วินัย มารยาท และความรับผิดชอบ กฎการเป็น “นักแสดง” ของ…นก-สินจัย

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง 
ธนศักดิ์ ธรรมบุตร : ภาพ

นก-สินจัย เปล่งพานิช หรือ สินจัย หงษ์ไทย เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักแสดงแถวหน้าของเมืองไทย เธอเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงในฐานะนางแบบ และพลิกบทบาทสู่เส้นทางการแสดงจนได้รับการยอมรับถึงฝีมือและศักยภาพจากคนบันเทิงและผู้ชม รวมเวลาอยู่ในวงการเกือบ 40 ปีแล้ว

จากนางแบบสู่นักแสดงภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ มาสู่บทบาทนักแสดงละครเวที ซึ่งมีผลงานแสดงมาแล้วหลายเรื่อง เรื่องที่โดดเด่นและยังเป็นที่จดจำอยู่จนถึงทุกวันนี้ คือ บทปานรุ้ง ในเรื่องบัลลังก์เมฆเดอะมิวสิคัล และเร็ว ๆ นี้ นก-สินจัยจะกลับมาขึ้นเวทีกับบทบาท “เหมยหลิง” ในละครเวทีเรื่องเยี่ยมที่ถูกหยิบมาปัดฝุ่นอีกครั้ง “ลอดลายมังกร เดอะมิวสิคัล” ที่จะจัดขึ้นพิเศษในวาระครบรอบ 1 ปี การเปิด “ล้ง 1919” โครงการแหล่งท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรม ที่อดีตเคยเป็นท่าเรือสำคัญทางการค้าพาณิชย์ของชาวจีนในแผ่นดินไทย ซึ่งครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เปลี่ยนจากการแสดงในโรงละครสู่การแสดงกลางแจ้ง ณ ล้ง 1919

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะชวนท่านผู้อ่านไปพูดคุยกับนักแสดงดาวค้างฟ้าคนนี้ ทั้งในฐานะของ “เหมยหลิง” และ “นก-สินจัย”

จากจอเงินและจอแก้ว สู่นักแสดงละครเวที

พักหลังมานี้เรามักจะเห็นสินจัยในบทบาทนักแสดงละครเวทีหลายเรื่อง เมื่อถามว่าการเปลี่ยนบทบาทจากนักแสดงละครโทรทัศน์สู่นักแสดงละครเวทีมีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร เธอบอกว่าแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพราะด้วยวิธีการทำงานที่ไม่เหมือนกัน ละครโทรทัศน์เต็มไปด้วยเทคนิคหลายขั้นตอน ทั้งการตัดต่อ มุมกล้อง บล็อกกิ้ง (การจัดวางตำแหน่งและการเคลื่อนไหวของตัวละครในฉากนั้น ๆ) และที่สำคัญ การถ่ายละครไม่ใช่การแสดงสด หากผิดพลาดก็สามารถถ่ายซ่อมได้ แตกต่างจากละครเวทีที่ต้องแสดงสด และผู้แสดงต้องทำหน้าที่เป็นคนบล็อกกิ้งเอง

“ทุกอย่างมันสด ไม่มีการตัดต่อ ถ้าคุณเล่นในจังหวะที่ไม่ถูกต้อง ความสนใจก็จะเปลี่ยน ในขณะที่ทีวีเป็นเทคนิคถูกถ่ายด้วยกล้อง 2-3 ตัว วิธีการทำงานต่างกัน เพียงแต่ว่าการแสดงมันต้องผ่านกระบวนการตีความเหมือนกัน”

อีกคำที่เราจะได้ยินบ่อย ๆ ก็คือ ละครเวทีต้องใช้ความ “เล่นใหญ่” เข้าว่า ตรงนี้สินจัยตอบทันทีว่า คำว่าเล่นใหญ่ ไม่ใช่เล่นใหญ่ด้วยท่าทาง แต่คือทำอย่างไรจะส่งต่อความรู้สึกหรือพลังของนักแสดงไปถึงผู้ชมนับพันในโรงละครให้เท่ากัน

“คำว่าเล่นใหญ่กว่า คือ มันสด ไม่มีกล้องซูมเข้าไปใกล้ ๆ การที่คุณจะคิดหรือจะร้องไห้ เอาเข้าจริงร้องไห้ให้ตายทุกรอบ บางทีก็ไม่มีใครเห็น แต่ก็ต้องร้องถ้าในบทต้องร้อง ความหมายของคำว่า “เล่นใหญ่” คือ ทำอย่างไรให้คนดูเป็นพัน ๆ คนรู้สึกพร้อมกัน ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนก็ตาม มันเลยค่อนข้างจะต้องเล่นเต็มมากกว่าละครทีวีหรือหนัง มันเป็นวิธีทางการแสดงมากกว่า”

สินจัยกับบทบาท “เหมยหลิง 2018”

บทประพันธ์ลอดลายมังกรของนักเขียนระดับศิลปินแห่งชาติ ประภัสสร เสวิกุล เคยถูกหยิบขึ้นมาทำการแสดงในรูปแบบละครโทรทัศน์สองครั้ง และรูปแบบละครเวทีครั้งแรกเมื่อปี 2559 ซึ่งสินจัยได้รับบทบาท “เหมยหลิง” ทั้งในการแสดงครั้งก่อนและครั้งที่กำลังเกิดขึ้น

เธอบอกว่าแม้จะเป็นบทบาทเดิม แต่ทุกครั้งที่มีการรีเมก ทีมงานจะมีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดการแสดงตลอด เพื่อให้เกิดความ “ใหม่” และที่สำคัญ ตัวนักแสดงที่แสดงร่วมกันจะต้องคอยปรับเข้าหากันเหมือนการ “เล่นปิงปอง” ตัวละครจึงมีพัฒนาการที่ต่างออกไปในแต่ละครั้ง

“มันก็เหมือนกับการเล่นปิงปอง ต้องดูผู้เข้าแข่งขันด้วยว่าเขาเล่นแบบไหน เราก็ต้องปรับไปด้วย บางทีอาจจะเหมือนไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย แต่ความรู้สึกนักแสดงอย่างเราจะรู้ว่า เวลาพูดกับคนนี้ เราจะพูดด้วยน้ำหนักเสียงประมาณนี้ พอพูดกับอีกคน เราจะมีรีแอกต์อีกแบบ ฉะนั้น ขึ้นอยู่กับผู้กำกับและนักแสดงร่วมด้วย”

ส่วนความน่าสนใจของบทบาท “เหมยหลิง” สินจัยบอกว่าเป็นตัวละครที่มีความเป็นมนุษย์สูง เพราะมีทั้งความทะเยอทะยาน ความอิจฉา ความเป็นผู้หญิง และความเป็นแม่รวมอยู่ในคนคนเดียวกัน เมื่อเทียบกับบทบาทละครเวทีที่เธอเคยได้รับจากครั้งก่อน ๆ อย่างบท “ปานรุ้ง” ในบัลลังก์เมฆ เดอะมิวสิคัล ที่อยู่ในโหมดผู้หญิงนิ่ง เรียบ สุขุม บทเหมยหลิงจึงทำให้การทำงานเป็นไปด้วยความสนุก

“ทำต่อเมื่ออยากทำ” หลักยึดในการทำงาน

เกือบ 4 ทศวรรษในเส้นทางสายบันเทิง นก-สินจัยแสดงมาแล้วแทบทุกบทบาท เมื่อถามว่ามีบทบาทหรือแคแร็กเตอร์ไหนที่เธอยังไม่เคยเล่นแล้วอยากเล่นบ้าง สินจัยบอกว่าถ้าพูดถึงตัวบทเลยคงไม่มี แต่จะดูที่รายละเอียดแวดล้อมของงานมากกว่า แม้บทจะซ้ำหรือเคยเล่นมาแล้ว แต่ถ้ารายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของบทละครน่าสนใจ เธอก็ยินดีรับงานนั้น

“นกเลือกบท อ่านบทถี่ถ้วนตั้งแต่เรื่องแรกที่นกรับเล่น” สินจัยกล่าวกับเราด้วยแววตาที่เปี่ยมไปด้วยแพสชั่น ส่วนหลักยึดในการทำงานของสินจัย คือ “ทำต่อเมื่ออยากทำ” เธอบอกว่าทุกครั้งต้องพิจารณาก่อนว่า ตัวเองทำได้ จึงตอบตกลง เพราะการถ่ายละครโทรทัศน์ หนัง หรือละครเวที ในแต่ละครั้งใช้เวลายาวนานไม่ต่ำกว่า 8-9 เดือน การที่จะใช้เวลากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งในระยะเวลาขนาดนี้ ตัวเองต้องมีความสุขกับมันทุกครั้ง

“ถ้ามันไม่สนุก ไม่มีความสุข หรือมีความรู้สึกไม่อยากเล่น มันอยู่ไม่ได้ เพราะฉะนั้น จะทำต่อเมื่ออยากทำ อ่านบทแล้วเกิดความรู้สึกที่ว่า โอ้โห บทนี้สนุก ถึงจะมีแค่ฉากสองฉากก็อยากเล่น”

ผ่านการแสดงมามากขนาดนี้ มีบทบาทไหนที่ตรงกับตัวตน “นก-สินจัย” มากที่สุดบ้างหรือไม่ เธอตอบว่าไม่มีบทไหนตรงเลย แต่หากให้เลือกที่ใกล้เคียงที่สุดก็คงจะเป็น “เพียงดาว” จากเรื่องมารยาริษยา ด้วยอาชีพนางแบบของเพียงดาวที่เหมือนกับตัวเธอเมื่อครั้งก้าวเข้าสู่วงการบันเทิง ทำให้เข้าใจบรรยากาศและความรู้สึกของตัวละครมากขึ้น

สิ่งที่ได้จากอาชีพ “นักแสดง”

“วินัย มารยาท ความรับผิดชอบค่ะ” สินจัยตอบคำถามเรา

เธอเล่าว่าตั้งแต่เข้าวงการมา ไม่ได้คิดว่าจะต้องมีระเบียบวินัยเพื่อสร้างบรรทัดฐานให้กับนักแสดงรุ่นหลัง หรือนักแสดงท่านอื่น คิดเพียงแต่ว่าการเป็นนักแสดงต้องมีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา และไม่สร้างปัญหาให้เพื่อนร่วมงาน ซึ่งตัวเธอรักษาตรงนี้มาอย่างสม่ำเสมอ และยินดีที่นักแสดงรุ่นใหม่หลายคนยึดเธอเป็นแบบอย่างในการทำงาน

“เราต้องทำการบ้านมาแล้วว่า พรุ่งนี้จะถ่ายอะไรบ้าง ถ่ายกี่ฉาก มีความต่อเนื่องอะไรแค่ไหน ต้องไปให้ตรงเวลา ต้องศึกษาบทล่วงหน้า คือเป็นบุคลากรที่ดี มันก็ทำให้งานลุล่วงไปได้ด้วยดี ตัวคนที่จ้างเราไป เขาก็แฮปปี้ เราเองก็แฮปปี้”

ด้วยความที่เข้าวงการมาตั้งแต่อายุยังน้อย สินจัยจึงเติบโตมากับนักแสดงระดับขึ้นหิ้งของวงการอย่าง มี้-พิศมัย วิลัยศักดิ์ หรือ เปี๊ยก-อรัญญา นามวงศ์ เธอจึงเรียนรู้และยึดทั้งสองเป็นแบบอย่างในการทำงานมาโดยตลอด

“เราเติบโตมากับสังคมที่มีรุ่นพี่รุ่นน้อง เห็นรุ่นใหญ่ ๆ ที่เป็นตัวอย่างที่ดีหลายคน เรียนรู้ว่าเขาทำงานอย่างไร พัฒนามาจากอะไร ดูแลตัวเองทุกอย่างทั้งการรับบท การทำงาน เราทันเห็นและได้ร่วมงานกับเขา มาถึงกองถ่ายคือพร้อมแล้ว ทุกคนเตรียมตัวมาอย่างดี ท่องบทมาแล้ว เข้าใจบทหมดแล้ว และเล่นได้ทันที เรารู้สึกว่านี่คือตัวอย่างที่ดี วันที่เราค่อย ๆ เติบโตมา เราก็รู้สึกว่าเราอยากเป็นนักแสดงที่ดีแบบนี้ พอเราโตขึ้นเป็นรุ่นใหญ่ในวงการ เราก็อยากเห็นคนรุ่นใหม่ที่เห็นเราเป็นตัวอย่าง โดยที่เราอาจจะไม่ได้เข้าไปสอน ซึ่งหลายคนก็บอกว่าแอบดูพี่นกทำงาน เราก็รู้สึกว่ามันเป็นธรรมชาติของเราอยู่แล้ว เราไม่ได้ไปปรุงแต่งอะไร เขาแอบดูแอบจำไว้ มันก็เป็นเรื่องที่ดี”

“ต้องให้เกียรติงานตัวเอง”

สินจัยบอกอีกว่า ปัจจุบันนักแสดงรุ่นใหม่บางคนบกพร่องทั้งเรื่องมารยาทและความรับผิดชอบหน้าที่ไปมาก ไม่ค่อยสนใจงาน ไม่ให้เกียรติงาน อาจจะด้วยความรู้สึกที่ว่า ดังแล้ว มีชื่อเสียงแล้ว ซึ่งถ้าตรงนี้ส่งผลกระทบกับงานหรือนักแสดงท่านอื่น เธอก็จะเข้าไปตักเตือนตรง ๆ หรืออาจจะบอกผ่านคนดูแลแทน

“พอเราเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้ เราก็รู้สึกว่ามันไม่ได้นะแบบนี้ เรายังอยากให้คนรุ่นใหม่มีตรงนี้อยู่ วันหนึ่งเขาจะต้องเติบโตเป็นผู้ใหญ่ต่อไป ต้องเป็นตัวอย่างให้คนอื่น ๆ เหมือนกัน ถ้าคุณไม่เริ่มต้นมองตรงนี้ ต่อไปมันจะเป็นอย่างไร วงการจะเป็นแบบไหน ถ้าเจอเหตุการณ์แบบนี้หนัก ๆ ก็จะเข้าไปพูดเลย ถ้าพูดได้ หรืออาจจะบอกทางอ้อมกับผู้จัดหรือคนที่ดูแลว่า อันนี้มันไม่ถูกนะ ไม่ควรนะ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาจะไปบอกต่อมั้ย แต่เราก็รู้สึกว่าเรามองเห็นแล้ว เราก็อยากให้คนอื่นมองเห็น ถ้าเตือนได้ก็จะเตือน”

สำหรับผลงานการแสดงล่าสุดอย่าง “ลอดลายมังกร เดอะมิวสิคัล” ที่กำลังจะเปิดฉากการแสดงในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ นับเป็นโอกาสพิเศษที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ กับการแสดงมิวสิคัลกลางแจ้ง ในสถานที่ที่เคยมีชีวิต มีประวัติศาสตร์ ซึ่ง “พี่นก” บอกว่า นี่เป็นอีกงานที่รู้สึกพิเศษกว่าครั้งก่อน ๆ

“นกว่าละครเวทีมาแสดงที่นี่ มันจะได้บรรยากาศตรงนี้หมด ก็คิดว่าทุกคนน่าจะชอบกัน” นักแสดงคุณภาพแถวหน้าของเมืองไทยกล่าวทิ้งท้าย