พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ วิถีชีวิตชาวอีสานบนบ้านไม้สุดฮิป

ใครสนใจหรืออยากลองเปลี่ยนบรรยากาศท่องเที่ยวแบบโลคอล ซึมซับวิถีชีวิต วันนี้เรามีแหล่งสัมผัสซึมซับวิถีชีวิตชาวบ้านอีสานย้อนยุคที่เรียบง่ายแบบมีสไตล์มาแนะนำ ไม่ว่าใครเดินหรือนั่งรถผ่านก็ต้องสะดุดตาเรือนไม้ 2 ชั้นหลังนี้ สวยงามโดดเด่นในสีดั้งเดิม มีร่องรอยบ่งบอกอายุจริง ไม่ได้ถูกเคลือบทับด้วยสีสันให้ดูใหม่ เพียงแต่งแต้มสีเขียวลงไปที่ประตู หน้าต่าง บันได เป็นการเพิ่มสีสันเพิ่มลูกเล่นเท่านั้น

เรือนไม้หลังเด่นที่ว่านี้คือ พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬ (Life Community Museum Bueng Kan) บ้านเรือนไทยอีสานในหมู่บ้านเล็ก ๆ ชุมชนที่เงียบสงบ ณ หมู่บ้านขี้เหล็กใหญ่ ต.หนองพันทา อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ

เรือนไม้ทรงไทยอีสานอายุกว่า 60 ปีหลังนี้ เป็นบ้านของครอบครัว ขาบ-สุทธิพงษ์ สุริยะ ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดังของเมืองไทย ที่อยู่อาศัยกันมาหลายเจเนอเรชั่น หลังจากลูกหลานแยกย้ายกันไป ขาบจึงนำบ้านหลังนี้ปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต เพราะเห็นว่าบ้านเรือนไทยอีสานนับวันจะหายไปตามกาลเวลา เจ้าของบ้านคนดังจึงต้องการอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ค้นคว้า

ลักษณะโดยทั่วไปของบ้านอีสานจะมีระเบียงกว้างสำหรับทำกิจกรรมส่วนรวม เปิดประตูเข้าไปข้างในบ้านมีห้องโถงกลางใหญ่ แบ่งเป็นห้องปีกซ้ายและปีกขวา

พิพิธภัณฑ์นี้ถูกปรับปรุงโดยนำดีไซน์ที่อิงธรรมชาติ แต่ละห้องประดับประดาด้วยภาพขาวดำของในหลวงรัชกาลที่ 9 ตามมุมห้องจัดแสดงและตกแต่งด้วยผ้าซิ่นไหมของบรรพบุรุษ ซึ่งคนอีสานสมัยก่อนมักจะนุ่งผ้าซิ่นไหม นุ่งโสร่ง สวมใส่เสื้อสีขาวเข้าวัด

อีกฝั่งของบ้านที่เชื่อมติดกันมีครัวอีสานแบบสมัยก่อนที่ปัจจุบันหลงเหลืออยู่น้อย ครัวที่นี่เรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์เหมือนครัวที่ใช้จริงเมื่อ 60 ปีก่อนทุกประการ มีข้าวของในครัวที่เคยใช้งานจริงจัดแสดงให้ดู ส่วนอีกฟากด้านหลังของห้องครัวปรับเป็นมุมรับแขกโทนสีขาวเขียวและน้ำตาล ฉากแผ่นไม้สีน้ำตาลที่ผ่านการใช้งานมานาน ตัดกับสีเขียวของข้าวของที่ตกแต่งสมัยใหม่ เป็นการผสมผสานที่แตกต่างแต่ลงตัว นอกจากนั้นยังมีการทำพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นประจำ มีชาวบ้านมาร่วมวงด้วย พอจบพิธีก็ทานข้าวด้วยกันตามวิถีชีวิตคนอีสาน

“ภาพเหล่านี้ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งล่าสุดพวกเราญาติพี่น้องตระกูลสุริยะ ได้มาร่วมพิธีบายศรี ซึ่งทำจากใบตองและตกแต่งด้วยดอกดาวเรืองและดอกพุดตูมสีขาว ซึ่งเป็นดอกไม้ที่คนอีสานนำไปไว้พระ และกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ ลูกหลานได้มาขอพรจากผู้ใหญ่ เป็นบรรยากาศที่หวนรำลึกถึงอดีตและมีคุณค่าต่อจิตใจ ทุกคนรู้สึกประทับใจยิ่งนัก” ขาบ-สุทธิพงษ์เล่า

นอกจากตัวบ้านแล้ว มีพื้นที่โดยรอบบริเวณประมาณ 3 ไร่ ถูกใช้ต่างบทบาทหน้าที่กันไป ได้แก่ Green Activity ลานอเนกประสงค์ติดกับพิพิธภัณฑ์ ที่มุ่งเน้นกิจกรรมเพื่อสนับสนุนชุมชน การมีส่วนร่วมและสร้างอาชีพ สร้างรายได้ในเชิงบูรณาการแบบยั่งยืน, ตลาดชุมชนพอเพียง ตั้งอยู่ในสวนยางฝั่งตรงข้ามกับพิพิธภัณฑ์ ประดับด้วยโคมไฟสุ่มไก่ ผลงานภาพวาด รายล้อมด้วยต้นยางพารา, ลานศิลปะ พื้นที่ต่อเนื่องกับตลาดชุมชนพอเพียง ยาวติดริมทุ่งนาทางโค้ง เน้นอัตลักษณ์สร้างสรรค์เพื่อความแข็งแรงและยั่งยืนของชุมชนที่สะท้อนออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ ได้ปรับเป็นลานแสดงผลงานศิลปะร่วมสมัย

นอกจากเปิดต้อนรับผู้คนให้เข้าไปเยือนแล้ว พิพิธภัณฑ์นี้ได้ออกไปจัดทำโครงการ “วาดบ้าน แปลงเมือง” วาดภาพเขียนสีตามบ้านเรือนในตรอกซอกซอยของหมู่บ้าน ประมาณ 50 หลังคาเรือน โดยได้ร่วมกับนักศึกษาและคณาจารย์ ในหลักสูตรจิตรกรรมเพื่อสังคม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้เป็นหมู่บ้านอีสานต้นแบบภาพวาดศิลปะ เพื่อการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน

ใครสนใจสัมผัสพิพิธภัณฑ์วิถีชีวิตพื้นบ้านชาวอีสานแบบนี้ สามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จังหวัดบึงกาฬได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทุกวันจันทร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-17.00 น. สอบถามรายละเอียดและขอนัดเข้าชมได้ที่ โทร.08-6229-7629 และ FB : พิพิธภัณฑ์ชุมชนมีชีวิต จ.บึงกาฬ (ห่างจากสนามบินอุดรธานีประมาณ 130 กิโลเมตร และห่างจากสถานีรถไฟ จ.หนองคายประมาณ 80 กิโลเมตร)