ชนินทธ์ โทณวณิก ทุบ “ดุสิตธานี” โดนด่ามากที่สุดในชีวิต มองด้านดี…มีคนมากมายรักโรงแรมนี้

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ราว 50 ปีก่อน โรงแรมดุสิตธานีถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับสถิติตึกสูงที่สุดในเมืองไทย ณ เวลานั้น เมื่อปี 2513 ดุสิตธานีเปิดให้บริการพร้อมความหรูหราและมาตรฐานการบริการในระดับโรงแรม 5 ดาว ซึ่งนับเป็นโรงแรม 5 ดาวเพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทยและครองความเป็น “ที่สุด” ในหลายด้าน

ตลอดการเปิดให้บริการเกือบ 5 ทศวรรษ ดุสิตธานี มีโอกาสต้อนรับลูกค้ามากมายจากทั่วโลก คนดังระดับโลกเมื่อมาที่เมืองไทยก็ต้องมาพักที่ดุสิตธานี แต่เวลาเดินไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงเสมอ ความเป็น “ที่สุด” ของดุสิตธานีจึงถูกท้าทายแทบทุกด้าน ยิ่งเวลาผ่านไปเท่าไหร่ยิ่งมีโรงแรมที่เป็น “ที่สุด” เกิดขึ้นมาใหม่มากขึ้น ๆ ดังนั้น ถ้าดุสิตธานีไม่เปลี่ยนก็คงจะอยู่ลำบากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทดุสิตธานีจึงตัดสินใจประกาศปิดกิจการและรื้อถอนโรงแรมดุสิตธานี เพื่อก่อสร้างโครงการใหม่ในรูปแบบมิกซ์ยูส มีทั้งโรงแรม เรซิเดนซ์ และศูนย์การค้า โดยมีกำหนดการปิดโรงแรมในวันที่ 5 มกราคม 2562 หรือนับถอยหลังเพียงอีกไม่ถึง 1 เดือนข้างหน้านี้

คนมากมายที่ทราบข่าวแสดงความรู้สึกคล้ายกัน คือ “ใจหาย” และ “เสียดาย” ความเห็นมากมายบอกว่า “น่าจะอนุรักษ์ไว้”

ผู้คน ลูกค้าที่เคยใช้บริการรู้สึกผูกพัน เสียดาย หวงแหนดุสิตธานีมากแค่ไหน เจ้าของ ผู้บริหารยิ่งรู้สึกรักและผูกพันมากยิ่งกว่าหลายเท่า และแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะตัดสินใจทำลายสิ่งที่เห็นมาตั้งแต่เริ่มสร้าง

“กัดฟัน” คือคำที่ชนินทธ์ โทณวณิก ใช้อธิบายความรู้สึก ณ ตอนที่ตัดสินใจว่าจะทุบโรงแรมเดิมแล้วสร้างโรงแรมใหม่

ชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการและประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) ที่เป็นทั้งผู้บริหารและเจ้าของที่เห็นโรงแรมมาตั้งแต่คุณแม่ของเขาเริ่มสร้าง เล่าว่า ใช้เวลาคิดอยู่นานกว่าจะตัดสินใจ ซึ่งจุดที่ทำให้ตัดสินใจได้ก็คือ คิดถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดของกลุ่มบริษัทดุสิตธานีนั่นก็คือ ความตั้งใจและเป้าหมายของท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย (ผู้ก่อตั้ง) ที่อยากให้โรงแรมดุสิตธานีสามารถแข่งขันกับคู่แข่งที่ดีที่สุดในระดับโลกได้ ควบคู่ไปกับการเป็นโรงแรมสไตล์ไทย บริหารโดยคนไทย บริการแบบคนไทย และมีชื่อไทย

เมื่อตั้งโจทย์ไว้ตรงนั้นก็มาคิดว่าจะเดินต่อไปอย่างไร จะอยู่ต่อไปในอนาคต 40-50 ปีอย่างไร พิจารณาแล้วว่าโครงสร้างโรงแรมดุสิตธานี เดิมมีข้อจำกัดหลายอย่าง คงไม่สามารถเดินไปยังจุดที่ตั้งเป้าไว้ได้ และถ้าจะปรับปรุงใหญ่มีการก่อสร้างอะไรเพิ่มเติมในพื้นที่นี้ โรงแรมก็ต้องปิดให้บริการอยู่ดี

“ก็เลยคิดว่ากัดฟันดีกว่า กัดฟันสร้างขึ้นมาใหม่”

หลังจากที่ประกาศออกไป ผู้คนที่ผูกพันหวงแหนโรงแรมดุสิตธานีบอกว่า “ไม่น่าทุบเลย” คำต่อว่ามากมายหลั่งไหลเข้าไปหาผู้บริหารดุสิตธานี ซึ่งคนที่โดนต่อว่าโดนตำหนิมากที่สุด คือ ชนินทธ์ ผู้เป็นเจ้าของ ที่โดนว่าทั้งต่อหน้า ทางจดหมาย ทางอีเมล์ ซึ่งเขาเจ้าตัวบอกว่า เป็นรื่องที่ดี เพราะคนที่ด่าคือคนที่ผูกพันและเห็นความสำคัญของดุสิตธานี

“พอมีข่าวออกไปว่าจะรื้อโรงแรม ผมคิดว่าผมไม่เคยถูกด่ามากกว่าช่วง 12-18 เดือนที่ผ่านมา มีทั้งจดหมายและคนที่เจอต่อหน้าเกือบทุกคน โดยเฉพาะคนที่อายุ 40 ขึ้นไปแล้ว ผมถูกว่ามาตลอด ส่วนใหญ่ที่หนัก ๆ จะเป็นจดหมาย พวกอีเมล์และการว่าต่อหน้าจะเบา ที่แรงมีทางจดหมาย ซึ่งมีทั้งชาวไทยและต่างชาติ จดหมายและอีเมล์พวกนี้ผมจะเก็บไว้หมด วันหนึ่งอาจจะติดกำแพงตรงไหนสักแห่ง ข้อดีก็คือ สิ่งที่เกิดขึ้นมันแสดงให้เห็นว่าคนไทย คนกรุงเทพฯ หรือชาวต่างประเทศที่รู้จักเมืองไทยเขาเห็นความสำคัญของโรงแรมนี้ เพราะถ้าเขาไม่เห็นความสำคัญเขาก็คงไม่มานั่งด่าผม บางคนบอกว่าคุณทำอย่างนี้ได้ยังไง โรงแรมดุสิตธานีไม่ใช่ของบริษัทดุสิต แต่เป็นของประเทศ” เขาเล่า

ชนินทธ์ยอมรับว่า การได้เห็นผู้คนแสดงความผูกพันกับโรงแรม เป็นสิ่งที่ทำให้เขาและผู้บริหารกังวลใจ “แต่ถ้าเราถอยมาก้าวหนึ่งแล้วมองกลับไป ก็ดีใจ คิดว่าคนมีความผูกพันกับสิ่งที่ดุสิตธานีทำมา”

“เราจำเป็นต้องทำสิ่งที่ต้องทำ” ชนินทธ์ว่า และอธิบายลงรายละเอียดว่ามีความจำเป็นอย่างไรที่ต้องทุบโรงแรมเก่าเพื่อสร้างโรงแรมใหม่

“เรามีปัญหาค่อนข้างเยอะในเวลา 40-50 ปีที่ผ่านมา เพราะความต้องการของลูกค้าสมัยก่อนกับปัจจุบันแตกต่างกัน ห้องของดุสิตธานีมีขนาดประมาณ 29-32 ตารางเมตร ขณะที่ปัจจุบันห้องของโรงแรมหรู ๆ มีขนาดประมาณ 40-50 ตารางเมตร เพราะฉะนั้น ขนาดมันสู้กันไม่ได้ ถามว่าเรามีความพยายามทำให้เราสามารถแข่งขันได้ไหมในช่วงเวลา 10-20-30 ปีที่ผ่านมา เราพยายามครับ อย่างเช่น เราพยายามจะเอาสองห้องมารวมเป็นห้องเดียว เมื่อประมาณสัก 20 กว่าปีที่ผ่านมา เรารู้แล้วว่าเราเจอปัญหาการแข่งขัน เนื่องจากห้องเราเล็ก แต่ตอนที่คุณแม่ออกแบบโรงแรมนี้เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ห้องพักขนาด 32 ตารางเมตรถือว่าใหญ่ที่สุดในกรุงเทพฯ แต่พอผ่านไป 20-30 ปี ตัวเลขมันกลายเป็น 40-50 ตารางเมตร แม้เราเอาสองห้องมารวมเป็นห้องเดียวกัน มันก็เหนื่อย เพราะโครงสร้างมันทำให้เราแก้อะไรลำบาก”

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ไม่ได้เป็นการเปลี่ยนซะจนไม่เหลือความเป็น “ดุสิตธานี” เพราะชนินทธ์และคณะผู้บริหารระดับสูงลงความเห็นตรงกันว่า จะเก็บบุคลิกตัวตนด้านที่ดี ๆ ของโรงแรมดุสิตธานีเก่าไปใส่ไว้ในดุสิตธานีใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรที่ส่งคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญหลายด้านมาร่วมทำงานอนุรักษ์ ทั้งจิตรกรรม โบราณคดี สถาปัตยกรรม วิศวกรรม มัณฑนศิลป์ ดังนั้น เมื่อโรงแรมใหม่เปิดขึ้นมา คนที่คุ้นเคยกับดุสิตธานีก็จะเห็นหลายอย่างที่คุ้นตาในโรงแรมใหม่ด้วย และแน่นอนว่าชื่อจะเป็นอื่นไปไม่ได้นอกจาก “ดุสิตธานี” เหมือนเดิม

“จุดประสงค์ของเราคือสานต่อความเชื่อของคุณแม่เมื่อ 50 กว่าปีที่แล้ว ที่ต้องการเอาบุคลิกของไทยมาใช้ในโรงแรม มีการบริการแบบไทย และใช้ชื่อไทย ซึ่งท่านมองว่าเป็นสิ่งที่จะมีความหมายในอนาคต ข้อดีของเราคือเราเป็นสิ่งที่แท้ เป็นสิ่งที่เราเป็น เราไม่ได้อยากเป็นคนอื่น จุดยืนของเราอยู่ตรงนั้น ก็คิดว่าหลาย ๆ คนที่มาใช้บริการโรงแรมดุสิตธานี 50 ปีที่ผ่านมา รวมถึงโรงแรมเราในต่างประเทศก็จะเห็นความเป็นไทย จุดขายของเราก็คือตรงนี้ และเราอยากจะเก็บไว้”

นอกจากการอนุรักษ์เก็บรักษาวัตถุที่มีคุณค่าแล้ว สิ่งที่สำคัญและเป็นหัวใจของโรงแรม คือ การบริการ ซึ่งชนินทธ์บอกว่า ทีมบริหารพยายามเก็บรักษาพนักงานเดิมไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยในระหว่างที่โรงแรมปิดจะโยกย้ายพนักงานไปทำงานในส่วนอื่นก่อน

“สิ่งที่เราจำเป็นต้องทำคือทำยังไงที่จะทำให้ความผูกพันนั้นกลับมาตอนที่โรงแรมใหม่เปิด ฉะนั้น สิ่งที่ผู้บริหารพยายามจะทำคือ พยายามเก็บพนักงานของเราไว้มากที่สุดเท่าที่จะเก็บไว้ได้ เราหวังว่ารสชาติอาหารและการบริการจะไม่เปลี่ยนเท่าไหร่ รวมถึงการที่เราจะทำห้องอาหารข้างนอกโรงแรมเพื่อความต่อเนื่องในการให้บริการลูกค้า และความต่อเนื่องนี้ก็จะต่อไปตอนที่โรงแรมใหม่เปิด”


ชนินทธ์บอกปิดท้ายว่า ตัวเองเป็นคนที่โชคดี-โชคดีอย่างแรก คือ โชคดีที่มีคนผูกพันหวงแหนโรงแรมดุสิตธานี และโชคดีที่สองคือ มีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยทำงานอนุรักษ์ ซึ่งชนินทธ์บอกว่าดุสิตธานีกับมหหาวิทยาลัยศิลปากรหวังว่าการร่วมมือครั้งนี้คงจะเป็นตุ๊กตาตัวหนึ่งที่ทำให้หลายคนในประเทศไทยเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ เมื่อถึงคราวที่ใครก็ตามต้องตัดสินใจรื้อถอนหรือทำการเปลี่ยนแปลงตึกเก่า ก็หวังว่าจะคำนึงถึงเรื่องการอนุรักษ์อย่างเช่นที่ดุสิตธานีกำลังทำ