ถ้ำหลวง ออลสตาร์ ภารกิจพาหมูป่ากลับบ้าน …ทุกคนคือฮีโร่

เสียงเฮดังสนั่น ทั่วโลกร่วมยินดีกับความสำเร็จของภารกิจช่วยทีมหมูป่าออกจากถ้ำหลวงที่ปฏิบัติการสำเร็จเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา กว่าที่ภารกิจจะลุล่วง ปฏิบัติการนี้กินเวลา 18 วัน เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างแข็งขัน บวกกับน้ำใจจิตอาสา และกำลังใจที่หลั่งไหลมาอย่างไม่มีพรมแดน ไม่แบ่งเชื้อชาติ ทั้งจากเมืองไทยและจากต่างประเทศ
 
ภารกิจสำเร็จ ปฏิบัติการยุติลง แต่เหตุการณ์นี้จะถูกจารึกในประวัติศาสตร์เมืองไทย และจะอยู่ในความทรงจำของผู้คนไปอีกนาน ในแง่ความร่วมมือร่วมใจ การบูรณาการกันเป็นหนึ่งเดียว ไม่แบ่งแยกหน่วยงาน ไม่แบ่งแยกว่ามาจากชาติไหน เพื่อให้เป้าหมายสำเร็จ
 
ปฏิบัติการครั้งนี้ มีผู้ปฏิบัติงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย ซึ่ง “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมมาให้ดูว่า ใครมีส่วนทำอะไรในปฏิบัติการนี้บ้าง ซึ่งเราจะขอเรียกทุกคนว่า “ถ้ำหลวง ออลสตาร์”
 
1.นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (ผอ.ศอร.) และผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (ตำแหน่งขณะเริ่มปฏิบัติการค้นหา ก่อนจะมีคำสั่งโยกย้ายตำแหน่งในเวลาต่อมา) เป็นแม่ทัพคนสำคัญ และต้นแบบของภาวะผู้นำในวิกฤตครั้งนี้ ผู้ว่าฯได้รับเสียงชื่นชมอย่างมากจากการบริหารจัดการที่รอบคอบรัดกุมทั้งในส่วนของปฏิบัติการภายในถ้ำและการรับมือกับสื่อมวลชน และการประสานงานทุกภาคส่วน
 
2.กองทัพไทย (ทหารบก, ทหารเรือ, ทหารอากาศ) เหล่าทหารทั้ง 3 เหล่าทัพเป็นหน่วยงานแรก ๆ ที่ทำหน้าที่ค้นหาในภารกิจครั้งนี้ โดยมีมณฑลทหารบกที่ 37 (มทบ.37) จังหวัดเชียงราย และมณฑลทหารบกที่ 34 (มทบ.34) จังหวัดพะเยา เป็นหน่วยงานชุดแรกที่ปฏิบัติภารกิจค้นหา 13 ชีวิต
 
3.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ (หน่วยซีล) นำโดย พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ หน่วยซีลเป็นหัวหอกสำคัญในการปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ ด้วยสภาพแวดล้อมในถ้ำที่เข้าถึงยากลำบาก ต้องอาศัยความอึด ถึก ทน ของซีลที่ผ่านการฝึกฝนมาอย่างเคี่ยวกรำ
 
4.จ่าเอกสมาน กุนัน หรือจ่าแซม อดีตนักทำลายใต้น้ำจู่โจม (ซีล) ฮีโร่ที่เสียชีวิตขณะปฏิบัติภารกิจลำเลียงถังออกซิเจนภายในถ้ำ แม้ว่าจ่าแซมจะไม่ได้อยู่ในราชการแล้ว แต่เมื่อทราบข่าวที่ถ้ำหลวง จ่าแซมไม่ลังเล มุ่งหน้าขึ้นแม่สายไปช่วยทั้ง 13 ชีวิต
 
ด้วยความเสียสละครั้งยิ่งใหญ่นี้ นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผอ.ศอร. จึงขนานนามจ่าแซมว่าเป็นวีรบุรุษถ้ำหลวงตัวจริง
 
5.พ.ท.นพ.ภาคย์ โลหารชุน ผู้บังคับกองพันเสนารักษ์ที่ 3 นายแพทย์ทหารที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี รับหน้าที่สำคัญเข้าไปรักษาการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ตลอดจนเป็นคนสุดท้ายในการออกจากถ้ำหลวงหลังเสร็จสิ้นปฏิบัติการลำเลียงทั้ง 13 ชีวิตออกจากถ้ำ
 
6.นักดำน้ำและผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำชาวอังกฤษและชาวเบลเยียม ได้แก่ นายเวอร์นอน อันเวิร์ธ นายจอห์น โวลันเธน นายริค สแตนตัน นายโรเบิร์ต ฮาร์เปอร์ นายคริส จีเวลล์ นายเจสัน มัลลิสัน และนายทิม แอคตัน ซึ่งนายริชาร์ด สแตนตัน และนายจอห์น โวลันเธน เป็นคนกลุ่มแรกที่พบทีมหมูป่าและโค้ชบริเวณเนินนมสาว
 
7.ดร.ริชาร์ด แฮร์ริส วิสัญญีแพทย์ชาวออสเตรเลีย และผู้เชี่ยวชาญการดำน้ำนานาชาติ พร้อมกลุ่มนักดำน้ำในถ้ำซึ่งเป็นตำรวจออสเตรเลียอีก 6 นาย ทำหน้าที่ประเมินสุขภาพของทีมหมูป่าว่าสามารถดำน้ำออกจากถ้ำได้หรือไม่
 
8.อีลอน มัสก์ นักธุรกิจคนดังระดับโลก ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเทคโนโลยีอวกาศ SpaceX, บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla และบริษัทขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดิน Boring Company หลังจากที่เขาทวีตว่าจะหาทางช่วยเหลือปฏิบัติการนี้เพียง 2 วัน เขาก็เดินทางมาเมืองไทยพร้อมเรือดำน้ำจิ๋วที่พัฒนามาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ เขาบอกว่าไม่ว่าจะได้ใช้หรือไม่ เขาก็จะมอบไว้ให้เมืองไทยเผื่อได้ใช้ประโยชน์ในอนาคต
 
9.นายอนุกูล สอนเอก นักภูมิศาสตร์ ผู้เคยสำรวจถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนมาก่อนนี้ เป็นคนแรกที่เปิดเผยภาพจำลองภายในถ้ำและร่วมวิเคราะห์สถานการณ์ที่ทั้ง 13 ชีวิตน่าจะกำลังเผชิญอยู่ รวมทั้งอธิบายถึงแนวทางการช่วยเหลือ
 
10.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และตำรวจพลร่ม ร่วมกันเดินเท้าสำรวจถ้ำหาโพรงสำหรับการโรยตัวเพื่อการช่วยเหลืออีกทาง
 
11.กรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีส่วนสำคัญในการเร่งสูบน้ำและทำทางเบี่ยงเส้นทางน้ำเพื่อลดระดับน้ำในถ้ำ
 
12.ทีมพญานาคของ “ชลอยกกระบัตร” ของนายชลอ เกิดปั้น จากสมุทรสาคร ที่นำเครื่องสูบน้ำพญานาคและเครื่องปั่นไฟไปช่วย
 
13.ทีมเจาะน้ำบาดาล นำโดยนายสุทิน ไชยชมภู นายกสมาคมน้ำบาดาลแห่งประเทศไทย เจาะหาตาน้ำบาดาลเพื่อเป็นอีกช่องทางในการระบายน้ำออก
 
14.ทีมเก็บรังนกเกาะลิบง จังหวัดตรัง มีความเชี่ยวชาญในการปีนป่ายที่สูงจากการเก็บรังนกนางแอ่น โรยตัวเข้าโพรงถ้ำร่วมค้นหาอีกทาง ทีมเก็บรังนกได้การรวบรวมทุนทรัพย์จากชาวบ้านและหน่วยงานต่าง ๆ บนเกาะลิบงเพื่อเดินทางไปถ้ำหลวงด้วยความตั้งใจจริง
 
15.หน่วยแพทย์และพยาบาลที่คอยอำนวยความสะดวกด้านการพยาบาล ได้แก่ โรงพยาบาลศูนย์เชียงรายประชานุเคราะห์ โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช โรงพยาบาลพญาเม็งราย โรงพยาบาลแม่จัน และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอแม่สาย
 
16.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแลการจราจรและความเรียบร้อย สนับสนุนเฮลิคอปเตอร์และฝูงบินพลร่มในการลำเลียงทั้ง 13 ชีวิตเข้าสู่อำเภอเมืองเพื่อส่งต่อไปยังโรงพยาบาล
 
17.กระทรวงและกรมต่าง ๆ อาทิ กระทรวงคมนาคมทำหน้าที่อำนวยความสะดวกการเดินทางของกองกำลังทหารและนักดำน้ำจากต่างประเทศ กรมทรัพยากรธรณีร่วมวิเคราะห์แผนการช่วยเหลือทั้งการค้นหาโพรงถ้ำและสภาพโดยรอบ กรมสุขภาพจิตที่ทำหน้าที่ในการดูแลและพูดคุยกับบรรดาผู้ปกครองของทีมหมูป่าและโค้ช
 
18.ค่ายโทรศัพท์มือถือทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชน ได้แก่ AIS, dtac, true, TOT และCAT ผนึกกำลังเข้าช่วยเหลือด้านการติดตั้งสายโทรศัพท์เชื่อมต่อจากภายนอก-ในถ้ำ
 
19.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ดำเนินการดึงสายไฟกันน้ำจากเครื่องปั่นไฟเข้าถ้ำ จ่ายกระแสไฟฟ้าให้เครื่องสูบน้ำ และช่วยด้านแสงสว่างภายในถ้ำด้วย
 
20.โรงครัวพระราชทาน เป็นพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ตั้งโรงครัวพระราชทาน เพื่อแจกจ่ายอาหารในพื้นที่
 
นอกเหนือจากนี้ยังมีหน่วยงานอื่น ๆ และประชาชนทั่วไปที่เข้าร่วมเป็นจิตอาสา สนับสนุนด้านต่าง ๆ และที่น่านับถือน้ำใจมาก ๆ คือประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงที่เสียสละรับน้ำที่สูบจากถ้ำเข้าสู่ไร่นาของตัวเอง
 
นอกจากกล่าวคำยินดีกับทีมหมูป่าและครอบครัว และยินดีกับผู้ปฏิบัติงานที่ทำให้ภารกิจนี้สำเร็จ เราขอใช้พื้นที่นี้กล่าวคำยกย่องว่า “คุณทุกคนคือฮีโร่”