ไฮไลต์หนังสือ มติชน วรรณกรรมซีไรต์-ประวัติศาสตร์ข้น-การเมืองเข้ม

ความคึกคักในวงการหนังสือกลับมาอีกครั้งเมื่อถึงช่วงงานมหกรรมหนังสือที่แทบทุกสำนักพิมพ์จะออกหนังสือใหม่มาขายตามฤดูกาล งานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 23 เปิดฉากไปแล้วเมื่อวันที่ 17ตุลาคมที่ผ่านมา แฟนหนังสือยังคงตบเท้าเข้าร่วมงานอย่างคึกคักตั้งแต่วันแรก
 
เนื่องจากในงานนี้มีหนังสือออกใหม่มากมาย “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จึงคัดเลือกหนังสือไฮไลต์จากสำนักพิมพ์แถวหน้าอย่างสำนักพิมพ์มติชนมาแนะนำและเป็นตัวเลือกในการเลือกซื้อหนังสือในงานครั้งนี้ บอกเลยว่าแต่ละเล่มเด็ด ๆ ทั้งนั้น ทั้งวรรณกรรมซีไรต์ประจำปี  2561 ฉบับพิมพ์ใหม่ประทับตราซีไรต์หมาด ๆ หมวดประวัติศาสตร์ก็เข้ม การเมืองก็ข้น จะหยิบเล่มไหนมาอ่านก็ดีทั้งนั้น 
 
พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ
 
ผู้เขียน : วีรพร นิติประภา
หมวด : วรรณกรรมไทย
เรื่องราวโศกนาฏกรรมของผู้คนบนประเทศไร้ทรงจำ หยิบเอาความเว้าแหว่งในทรงจำของผู้คนของครอบครัวชาวจีนในประเทศที่แทบจะไม่มีความทรงจำนี้มาเขย่าขย้อนเล่น บอกเล่าผ่านความทรงจำตัวละครปริศนา สะท้อนให้เห็นถึงความคิดของผู้คนชาวจีนอพยพที่โลดแล่นอบอวลไปด้วยกลิ่นอายทางประวัติศาสตร์
 
นวนิยายรางวัลซีไรต์หมาด ๆ ของ วีรพร นิติประภา ที่คณะกรรมการตัดสินรางวัลซีไรต์ 2561 ชื่นชมว่า “กลวิธีการประพันธ์มีความโดดเด่นด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ โดยใช้ขนบการเล่าแบบนิทานที่มีลักษณะมหัศจรรย์เหนือจริง มีความประณีตในการนำเสนอตัวละครด้วยลีลาการเล่าเรื่องและการใช้ภาษาเฉพาะตน…ชวนให้ครุ่นคิดและใคร่ครวญเกี่ยวกับประวัติศาสตร์และเรื่องเล่าของคนพลัดถิ่น”
 
เลือดสีน้ำเงิน ซ้ายไม่จริง ขวาไม่แท้ และประชาธิปไตยในอุดมคติ
 
ผู้เขียน : ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์
 
หมวด : ประวัติศาสตร์ไทย
 
กลุ่ม “เลือดสีน้ำเงิน” แท้จริงแล้วพวกเขาคือ “อ้ายกบฏผู้ดี” “พวกเจ้า” “พวกนิยมระบอบเก่า” จริงหรือ ? ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ นักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่ทลายเพดานความรู้ทางประวัติศาสตร์ พาเราไปรู้จักอุดมการณ์ความคิดของกลุ่มเลือดสีน้ำเงิน กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคณะราษฎร ดูการบิดผันทางความคิดและอุดมการณ์ของคนกลุ่มเลือดสีน้ำเงิน ในฐานะมนุษย์ที่ไม่ถูกเหมารวมและถูกแปะป้ายนิยามความหมายที่ตายตัว หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่การแก้ต่างให้กับกลุ่มเลือดสีน้ำเงิน แต่จะช่วยสร้างความเข้าใจการพลิกผัน และประสานรวมความคิดและอุดมการณ์ของกลุ่ม “รอยัลลิสต์” ได้อย่างลุ่มลึกที่สุดเล่มหนึ่ง
 
 
การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ ๕
 
ผู้เขียน : ฉัตรดาว ลีเชวงวงศ์
 
หมวด : ประวัติศาสตร์
 
ในสมัยรัชกาลที่ 5 สตรีถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ ในสังคม มีการสร้างความสัมพันธ์เชิงอำนาจผ่านการเข้ารับราชการของพระภรรยาเจ้าและพระภรรยา การเมืองในราชสำนักฝ่ายหน้าจึงมีอิทธิพล และส่งผลกระทบต่อราชสำนักฝ่ายในอย่างเลี่ยงไม่ได้ หนังสือเล่มนี้จะทำให้เห็นภาพและเข้าใจว่าใครเป็นใครในราชสำนักฝ่ายในสมัยรัชกาลที่ 5 มีความสำคัญ มีอิทธิพลอย่างไร และมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงอย่างไรเกิดขึ้นภายในนั้นบ้าง
 
ปักธงอนาคต The Future is Ours
 
เขียน : เจนวิทย์ เชื้อสาวะถี
 
หมวด : การเมือง
 
“การเลือกตั้งครั้งหน้า คือวินาทีประวัติศาสตร์ คือความหวังและการเปลี่ยนแปลง ซึ่งทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องมาขีดเขียนอนาคตร่วมกัน”
 
หนังสือเล่มนี้เปิดทุกมิติของชีวิต ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ จากเด็กดื้อลูกนายทุนเบอร์ใหญ่ เติบโตสู่วัยหนุ่มขยายธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ไปถึงระดับโลก ความเป็นนักผจญภัยท้าทายเป้าหมายชีวิตที่ผาดโผน ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม การเป็นนักไตรกีฬา นักปีนเขา และนักธุรกิจ
 
หมื่นล้าน กระทั่งถึงจุดที่เขาพร้อมทุ่มเททั้งชีวิตก้าวสู่การเมืองอย่างเต็มตัว ด้วยบทบาทหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ การกำหนดยุทธศาสตร์พรรคอย่างชัดเจนว่าจะสร้างประชาธิปไตยเต็มใบให้เกิดขึ้นในประเทศไทยให้ได้ ไม่อ่อนข้อ
 
ไม่ประนีประนอมให้กับอำนาจเผด็จการและระบอบการเมืองไทยแบบดั้งเดิมที่สืบทอดมายาวนาน ชูแนวคิดสังคมแห่งความเท่าเทียมในสิทธิขั้นพื้นฐาน ให้เกิดรัฐสวัสดิการที่ยั่งยืน เชื่อมั่นศักยภาพของคนทุกเพศทุกเจเนอเรชั่น มุ่งสร้างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง
 
เผด็จการวิทยา
 
เขียน : พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
 
หมวด : การเมือง
 
ลักษณะการปกครองแบบอำนาจนิยมหรือเผด็จการ ซึ่งน่าจะสูญสลายหายไปเพราะความล้าหลัง เหตุใดจึงยังฝังรากและปรับตัวอยู่ในยุคสมัยใหม่ได้อย่างแยบคาย เพราะอะไรระบอบเผด็จการจึงยอกย้อนอยู่กับปัจจุบันสมัย แล้วเราจะเผชิญหน้าต่อสู้กับวัฒนธรรมอำนาจนิยมเหล่านั้นด้วยกลวิธีใด
 
การเมืองภาคประชาชน
 
ผู้เขียน : อุเชนทร์ เชียงเสน
 
หมวด : การเมือง
 
หนังสือที่จะทำให้คุณเข้าใจ “การเมืองภาคประชาชน” ว่า คำนิยมนี้แท้จริงหมายถึงอะไร และสาเหตุใดที่ทำให้องค์กรภาคประชาชนในยุคก่อนเหตุการณ์พฤษาทมิฬ 2535 กับยุคม็อบเสื้อเหลืองโค่นล้มระบอบทักษิณในปี 2548-2549 หันเหไปในทิศทางที่แตกต่างราวกับมิได้ร่วมจุดกำเนิดเดียวกัน
 
ใต้เวิ้งฟ้า (THE SHELTERING SKY)
 
ผู้เขียน : Paul Bowles
 
ผู้แปล : อทิมา แปล
 
หมวด : วรรณกรรมแปล
 
ความเวิ้งว้างของผืนทรายแห่งซาฮารา กลับไม่อ้างว้างเท่าความเดียวดายของตัวตนมนุษย์ ผู้ไขว่คว้าผืนฟ้าที่คอยโอบอ้อมมาห่มกาย แต่มิอาจคลี่คลายความหนาวเหน็บจากภายในลงได้ นี่คือวรรณกรรมที่เผยให้เห็นถึงความเปราะบางของตัวตน ความไร้แก่นสารของชีวิต และความโดดเดี่ยวที่ไม่อาจจะเติมเต็มของมนุษย์
สองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน (TWO YEARS EIGHT MONTHS & TWENTY-EIGHT NIGHTS)
 
ผู้เขียน : Salman Rushdie
 
ผู้แปล : สุนันทา วรรณสินธ์ เบล
 
หมวด : วรรณกรรมแปล
 
รอยแยกระหว่างโลกมนุษย์กับโลกแห่งภูตเปิดออก สงครามระหว่างญิน (ภูตในตำนานอิสลาม) ฝ่ายดีและญินฝ่ายร้าย สร้างเหตุอาเพศพิสดารอันอธิบายไม่ได้นานสองปี แปดเดือน กับยี่สิบแปดคืน ดุนยา ญินฝ่ายดี จึงต้องตามหาทายาทของเธอ เพื่อให้มาช่วยกันกอบกู้โลกจากหายนะ แต่แล้วเธอก็ตกหลุมรักอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นครั้งสุดท้ายของเธอ
 
นอกจาก 8 เล่มไฮไลต์นี้ ยังมีหนังสือออกใหม่อีกหลายเล่มที่ล้วนแต่น่าสนใจ ขึ้นอยู่ที่ว่าผู้อ่านจะชอบแนวไหน
 
นอกจากหนังสือดี ๆ แล้วยังมีเวทีเสวนาดี ๆ ให้เลือกฟัง เช่น “เสวนาซีไรต์ 2561 พุทธศักราชอัสดงฯ” โดย วีรพร นิติประภา “เลือดสีน้ำเงิน ประวัติศาสตร์ฝ่ายขวา” โดย ปฐมาวดี วิเชียรนิตย์ “โลกทัศน์ประวัติศาสตร์” โดย ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ “จากการเมืองวิทยาถึงเผด็จการภาคประชาชน” โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ และอุเชนทร์ เชียงเสน
 
อีกไฮไลต์หนึ่งที่มติชนทำมาต่อเนื่องหลายปีแล้วคือ การออกแบบบูทอย่างตั้งอกตั้งใจ สำหรับงานหนังสือครั้งนี้มติชนได้ดึง Alex Face ศิลปินสตรีตอาร์ตชื่อดังมาร่วมงานอีกครั้ง หลังจากที่สร้างความประทับใจกันไปแล้วครั้งหนึ่งในงานหนังสือเมื่อต้นปี
 
ครั้งนี้ Alex Face และสำนักพิมพ์มติชนมาในธีม Readvolution โดยออกแบบ 3 แคแร็กเตอร์พิเศษสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ คือ เทพแห่งความรู้ นกฮูกนักอ่าน และประตูสู่โลกใบใหม่ ซึ่งแคแร็กเตอร์ทั้ง 3 ถูกนำไปผลิตของพรีเมี่ยมหลายแบบให้นักอ่านได้เลือกสะสม มีเฉพาะในงานนี้เท่านั้น ส่วนรายละเอียดเป็นยังไง ไปเยี่ยมชมสอบถามกันได้ที่บูทสำนักพิมพ์มติชน โซนพลาซ่า ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์