คุยกับ “ยูน-ปัณพัท” ศิลปินไทยมาแรงผู้เคยร่วมงาน GUCCI

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง
สำหรับแวดวงแฟชั่นงานศิลปะอาจจะคุ้นหูกับชื่อของนักวาดภาพประกอบสาว “ยูน-ปัณพัท เตชเมธากุล” ที่คร่ำหวอดในวงการมากว่า 10 ปีแล้ว

กระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ยูนมีโอกาสได้ร่วมงานกับแฟชั่นเฮาส์ระดับโลกอย่าง “Gucci” รวมถึง “Instagram” ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนผู้ใช้งานหลายร้อยล้านคนทั่วโลก ทำให้ชื่อของยูนขยับขยายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสได้พูดคุยทำความรู้จักกับยูนทั้งแง่มุมของการทำงาน ตัวตน และความฝันที่ผูกโยงร้อยเรียงออกมาเป็นผลงานสร้างชื่อของเธออย่างทุกวันนี้

ยูนเริ่มต้นเล่าถึงเส้นทางการเป็นนักวาดภาพประกอบว่า เธอเติบโตมากับของเล่นสมัยเด็ก ๆ อย่างสมุดฉีกและดินสอโดยมี “พี่ใจ” หลานสาวของช่างเย็บผ้าที่บ้าน ทำหน้าที่คล้ายกับเป็นครูพี่เลี้ยงด้านการวาดภาพของเธอเป็นคนแรก ๆ ในชีวิต

“ทุกวันกลับจากโรงเรียนยูนจะใช้สมุดฉีกหนึ่งเล่มกับดินสอเปลี่ยนไส้ ไม่ก็ดินสอโดบี้ที่กดแล้วไส้กระเด็น ๆ ออกมาวาดรูปทุกวัน แต่ก่อนที่บ้านทำเสื้อผ้าขายส่ง “พี่ใจ” ซึ่งเป็นหลานของพี่ช่างเย็บผ้ามีหน้าที่ติดกระดุมเสื้อเชิ้ต แต่เขาจะไม่ค่อยติดกระดุม ชอบวาดรูปกับดูทีวี เราอยู่กับพี่ใจเขาก็จะสอนวาดรูปนั่นนี่มาเรื่อย

ตอนเด็กก็ไม่ได้รู้หรอกว่าการวาดรูปคือสิ่งที่ชอบขนาดนั้น แต่ก็ทำมาตั้งแต่อนุบาล พอโตมาถึงรู้แล้วว่านี่คือสิ่งที่เราชอบ”

แม้จะค้นพบแนวทางของตัวเองตั้งแต่เด็กแต่ยูนบอกว่า เธอก็เกือบจับพลัดจับผลูเลือกเรียนในคณะที่ไม่ได้เกี่ยวกับการวาดรูปเหมือนกัน ด้วยความที่ยุคสมัยนั้นยังไม่มีครูแนะแนวในโรงเรียนจึงไม่รู้ว่าสิ่งที่ชอบและรักจะสามารถนำไปประกอบอาชีพได้หรือไม่ ยูนจึงเริ่มต้นจากการเรียนติวกับรุ่นพี่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จนค้นพบว่า นี่ไม่ใช่สิ่งที่เธอชอบและคณะที่เกี่ยวกับการวาดรูปไม่ได้มีเพียงสถาปัตย์แห่งเดียว ท้ายที่สุดเธอได้รับคำแนะนำจากเพื่อนจนพบกับคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขานฤมิตศิลป์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือคำตอบที่ใกล้เคียงกับความรักความชอบมากที่สุด

หลังจากเรียนจบ ยูนได้ทำงานกับแบรนด์ไทยชื่อดังอย่าง “Kloset” ในตำแหน่งแฟชั่นดีไซเนอร์ ก่อนจะขยับเลื่อนขั้นสู่ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ในเวลาต่อมา ลายเส้นที่แฝงไว้ด้วยเอกลักษณ์และดีเทลเฉพาะตัวกลายเป็นแคแร็กเตอร์อันโดดเด่นของยูน จนในที่สุดเธอได้มีโอกาสร่วมงานกับแบรนด์ดังมากมายแต่ที่สร้างชื่อมากที่สุดก็คงจะเป็น Gucci และ Instagram ซึ่งเธอบอกว่า การได้ร่วมงานกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกทั้งสองทำให้ทัศนคติและความคิดเรื่องการใช้งานโซเชียลมีเดียเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

“ยูนเป็นคนขี้อายมาตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้ ถ้าต้องพูดต้องถือไมค์ต่อหน้าคนเยอะ ๆ เราจะไม่มั่นใจเท่าไหร่ การเล่นโซเชียลมีเดียก็เหมือนกัน ยูนเพิ่งซื้อไอโฟนเครื่องแรกหลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่เอง สมัยที่เขาฮิตเล่นโทรศัพท์บีบีกันเราก็ไม่เล่น ยังใช้มือถือหมุนตูดฝาทับอะไรอยู่ หลังจากนั้นเราก็รู้สึกว่า ต้องหัดใช้เทคโนโลยีบ้างแล้วล่ะ เราเป็นคนไม่กล้าลงรูป สมัยก่อนมันจะมีแนวคิดแปลก ๆ ถ้าใครลงรูปหรือโพสต์อะไรลงโซเชียลเยอะ ๆ ก็จะโดนหาว่า ขี้อวดนู่นนี่ ขนาดงานเราเองยังไม่กล้าลงเลย ทั้ง ๆ ที่พอมายุคนี้มันไม่ใช่แล้ว อะไรที่ทำแล้วภูมิใจก็ลง อย่างกุชชี่ก็เห็นงานเราจากการลงรูปแล้วติดแฮชแท็กในอินสตาแกรม กลายเป็นว่าสื่อโซเชียลก็เป็นช่องทางสนับสนุนตัวเราได้ ถ้าขยันลงบ่อย ๆ ก็เป็นออนไลน์แกลเลอรี่ได้อีกเหมือนกัน”

หลังได้ร่วมงานกับแบรนด์ไทยและแบรนด์ระดับโลกมาแล้วยูนบอกว่า สิ่งที่เธออยากทำต่อจากนี้คือการมีโชว์รูมหรือหน้าร้านเป็นของตัวเอง ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ยูนเพิ่งออกมาเปิดบริษัทเป็นของตัวเองทำให้ได้เรียนรู้งานยิบย่อยในฐานะเจ้านายตัวเองอย่างงานเอกสาร การจ่ายภาษี และรายละเอียดอีกมากมาย ยูนบอกว่า การเติบโตในแต่ละวันเธอเรียนรู้จากการอ่านหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาตัวเองซึ่งมีส่วนช่วยในการจัดระบบชีวิตอย่างมาก เมื่อเราโตเป็นผู้ใหญ่และต้องการคำชี้แนะเพิ่มเติมแต่ไม่ได้มีใครมานั่งพูดนั่งสอนเหมือนตอนเด็ก วิธีนี้จึงเป็นสิ่งที่เธอเลือกทำและได้ผลลัพธ์ที่ดีมาโดยตลอด

“เล่มที่ชอบมากคือ ‘รถบัสพลังชีวิต’ สมัยก่อนเราอยากจะเก็บทุกคนไว้กับตัวหมด แม้ว่าคนคนนี้จะทำให้เรารู้สึกเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม เราก็ไม่อยากเสียเขาไป แต่รถบัสคันนี้บอกเราว่า บางครั้งก็ต้องปล่อยเขาลงจากรถไป เดี๋ยวก็จะมีคนใหม่เดินขึ้นรถมา แล้วมันก็เป็นแบบนั้นจริง ๆ รถของเราก็จะมีแต่พลังชีวิตที่ดี เก็บแต่สิ่งดี ๆ รถมันมีที่นั่งจำกัด เราจะเอาอะไรที่ไม่มีความสุขเก็บไว้ทำไม สุดท้ายเขาก็ต้องไปมีทางของเขา เราเองก็เหมือนกัน เคยอ่านเจออีกเล่มหนึ่งหน้านั้นเขียนว่า ‘มนุษย์งดงามด้วยความฝัน’ เป็นรูปคนอยู่ในโคมไฟ ประโยคนั้นเปลี่ยนชีวิตเราไปตลอดกาลเลย เพราะฉะนั้นก็เพ้อฝันไปเลย ไม่ใช่เรื่องผิด”

เราแอบนึกสงสัยว่า การที่ยูนเติบโตในครอบครัวคนจีน บวกกับยุคสมัยเมื่อสิบปีที่แล้วครอบครัวของเธอเคยห้ามหรืออยากให้เข้าเรียนในคณะยอดฮิตอย่างวิศวะ หมอ หรือบัญชีหรือไม่ เธอบอกว่า ครอบครัวคอยสนับสนุนให้เธอได้ทำในสิ่งที่รักและชอบอย่างอิสระ ไม่เคยห้ามหรือกะเกณฑ์คณะและอาชีพที่เธออยากทำแต่พร้อมจะอยู่ข้าง ๆ ทุกเส้นทางที่เลือกเสมอ คำสอนของพ่อแม่ที่เธอยึดมั่นมาโดยตลอดก็คือ ทำทุกอย่างด้วยน้ำพักน้ำแรงตัวเอง และต้องให้เกียรติผู้อื่นเสมอ

“อาม่าเสียตั้งแต่คุณพ่อยังเด็กมากประมาณ 3 ขวบได้ คุณพ่อกับอากงก็ต้องไปอยู่บ้านของญาติ เขาก็จะไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย สิ่งนี้ไม่ได้ทำให้เป็นปมด้อยแต่กลับเป็นจุดแข็งที่ผลักดันให้คุณพ่อยืนได้ด้วยตัวเอง คุณพ่อไม่เล่นการพนันเพราะรู้สึกว่านี่ไม่ใช่ของของเขา ไม่ใช่สิ่งที่เขาหามา อย่างตอนเราเด็กมาก ๆ

เวลาเห็นของวางอยู่ ตามประสาเด็กก็จะงอแงอยากได้ ถ้าเป็นคนอื่นเขาอาจจะให้ลูกเพราะเป็นเด็ก แต่คุณพ่อบอกเราเลยว่า ไม่ได้ไม่ใช่ของของเรา ส่วนฝั่งคุณแม่ก็จะสอนและเน้นย้ำเรื่องการให้เกียรติกับทุกคนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย

ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่หรือฐานะอย่างไรก็ตาม เพราะทุกคนมีความเท่าเทียมกัน ไม่มีใครที่อยู่ดี ๆ จะสามารถพูดหรือทำอะไรไม่ดีใส่คนอื่นได้ อย่างพี่เลี้ยงเรา คุณแม่ไม่เคยพูดไม่ดีใส่เลย สิ่งเหล่านี้เขาทำให้เราเห็นและซึมซับไปเองตั้งแต่เด็ก ๆ จนเราจำและนำมาใช้ด้วย”

สำหรับใครหลายคนที่ต้องการจะประสบความสำเร็จในเส้นทางศิลปินนักวาดภาพประกอบ ยูนให้คำแนะนำว่า ต้องหมั่นฝึกฝนวาดไปเรื่อย ๆ อย่าท้อแท้ และอย่าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น

“ตอนเด็กเราเห็นเพื่อนบางคนประสบความสำเร็จเร็วก็คิดเหมือนกันว่า เมื่อไหร่จะเป็นวันของเราบ้าง ตัวยูนเองตอนเป็นเด็กบางทีเราทำอะไรแล้วไม่มั่นใจ ก็เที่ยวไปถามคนนั้นคนนี้ว่า งานที่เราทำสวยหรือยัง ยิ่งถามหลายคนก็ยิ่งหลากความคิดทำให้กระเจิดกระเจิงไปหมด สุดท้ายสิ่งที่ทำตอนนั้นคือ กลับมาคุยกับตัวเองอย่างจริงจัง พิจารณาสิ่งที่เขาพูดว่ามันจริงมั้ย เราพบว่าทุกคนไม่ได้ชอบเหมือนกัน การคุยกับคนที่มีสไตล์ใกล้เคียงกับเราบางทีก็อาจจะช่วยได้มากกว่าการเอาความคิดของทุกคนมาใส่หัว”

ตลอดการสัมภาษณ์กับยูน-ปัณพัท เต็มไปด้วยความสนุก สดใส รีแลกซ์ ทำให้เรารู้ในทันทีเลยว่า ผลงานที่เต็มไปด้วยจินตนาการ สีสัน และรายละเอียดมากมายกระทั่งการตั้งชื่อสัตว์นานาชนิดในผลงานล้วนถูกถ่ายทอดออกมาจากตัวตนของศิลปินอนาคตไกลคนนี้จริง ๆ