สำรวจแนวทาง 10 เมืองใหญ่ทั่วโลก แก้อย่างไร เมื่ออากาศเป็นพิษ

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
ถ้าเป็นสักสองสามปีก่อน การตื่นเช้าขึ้นมาเห็นท้องฟ้าเป็นสีขมุกขมัว เราอาจจะยังสับสนกันอยู่ว่าที่เห็นนั่นมันหมอกหรือควัน เพราะมองด้วยตาเปล่านั้นมันแทบไม่ต่างกัน เหมือนในเนื้อเพลงที่พี่เบิร์ดร้องว่า “หมอกจาง ๆ หรือควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้…” แต่ ณ เวลานี้มีข้อมูลชัดเจนแล้วว่า ที่เห็นขาว ๆ เทา ๆ บนท้องฟ้านั้นคือฝุ่นควัน ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังไม่ใช่แค่ฝุ่นหรือควันธรรมดาที่เราเคยอยู่กับมันมาได้อย่างเคยชิน แต่เจ้าฝุ่นที่ฟุ้งอยู่ในอากาศนี้มันคือฝุ่นละออง

PM 2.5 ที่มีพิษภัยมหันต์

ตอนนี้หลายคนตื่นตัวเรื่องเจ้าฝุ่น PM 2.5 นี้แล้ว แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ตื่นตัว อาจจะเพราะไม่ได้รับข้อมูลมากพอ ไม่ทราบถึงพิษภัยความอันตรายของมันว่าอันตรายกว่าฝุ่นทั่ว ๆ ไปอย่างไร

ฝุ่นละออง PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก มีขนาด 2.5 ไมโครเมตร มีการเทียบให้เห็นภาพว่าเล็กกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมถึง 25 เท่า เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วสามารถเข้าสู่หลอดลม ถุงลม และเข้าสู่กระแสเลือดได้เลย

องค์การอนามัยโลก (WHO) บอกถึงอันตรายของฝุ่น PM 2.5 ว่าส่งผลต่อการเกิดโรคหลายชนิด อย่างโรคติดเชื้อเฉียบพลัน โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด และเป็นสารก่อมะเร็งกลุ่มที่ 1

องค์การอนามัยโลกกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศ โดยแนะนำค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ไว้ที่ 25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และกำหนดค่าวิกฤตไว้ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ขณะที่ค่าที่วัดได้ในกรุงเทพฯและหลายจังหวัดในประเทศไทยอยู่ที่ 46-90 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานไป 2-3 เท่าตัว

ข้อมูลจากที่ประชุมหน่วยงานภาครัฐแก้ปัญหาวิกฤตหมอกควันพิษ เปิดเผยสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาฝุ่นควันในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลว่า สาเหตุ 3 อันดับแรกคือ กิจกรรมการขนส่งทางถนน 54% การเผาไหม้เชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม 14% กิจกรรมภาคครัวเรือน 11%

ข้อมูลเชิงลึกพบว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กเกิดจากรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งรถยนต์ที่ก่อให้เกิดฝุ่นมาก 3 อันดับแรก ได้แก่ รถยนต์ดีเซลขนาดเล็ก (รถปิกอัพ) รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถบัสขนาดใหญ่

ปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะในเมืองหลวง หรือเมืองเศรษฐกิจที่มีประชากรอยู่อาศัยหนาแน่น

ในระหว่างที่เมืองไทยกำลังหาทางแก้ปัญหา มาดูว่าเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกเขาจัดการแก้ไขอย่างไรเมื่อเกิดปัญหามลพิษทางอากาศขึ้น

ปารีส, ฝรั่งเศส

ปารีสสั่งให้งดใช้รถยนต์ในย่านศูนย์กลางเมืองช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ให้ใช้ขนส่งสาธารณะแทน โดยให้บริการฟรีตลอดช่วงมาตรการลดมลพิษทางอากาศ กระตุ้นให้เกิดการแชร์รถยนต์และจักรยาน โดยทำโครงการให้ยืมจักรยาน อีกทั้งห้ามใช้รถยนต์ตลอดถนนฝั่งขวาของแม่น้ำแซน และห้ามใช้รถยนต์ในถนนฌ็องเซลิเซ่ เดือนละครั้ง และห้ามรถยนต์เก่าและรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลขับเข้าเขตใจกลางเมืองอย่างสิ้นเชิง

นิวเดลี, อินเดีย

กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย สั่งห้ามใช้รถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลขนาดใหญ่ และรถ SUV ที่มีเครื่องยนต์ขนาดใหญ่กว่า 2,000 ซีซี ยกเลิกการใช้รถแท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซลกว่าหมื่นคัน นอกจากนี้ ยังทดลองนโยบายให้รถเลือกวิ่งวันคู่หรือวันคี่ และส่งเสริมการใช้รถมินิบัสออนดีมานด์แบบ Uber มากขึ้น

เนเธอร์แลนด์

รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เสนอนโยบายห้ามขายรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซลภายในปี 2025 อนุญาตให้ขายเพียงรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์เครื่องยนต์ไฮโดรเจนเท่านั้น อาจฟังดูโหดเกินไป แต่กฎหมายใหม่ที่เสนอนี้อนุญาตให้คนที่มีรถยนต์อยู่ก่อนประกาศใช้กฎหมายสามารถใช้รถคันเดิมต่อไปได้

ไฟรบวร์ก, เยอรมนี

ไฟรบวร์กเป็นเมืองที่มีทางจักรยานรวมระยะทาง 500 กิโลเมตร มีขนส่งระบบรางและระบบขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพและราคาถูก Vauban หมู่บ้านชานเมืองแห่งหนึ่งในไฟรบวร์กห้ามไม่ให้ผู้คนจอดรถใกล้บ้านเรือน และให้เจ้าของจอดรถที่พื้นที่รอบนอกเมือง สำหรับผู้อยู่อาศัยที่ไม่ใช้รถยนต์จะได้รับอัตราค่าเช่าบ้านถูกกว่าคนที่มีรถ รวมถึงได้รับบริการขนส่งสาธารณะฟรี และมีจักรยานให้ใช้ฟรี

โคเปนเฮเกน, เดนมาร์ก

โคเปนเฮเกนให้ความสำคัญกับจักรยานมากกว่ารถยนต์ และปัจจุบันจำนวนจักรยานมีมากกว่าจำนวนประชากรไปแล้ว แนวคิดการใช้จักรยานนี้ได้ทำเป็นการคิดมูลค่าของจักรยานเทียบกับรถยนต์ โดยการขี่จักรยาน 1 ไมล์ให้มูลค่ากับชุมชนประมาณ 0.42 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การใช้รถยนต์ส่วนตัวระยะทาง 1 ไมล์ให้มูลค่าประมาณ 0.20 ดอลลาร์ นอกจากนี้ เมืองส่วนใหญ่ในเดนมาร์กทยอยหยุดใช้รถยนต์มากว่า 10 ปีแล้ว และมีแผนมุ่งจะเป็นเมือง “carbon neutral” หรือเมืองที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็น 0 ภายในปี 2025

เฮลซิงกิ, ฟินแลนด์

เมืองหลวงของฟินแลนด์มีแผนจะลดรถยนต์ลงอย่างฮวบฮาบโดยการทุ่มเงินลงทุนระบบขนส่งสาธารณะ จัดเก็บค่าธรรมเนียมที่จอดรถสูงขึ้น สนับสนุนการใช้จักรยานและการเดิน มีการแปลงถนนวงแหวนในเมืองชั้นในเป็นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเดิน และมีไอเดียจะทำให้ระบบขนส่งสาธารณะมีประสิทธิภาพดีมากจนไม่มีใครต้องการใช้รถยนต์ส่วนตัวภายในปี 2050

กอริติบา, บราซิล

เมืองในตอนใต้ของประเทศบราซิลที่มีประชากร 2 ล้านคน เป็นเมืองที่มีระบบรถโดยสารขนาดใหญ่และราคาถูกที่สุดในโลก ประชากรเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของเมืองไปทำงานโดยการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ผลที่ได้คืออากาศที่ไม่มีมลพิษ และไม่มีปัญหารถติด

บังคาลอร์, อินเดีย

อีกหนึ่งเมืองใหญ่ในประเทศอินเดีย เมืองนี้กำลังแปลงรถบัส 6,000 คันให้เป็นรถบัสใช้ก๊าซธรรมชาติ ตอนนี้เมืองบังคาลอร์สามารถลดมลพิษทางอากาศได้แล้วประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ในเวลาเพียงไม่กี่ปี และ 1 ใน 4 ของคนที่เคยใช้รถยนต์ส่วนตัวเปลี่ยนไปใช้ขนส่งสาธารณะ

ลอนดอน, อังกฤษ

สำหรับการแก้ปัญหาในมหานครลอนดอนและทั่วอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษห้ามขายเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษสำหรับใช้ในครัวเรือนในปี 2022 และรัฐบาลยังอยู่ระหว่างการปรึกษาหารือว่าจะเลิกขายเชื้อเพลิงถ่านหินที่ใช้ในบ้าน และจำกัดการขายไม้เปียกที่นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงด้วย นอกจากนั้น จะออกมาตรการกำหนดให้ใช้วิธีทำเกษตรที่ปล่อยก๊าซแอมโมเนียลดลง โดยรัฐบาลจะช่วยอุดหนุนการลงทุนเทคโนโลยีที่จำกัดการปล่อยก๊าซแอมโมเนียได้

มาดริด, สเปน

รัฐบาลสเปนเพิ่งออกมาตรการจำกัดรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าไปในเขตควบคุมคุณภาพอากาศย่านใจกลางกรุงมาดริด เมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา และกระตุ้นให้ประชาชนใช้จักรยานและขนส่งสาธารณะมากขึ้น โดยหวังว่ามาตรการนี้จะช่วยลดมลพิษทางอากาศได้ 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับรถยนต์ที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตใจกลางเมืองได้ต้องผ่านการตรวจวัดการปล่อยไอเสียรถยนต์รุ่นเก่าที่ก่อมลพิษมากจะถูกห้ามขับเข้าไปในเขตควบคุม

แนวทางการแก้ปัญหาของทุกเมืองทุกประเทศที่ยกมาพุ่งไปที่เรื่องการลดใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เนื่องจากเป็นสาเหตุอันดับแรกที่ทำให้เกิดฝุ่นควันเช่นกันกับในเมืองไทย

มองมาที่การแก้ปัญหาในเมืองไทย ระยะแรกเป็นการแก้เฉพาะหน้าอย่างการฉีดน้ำขึ้นไปบนท้องฟ้า ซึ่งทำโดยไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์มารองรับว่าแก้ปัญหาได้มากน้อยแค่ไหน กระทั่งปัญหาทวีความรุนแรงขึ้น จึงมีความตื่นตัวจากภาครัฐออกมาสั่งการเรียกประชุมหารือความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยแผนเฉพาะหน้ากรุงเทพมหานครจะประสานกองบังคับการตำรวจจราจร (บก.จร.) และกรมการขนส่งทางบกตั้งจุดตรวจจับรถที่ปล่อยควันดำหรือควบคุมการใช้รถที่อายุการใช้งานเกิน 7 ปี หากพบว่ามีควันดำเกินค่ากำหนด จะสั่งพักการใช้รถ 1 เดือน ให้นำรถไปปรับเปลี่ยนคุณภาพใหม่

แนวทางแก้ปัญหาระยะสั้น เน้นการตรวจสอบบำรุงรักษารถให้อยู่ในสภาพดี การตรวจจับควันดำ การปรับหรือชะลอแผนการก่อสร้าง ให้หน่วยงานราชการงดใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล ส่วนแผนระยะยาวจะส่งเสริมให้เกิดโครงข่ายการบริการ

ขนส่งสาธารณะเชื่อมโยงระบบราง การใช้รถโดยสารที่ใช้ก๊าซ NGV รถไฟฟ้า รถไฮบริด การจัดหาจุดจอดรถสำหรับผู้ใช้ขนส่งสาธารณะ และแนวทางการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันเชื้อเพลิงและรถยนต์ใหม่ให้เร็วขึ้นจากกำหนดเวลาแผนเดิม มีแนวทาง มีแผนแล้ว จะได้เห็นการปฏิบัติที่เข้มงวดจริงจังแค่ไหน นั่นเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองและต้องกระตุ้นกันตลอดเวลา