วศินบุรี-เถ้าฮงไถ่ “หน้าที่ของผมคือทำให้ราชบุรีมีโอ่งมังกรได้นานที่สุด”

 รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง
“เมืองโอ่งมังกร” เป็นคีย์เวิร์ดในคำขวัญที่ทำให้คนรู้ว่านี่คือคำขวัญจังหวัดราชบุรี แต่ในปัจจุบันภาพลักษณ์ที่เคยแข็งแกร่งนี้ไม่ได้แข็งแกร่งอีกแล้ว เพราะโอ่งมังกรไม่ใช่สิ่งที่สร้างมูลค่าให้ราชบุรีมากอย่างในอดีต จากที่เคยมีอยู่เป็นร้อย ๆ โรงงาน ปัจจุบันโรงงานโอ่งจำนวนมากล้มหายไป ส่วนที่เหลืออยู่ได้ปรับตัวสู่โรงงานเครื่องปั้นดินเผาสารพัดรูปแบบ ไม่จำกัดตัวเองอยู่แค่การทำโอ่งอีกต่อไป

หลายปีแล้วที่มีความห่วงใยและมีการตั้งคำถามถึงลมหายใจของธุรกิจโอ่งมังกรว่าจะอยู่คู่กับราชบุรีไปได้อีกนานแค่ไหน ในขณะที่ฝั่งโรงงานก็มีความพยายามปรับตัวเพื่อจะอยู่รอดให้ได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

“ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ได้คุยกับ วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ ผู้สานต่อกิจการ เถ้าฮงไถ่ โรงงานผลิตโอ่งมังกรเจ้าแรกในราชบุรี ที่ใช้ความเป็นศิลปินบวกกับดีกรีบัณฑิตด้านเครื่องเคลือบดินเผาจากเยอรมนีพาเถ้าฮงไถ่ปรับเปลี่ยน พัฒนา สร้างสรรค์ ต่อยอด สู่การเป็นโรงงานเซรามิกยุคใหม่ที่ก้าวล้ำกว่าใคร

วศินบุรีทำอย่างไรกับโรงงานเก่าแก่ที่สืบทอดมาตั้งแต่รุ่นอากง เพื่อให้อยู่ต่ออย่างร่วมสมัย ตอบทั้งโจทย์ความเป็นศิลปินของตัวเองและโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงเขามองเห็นภาพรวมธุรกิจโอ่งและเครื่องปั้นดินเผาในราชบุรีอย่างไร และคำถามสำคัญ ถ้าราชบุรีไม่มีโอ่งมังกรแล้ว ?

Q : เถ้าฮงไถ่เริ่มปรับตัวตั้งแต่เมื่อไหร่

ตั้งแต่รุ่นที่สอง ตอนนั้นคุณพ่อเข้าไปช่วยงานอากง แล้ววันหนึ่งเถ้าแก่โรงงานน้ำปลาบอกว่า อีกหน่อยต้องปรับแล้วนะ เพราะว่ามีพลาสติกเข้ามาแทน ซึ่งในยุคโน้นโรงงานน้ำปลาเป็นลูกค้าหลัก คุณพ่อก็มาคิดว่านอกจากโอ่ง อ่าง กระถาง ไหน้ำปลาที่ขายให้โรงงานน้ำปลาแล้วจะต้องมีอะไรเพิ่มเติม ก็เลยเริ่มทำเป็นสีสัน แต่สีไม่เยอะอย่างปัจจุบัน ถ้าพูดเรื่องการปรับตัว เริ่มมาตั้งแต่รุ่นที่สอง ประมาณสัก 40 กว่าปี พอมารุ่นผมก็ตั้งแต่ปี 1999 มีสีสันต่าง ๆ มากขึ้น มีการออกแบบดีไซน์เป็นศิลปะมากขึ้น

Q : ภาพรวมตอนนี้โรงงานโอ่งลดลงไปเยอะแค่ไหน

ล่าสุดทำนิทรรศการชื่อ Lastburi มีการสำรวจว่าจากจำนวน 54 โรงงานที่อยู่ในสมาคมเครื่องเคลือบดินเผาราชบุรี ตอนนี้เหลือ 27 โรงงาน แต่ก่อนหน้านั้นมีโรงงานที่ไม่ได้อยู่ในสมาคมเป็นร้อย ๆ โรงงาน เท่ากับตอนนี้เหลืออยู่ไม่เท่าไหร่

Q : อย่างนี้คำว่า “เมืองโอ่งมังกร” อาจจะเหลือแค่ตำนาน

ก็อาจจะเหลือแค่ในคำขวัญ นี่ก็เป็นพอยต์หลักของนิทรรศการ Lastburi ว่า ถ้าเราไปยึดติดคำขวัญหรือกรอบ ซึ่งหลาย ๆ อย่างมันไม่มีแล้ว ใครจะรู้ว่าวันหนึ่งโอ่งมังกรมันอาจจะอยู่แค่ในคำขวัญ หรือหลายอย่างที่เป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ถ้าเราไม่สร้างขึ้นมาใหม่และดูแลของเดิมให้ดีด้วยความเข้าใจ มันอาจจะเป็นแค่คำขวัญให้ท่องจำ และเราก็ภูมิใจกับอดีตที่มันไม่มีอีกต่อไป


Q : ในสมาคมมีการรวมตัว มีความช่วยเหลือกันอย่างไรบ้าง

เขาก็มีการรวมตัว แต่ผมไม่ค่อยได้เข้าไปยุ่ง น้องชายเป็นคนที่อยู่ในสมาคม ก็มีการรวมตัวกันร่วมมือบางอย่าง อย่างเช่นการต่อรองกับภาครัฐ เล่าถึงปัญหา ความร่วมมือในหลายภาคส่วน แต่อย่างที่บอกว่าไม่ใช่ทุกโรงงานที่อยู่ในสมาคม

Q : ระหว่างการพัฒนาสิ่งใหม่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับการอนุรักษ์ของเก่า บาลานซ์มันอย่างไร

ผมไม่เคยเปลี่ยนของเก่าเลย สิ่งที่อากงทำ สิ่งที่พ่อแม่ทำ ผมก็ยังทำ ผมไม่เคยทำของใหม่โดยไม่เอาของเก่า แต่ผมคิดว่าการอนุรักษ์ต้องคู่กับการต่อยอดเพิ่มเติม เพราะฉะนั้นไม่ได้บาลานซ์ แต่ตามความรู้สึกผมในฐานะศิลปิน การทำงานขึ้นอยู่กับช่วงอารมณ์ว่าอยากจะทำแบบไหน ไม่ได้มองเรื่องการตลาดว่าเทรนด์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หลาย ๆ อย่างมันเกิดขึ้นตามความรู้สึกและความสงสัย อยากทดลองอยากเห็น อยากเล่นกับบางสิ่งบางอย่าง

Q : สัดส่วนยอดขายระหว่างของเก่ากับของใหม่เป็นอย่างไร

ยอดขายตอนนี้ใกล้เคียงกัน สมัยที่เริ่มทำใหม่ ๆ คนยังไม่กล้าใช้พวกสีแดง ๆ แปร๋น ๆ สัดส่วนของเก่ากับของใหม่ก็เป็น 90 : 10 แล้วเริ่มเป็น 80 : 20 จนมาเป็น 50 : 50 แต่มันก็ขึ้นอยู่กับเทรนด์ด้วย ตัวเราไม่ได้ทำตามเทรนด์ แต่คนที่ซื้อของแต่งบ้านเขามีเทรนด์ในกลุ่มของเขา อย่างช่วงนี้มีกระแสเอาของเก่าไปใช้มากขึ้น สมัยก่อนจะใช้โอ่งมังกรในบ้านโมเดิร์นเขาก็ไม่เอา แต่สมัยนี้ บ้านโมเดิร์นสไตล์ลอฟต์ เอาโอ่งมังกรเข้าไปกลับดูเก๋ ความชอบของคนมันหมุนไป ค่านิยมของคนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

Q : มองว่าเถ้าฮงไถ่พัฒนามาไกลพอที่จะเอาตัวรอดจากความเปลี่ยนแปลงได้ทั้งหมดหรือยัง

ไม่หรอก ไม่มีใครรู้หรอกว่าสิ่งที่ทำมันตรงกับกระแสการเปลี่ยนแปลงมากน้อยขนาดไหน แต่ผมก็ไม่ได้ทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างเดียว สิ่งที่ผมคิดเน้นหนักคือ ทำยังไงให้มีความสุข ให้คนงานของเราอยู่ได้ ให้โรงงานของเรามีความแตกต่าง ให้โรงงานของเราเป็นทางเลือก ให้โรงงานของเราเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น ถ้าเรามองเรื่องการเปลี่ยนแปลง เรื่องเทรนด์ วันนั้นเราคงไม่ทำสีแดง ๆ สีแปร๋น ๆ หรอก เพราะวันนั้นเทรนด์ไม่ได้พูดถึงทิศทางนี้เลย เพราะฉะนั้นรูปแบบของเถ้าฮงไถ่ปัจจุบันคือ ทำยังไงให้โรงงานของเราซัพพอร์ตกิจการของครอบครัว ซัพพอร์ตกิจการของชุมชนราชบุรี งานศิลปะที่เราพยายามทำก็ไม่ได้ทำเพื่อเถ้าฮงไถ่อย่างเดียว แต่พอมันเกิด มันก็เกิดกับชุมชน เมื่อ 10 กว่าปีก่อนราชบุรีไม่มีใครมาเที่ยวเลย

แต่ปัจจุบันเป็นหนึ่งในเมืองที่คนมาเที่ยวเยอะมาก ส่วนหนึ่งก็เพราะเรื่องศิลปะ และศิลปะมันเกิดจากกลุ่มที่เราพยายามรวมตัวและสร้างขึ้นมา ฉะนั้นผลมันเกิดกับทั้งชุมชน มันเกิดบางสิ่งบางอย่างที่ตอบแทนในเรื่องเศรษฐกิจและมูลค่าที่เข้ามา

Q : ตอนที่เริ่มทำ คุณพ่อว่ายังไงบ้าง กี่ปีถึงเห็นผลว่ามันได้รับการตอบรับ

เขาก็ไม่ค่อยเข้าใจ ตอนแรกเขาก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่เราก็มีความเชื่อในระดับหนึ่ง ก็คุยกับพ่อว่าขอให้ได้ลองทำ เพราะถ้าตอนนั้นล้ม เตี่ยกับแม่ก็ยังอยู่ ป้าก็ยังอยู่ จะได้ช่วยประคองกันได้ เห็นผลประมาณ 3-4 ปี การเห็นผลก็อาจจะวัดว่าโรงงานอื่นเริ่มมาทำ

Q : เจ้าอื่นเขาปรับตามมาเยอะแค่ไหน

อย่างที่บอกว่าผมไม่ได้ไปยุ่งกับใคร ถ้ามีอะไรให้ช่วยก็บอกมา มันก็มีหลายรูปแบบ แต่ว่าน่าจะหาความแตกต่างให้ชัดเจนขึ้น ไม่ใช่ว่าโรงงานหนึ่งทำเรื่องนี้สำเร็จแล้วโรงงานหนึ่งก็มาต่อยอด เก็บที่ปลาย ไม่ได้ปลูกต้นใหม่ มันก็เป็นที่น่าเสียดาย และนี่คือปัญหาหนึ่งของความเสี่ยงของวงการเครื่องปั้นดินเผาในจังหวัดราชบุรี ถ้าทุกคนทำแบบไม่มี identity ของตัวเอง พอไม่มีความแตกต่างไม่มีความหลากหลาย มันก็กลายเป็นฆ่าตัวเอง ใช่มั้ย ไม่รู้จะพูดยังไงให้มันซอฟต์

Q : อาจเพราะชินกับการทำงานแบบเก่ารึเปล่า

เขาไม่เสี่ยง เขาแค่เอาอะไรที่ขายได้ชัวร์ ๆ ผมเคยคุยกับลูกศิษย์ที่ทำงานกับโรงงานหนึ่ง ผมถามเขาว่าทำไมไม่คุยกับเถ้าแก่ว่าจะออกแบบอะไรใหม่ เขาบอกว่าเถ้าแก่อยากได้อะไรชัวร์ ๆ แต่มันอาจจะถึงจุดเปลี่ยนก็ได้วันหนึ่ง คนที่มาบริหารงานรุ่นใหม่เขาอาจจะมีมุมมองที่แตกต่างจากรุ่นเดิมก็เป็นไปได้ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

Q : ปัญหา ความยากในการทำโรงงานเครื่องปั้นดินเผาตอนนี้คืออะไร

เรื่องช่างฝีมือแรงงาน การทำเซรามิก การทำงานฝีมือเป็นเรื่องต้องใช้ทักษะและใช้เวลาในการฝึกฝน แล้วเด็กรุ่นใหม่เขามีโอกาสที่หลากหลายขึ้น งานที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญ ใช้เวลาเยอะ ๆ อย่างการปั้นโอ่งมันอาจจะไม่ใช่ทางเลือกต้น ๆ ของพวกเขา ในอนาคต เรื่องการสานต่อหรือหลายสิ่งหลายอย่าง ผมมองว่ามันอาจจะเป็นปัญหาของวงการหัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผาก็เป็นไปได้

Q : แนวทางของเถ้าฮงไถ่คือจะมุ่งทำงานศิลปะ และงานตามสั่ง

ใช่ มันถึงเป็นความสุขไง ถ้าเราคิดอะไรแล้วเราทำเลย มันก็เป็นความสุข ไม่ต้องรอเรื่องการตลาด เรื่องเทรนด์ มันถูกหรือผิด เราต้องเห็นของจริงก่อน เราถึงพูดได้ ไม่ใช่เถียงกันในหัวแต่ไม่ได้ทำ แบบที่ก่อนทำงานที่รับโจทย์ลูกค้ามา เมื่อก่อนคิดว่า ไม่ ๆ ๆ ๆ ๆ แต่พอทำแล้วมันใช่เว้ย

Q : ถ้าสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ไม่ใช่สิ่งที่คุณอยากทำ จะทำอย่างไร

เป็นไปได้ หลายครั้งสิ่งที่ลูกค้าอยากได้ เราอาจรู้สึกว่าไม่เห็นสวยเลย แต่พอทำแล้วมันก็สวยดี มันกลายเป็นการทลายอีโก้ ผมมองว่านี่คือโอกาส ทำให้บางครั้งเราได้ทำบางสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในแพลนของเรา แต่มันทำให้เราเห็นว่ามันก็สวยดีนะ และเราสามารถใช้ตรงนี้ไปต่อยอดสิ่งที่เราต้องการได้ด้วย หลายครั้ง

ผมเรียนรู้จากอย่างนี้ สิ่งที่เราไม่เคยคิดอยากทำ แต่ลูกค้าสั่งมา กลับกลายเป็นว่าทำให้เราได้เรียนรู้และได้ทำบางสิ่งบางอย่างเพิ่มขึ้นมา และผมเอาสิ่งนั้นมาต่อยอดงานของผมเยอะมาก ผมไม่เคยปฏิเสธลูกค้า นอกจากว่าทำไม่ได้จริง ๆ ยากเกินไปจริง ๆ

Q : นอกจากทำโรงงานแล้ว ทิศทางที่จะทำคือปั้นราชบุรีเป็นเมืองศิลปะ ?

อย่าบอกว่าทิศทางของผมเลย เรียกว่าเป็นความถนัดดีกว่า ผมทำอย่างอื่นไม่เป็น ผมมองอย่างเดียวว่าจะเอาความถนัดและสิ่งที่ตัวเองอยากทำมาทำ ผมคิดว่าถ้าผมลงทุน 100 แล้วสร้างเด็กขึ้นมาได้หนึ่งคน มันเป็นประโยชน์ เป็นโอกาสสำหรับใครสักคนหนึ่งได้ ผมจะทำ ถ้าผมทำงานออกมาแล้วมีลูกค้าคนหนึ่งชอบ มันก็เพิ่มมาตั้งหนึ่งคนแน่ะ ถ้าเป็นมุมมองของนักการตลาดคงผิด แต่ในส่วนของศิลปินคือเราได้ตอบสนองใคร เราได้สร้างความสุขให้ใครบางคนเพิ่มขึ้นมาได้ ผมรู้สึกว่าเป็นความสำเร็จ

Q : ถ้าวันหนึ่งราชบุรีไม่มีโอ่งมังกรแล้ว ก็ไม่รู้สึกเสียใจ ?

ถ้าราชบุรีไม่มีโอ่งมังกรแล้ว ราชบุรีก็ต้องมีสิ่งอื่นมาแทน แต่หน้าที่ของเราคือทำยังไงให้ราชบุรีมีโอ่งมังกรให้ได้นานที่สุด หรือตลอดไป และที่สำคัญเราจะทำยังไงให้หลาย ๆ อย่างมันคงอยู่ นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ผมเอาศิลปะเข้ามาทำ เพราะศิลปะเป็นตัวเชื่อมให้คนเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตัวเองมี หน้าที่ของผมหลัก ๆ คือจะทำยังไงให้โอ่งมังกรอยู่ตลอดไปหรืออยู่ให้นานที่สุด และหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นความสวยงามของชุมชน เราจะทำยังไงให้มันคงอยู่ให้คนรุ่นต่อไปได้สัมผัสของจริง และอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องสร้างเสริมขึ้นมาให้คนในชุมชนรู้สึกชอบหรือเชื่อมโยงกับของดีสักอย่างที่เรามี อย่างในคำขวัญเรามี 1-2-3 เด็กอาจจะไม่ชอบเลย แต่ถ้าเรามีจนถึง 10 เขาอาจจะชอบอะไรสักอย่าง ถ้า 1-10 ยังไม่ชอบ เราก็สร้างเพิ่มต่อไปเรื่อย ๆ เราต้องทำให้คนในชุมชนได้เจอบางอย่างที่เขาสามารถเชื่อมโยงกับความชอบและความผูกพัน จุดนี้จะเป็นการรักษาชุมชนร่วมกันอย่างยั่งยืน