อู้ พหลโยธิน 1 ปีบนเก้าอี้ “ประธานผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์” กับการเปลี่ยน “แสนสิริ”

กุมภาพันธ์ปีที่แล้ว อู้ พหลโยธิน เข้ารับตำแหน่ง Chief Creative Officer หรือประธานผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นตำแหน่งใหม่ที่แสนสิริเพิ่งตั้งขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อให้ควบคุมดูแลด้านการรังสรรค์อัตลักษณ์ของแสนสิริแบบองค์รวม ทั้งรูปลักษณ์ และความรู้สึกเวลา 1 ปีในตำแหน่งหน้าที่การงานใหม่ของอู้ พหลโยธิน ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พร้อมกับภาพความเปลี่ยนแปลงของแสนสิริที่ปรากฏ

ในห้วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา หลายอย่าง หลายอีเวนต์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าแสนสิริให้ความสำคัญกับด้านไลฟ์สไตล์และการมอบประสบการณ์ให้คนไทย ทั้งที่เป็นลูกค้าและที่ยังไม่เป็นลูกค้า เป็นการค่อย ๆ สร้าง “ความรู้สึกดี” ซึ่งจะส่งผลดีในระยะยาวมากกว่าการมุ่งโฆษณาขายโปรดักต์

ผลงานทั้งหมดที่อู้ พหลโยธิน ทำกับแสนสิริมีแกนหลักสองอย่าง หนึ่งคือ “ศิลปะ” และ “เอ็กซ์พีเรียนซ์” เขาเอาศิลปะเข้ามาใส่ในโปรดักต์และแบรนด์ และมอบประสบการณ์ในแบบที่คิดว่าคนในยุคปัจจุบันต้องการ ซึ่งเป็นความต้องการที่แตกต่างจากในอดีต รวมทั้งการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์และลงทุนในธุรกิจในหลากหลายธุรกิจ เพื่อเรียนรู้จากธุรกิจต่างประเภทกัน แล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

ตัวอย่างในด้านศิลปะก็เช่น การนำศิลปินดังระดับโลกเข้ามาร่วมงาน 2 อีเวนต์ คนแรก คือ มิเกล บาร์เซโล ศิลปินดังระดับโลกจากเมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ที่มาวาดภาพแบบ live painting บนเรือที่ล่องในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้ผู้ที่สนใจได้ชมอย่างใกล้ชิด โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นลูกค้าเท่านั้น อีกหนึ่งอีเวนต์ที่เพิ่งจบไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ คือ การพา ซาร่า คอริเน็ต อิลลัสเตรเตอร์และนักออกแบบลายกราฟิกชื่อดังชาวเบลเยียม มาจัดแสดงผลงานบนเรือและสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นพิเศษกับแบรนด์สินค้าไทย 4 แบรนด์ รวมถึงสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจัดวางใน 9 โครงการของแสนสิริทั่วกรุงเทพฯ ซึ่งศิลปินดังเหล่านี้มีแฟนอยู่แล้ว พอแสนสิรินำเข้ามา แน่นอนว่าย่อมได้รับคำชื่นชมจากคนที่ชื่นชอบ

อันที่จริงก่อนหน้าที่อู้จะเข้ามา แสนสิริให้ความสำคัญกับงานศิลปะอยู่แล้ว เห็นได้จากที่เคยซื้องานศิลปะของศิลปินระดับโลกเข้ามาจัดแสดงในเลานจ์และในบางโครงการ เมื่อบวกกับมีตำแหน่ง “ประธานผู้บริหารฝ่ายสร้างสรรค์” ที่ตั้งขึ้นมาใหม่ จึงได้เห็นความชัดเจนเอาจริงเอาจังในด้านศิลปะมากขึ้น

“การเอาศิลปะเข้ามา เป็นการสร้างความแตกต่างของเรากับบริษัทอสังหาฯเจ้าอื่น อย่างที่เห็นว่าโครงการในเมืองไทยเหมือนกันหมดเลย ทั้งดีไซน์ วัสดุ เข้าไปดูแล้วเหมือน ๆ กัน ถ้าไม่ดูที่ป้ายก็แทบไม่รู้ว่าเป็นของเจ้าไหน ตั้งแต่เข้ามา 1 ปีก็เลยพยายามเอาอะไรใหม่ ๆ เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงด้านดีไซน์ดีเวลอปเมนต์ ด้านคอร์ปอเรตคอมมิวนิเคชั่น การเปลี่ยนแปลงทางด้านการตลาดของโปรดักต์  เอาไลฟ์สไตล์คอนเทนต์เข้ามาใส่ในโปรแกรมที่จะใส่เข้าไปในโปรดักต์” อู้ พหลโยธินบอก

ส่วนในด้านการตอบสนองความต้องการของคนยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม อู้เล่าว่า คอนโดฯใหม่ ๆ ขนาดเล็กลง ตอนนี้คอนโดฯ 1 ห้องนอนมีขนาดประมาณ 26 ตร.ม. ด้วยพื้นที่ที่ลดลง เขาจึงตั้งโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้คุณภาพชีวิตของลูกบ้านไม่ลดตามไปด้วย ด้วยความเข้าใจว่าในห้องส่วนตัวมีพื้นที่ลดลง จึงต้องมีไลฟ์สไตล์สเปซส่วนกลางมาซัพพอร์ต

ยกตัวอย่างสิ่งที่ทำไปแล้ว เช่น การสร้าง co-kitchen เป็นครัวกลางให้คนในโครงการสามารถใช้ทำอาหารได้ ทดแทนพื้นที่ครัวภายในห้องที่เหลือพื้นที่เพียงเล็กน้อย หรือบางโครงการมีสตูดิโอถ่ายภาพให้ เพราะเห็นว่าลูกบ้านทำธุรกิจขายของออนไลน์ ต้องมีพื้นที่ถ่ายภาพสินค้า นอกจากนั้นยังมี co-sharing ให้ใช้บริการ facility ข้ามโครงการในแบรนด์เดียวกัน เช่น แบรนด์ A มีอยู่ 3 โครงการ ซึ่ง facility ใน 3 โครงการอาจจะต่างกัน ลูกบ้านก็สามารถใช้ข้ามโครงการได้ โดยสามารถจองผ่านออนไลน์ได้ทั้งหมด

ในด้านการมอบประสบการณ์ก็เดินหน้าเต็มที่ เมื่อปลายปีที่ผ่านมามีการเปิด “สิริเฮาส์” ที่เดมพ์ซีย์ ฮิลล์ ประเทศสิงคโปร์ เป็นไลฟ์สไตล์ฮับที่ต้องการให้คนต่างชาติรู้จักแบรนด์และรู้จักเมืองไทย และในเดือนมีนาคมนี้จะเปิด “บ้านแสนสิริ” ที่ซอยสมคิด เป็นไลฟ์สไตล์ฮับที่รวมไว้ครบทั้งร้านอาหาร คาเฟ่ บาร์ ร้านดอกไม้ ร้านขายแผ่นเสียงที่ตั้งใจให้เกิดคอมมิวนิตี้คนรักแผ่นเสียง

สำหรับภาพใหญ่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นกับแสนสิริในปี 2019 อู้พูดถึงด้านดีไซน์ ซึ่งเป็นดีเอ็นเอของแสนสิริ โดยในปีนี้ได้คว้าตัวดีไซเนอร์ระดับท็อปของโลกมาร่วมงานถึง 3 คน ซึ่งอู้บอกว่า “เป็นอะไรที่ตื่นเต้นมาก”

เหตุผลที่ทำอะไรแต่ละอย่างต้องทำอย่างยิ่งใหญ่และต้องเป็นระดับเวิลด์คลาส อู้บอกว่า “แสนสิริทำอะไรก็อยากจะ best in class อยู่แล้ว ทำอะไรก็อยากจะไปให้ไกลเลย ถ้าเราจะต้องเป็นตัวอย่างให้คนก๊อปแล้ว เราเอาตัวอย่างดี ๆ มาให้เขาดูดีกว่า”

อีกเหตุผลหนึ่ง เขาบอกว่า ไม่ใช่แค่ทำเพื่อขาย แต่เป็นการทำเพื่อเอดูเคต เพื่อสร้างดีเอ็นเอใหม่ในสำนักงานด้วย การได้คนระดับปรมาจารย์เข้ามาทำงานถึงที่ เป็นโอกาสดีที่คนในทีมจะได้เรียนรู้ ได้สัมผัสกับของจริง ได้สัมผัสกับอินเนอร์และเทสต์ของคนระดับปรมาจารย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ศึกษาตามอินเทอร์เน็ตไม่ได้

“เป็นโอกาสที่ดีมากที่จะสร้างความแตกต่างให้กับแสนสิริ อยากให้คนในของเราเรียนรู้ นอกจากนำมาสเตอร์เข้ามา ก็ได้นำทีมของเราออกไปด้วย ผมต้องพาน้อง ๆ จากหลายทีมไปดูงานว่าเขาไปไกลถึงไหนแล้ว ให้ไปสัมผัสว่าล็อบบี้ของโรงแรม หรือคอนโดฯใหม่ ๆ หรือร้านอาหาร คลับ เขาเป็นยังไงบ้าง ไปเวิร์กช็อปที่สำนักงานของดีไซเนอร์พวกนี้เลย เราจะต้องไม่หยุดเอดูเคตคนในองค์กร เพราะถ้าจะบอกให้เขาทำอย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่ได้สัมผัสของจริง มันก็ยาก”

เขาบอกว่า สิ่งใหม่ ๆ ที่นำเข้ามายังไม่เห็นผลทั่วทั้งองค์กร เพราะการเปลี่ยนแปลงการทำงานไม่สามารถเปลี่ยนได้ในเร็ววัน วิธีการทำงานที่เคยชินกันมานาน ไม่ใช่สิ่งที่จะเปลี่ยนง่าย ๆ ซึ่งเขาก็พยายามสอดแทรกเข้าไปเท่าที่จะเข้าไปได้ เริ่มจากการทำงานในทีมของตัวเองจำนวนน้อย ๆ ที่นำเข้ามาในองค์กร เมื่อคนเก่าในองค์กรเริ่มเห็นผลงานที่ทำ ก็เกิดการยอมรับ อยากเข้ามามีส่วนร่วมด้วย

“เป็นเหมือนการพยักหน้าตอบรับเราว่า โอเค คุณเข้าแก๊งเราได้แล้ว สิ่งที่คุณทำ พวกเรายอมรับแล้ว”

ถามถึงเวลาส่วนตัว อู้บอกว่า “แทบไม่มี” แต่เขาก็บอกอีกว่า ด้วยความที่งานที่ทำเป็นงานที่เอ็นจอย ได้เดินทางไปเมืองนอก ได้เห็นอะไรต่าง ๆ มีความเปลี่ยนแปลง ไม่จำเจ จึงไม่มีโมเมนต์การทำงานที่รู้สึกว่าน่าเบื่อ เป็นงานที่ทำแล้วแฮปปี้สุด ๆ