ดวงดาวลาลับ แต่แสงไม่ดับสูญ กิมย้ง-สแตน ลี-อาจินต์ ปัญจพรรค์ ความสูญเสียระลอกใหญ่ของโลกหนังสือ

ในห้วงเวลาไม่ถึง 1 เดือน วงการหนังสือทั้งไทยและโลกสูญเสียบุคคลสำคัญต่อเนื่อง เหมือนคลื่นระลอกใหญ่ที่ซัดเข้ามาไล่เลี่ยกัน เริ่มจาก “กิมย้ง” นักเขียนนวนิยายกำลังภายในระดับปรมาจารย์ของจีนที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา ถัดมาอีกไม่ถึงครึ่งเดือน สแตน ลี นักเขียนการ์ตูนชื่อดังแห่งมาร์เวล คอมิกส์ เสียชีวิตในวันที่ 12 พฤศจิกายน และเพียงไม่กี่วันถัดมาก็ถึงคราวโศกเศร้าของแวดวงวรรณกรรมไทย เมื่ออาจินต์ ปัญจพรรค์ หรือ “พี่อาจินต์” หรือ “ลุงอาจินต์” ของใครหลายคนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายนที่ผ่านมา

ด้วยความอาลัย “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” เราขออุทิศพื้นที่นี้กล่าวถึงชีวิต ผลงาน และความยิ่งใหญ่ของดวงดาวทั้ง 3 ดวงที่สว่างไสวอยู่บนท้องฟ้ามานานหลายทศวรรษ

กิมย้ง : ปรมาจารย์นิยายกำลังภายในวิพากษ์การเมือง

กิมย้งเป็นนักเขียนที่ยิ่งใหญ่มากอันดับต้น ๆ ในประวัติศาสตร์จีน และมีแฟน ๆ มากมายในเมืองไทย นักอ่านเรียกขานว่า “ปรมาจารย์กิมย้ง”

กิมย้งเกิดในตระกูลบัณฑิต เป็นคนรักการเรียนรู้และสนใจการเมืองมาตั้งแต่อายุยังน้อย ตอนเรียนมัธยมปลายเขาโดนไล่ออกจากโรงเรียนเพราะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล แต่ด้วยความรักการเรียน กิมย้งก็กลับเข้าศึกษาระดับอุดมศึกษาในด้านภาษาต่างประเทศ ก่อนจะเปลี่ยนไปเรียนกฎหมายระหว่างประเทศ ในช่วงที่บ้านเมืองเกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายของเหมา เจ๋อตุง กับฝ่ายเจียง ไคเช็ก กิมย้งย้ายไปอยู่ฮ่องกง และอยู่ที่ฮ่องกงตลอดมา

เขาเขียนนิยายเกี่ยวกับยุทธจักรเรื่องแรกในปี 2498 คือเรื่อง “จือเกี่ยมอึงชิ่วลก” หรือ “จอมใจจอมยุทธ์” เป็นนวนิยายกำลังภายในเนื้อเรื่องอิงประวัติศาสตร์ ซึ่งได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว จากนั้นจึงเขียนเรื่องอื่น ๆ ต่อมา

Advertisment

ผลงานเรื่อง “มังกรหยก” ภาค 1 ประสบความสำเร็จทำให้กิมย้งมีรายได้จำนวนมาก เขานำเงินที่ได้ไปเปิดหนังสือพิมพ์ “หมิงเป้า” จากนั้นเขียน “มังกรหยก” ภาค 2 ออกมา ซึ่งก็โด่งดังไม่แพ้ภาคแรก

ต่อมางานหนังสือพิมพ์ยุ่งมาก ทำให้กิมย้งไม่มีเวลาเขียนหนังสือ จึงยุติการเขียนหนังสือในปี 2515 มีผลงานตลอดการเขียนหนังสือ 15 เรื่อง ได้รับการตีพิมพ์และขายได้มากกว่า 300 ล้านเล่ม

Advertisment

กิมย้งได้รับยกย่องว่าเป็นนักหนังสือพิมพ์และนักวิจารณ์การเมืองชั้นเยี่ยม งานเขียนของเขาล้วนแต่มีเนื้อหาแฝงการเมือง วิพากษ์วิจารณ์ระบอบกษัตริย์และพรรคคอมมิวนิสต์ รวมถึงลัทธิเชื้อชาติ

“โกวเล้ง” อีกหนึ่งนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ของจีน เจ้าของฉายาอัจฉริยะปีศาจ เคยยกย่องกิมย้งว่า “กิมย้งเป็นนักเขียนที่ข้าพเจ้านับถือที่สุดเสมอมา”

แม้ว่าผลงานของกิมย้งได้รับความนิยมอย่างสูงในโลกตะวันออก แต่คนในซีกโลกตะวันตกกลับไม่รู้จักและไม่นิยมผลงานนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ผู้นี้ จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้ว “มังกรหยก” ถูกแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ในชื่อ Legends of the Condor Heroes จึงทำให้ชาวตะวันตกรู้จักกิมย้งมากขึ้น

หลังจากที่มังกรหยกถูกตีพิมพ์เป็นภาษษอังกฤษ The Guardian สื่อใหญ่ของอังกฤษ เปรียบเทียบว่ากิมย้งเป็น “โทลคีนแห่งจีน” – เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน คือยอดนักเขียนเจ้าของผลงาน The Lord of the Rings

กิมย้งไม่ได้มีอิทธิพลแต่เฉพาะในแวดวงวรรณกรรม หนังสือพิมพ์ หรือกับแฟนนิยายเท่านั้น แม้แต่นักธุรกิจระดับโลกอย่าง แจ็ก หม่า แห่งอาลีบาบา ยังบอกว่ากิมย้งเป็นผู้มีอิทธิพลต่อเขาและการดำเนินธุรกิจของอาลีบาบาอย่างมาก

“ถ้าไม่ใช่เพราะกิมย้ง ก็อาจไม่มีอาลีบาบา หรือต่อให้มี ก็อาจไม่ได้เป็นแบบในทุกวันนี้ ที่มีคนหลายหมื่นมาร่วมบ้าคลั่งไปด้วยกัน”

 

สแตน ลี : ปู่-พ่อ-พระเจ้าผู้สร้างจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่

สแตน ลี (Stan Lee) หรือ สแตนลีย์ มาร์ติน ลีเบอร์ (Stanley Martin Lieber) นักเขียนการ์ตูนระดับตำนาน ซึ่งสำหรับแฟนการ์ตูนและแฟนหนังซูเปอร์ฮีโร่แล้ว “ปู่ลี” เป็นเสมือน “พระเจ้า” ผู้สร้างโลก-มอบจินตนาการและความบันเทิงให้แฟนคลับมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน

สแตน ลี เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายโรมาเนียและยิว เขาเข้าทำงานในบริษัทไทม์ลี คอมิกส์ (Timely Comics) ในปี 1939 ซึ่งต่อมาไทม์ลี คอมิกส์ เปลี่ยนชื่อเป็นมาร์เวล คอมิกส์ (Marvel Comics) จึงนับว่าสแตน ลี เป็นนักเขียนการ์ตูนยุคก่อตั้งมาร์เวล คอมิกส์ และผ่านการทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ มากมายในมาร์เวล จนถึงตำแหน่งสูงสุดอย่างประธานกรรมการบริหาร

ปู่ลีร่วมกับทีมสร้างซูเปอร์ฮีโร่ “กัปตันอเมริกา” ในปี 1941 และในปีเดียวกัน เขาได้ให้กำเนิดซูเปอร์ฮีโร่ตัวแรกของตัวเองคือ “Destroyer” ในเรื่อง Mystic Comics 6

ปี 1942 ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาถูกเรียกตัวเข้ารับใช้กองทัพในฝ่ายสื่อของกองทัพ หลังจบสงครามเขากลับเข้ามาทำงานที่ไทม์ลี คอมิกส์ และสร้างกลุ่มซูเปอร์ฮีโร่แข่งกับ DC ซึ่งครองตลาดอยู่ก่อน …แล้วก็เป็นอย่างที่เห็นในปัจจุบันว่า มาร์เวลชนะดีซีไปแล้ว

สแตน ลี มีผลงานการสร้างและร่วมสร้างซูเปอร์ฮีโร่มากมาย อย่างเช่น ฮัล์ก (Hulk), เอ็กซ์-เมน (X-Men), ธอร์ (Thor), สไปเดอร์แมน (Spider-Man) ฯลฯ จนได้รับการยกย่องให้เป็น “พระเจ้าแห่งจักรวาลมาร์เวล”

จุดเด่นอย่างหนึ่งของฮีโร่ที่ปู่ลีสร้างขึ้นมา ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการฮีโร่และเป็นวิวัฒนาการสำคัญของมาร์เวลก็คือ การสร้างฮีโร่ที่ไม่เปอร์เฟ็กต์ ไม่ขาวสะอาด แต่เป็นฮีโร่สีเทา ๆ ที่มีชีวิตจิตใจ มีด้านมืด ด้านสว่าง มีข้อด้อย มีปัญหาชีวิตเหมือนมนุษย์ทั่วไป ทำให้มาร์เวลขยายตลาดจากกลุ่มแฟนวัยเด็กและวัยรุ่นไปถึงวัยผู้ใหญ่ จนถึงปัจจุบันมาร์เวลมีแฟนทุกเพศทุกวัย

สแตน ลี เป็นบุคคลสำคัญของทั้งวงการคอมิกและวงการภาพยนตร์ เขาได้รับเกียรติประดับดาวบน Hollywood Walk of Fame ตั้งแต่หลายปีก่อน และเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2560 ลีได้รับการจารึกชื่อเป็น “Disney Legend” ในฐานะบุคคลผู้สร้างคุณประโยชน์อย่างมหาศาลแก่บริษัท (มาร์เวลถูกดิสนีย์ซื้อกิจการ ผลประโยชน์ของมาร์เวลจึงเป็นของดิสนีย์)

“สแตน ลี เป็นคนที่ไม่ธรรมดา เช่นกันตัวละครที่เขาสร้างขึ้นพื่อแฟน Marvel ทั่วโลก สแตน ลี มีพลังในการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างความบันเทิง และคอนเนกต์กับผู้คน มีเพียงสิ่งเดียวที่ใหญ่เกินกว่าจินตนาการของเขาก็คือ ขนาดหัวใจของเขา” บ็อบ ไอเกอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารดิสนีย์กล่าวถึงสแตน ลี

 

อาจินต์ ปัญจพรรค์ : ครูของคนทำหนังสือเมืองไทย

อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนรุ่นบรมครู เจ้าของผลงานเลื่องชื่อ เรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ เสียชีวิตในวัย 91 ปี เป็นข่าวเศร้าล่าสุดของแวดวงวรรณกรรมไทย ที่สูญเสียนักเขียน สูญเสียครู สูญเสียลุง สูญเสียพี่ 

อาจินต์เกิดที่บางเลน นครปฐม เป็นบุตรของข้าราชการกระทรวงมหาดไทย เรียนจบชั้น ม.6 ที่โรงเรียนอำนวยศิลป์ ต่อมาปี 2485 ซึ่งเป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เข้าโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วต่อจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะวิศวกรรมศาสตร์

ปี 2488 ขณะเรียนชั้นปีที่ 2 กรุงเทพฯถูกบอมบ์ เขาจึงหลบระเบิดไปต่างจังหวัด เมื่อสงครามสงบ เขากลับมาเรียนแต่สอบไม่ผ่าน เพราะไม่เข้าห้องสอบ หมกมุ่นอยู่กับการเขียนหนังสือมากกว่าการเรียน ขณะเดียวกันผลงานด้านงานเขียนก็ปรากฏความสำเร็จ โดยได้รับรางวัลชนะเลิศคำขวัญสันติภาพจากองค์การสหประชาชาติ จากข้อความ “สงครามคือบาป สันติภาพคือบุญ”

จากนั้นนิสิตหนุ่มก็มุ่งมั่นกับการเขียนหนังสือ และหมั่นส่งเรื่องไปยังสำนักพิมพ์และนิตยสาร แต่ผลงานก็ไปกองอยู่ในตะกร้าทุกเรื่อง

ปี 2491 เขารีไทร์จากมหาวิทยาลัยไปทำงานเป็นลูกจ้างในกองสำรวจสำมะโนประชากรกระทรวงมหาดไทย ปี 2492 เขียนเรื่องสั้น “ในทะเลมีเศรษฐศาสตร์” และทำงานในเหมืองแร่ที่จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นช่วงสำคัญของชีวิตที่เป็นวัตถุดิบให้เขียนผลงานเรื่องดัง “เหมืองแร่”

ปี 2496 เหมืองแร่เลิกกิจการ เขากลับมาเตะฝุ่นในกรุงเทพฯ และลงมือเขียนหนังสืออย่างจริงจัง 1 ปีต่อมาเรื่องสั้น “สัญญาต่อหน้าเหล้า” ได้ลงตีพิมพ์ในสยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ถือเป็นผลงานแจ้งเกิดอย่างเป็นทางการ และในปีเดียวกันก็ได้ทำงานเขียนบทละครโทรทัศน์ และทำงานตำแหน่งต่าง ๆ ในสถานีโทรทัศน์ จนถึงตั้งคณะโทรทัศน์ของตัวเองชื่อ “สุภาพบุรุษ”

อาจินต์ ได้รับการยกย่อง เคารพ นับถืออย่างมาก ทั้งจากผู้อ่านและคนในวงการวรรณกรรม เคยได้เป็นตัวแทนนักเขียนไทยไปร่วมประชุมแอโฟร อาเซียน มีตติ้ง และกล่าวสุนทรพจน์ต่อหน้าที่ประชุมที่ประเทศรัสเซีย เมื่อปี 2508

ปี 2512 เขาลาออกจากบริษัทไทยโทรทัศน์ เข้าหุ้นทำโรงพิมพ์อักษรไทย ทำนิตยสารฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ และนิตยสารฟ้า…ต่าง ๆ อีกหลายหัว

ปี 2534 เขายุติการทำนิตยสารฟ้า วางมือจากงานบรรณาธิการที่ทำมา 36 ปี เหลือไว้เพียงการเป็นนักเขียนอิสระ ในปีเดียวกันนั้นเขาได้รับการประกาศชื่อเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ต่อมาปี 2535 ได้รับรางวัล “ศรีบูรพา” จากกองทุนศรีบูรพา และปี 2551 ได้รางวัลนราธิป จากนายกสมาคมนักเขียนฯ

นอกจากเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่อันโด่งดังก็ยังมีเรื่องอื่น ๆ ราว 100 เรื่อง ซึ่งได้รับการตีพิมพ์เป็นหนังสือ เรื่องสั้นนอกเหมืองแร่ โดยสำนักพิมพ์มติชน เมื่อปี 2557 

คำพูน บุญทวี นักเขียนรางวัลซีไรต์คนแรกของไทยเคยกล่าวถึงอาจินต์ ปัญจพรรค์ ว่า “พ่อเป็นครูคนที่หนึ่ง พี่อาจินต์เป็นครูคนที่สองในทางวรรณกรรม” 

“นักเขียนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นมาทุกวันนี้ ก็มีพื้นฐานมาจากนักเขียนรุ่นพ่อรุ่นพี่ เส้นทางสายนี้เป็นเส้นทางที่มีมาช้านาน, ยังดำรงอยู่ และจะคงอยู่ต่อไปในบทบาทใหม่ ๆ ที่เพิ่มขึ้น แปลกขึ้น พี่อาจินต์เป็นหนึ่งในจำนวนนี้ และเป็นทั้งในฐานะของบรรณาธิการที่ผมเคารพรักด้วย บรรณาธิการในบ้านเราที่ไม่เห็นนักเขียนเป็น “ของประดับ” มีอยู่ไม่กี่คนหรอก คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง, คุณสุวรรณี สุคนธา และพี่อาจินต์รวมอยู่ในบุคคลเหล่านี้” สุชาติ สวัสดิ์ศรี นักเขียนและบรรณาธิการรุ่นใหญ่ในยุคปัจจุบันเคยกล่าวไว้

สำหรับความสูญเสียครั้งนี้-เมื่ออาจินต์ ปัญจพรรค์ จากไป กิตติวรรณ เทิงวิเศษ ผู้จัดการสำนักพิมพ์มติชน กล่าวว่า “วงการนักเขียนไทยได้สูญเสียนักเขียนรุ่นครูของครู ครูของบรรณาธิการ ครูของคนทำหนังสือ เป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่มากของคนทำหนังสือด้วยกัน เพราะนอกจากเป็นนักเขียนแล้ว ท่านยังเป็นบรรณาธิการรุ่นบุกเบิกที่ทำให้คนทำหนังสือได้เรียนรู้วิธีการของคนทำหนังสือที่แท้จริง”

ไม่ว่าจะเป็นความบังเอิญ หรือจะคิดแบบใช้จินตนาการว่า ดาวดังทั้ง 3 ท่านอาจจะมีชะตาชีวิตที่ถูกขีดมาให้เป็นตำนานร่วมยุคสมัยเดียวกัน สร้างผลงานอันเปล่งแสงสว่างยิ่งใหญ่ในช่วงเวลาเดียวกัน และลาลับจากโลกไปในช่วงเวลาใกล้กัน… สิ่งหนึ่งที่จะเหมือนกันโดยไม่ต้องจินตนาการ คือ แสงสว่างของดาวทั้ง 3 ดวงจะไม่ดับสูญแต่จะยังคงเปล่งแสงพร่างพราวต่อไป เหมือนที่เคยเป็นมา