ศิลปินไทย จะก้าวอย่างไรให้ถึงระดับโลก

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
ต้องยอมรับว่า ถ้าถามคนทั่วไปว่าศิลปินไทยที่เป็นที่รู้จักและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ หรือแม้แต่ให้ตอบชื่อศิลปินไทยที่รู้จัก คำตอบนั้นมีอยู่ไม่กี่ชื่อ แต่ถ้าถามคนในวงการศิลปะ หรือคนที่ชื่นชอบติดตามวงการศิลปะ คำตอบที่ได้ก็จะหลากหลายขึ้น นั่นเป็นเพราะเมืองไทยเราให้ความสำคัญกับศิลปะน้อย ทั้งในด้านการศึกษา การสนับสนุน การประชาสัมพันธ์ เรื่องราวในวงการศิลปะจึงเป็นเรื่องเฉพาะทางที่คนทั่วไป “รู้จัก” น้อย

“ศิลปินไทยยุคดิจิทัล อยู่รอด หรือ อยู่ยาก” คือประเด็นหัวข้อเสวนาในงานมอบรางวัลและเปิดนิทรรศการ จิตรกรรมเอเชีย พลัส ครั้งที่ 8 ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ ถ.ราชดำเนินกลาง เมื่อเร็ว ๆ นี้ ร่วมเสวนาโดย 3 ศิลปินชื่อดัง ศาสตราจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ และ อาจารย์สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ

ก่อนจะเข้าประเด็นศิลปินไทยจะอยู่รอดหรืออยู่ยากในยุคดิจิทัล วงเสวนาเปิดประเด็นน่าสนใจว่า ศิลปินไทยเราอยู่ตรงไหนในแวดวงศิลปะระดับสากล และศิลปินจะไปให้ถึงระดับสากล หรือที่เรียกว่า “โกอินเตอร์” กันได้อย่างไร

ซึ่งศิลปินผู้ร่วมเสวนาทั้ง 3 คนเห็นตรงกันว่า เรามีศิลปินไทยที่อยู่ในระดับสากลหลายคน แต่คนไทยเองไม่ค่อยรู้จัก

ศาสตราจารย์ถาวร โกอุดมวิทย์ แสดงความเห็นอย่างมั่นใจว่า แวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทยมีศิลปินหลายคนที่เข้าไปอยู่ระดับโลก วัดได้จากการได้เข้าไปจัดแสดงในนิทรรศการสำคัญ ๆ ระดับโลก มีศิลปินที่อยู่ในประวัติศาสตร์ศิลปะโลกสมัยใหม่หลายท่านไม่ว่าจะเป็น มณเฑียร บุญมา, นที อุตฤทธิ์, ชาติชาย ปุยเปีย, ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข และอีกหลายคน

“ศิลปินไทยมีบทบาทมากในการเคลื่อนไหวทางศิลปะในภูมิภาคนี้ และล่าสุดก็เป็นที่น่ายินดีเรามีงาน Bangkok Art Biennale เป็นนิทรรศการระดับโลกซึ่งมีศิลปินระดับโลกมากมายเข้าร่วม ผมคิดว่ามันจะเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมที่สำคัญ เป็นปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นมาในโลกของศิลปะบ้านเรา โดยรวมเราอาจจะคิดว่าบ้านเราไม่ค่อยมีอะไร แต่จริง ๆ แล้วเรามี เพียงแต่ว่าหน่วยงานที่มีหน้าที่สนับสนุนหรือปลุกกระแสให้คนเข้าใจศิลปินไทย อาจจะยังน้อย ยังไม่แรงพอ”

อาจารย์ถาวรบอกต่อว่า ในอดีตเรามีศิลปินที่ได้รับรางวัลระดับนานาชาติเยอะ ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์ชลูด นิ่มเสมอ อาจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ซึ่งในแวดวงศิลปะภาพพิมพ์ระดับโลกรู้จักกันดี ได้รับรางวัลในระดับสากลมามากมาย

“สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนในแวดวงศิลปะรู้กันเอง แต่คนทั่วไปไม่รู้ ไม่เหมือนดาราที่ไปเดินพรมแดงแล้วเป็นข่าว”

ศาสตราจารย์อิทธิพล ตั้งโฉลก ยืนยันอีกเสียงว่า ศิลปินไทยมีศักยภาพสูงไม่แพ้ชาติอื่น อาจารย์โฟกัสไปที่ศิลปะภาพพิมพ์ว่า ภาพพิมพ์ไทยพูดได้ว่าอยู่ในระดับสากล ศิลปินภาพพิมพ์ไทยส่งภาพพิมพ์ไปต่างประเทศเยอะ ในเอเชียเราอาจเป็นรองแค่ญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นมีรากฐานมานานกว่า

“ในยุคผม ศิลปินภาพพิมพ์เราฝีมือดี ทักษะการใช้มือดี แต่อ่อนทางความคิด อาจจะเพราะเรามีโอกาสได้เห็นผลงานดี ๆ น้อย ต่างจากญี่ปุ่นเขาเห็นเยอะ มีงานเยอะ แต่ตอนนี้บ้านเราก็ดีขึ้นเพราะมีอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีสมัยใหม่ช่วยได้เยอะ สมัยก่อนกว่าจะได้เห็นผลงานต้องรอดูในหนังสือเป็นปี ตอนนี้ดูในโทรศัพท์มือถือได้แล้ว ปัจจุบันการโกอินเตอร์ไปได้หลายระดับ ผลงานศิลปินไทยเราดี เพียงแต่การโปรโมตน้อย คนก็เลยคิดว่าศิลปินไทยไม่เก่ง คนไทยไม่ได้

ยกย่องกันเอง แต่ฝรั่งเขายอมรับ ถ้าเรามีพิพิธภัณฑ์รวบรวมไว้ เราจะเห็นว่าวิวัฒนาการศิลปะบ้านเรามาไกลแล้ว”

อาจารย์อิทธิพลแนะว่า การจะพัฒนาทางความคิดได้ จะต้องมีพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ดีที่ช่วยแสดงให้เห็นวิวัฒนาการทางศิลปะในไทย เพราะถึงแม้จะสามารถดูในอินเทอร์เน็ตได้ แต่การได้เห็นของจริงย่อมดีกว่า “พิพิธภัณฑ์สำคัญที่สุด” อ.อิทธิพลย้ำ

ศิลปินรุ่นก่อนหน้านี้ได้รับการยอมรับในระดับสากลกันหลายคนแล้ว

ส่วนศิลปินรุ่นใหม่ ๆ จะก้าวเดินอย่างไรให้ไปถึงระดับโลก…

ก่อนจะบอกว่าจะโกอินเตอร์ได้อย่างไร อาจารย์สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ เปรียบเปรยให้เห็นภาพว่า การเป็นศิลปินคือการลงทุนระยะยาว การทำงานศิลปะเหมือนการซื้อที่ดิน รอความเจริญ รอรถไฟฟ้าผ่าน ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องทำงานศิลปะให้ดีเยี่ยม ให้สุดยอดในแบบที่ตัวเองพอใจก่อน ไม่ต้องสนใจว่าใครจะซื้อหรือไม่ซื้อ ศิลปินหลายคนไม่ได้ประสบความสำเร็จในช่วงชีวิตของตัวเอง แต่ได้ฝากผลงานดี ๆ ไว้ และผลงานเหล่านั้นเป็นมรดกให้ลูกหลานได้ขายมีเงินใช้สุขสบาย

ส่วนการจะก้าวไปสู่ระดับอินเตอร์นั้น อาจารย์สมศักดิ์บอกว่า มีอยู่ 2-3 วิธีที่จะพาไปสู่เป้าหมาย คือ 1.เครือข่าย ศิลปินต้องมีเครือข่าย มีพรรคพวกเพื่อนฝูง

ดึงกันไป 2.ส่งพอร์ตโฟลิโอไปให้ผู้จัดนิทรรศการหรือแกลเลอรี่พิจารณาว่าเราอยากจัดแสดงผลงาน ซึ่งปัจจุบันนี้ง่ายขึ้นเพราะสามารถส่งทางอินเทอร์เน็ต 3.ได้รับเชิญ เป็นเป้าหมายที่จะเกิดขึ้นหลังจากที่ได้ไปจัดแสดงด้วย 2 วิธีแรกแล้วมีคนเห็นว่าผลงานดี ก็จะได้รับเชิญให้ไปจัดแสดง

“ที่สำคัญเราพึ่งตัวเอง ในเมืองไทยเราไม่มีอนาคตในแง่องค์กรสนับสนุน ไม่มีองค์กรของรัฐ ที่อื่นเขามีองค์กรสนับสนุน บางประเทศถ้าศิลปินไม่มีเงินเขาสนับสนุนให้เงินมาสร้างผลงาน และมีข้อตกลงกันว่าศิลปินสร้างผลงานแล้วต้องแบ่งให้รัฐบาลกี่ชิ้น”

นอกจากนั้น อาจารย์สมศักดิ์บอกว่า อุปสรรคปัญหาสำคัญของศิลปินไทย คือ ไม่เก่งภาษาอังกฤษ ทำให้กลัวการติดต่อเจรจากับชาวต่างชาติ กลัวการไปแสดงผลงานในต่างประเทศ แต่เด็กรุ่นใหม่ใช้ภาษาอังกฤษดีขึ้นกว่ารุ่นก่อน และมีการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ต

สำหรับหัวข้อที่ว่า ในยุคดิจิทัล ศิลปินจะอยู่รอดหรืออยู่ยากขึ้น ?

อาจารย์สมศักดิ์บอกว่า ยุคนี้มีโอกาสสูงมาก คนที่อยากเป็นศิลปินต้องลุย จะต้องพิสูจน์ในช่วง 3-5 ปีหลังเรียนจบ คนที่ยังยืนหยัดทำงานศิลปะผ่าน 5 ปี

คือคนที่จะเป็นศิลปิน แต่ในช่วง 3-5 ปีนี้หลายคนหันเหไปทำอาชีพอื่น “คนที่จะเป็นศิลปินต้องตั้งสติให้ดี ถ้าผ่าน 3-5 ปีได้จะได้เป็นศิลปินแน่นอน ไม่ต้องกลัวอดอยาก”

ด้านอาจารย์ถาวรบอกว่า อีก 5-10 ปี แกลเลอรี่จะเจ๊งหมด เพราะคนใช้สื่อออนไลน์ วิถีที่มันจะไปคือศิลปินจะใช้ช่องทางออนไลน์ แต่จะทำคนเดียวไม่ได้ ต้องมีทีมงาน

“ผมว่าเป็นวิธีที่ดีนะ เราตัดคนกลาง ตัดดีลเลอร์ออกไป แต่สิ่งเหล่านั้นจะถูกนำเสนอต่อพับลิกมั้ย มันอาจจะอยู่ในกลุ่มที่ทำบิสซิเนสโดยตรง ก็ต้องหาช่องทางนำผลงานมานำเสนอให้คนเห็น เราต้องยอมรับว่าอีกหน่อยมันอาจจะเป็น virtual gallery (แกลเลอรี่เสมือนจริง) virtual museum (พิพิธภัณฑ์เสมือนจริง)”

ส่วนมุมมองของศิลปินรุ่นใหม่ เต้-นภนันท์ รังสีธรรมคุณ เจ้าของผลงาน “เชื่อมสัมพันธ์ (Correlation)” ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประกวดภาพจิตรกรรมเอเชีย พลัส ครั้งที่ 8 บอกว่า ตัวเขาเองอยากทำงานศิลปะ อยากยึดอาชีพศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมสมัยในแบบของตัวเองแล้วขายได้ และเขามองว่าศิลปินในยุคดิจิทัลน่าจะอยู่ง่ายกว่ายุคเก่า เพราะมีช่องทางโปรโมต มีโซเชียลมีเดียแสดงผลงาน แต่ขณะเดียวกันคนที่เรียนศิลปะก็เยอะขึ้น การแข่งขันก็มากขึ้น


“ก็คงไม่ยาก-ไม่ง่าย” เขาสรุป ทุกคนเห็นว่าเทคโนโลยี อินเทอร์เน็ต โซเชียลมีเดีย ช่วยให้การเผยแพร่ผลงานและการทำอะไรหลายอย่างง่ายขึ้น แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปให้เห็นว่า ศิลปินจะอยู่ง่ายจริงหรือไม่ ในยุคที่มีตัวช่วยมากมาย