90 ปี Mickey Mouse กับสตอรี่น่ารู้ของคุณปู่หนู ผู้ครองใจคนทั่วโลก

มิกกี้ เมาส์ (Mickey Mouse) เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่อยู่ในโหมด “timeless” เพราะสามารถครองใจทั้งเด็ก วัยรุ่น วัยกลางคน และแฟน ๆ ทั่วโลกมาอย่างยาวนาน

ในวันที่ 18 พฤศจิกายนนี้ คุณปู่หูดำทรงชะลูดมีอายุครบ 90 ปีบริบูรณ์แล้ว เพื่อเป็นการเซเลเบรตให้กับวันคล้ายวันเกิดของมิคกี้ เมาส์  “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะพาแฟน ๆ ไปล้วงลึกเรื่องราวสุดสนุกของคุณปู่หนู แคแร็กเตอร์ระดับตำนานแห่งวอลต์ ดิสนีย์

กำเนิดคุณปู่ “มิกกี้ เมาส์”

หากพูดถึงการปรากฏตัวของ “มิกกี้ เมาส์” ครั้งแรก หลายคนอาจจะคิดถึงหนังสร้างชื่ออย่าง “สตีมโบ๊ต วิลลี่ (Steamboat Willie)” แต่ก่อนหน้านั้น วอลต์ ดิสนีย์ได้ผลิตการ์ตูนไร้เสียง โดยมีมิกกี้ เมาส์ แสดงนำออกมาแล้วถึงสองเรื่อง คือ “เพลน เครซี่ (Plane Crazy)” และ “เดอะ แกลอปปิน เกาโช (The Gallopin’ Gaucho)” แต่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร และหลังจากที่ได้เรียนรู้ความสำเร็จของ “สตีมโบ๊ต วิลลี่” ดิสนีย์จึงได้ใส่เสียงเข้าไปให้กับสองเรื่องนี้ในภายหลัง
ากความสำเร็จของ “สตีมโบ๊ต วิลลี่” ทางวอลต์ ดิสนีย์ได้ถือฤกษ์ดี วันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2471 เป็นวันเกิดของมิกกี้ เมาส์ อย่างเป็นทางการ ถือเป็นการเดบิวต์สเตจแรกที่ได้ใจแฟน ๆ ทั่วโลกไปครองอย่างท่วมท้น และเพราะมิกกี้ เมาส์ และมินนี่ เมาส์ เป็นของคู่กัน หวานใจขนตางอนของเจ้าหนูตัวจิ๋วของเราก็เดบิวต์เป็นครั้งแรกจากเรื่องสตีมโบ๊ต วิลลี่ เช่นกัน และนั่นทำให้ทั้งสองตัวละครมีวันเกิดวันเดียวกัน

 รู้จัก “มิกกี้ เมาส์” แบบอินไซด์

 “มิกกี้ เมาส์” คือชื่อที่เราเรียกกันติดปาก ซึ่งตอนแรก วอลต์ ดิสนีย์ ผู้ให้กำเนิดมิกกี้ เมาส์ ได้ให้ชื่อมันว่า “มอร์ติเมอร์ (Mortimer)” แต่ถูกเปลี่ยนตามคำแนะนำของ ลิเลียน ภรรยาของเขา ด้วยเหตุผลที่ว่า “มิกกี้ เมาส์” ฟังดูน่ารักและเข้าถึงได้ง่ายกว่า
 
เมื่อต้นปี พ.ศ. 2473 การ์ตูนของมิกกี้ เมาส์ ได้ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์รายวัน โดยผู้วาดคนแรกคือ อับ ไอเวิร์กส์ (Ub Iwerks) ที่วาดต้นฉบับอยู่เป็นเวลาหนึ่งเดือน ก่อนจะเปลี่ยนมือเป็น วิน สมิท (Win Smith) อีกสามเดือน และตามมาด้วย ฟลอยด์ กอตต์เฟรดสัน (Floyd Gottfredson) ที่ในตอนแรกถูกขอให้มาช่วยวาดเป็นเวลาไม่กี่อาทิตย์จนกว่าจะหาคนประจำแทนได้ แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ได้วาดการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ถึง 45 ปี จนถึงวันที่เขาเกษียณอายุการทำงาน
 
จากนั้นนิตยสาร Mickey Mouse ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2476 เป็นนิตยสารเล่มเล็กที่มีทั้งเรื่องสั้น บทความ การ์ตูนช่อง เกม และบทกลอน ขนาดของหนังสือถูกปรับเปลี่ยนอยู่เรื่อย ๆ จนสุดท้ายก็มาจบที่ขนาดเท่าหนังสือการ์ตูนอย่างที่คุ้นเคยกันในปัจจุบัน
 
นอกจากวอลต์ ดิสนีย์ ผู้ให้กำเนิดมิกกี้ เมาส์ แล้ว ถือว่า อับ ไอเวิร์กส์ คืออีกคนสำคัญที่มีส่วนสร้างมิกกี้ เมาส์ ให้เป็นรูปเป็นร่างและมอบชีวิตให้หนูตัวนี้ เพราะนอกจากวาดการ์ตูนตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์แล้ว เขายังเป็นผู้วาดการ์ตูนมิกกี้ เมาส์ เคลื่อนไหวเป็นคนแรก โดยไอเวิร์กส์สามารถวาดภาพได้ถึง 700 ภาพในหนึ่งวัน และวาดการ์ตูนเคลื่อนไหวทั้งเรื่องได้ด้วยตัวคนเดียว
 
นอกจากชื่อเรียก “มิกกี้ เมาส์” แล้ว ยังมีชื่อเรียกที่ต่างกันไปในแต่ละภาษา อาทิ โทโปลิโน่ (Topolino) ในภาษาอิตาเลียน, มิกกี้ เมาส์ (Micky Maus) ในภาษาเยอรมัน,มิกกิ ฮีอิริ (Mikki Hiiri) ในภาษาฟินนิช, มิคาเอลมุสคุลุส (Michael Musculus) ในภาษาละติน และมูสเซ่ พิกก์ (Musse Pigg) ในภาษาสวีดิช เป็นต้น
 
แต่ไม่ว่าจะเป็นชื่อไหน ต่างก็คือแคแร็กเตอร์ที่รับบทนำในการ์ตูนสั้นที่ฉายในโรงภาพยนตร์กว่า 121 เรื่อง ซึ่งจาก 121 เรื่อง มีนักพากย์เพียง 5 คนเท่านั้นที่ได้ชื่อว่าเป็นนักพากย์ของมิกกี้ เมาส์ อย่างเป็นทางการ คือ วอลต์ดิสนีย์ (Walt Disney), จิม แมคโดนัลด์ (Jim Macdonald),เวย์น ออลไวน์ (Wayne Allwine), เบรต อิวาน (Bret Iwan) และคริส ไดอามานโทพาวลัส (Chris Diamantopoulos)
 
ความพ็อปพูลาร์นี้ส่งให้มิกกี้ เมาส์ กลายเป็นตัวการ์ตูนที่มีไลเซนซีมากที่สุดในโลกจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ของเล่น เสื้อผ้า เครื่องใช้ในครัว หรือแม้กระทั่งเครื่องเพชร
 

สถิติครั้งแรกของมิกกี้ เมาส์

ความโด่งดังเป็นพลุแตกส่งให้มิกกี้ เมาส์ ขึ้นแท่นกลายเป็นตัวการ์ตูนที่ปรากฏตัวร่วมกับงานอีเวนต์และไอเท็มต่าง ๆ ของหลายแบรนด์ดัง หนึ่งในสินค้าที่ได้รับความนิยมที่สุดของมิกกี้ เมาส์ คือ นาฬิกา ที่จัดทำโดยบริษัท อินเกอร์โซล-วอเตอร์บิวรี่ (Ingersoll-Waterbury) ในปี พ.ศ. 2476 รวมถึงการปรากฏตัวบน Apple Watch ร่วมกับแฟนสาว มินนี่ เมาส์ ซึ่งนับเป็นตัวละครสองตัวแรกที่ได้ไปอยู่บน Apple Watch

คุณปู่มิกกี้ เมาส์ ยังได้รับเกียรติในการเข้าร่วมงานวันขอบคุณพระเจ้าของห้างสรรพสินค้าเมซีส์ (Macy’s Thanksgiving Day) ในนครนิวยอร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2477 บอลลูนมิกกี้ เมาส์ยักษ์ ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในขบวนพาเหรด หลังจากนั้นเป็นต้นมา มิกกี้ เมาส์และผองเพื่อนก็กลายเป็นตัวการ์ตูนยอดนิยมที่นำมาร่วมในขบวนพาเหรดจนถึงปัจจุบัน
 
ในการเฉลิมฉลองวันเกิดปีที่ 50 ของมิกกี้ เมาส์ ปี พ.ศ. 2521 เขากลายเป็นตัวการ์ตูนตัวแรกที่มีชื่ออยู่บนฮอลลีวูด วอล์ก ออฟ เฟม (Hollywood Walk of Fame)
 
มิกกี้ เมาส์ได้เข้าร่วมงานประกาศผลรางวัลออสการ์ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2531 โดยได้เป็นผู้มอบซองให้กับทอมเซลเลก (Tom Selleck) นักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง และครั้งที่สองในปี พ.ศ. 2546 เขาก็ได้ขึ้นเวทีพร้อมกับนักแสดงสาวเจนนิเฟอร์ การ์เนอร์ (Jennifer Garner)
 

เกร็ดน่ารู้ มิกกี้ เมาส์

มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ตั้งแต่มิกกี้ เมาส์ ถือกำเนิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน ในปี พ.ศ. 2472 มิกกี้ เม้าส์ ได้สวมถุงมือสีขาวเป็นครั้งแรกในเรื่อง “เว็น เดอะ แคตส์ อะเวย์ (When the Cat’s Away)” และพูดคำว่า “ฮอตด็อก !” เป็นคำแรกในเรื่อง “เดอะ คาร์นิวัล คิด (The Karnival Kid)” ในปี พ.ศ. 2482 และปีเดียวกัน มิกกี้ เมาส์ ได้รับการดีไซน์ใหม่ โดย เฟรด มัวร์ (Fred Moore) ในเรื่อง “เดอะ พอยน์เตอร์ (The Pointer)” และได้มีการวาดคิ้วเพิ่มเข้าไปในเรื่อง “พลูโตส์ ปาร์ตี้ (Pluto’s Party)” ในปี พ.ศ. 2495 หลังจากนั้นในช่วงปี พ.ศ. 2533-2543 มิกกี้ เมาส์ก็ได้ก้าวเข้าสู่โลกของการ์ตูนที่สร้างจากคอมพิวเตอร์กราฟิกอย่างเต็มตัว
 
หากใครเป็นแฟน ๆ วอลต์ ดิสนีย์ ต้องคุ้นตากับอนุสาวรีย์วอลต์ ดิสนีย์ จูงมือกับมิกกี้ เมาส์ อย่างแน่นอน โดยมีเบลน กิ๊บสัน (Blaine Gibson) เป็นผู้สร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ที่มีชื่อว่า “พาร์ตเนอร์ส (Partners)”อนุสาวรีย์นี้ถูกนำไปตั้งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของดิสนีย์แลนด์ทั่วโลก รวมทั้งเดอะ วอลต์ ดิสนีย์ สตูดิโอ ที่เมืองเบอร์แบงก์ รัฐแคลิฟอร์เนียด้วย
 
นอกจากภาพยนตร์ สิ่งพิมพ์ และสินค้าแบรนด์ดัง มิกกี้ เมาส์ และมินนี่ เมาส์ ได้มีโอกาสเข้าร่วมแฟชั่นวีกระดับโลกมาแล้วในหลายประเทศ ทั้งในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา มหานครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน เมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมืองลอนดอน ประเทศอังกฤษ และเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี
 
ในปีนี้ที่มิกกี้ เมาส์ อายุครบ 90 ปี บริษัทวอลต์ ดิสนีย์ ได้ออกแคมเปญ “Share a Smile” เป็นการเฉลิมฉลองทั่วโลก โดยร่วมมือกับแบรนด์ต่าง ๆ นำเสนอสินค้าลิมิเต็ดเอดิชั่นของมิกกี้ เมาส์ และให้แฟน ๆ เข้าร่วมกิจกรรมออนไลน์สนุก ๆ และลุ้นรับของรางวัล โดยการแชร์รูปที่ยิ้มกว้างที่สุดในอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊กของตัวเอง พร้อมติดแฮชแท็ก #ShareASmileTH