สายตาดีมีสุข ดูแลดวงตา…ดูแลคุณภาพชีวิต

เพราะดวงตาไม่ใช่แค่หน้าต่างของหัวใจ แต่ยังเป็นแสงสว่างของชีวิต เมื่อดวงตามีปัญหา การมองเห็นพร่ามัวหรือมืดบอด หนทางและโอกาสในชีวิตก็จะน้อยลง ข้อจำกัดในการใช้ชีวิตก็จะเพิ่มขึ้น หรือพูดรวม ๆ ว่าคุณภาพชีวิตจะแย่ลง ดังนั้นการดูแลใส่ใจดวงตาก็คือการดูแลใส่ใจทั้งชีวิตและอนาคตของตัวเอง

สุขภาพดวงตาก็คล้ายกับสุขภาพด้านอื่น ๆ ตรงที่ว่า ถ้าไม่มีอาการคนเราก็มักจะไม่ค่อยไปตรวจเช็ก ซึ่งหลาย ๆ อาการเมื่อมีอาการแล้วไปตรวจก็อาจจะสายเกินไป

ปัจจุบันปัญหาสุขภาพดวงตา เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั้งของไทยและของโลก สถานการณ์สาธารณสุขทางตาทั่วโลกอัพเดตเมื่อปี 2558 พบว่า36 ล้านคนตาบอด 253 ล้านคน เป็นผู้ป่วยสายตาพิการ 65 เปอร์เซ็นต์ของผู้สายตาพิการเป็นคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

1.1 พันล้านคนสายตาสั้น

1.1 พันล้านคนกำลังมีความเสี่ยงปัญหาสุขภาพตา

ทุก 5 วินาทีมีคนตาบอดเพิ่ม 1 คน

ทุกนาทีมีเด็กตาบอดเพิ่ม 1 คน

ส่วนสถานการณ์สาธารณสุขทางตาในเมืองไทยนั้น โรคตาเป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับที่ 9 ของไทย

เด็กไทยตาบอดคิดเป็น 0.11 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนผู้ตาบอดทั้งหมด ซึ่งสูงกว่าประมาณการขององค์การอนามัยโลก (WHO) 60 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการตาบอดในเด็กไทยเกิดจากโรคจอตาในทารกคลอดก่อนกำหนด

สาเหตุหลักของผู้ป่วยตาบอดและสายตาเลือนรางในประเทศไทยคือโรคต้อกระจก คิดเป็น 69.7 เปอร์เซ็นต์ของสาเหตุการตาบอดและตาเลือนรางทั้งหมด รองลงมาคือ โรคทางจอประสาทตา 13.2 เปอร์เซ็นต์ โรคต้อหิน 4 เปอร์เซ็นต์ และความผิดปกติทางสายตา 4 เปอร์เซ็นต์

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่าโรคต้อกระจกเป็นปัญหาสาธารณสุขทางตาอันดับ 1 ของประเทศไทย ในแต่ละปีมีผู้ป่วยต้อกระจกรายใหม่เกิดขึ้น 60,000 คน ขณะที่ยังมีผู้ป่วยรายเก่าสะสม รอรับการผ่าตัดรักษาอยู่กว่า 100,000 คน

ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ได้แก่ อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ขาดแคลนจักษุแพทย์ มีฐานะยากจน ไม่มีค่ารักษา ขาดความรู้เกี่ยวกับโรค หรือกลัวการรักษา เมื่อทิ้งระยะเวลาไว้นานเกินไปจะส่งผลให้ระดับของโรคทวีความรุนแรงขึ้นจนตาบอดในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลชุดเดียวกันบอกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ของปัญหาสุขภาพตาสามารถหลีกเลี่ยงและป้องกันได้ อย่างง่าย ๆ ที่จักษุแพทย์แนะนำคือ สวมแว่นกันแดดเพื่อปกป้องดวงตาไม่ให้โดนแสงทำร้าย

พ.อ.นพ.ยุทธพงษ์ อิ่มสุวรรณ เลขาธิการราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย แนะแนวทางในการดูแลปกป้องดวงตาว่า อันดับแรกคือการสวมแว่นตากันแดดป้องกันแสงยูวี อันดับต่อมาคือการปฏิบัติตัว ถ้าใช้ดวงตาต่อเนื่องเป็นเวลานาน ๆ จะต้องพักเป็นระยะ ๆ และสุดท้ายคือตรวจสุขภาพตา ส่วนอาหารนั้น แค่กินอาหารครบ 5 หมู่ก็เพียงพอแล้ว

“อาหารเสริมต้องดูว่ามีงานวิจัยรองรับหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่แล้วไม่มี เป็นเพียงการขายคำโฆษณา ผมไม่แนะนำจริง ๆ แพงโดยไม่จำเป็น บางคนคิดว่ากินอาหารเสริมเป็นการรักษา บางคนกินอาหารเสริมเพราะไม่อยากรักษาโดยการผ่าตัด ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่การรักษา พอกินแล้วตาบอดเยอะเลยครับ น่าสงสารคนไข้” พ.อ.นพ.ยุทธพงษ์บอก

เพราะเล็งเห็นความสำคัญของสุขภาพดวงตาของทุกคน และเล็งเห็นความสำคัญของการแก้ปัญหาสาธารณสุขทางตาของประเทศ ปีนี้งาน “เฮลท์แคร์ 2018”

งานแฟร์สุขภาพอันดับ 1 ของเมืองไทย โดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ร่วมกับพันธมิตร จึงจัดขึ้นในธีม “สายตาดีมีสุข” โดยมุ่งมั่นตอกย้ำเจตนารมณ์ที่จะรณรงค์สร้างความรู้ความเข้าใจ ให้คนไทยได้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างสุขภาพในทุกมิติ โดยเฉพาะการป้องกันก่อนรักษา

ปีนี้เป็นปีที่ 10 ของงาน “เฮลท์แคร์” จึงเป็นปีที่พิเศษกว่าที่ผ่านมา มีสถานพยาบาลชั้นนำถึง 16 แห่งเข้าร่วมงาน พร้อมให้บริการตรวจสุขภาพฟรีใน “เมืองสุขภาพ” เช่น รพ.บ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) ตรวจตาระบบดิจิทัลด้วยเครื่อง digital slit lamp โดยจักษุแพทย์, ตรวจวัดค่าสายตาและตรวจหาค่าความผิดปกติของสายตา, ตรวจวัดความดันลูกตา, ตรวจดูเบาหวานขึ้นตา, ตรวจดูเส้นเลือดในจอประสาทตาด้วยเครื่องถ่ายภาพจอประสาทตา รพ.เมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ให้คำปรึกษาและตรวจสุขภาพตาด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย

โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ, รพ.กรุงเทพคริสเตียน ให้บริการสปาเปลือกตา และตรวจความสมบูรณ์ของกระจกตา, ศูนย์การแพทย์อาร์เอสยูเฮลท์แคร์ ตรวจสุขภาพตาโดยถ่ายรูปจอประสาทตา และวัดความดันตาด้วยเครื่อง tension

แม้จะเป็นธีมด้านสุขภาพดวงตา แต่สุขภาพด้านอื่น ๆ ก็ยังมีครบถ้วนเช่นเคย อย่างเช่น คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี จะเปิดคลินิกพิเศษบริการให้คำปรึกษาปัญหาสุขภาพและตรวจฟรี และยังมีให้บริการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ในราคาถูกเป็นพิเศษ, คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดห้องทันตกรรมให้บริการตรวจรักษาฟันฟรี ทั้งอุดฟัน ขูดหินปูน ถอนฟัน และผ่าฟันคุด

นอกจากนี้ภายในบริเวณ “เมืองสุขภาพ” ยังมีกิจกรรมมากมายจากหน่วยงานในกระทรวงสาธารณสุข เช่น กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กรมสุขภาพจิต กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมอนามัย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก

ส่วนในด้านวิชาการ-ความรู้เรื่องสุขภาพก็จัดเต็ม มีเวทีพูดคุย เวิร์กช็อปมากมาย เช่น การปาฐกถาพิเศษเรื่อง “สถานการณ์สุขภาพตาคนไทย” โดย รศ.นพ.อนุชิต ปุญญทลังค์

ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย, “Doctor Talk : นวัตกรรมการรักษาเพื่อสายตาสุขภาพดี” โดย พญ.สายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารัฐ (วัดไร่ขิง), Healthy Talk : ดูแลรักษาสุขภาพดวงตาด้วยสมุนไพร โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร, Celeb Talk โดยอาหนิง นิรุตติ์ ศิริจรรยา และอีกมากมาย

นอกจากอยากให้ทุกคนรักสุขภาพตัวเองแล้ว งานนี้ยังชวนให้รักและเผื่อแผ่คนอื่นในกิจกรรม Grand Charity ที่จำหน่ายของที่ระลึกออกแบบโดย ยุรี เกนสาคู ศิลปินร่วมสมัยระดับประเทศ เพื่อระดมทุนสร้าง รพ.จักษุบ้านแพ้ว ที่ต้องรักษาผู้ป่วยโรคทางตาปีละกว่า 50,000 คน

สำหรับคนรักสุขภาพ อยากสุขภาพดี ชีวิตเป็นสุข ไม่ควรพลาด ไปเจอกันได้ในงาน “เฮลท์แคร์ 2018” วันที่ 28 มิถุนายน-1 กรกฎาคมนี้ ณ แพลนารีฮอล ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์