ส่องสังคมไทย…ทุกข์ใจปรึกษารายการวิทยุ เป็นทางแก้หรือสะสมปัญหา ?

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ท่ามกลางความนิยมของสื่อกระแสหลักที่ลดลงเรื่อย ๆ หลายค่ายผู้ผลิตต่างเร่งปรับกลยุทธ์ให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป แต่เราก็จะเห็นว่ายังมีสื่อที่นำเสนอคอนเทนต์ในรูปแบบเดิมที่ยังคงได้รับความนิยมอยู่เช่นกัน อย่างรายการวิทยุ “Club Friday (คลับฟรายเดย์)” คือหนึ่งในรายการสื่อกระแสหลักที่ครองใจผู้ฟังมากว่า 13 ปีกับคอนเทนต์รายการที่เปิดให้ผู้ฟังโทร.ไปปรึกษาปัญหาหัวใจทุกค่ำคืนวันศุกร์ นับเป็นรายการวิทยุรายการแรก ๆ ที่เน้นการพูดคุยกับผู้ฟังมากกว่าการเปิดเพลงอย่างคลื่นวิทยุทั่วไป

 
ปัจจุบันรายการประเภททอล์กเรดิโอที่ได้รับความนิยมไม่ได้มีเพียงคลับฟรายเดย์เท่านั้น แต่ยังมีรายการอื่นที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างรายการ “พุธทอล์คพุธโทร” ที่แม้จะเพิ่มเข้ามาบนผังวิทยุได้ไม่นานแต่กลับได้รับฟีดแบ็กที่ดีมากขึ้นเรื่อย ๆ ยังไม่รวมถึงว่ารายการวิทยุทั่วไปที่เปิดให้ผู้ฟังโทร.เข้าไปหน้าไมค์ ก็ยังมีคนโทร.เข้าไปพูดคุยปรึกษาปัญหาอยู่เสมอ
 
เพราะอะไรรายการพูดคุยปรึกษาปัญหาจึงได้รับเสียงตอบรับอย่างดีมาโดยตลอด “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะพาท่านผู้อ่านไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน
 
เพราะสั่นคลอนจึงต้องการที่พึ่ง
 
เมื่อต้องเผชิญกับสภาวะขาดความมั่นคงทางจิตใจ หรือเกิดปัญหาที่ยากจะแก้ไขได้เพียงลำพัง การพูดคุยปรึกษาหรือหาที่พึ่งในช่วงเวลาแบบนี้จึงเป็นอีกทางออกที่หลายคนเลือกใช้ 
รศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคำภีร์ รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชวนทำความเข้าใจเบื้องต้นว่า คนมักจะเลือกพูดคุยปรึกษาอยู่ 2 กรณี ได้แก่ เรื่องที่ทำให้อับอาย สับสน จนตรอก และเรื่องที่อยู่ในระยะทำใจ หรือยังมีอะไรติดค้างในใจอยู่ ซึ่งทั้งสองแบบมักตามมาด้วยความเครียดกังวลกับอนาคตในระดับสูง การได้พูดคุยปรึกษาจึงช่วยให้หยุดคิดฟุ้งซ่าน มองเห็นความหวัง รวมทั้งเพิ่มความมั่นใจในการตัดสินใจต่อไปข้างหน้า
 
สำหรับการเลือกบุคคลในการปรึกษา เราอาจจะคิดว่าต้องเป็นคนใกล้ตัวอย่างครอบครัวหรือเพื่อนสนิท แต่แท้จริงแล้วการปรึกษาคนรู้จักจำนวนไม่น้อยกลับเป็นการสร้างภาระทางจิตใจเพิ่มขึ้น หลายครั้งพ่อแม่ไม่เข้าใจในรายละเอียดของปัญหาที่ซับซ้อน หรือเพื่อนสนิทที่ตัวผู้มีปัญหาก็กลัวจะสร้างความรำคาญให้กับอีกฝ่าย การเลือกพูดคุยผ่านรายการวิทยุซึ่งอยู่ในสถานะคนแปลกหน้าจึงช่วยรักษาสมดุลทางจิตใจ และลดความกดดันของการเริ่มต้นพูดคุยได้มากกว่า
 
 
รายการวิทยุตอบโจทย์…เพราะคนไทยไม่กล้าปรึกษาคนใกล้ตัว
 
เมื่อการปรึกษาคนใกล้ชิดกลับยากกว่าการเข้าหาคนแปลกหน้า รายการวิทยุให้คำปรึกษาจึงสอดรับกับสถานการณ์ข้างต้นอย่างยิ่ง ทีนี้เราจะมาลองทำความเข้าใจสังคมไทยให้ลึกซึ้งกันมากขึ้น
 
รศ.ดร.อรัญญามองว่า รายการลักษณะนี้ตอบโจทย์ในเรื่อง “สัมพันธภาพ” เป็นหลัก ด้วยความที่บ้านเราให้น้ำหนักเรื่องหน้าตาทางสังคมค่อนข้างสูง เมื่อเกิดปัญหาจึงทำให้คนหมกมุ่น บางครั้งเป็นเรื่องที่พูดยากกับคนสนิท โดยเฉพาะเรื่องความรักหรือความสัมพันธ์ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การได้พูดคุยปรึกษากับคนแปลกหน้าโดยที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้จักกัน ตัวดีเจ.เองก็อยู่ในสถานะของผู้ที่พร้อมจะให้คำปรึกษาอย่างเต็มที่ ทั้งหมดจึงตอบโจทย์ลักษณะสังคมไทยอย่างมาก
 
“เวลาเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนโหยหาการปรึกษา เมื่อคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวไม่มีเวลาให้กัน พอได้รับคำปรึกษาจากดีเจ. หรือได้รับฟังปัญหาที่คล้ายกันจากผู้ฟังรายการท่านอื่น ก็ทำให้ความทุกข์คลายลงได้”
 
ประเด็นสำคัญอีกอย่างที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ ความเครียดความกังวลใจที่สะสมจนเกิดเป็นโรคเครียดหรือโรคซึมเศร้าขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ รศ.ดร.อรัญญาบอกว่า ทุกวันนี้บ้านเราเปิดรับเรื่องพวกนี้มากขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นสามารถพูดคุยกันได้เหมือนการป่วยไข้ทั่วไป นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รายการวิทยุประเภทให้คำปรึกษาได้รับความนิยมในหมู่คนไทยอย่างต่อเนื่อง
 
ปรึกษาคนแปลกหน้า = ทางออกความทุกข์ ?
 
ฟังดูเหมือนกับว่าทั้งตัวรายการและสังคมบ้านเราต่างก็สอดรับซึ่งกันและกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วมันจะนำไปสู่ทางออกของปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน ?
 
รศ.ดร.อรัญญาให้ความเห็นว่า การได้ออกรายการชั่วขณะหนึ่งก็คล้ายกับเป็นการดึงผู้ที่มีปัญหาออกจากความทุกข์ในระยะสั้น ๆ แต่ไม่ได้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่ราก ซึ่งในความเป็นจริงกระบวนการแก้ปัญหาควรจะไปต่อโดยมีมืออาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมด้วย หรือกับคนที่อาจจะไม่ใช่มืออาชีพแต่เป็นผู้ใหญ่ที่เราไว้ใจ พ่อแม่ หรือเพื่อนจะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริงมากกว่า
 
“การคุยออกสื่อหรือการคุยที่เอาเรื่องราวมาจัดวางเป็นสคริปต์ช่วยในแง่ที่ได้ความเห็น ได้ระบายความกดดัน ได้แรงซัพพอร์ตจากคนอื่น แต่มันไม่ได้ทำให้คนเกาะติดปัญหาจนเห็นทางแก้ได้ คล้ายกับเวลาเราโพสต์สเตตัสบนเฟซบุ๊กเวลามียอดไลก์หรือคอมเมนต์เราก็จะดีใจ แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่คอมเมนต์เหล่านั้นรุนแรงหรือกระทบความรู้สึกตรงนี้แหละที่น่าเป็นห่วง”
 
รศ.ดร.อรัญญาบอกว่า สำหรับนักจิตวิทยามืออาชีพ การพูดคุยปรึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานของสัมพันธภาพเพื่อการบำบัด เป็น safe zone ส่วนบุคคลสำหรับเรียนรู้การเติบโตของผู้เข้ารับการปรึกษา จิตวิทยาให้ความสำคัญกับการรักษาความลับเป็นอย่างมาก แต่การปรึกษาบนรายการวิทยุกลับใช้กลไกที่อยู่ในขั้วตรงข้าม ยิ่งไปกว่านั้นการที่คนเรามีปัญหาและเลือกจะเรียนรู้ทางออกจากเรื่องราวของคนอื่นก็เป็นสิ่งที่คาบเกี่ยวระหว่าง “fiction” และ “true story” อาจนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นแบบปลอม ๆ หรือการเสพสุขจากความหวังชั่วคราวได้
 
“case study ในรายการเป็นเรื่องราวที่ผ่านการแก้ไขจนนำไปสู่ทางออกที่คลี่คลายแล้ว เราไม่ได้รับรู้อย่างละเอียดถึงขั้นตอนระหว่างทางที่คนคนนั้นต้องเผชิญ ทางจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “illusion of control”
 
การได้ฟังเคสเหล่านี้ให้ความรู้สึกว่าเราสามารถคอนโทรลปัญหาได้ เพราะจากที่ฟังดูก็ไม่ใช่เรื่องยาก กลายเป็นการเสพสุขจากความหวังที่ success case ให้กับเรา นอกจากจะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุแล้วอาจเป็นการสะสมปัญหายิ่งกว่าเดิม”
 
คำแนะนำจากนักจิตวิทยามืออาชีพ
 
สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดในมุมมองนักจิตวิทยาการปรึกษา คือ ขั้นตอนรายละเอียดการพูดคุย รศ.ดร.อรัญญาเล่าว่า ในการทำงานของนักจิตวิทยามืออาชีพจะรู้ว่าจังหวะไหนที่คุยแล้วสามารถดึงความมั่นใจผู้ที่เข้ารับการปรึกษาได้ หรือหากระหว่างการพูดคุยเกิดความอ่อนล้าก็จะหาจังหวะเข้าไปช่วยให้ผ่อนคลายและไม่ได้หยุดแค่ตรงนั้น แต่ในรายการวิทยุไม่ได้การันตีกับทุกรายที่เข้าไปพูดคุยว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ คล้ายกับเป็นรายการที่เน้นความบันเทิงมากกว่า ในทางกลับกันอาจารย์ก็มองว่า รายการประเภทนี้มีอยู่ได้และหลายครั้งคอนเทนต์ลักษณะนี้ยังช่วย educated สังคมได้อีกทางหนึ่ง
 
“จริง ๆ แล้วคอนเทนต์ในลักษณะนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ของบ้านเรา สมัยก่อนคอลัมน์ ‘ศิราณี’ หรือ ‘ศาลาคนเศร้า’ ก็สามารถให้มุมมองหรือแพตเทิร์นการแก้ปัญหาที่ดีได้”
 
นอกจากนั้น อาจารย์แนะนำว่ารายการต้องมีความละเอียดอ่อน เตรียมพร้อมทั้งก่อนและหลังรับสายจากทางบ้าน รวมถึงแนะนำว่าควรมีนักจิตวิทยาอยู่ในทีมคอยพูดคุยกับผู้ร่วมรายการด้วย ซึ่งไม่แน่ใจว่ารายการเหล่านี้มีจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาคอยให้คำแนะนำอยู่เบื้องหลังหรือไม่ แต่รายการของต่างประเทศจะมีนักจิตวิทยาคอยรับช่วงต่อหลังพูดคุยเสร็จ หากมีขั้นตอนนี้จะสามารถเซฟความปลอดภัยของผู้ร่วมรายการ เจ้าของเรื่อง และเป็นประโยชน์กับผู้ฟังมากยิ่งขึ้น
 
“รายการเข้าถึงง่ายและฉับไว ตอบโจทย์บ้านเราก็จริง แต่อาจจะต้องเพิ่มพื้นฐานความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้เป็นหลัก เพราะบางทีมันก็เกิดปัญหาระยะยาวได้ ทางแก้ที่ถูกต้อง คือ การตกผลึกปัญหาและนำไปปรึกษาคนใกล้ตัวที่ไว้ใจได้ หากคุยกับคนใกล้ตัวไม่ได้จริง ๆ สามารถเข้ารับการปรึกษาจากนักจิตวิทยาหรือจิตแพทย์ได้ตลอดเวลา จะช่วยให้หาทางแก้ได้ตรงจุดมากขึ้น” รองคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว
 
จากกระแสความนิยมรายการที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ๆ คล้ายกับกำลังส่งสัญญาณถึงสังคมไทยให้ตระหนักถึงความสัมพันธ์รอบข้างมากขึ้น เพราะการไม่กล้าหรือไม่สะดวกใจที่จะปรึกษากับ “คนใกล้ชิด” ย่อมไม่ใช่สัญญาณที่ดีของสัมพันธภาพไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม