4 โจทย์แต่งบ้าน ครอบครัวไทย ในมุมมอง IKEA

เชื่อว่าเกือบทุกคนมี “บ้านในฝัน” หรือบ้านในแบบที่อยากอยู่ อยากให้เป็น แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำให้บ้านเป็นแบบที่ต้องการได้เต็มร้อย เพราะการแต่งบ้านนั้นมีโจทย์ มีข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคให้ไม่สามารถทำให้บ้านเป็นเหมือนภาพในหัว ซึ่งถ้าไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาแก้โจทย์ให้ ผู้อยู่อาศัยอาจจะแก้เองไม่ได้

โจทย์ ข้อจำกัดที่ว่านี้ต่างกันตามปัจจัยต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของบ้าน และสภาพสังคม บ้างก็เป็นเรื่องขนาด บ้างก็เรื่องจำนวนคน บ้างก็เป็นเรื่องสภาพอากาศ ภูมิประเทศ ฯลฯ บางคนวาดภาพไว้อยากได้บ้านคลีน ๆ มินิมอล แต่ในบ้านอยู่กันแบบครอบครัวใหญ่ ข้าวของเครื่องใช้เยอะ นี่ก็เป็นความยากที่จะสร้างสรรค์บ้านให้ออกมามินิมอล หรืออย่างปัญหาที่คนในฮ่องกง โตเกียว และเมืองที่มีประชากรเยอะ ๆ แต่พื้นที่จำกัดต้องเจอก็คือ บ้าน หรือที่พักอาศัยมีขนาดเล็ก คับแคบ

ถ้าอยากแต่งบ้านให้โปร่งโล่ง จะทำอย่างไร ? แล้วโจทย์การแต่งบ้านครอบครัวคนไทย ในพื้นที่และสังคมประเทศไทยล่ะเป็นอย่างไร ?

แบรนด์เฟอร์นิเจอร์ยักษ์ใหญ่ อิเกีย (IKEA) ได้ศึกษาสำรวจวิถีชีวิตและความต้องการในการจัดสรรพื้นที่ภายในบ้านและจัดทำรายงาน “Life at Home” มาตั้งแต่ปี 2557 โดยเก็บผลสำรวจกว่า 21,000 ครอบครัว ใน 22 ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย

การสำรวจในประเทศไทยพบว่า วัฒนธรรมไทยให้ความสำคัญกับครอบครัวและมีสายสัมพันธ์ในครอบครัวที่ผูกพันแน่นแฟ้นมาก ฉะนั้น บ้านสำหรับคนไทยจึงเป็นที่ที่มีความหมายเป็นพิเศษ

จากการสำรวจพบว่าครอบครัวคนไทยมี 4 รูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบมีความต้องการและข้อจำกัด หรือปัญหาในการแต่งบ้านที่ต่างกัน ดังนี้

1.คนโสดหรือครอบครัวคู่แต่งงานใหม่ (single/newlywed) กลุ่มคนหนุ่มสาวที่ยังโสดหรือกำลังสร้างครอบครัวแต่ยังไม่มีลูก ยังไม่ให้ความสำคัญกับการตกแต่งมากนัก และค่อนข้างอ่อนไหวกับเรื่องราคา เพราะเพิ่งทำงานหรือเริ่มสร้างครอบครัว

2.ครอบครัวรุ่นใหม่ (young family) กลุ่มนี้ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยสามี-ภรรยาและลูกเล็ก ให้ความสำคัญกับลูกเป็นอันดับแรก คำนึงถึงประโยชน์ใช้สอยก่อนดีไซน์ ให้ความสำคัญกับความแข็งแรงมั่นคง

3.ครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัย (multigeneration) มีทั้งพ่อแม่ที่มีอายุ และลูก ๆ วัยทำงาน อาศัยรวมกันเป็นครอบครัวขนาดใหญ่ ปัญหาในครอบครัวแบบนี้ คือ มีความขัดแย้งในการตัดสินใจ เพราะรสนิยมต่างกัน และไม่มีพื้นที่ส่วนตัว

4.ครอบครัวแบบดั้งเดิม (traditional) คล้ายกับกลุ่มที่ 3 แต่จะมีพี่น้องหรืออยู่ร่วมกันหลายครอบครัวในบ้านเดียว ครอบครัวแบบนี้มีความท้าทายหลายอย่าง เช่น การไม่มีพื้นที่ส่วนตัว ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ในบ้าน เพราะต้องใช้พื้นที่เดียวกัน และมีความขัดแย้งเนื่องจากความยุ่งยากในการจัดระเบียบพื้นที่

จาก 4 โจทย์ที่สำรวจพบ อิเกียมีคำแนะนำสำหรับครอบครัวไทยทั้ง 4 รูปแบบ ดังนี้

สำหรับคนโสดหรือครอบครัวคู่แต่งงานใหม่ ลองเปลี่ยนจากบ้านที่เน้นประโยชน์ใช้สอยเป็นบ้านที่ให้ความรู้สึกว่าได้เป็นเจ้าของพื้นที่จริง ๆ และให้ความสะดวกสบายมากขึ้น

ครอบครัวรุ่นใหม่ สนับสนุนแนวคิดทำให้บ้านมีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยควบคู่กับความสวยงาม และแนะนำให้เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีประโยชน์ใช้สอยและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามพัฒนาการของเด็ก

ส่วนครอบครัวที่มีสมาชิกหลายช่วงวัยและครอบครัวแบบดั้งเดิม ซึ่งมีปัญหาคล้ายกันคือ ขาดความเป็นส่วนตัว ขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของพื้นที่ในบ้าน แนะนำให้สร้างพื้นที่ที่มีประโยชน์ใช้สอยและจัดเก็บได้หลายแบบ สามารถปรับเปลี่ยนได้เพื่อให้ใช้พื้นที่ร่วมกันได้หลากหลาย

วรันธร เตชะคุณากร รองผู้จัดการแผนกสื่อสารและตกแต่งภายใน อิเกีย บางใหญ่ ให้คำแนะนำว่า ไม่ว่าจะอยู่ในครอบครัวแบบใด สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก คือ กิจกรรมที่เกิดขึ้นในบ้าน เช่น ถ้าอยู่บ้านคนเดียว เราต้องการอะไรบ้าง หรือถ้าอยู่บ้านกับคุณตาคุณยาย พ่อแม่ จะแบ่งพื้นที่กันอย่างไร

“ถ้าเราเริ่มต้นจากตรงนี้จะช่วยให้เราจัดบ้านได้ตามความต้องการ ช่วยให้แก้ปัญหาได้ถูกจุด”