก่งแย่งมรดกจากพินัยกรรมเกือบ 10 ฉบับที่ทำไว้ โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 25 เป็นผู้จัดการมรดก สุดท้ายสงครามเลือดจบลงในปี 2557

ศาลได้ให้ทายาทตระกูลธรรมวัฒนะเข้าเจรจาประนอมข้อพิพาทกัน เจรจาไกล่เกลี่ยกันถึง 6 ครั้งจนได้ข้อยุติ พี่น้องทั้งสองฝ่ายยอมทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในที่สุด

คู่ความทั้งสองจึงมีการถอนฟ้องกันทุกคดีทั้งทางอาญาและแพ่ง นับเป็นการสิ้นสุดศึกสายเลือดที่กินเวลานานกว่าสิบปี

พินัยกรรมที่ได้ เปิด ก่อน ตาย

ขณะที่พี่น้องหลายตระกูลแย่งชิง “มรดกกงสี” กันอย่างซึ่งหน้า ก็ยังมีบางตระกูลจัดการให้มันเป็นเรื่องง่ายตั้งแต่ก่อนแจกจ่ายให้กับทายาท โดยมีต้นแบบการจัดการของ “ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม” หรือที่รู้จักกันในนาม อากู๋ เจ้าพ่อแกรมมี่ เล่าการจัดการมรดกให้ลูกผ่านบทความ The House that He build ในนิตยสารออฟติไมซ์ ว่า เขาเตรียมมรดกตั้งแต่บริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ

เดิมทีจะแบ่งให้ลูกชายเยอะกว่าลูกสาวตามหลักคนจีน และเหตุผลที่พี่ชายทั้งสองเป็นฝ่ายบริหาร แต่ก็คิดได้ว่า ควรแบ่งให้ทั้ง 4 คนอย่างเท่าเทียมให้ตรงกับที่เขาบอกลูกมาตลอดว่า รักลูกทุกคนเท่ากัน โดยใช้ “ธรรมนูญครอบครัว” ตามปรัชญาที่ว่าให้ค่าความสัมพันธ์มากกว่าเงินทอง

ไพบูลย์เลือกแบ่งธุรกิจเป็น 4 ส่วนตามสภาพที่เกิดขึ้น จัดการภายใต้ “บริษัท ฟ้าดำรงชัยธรรม จำกัด” รวมหุ้นที่มีมาไว้ที่นี่ นำกำไรหักลบขาดทุนแล้วหารสี่ ทำให้เกิดการทำงาน และการมีผลประโยชน์ร่วมกัน แต่ไอเดีย ความเห็นที่พี่น้องร่วมเสนอต่อบริษัทนั้น ๆ ถูกตัดสินด้วยอำนาจเด็ดขาดของพี่น้องที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก

กติกานี้ไพบูลย์เลือกปรึกษาเบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่เกือบสองปีจนกระทั่งได้ข้อตกลง และเริ่มปฏิบัติจริง แม้ระหว่างทางจะมีการขัดแย้งกันบ้าง แต่ทุกอย่างก็กลมกลืนและเคยชินด้วยระยะเวลา กลายเป็นว่า วิธีนี้ได้ผล บ้านดำรงชัยธรรมไม่มีการขัดผลประโยชน์ต่อกันภายในครอบครัว

โมเดลแบ่งทรัพย์แบบบ้านปู

หลักการเดียวกันกับเหล่าทายาทบ้านปู หนึ่งตระกูลที่ผ่านพ้นความขัดแย้งของครอบครัวที่มีธุรกิจกงสีมาด้วยการตั้งธรรมนูญครอบครัว คำบอกเล่าจากปาก “ชนินท์ ว่องกุศลกิจ” ทายาท 1 ใน 7 คนแรกของตระกูลในงานสัมนา The 2nd SET Annual Conference on Family Business บอกว่า มันเป็นเรื่องสำคัญของการทำธุรกิจครอบครัว

พวกเขาเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจ และมองว่า นี่คือสิ่งที่ 7 คนพี่น้องต้องส่งต่อคนรุ่นต่อไปในตระกูลกว่าร้อยคน แม้จะต้องรับผิดชอบเยอะหน่อย และต้องมานั่งทำความเข้าใจเรื่องการแบ่งสัดส่วนผลตอบแทนในครอบครัวที่ไม่ได้ตรงกับข้อบังคับของบริษัททั้งหมด แต่ด้วยการสื่อสารกันเป็นระยะ และน้อมรับผลจากพูดคุยไปถือปฏิบัติ

ประกอบกับคำนิยามของธรรมนูญครอบครัว จาก “อิสระ ว่องกุศลกิจ” ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล ที่นิยามมันผ่าน Perfect Wealth E-Book ว่า หัวใจหลักของธรรมนูญครอบครัว คือความเป็นธรรม เป็นค่านิยมที่ทุกคนยึดมั่น เราอาจได้รับอะไรไม่เท่ากันเพราะต่างคนก็ต่างความคิด มีข้อจำกัดและศักยภาพที่ต่างกัน

แต่ที่สำคัญต้องเป็นธรรมและต้องคิดเสมอว่าเรารักกัน ความรักจะช่วยแก้ไขปัญหาทุกอย่างได้ผ่านมากว่า 20 ปี “ว่องกุศลกิจ” สามารถดำเนินการธุรกิจกงสีไปได้อย่างราบรื่น

แบ่งสมบัติแบบมืออาชีพ

การทำธรรมนูญครอบครัว ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ของบริษัทธุรกิจครอบครัวไทย แต่ในหนังสือ “สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวไทยในโลกความเปลี่ยนแปลง” เขียนโดยศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ธนาคารไทยเครดิต จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ในต่างประเทศ โมเดลนี้ถูกหยิบมาใช้จนเป็นเรื่องปกติ

ขณะที่ประเทศไทย จะเห็นได้จากต้นทางธุรกิจครอบครัวที่มีที่มีวัฒนธรรมลูกครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นตะวันออก-ไทย หรือจีน-ไทย

ตัวอย่างจากธุรกิจที่มั่งคั่ง และอายุกิจการเกินกว่า 50 ปีในประเทศนี้ ส่วนใหญ่เป็น “ธุรกิจครอบครัว” อาทิ ตระกูลหวั่งหลี (ซัวเถา) เจ้าของกลุ่มบริษัทพูลผลกรุ๊ป ประกอบธุรกิจผลิตน้ำมันพืชแบรนด์กุ๊ก ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจกลุ่มก่อสร้าง, ตระกูลล่ำซำ (กวางตุ้ง) ประกอบธุรกิจธนาคารกสิกรไทย เมืองไทยประกันชีวิต เมืองไทยประกันภัย ภัทรประกันภัย และล็อกซเล่ย์

ตระกูลตั้งสมบัติวิสิทธิ์ เจ้าของแบรนด์ซีอิ๊วขาว ‘เด็กสมบูรณ์’ และตระกูลจิราธิวัฒน์ (ไทย-จีน) เจ้าของกลุ่มเซ็นทรัลที่ครองอาณาจักรห้างสรรพสินค้า และโรงแรม ที่ความมั่งคั่งสูงขนาดที่ว่า นิตยสาร Forbe จัดให้อยู่อันดับที่ 4 ของ 10 มหาเศรษฐีไทย ปี 2024 โดยมีมูลค่าความมั่งคั่งอยู่ที่ 9.9 พันล้านเหรียญ

สภาครอบครัวเซนทรัล

ความน่าสนใจของตระกูลนี้ ไม่ได้มีเพียงชื่อเสียงของลูกหลานในเครืออย่าง “พีช พชร” หรือ “ป็อก ภัสสรกรณ์” แต่เป็นธรรมนูญครอบครัวที่ตั้งขึ้นมาด้วยชื่อ “สภาครอบครัว” ในปี 2541 ยุคเจ้าสัวสัมฤทธิ์ หลังจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้ต้องมีการปรับโครงสร้างองค์กรธุรกิจของตระกูลหลายครั้ง

สภาครอบครัวของจิราธิวัฒน์มีหน้าที่จัดการสารพัดเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นความเป็นอยู่ของสมาชิก ระเบียบ สวัสดิการ และการบริหารจัดการทรัพย์สินกงสี โดยการกระทำของทุกคนต้องเป็นไปตามกติกาเท่านั้น มีโครงสร้างบริหารประกอบด้วย

  • คณะกรรมการประมาณ 10 คน มีอายุคราวละ 4 ปี
  • สมาชิก 6 – 7 ตัวแทนจากสายใหญ่ๆ ของตระกูล (3 สายครอบครัว)
  • นอกนั้นจะเป็นผู้อาวุโสของตระกูล
  • คณะกรรมการ “บอร์ดใหญ่” ดูแลธุรกิจ

จิราธิวัฒน์ ใช้ระบบ “คณะกรรมการ” ในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ทั้งเรื่องของครอบครัวและเรื่องธุรกิจ ทำหน้าที่ในการสื่อสารระหว่างสมาชิก การตัดสินใจร่วมกัน และการระงับความขัดแย้งในครอบครัว หัวใจสำคัญของการตั้งกรรมการ คือ ที่มาจะต้องโปร่งใส และเป็นที่ยอมรับ

ซึ่งพ่อ-แม่ หรือพี่ใหญ่ ยังคงกุมอำนาจตัดสินใจสูงสุด เพราะถือเป็นการให้เกียรติผู้อาวุโสที่ก่อตั้งธุรกิจมาช้านาน หลังจากปล่อยให้ลูกหลานแสดงฝีมือบริหารธุรกิจด้วยตัวเองก็จะกลับมาประชุมร่วมกันทุกไตรมาสเพื่ออัปเดตความคืบหน้าและผลลัพธ์ ขณะที่การปรับกฎเกณฑ์ในธรรมนูญจะเกิดขึ้นทุก ๆ 2 ปี เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย

เปิดตำรา หาคำนิยาม

เหมือนความราบรื่นของหลายตระกูลที่มีธรรมนูญเป็นของตัวเองกำลังจะบอกเราว่า มัน “สำคัญ” ไฉน โดยเฉพาะครอบครัวที่มีธุรกิจกงสี มีทรัพย์สินมาก และความมั่งคั่งสูง ดร.นิติ เนื่องจำนงค์ ผู้อำนวยการอาวุโส Wealth Planning and Family Office อธิบายการทำธรรมนูญครอบครัวไว้ว่า เป็นการทำข้อตกลงระหว่างสมาชิกในครอบครัว

โดยทั่วไปแล้ว ธรรมนูญครอบครัวหรือข้อพึงปฏิบัตินั้นจะไม่มีผลทางกฎหมาย แต่มีลักษณะกำหนดว่า สมาชิกในครอบครัวกำหนดกฎเกณฑ์ไว้อย่างไร ทำให้ภาพรวมลักษณะของธรรมนูญครอบครัวจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำงานหรือวิสัยทัศน์ การกำหนดเจตนารมณ์ เป้าประสงค์ ปรัชญาการดำเนินธุรกิจ และการแก้ไขปัญหาระหว่างสมาชิกในครอบครัว

การใช้เวลากลั่นกรอง ตกผลึกแนวคิดทุกมิติ ตั้งแต่พื้นฐานครอบครัว วัฒนธรรม ค่านิยม และความเชื่อที่ยึดถือปฏิบัติตามกันมา

การจัดสรรเวลาให้คนในตระกูลมานั่งคุย นอกจากจะช่วยลดข้อขัดแย้ง ช่วยให้พี่น้องจะมาช่วยกันออกไอเดียและสร้างสรรค์ผลประโยชน์ร่วมกันได้แล้ว เป้าหมายหลัก ๆ ยังคงเป็นการบริหารทรัพย์สินของกงสี เพื่อต่อยอดความมั่งคั่งและการส่งต่อธุรกิจครอบครัวจากรุ่นสู่รุ่น