“พศิน ลาทูรัส” ทายาท NaRaYa กระเป๋าผ้าพันล้าน ผู้หลงใหลตู้ปลาและการแข่งรถ

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ชื่อของ นารายา (NaRaYa) น่าจะเป็นที่คุ้นหน้าคุ้นตาของใครหลายคน เพราะแบรนด์กระเป๋าสัญชาติไทยเจ้าดังไม่ได้มีชื่อเสียงเพียงแค่ในประเทศเท่านั้น แต่นารายายังถูกพูดถึงในฐานะของฝากที่หากนักท่องเที่ยวต่างชาติแวะมาเยือนไทยเมื่อใด กระเป๋าผ้าหลากสีสันนี่แหละ คือ must have item ที่ต้องซื้อติดไม้ติดมือหอบกลับไปหลายสิบใบเลยก็มี

ปัจจุบันนารายาก้าวเข้าสู่ปีที่ 30 พร้อมกับการปรับเปลี่ยนแบรนด์ในหลาย ๆ พาร์ต ไม่ว่าจะเป็นการขยายแตกไลน์สินค้าให้หลากหลายและตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น รวมถึงการมีเจเนอเรชั่นที่ 2 เข้ามาช่วยงานบริหารในตำแหน่งผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร เตรียมพร้อมรับช่วงต่อในอนาคตนั่นก็คือ พศิน ลาทูรัส ลูกชายวัย 25 ปีของ วาสนาและวาสิลิโอส ลาทูรัส ทายาทเพียงคนเดียวของนารายา กรุ๊ป

พศินเริ่มเข้ามาเรียนรู้ธุรกิจตั้งแต่อายุยี่สิบต้น ๆ พร้อมกับการทำงานอดิเรกที่เขารักอย่างการแข่งรถควบคู่ไปด้วย แต่พอเรียนจบและได้ลงมาช่วยงานที่บ้านเต็มตัว การแข่งรถจึงเป็นอันต้องหยุดชะงักไปก่อน เพราะการบาลานซ์ทั้งแข่งรถและบริหารงานในช่วงเวลาเดียวกันเป็นสิ่งที่คอนโทรลได้ยาก สุดท้ายเขาจึงตัดสินใจย้ายกลับมาที่เมืองไทยเพื่อทำในส่วนของธุรกิจให้เสถียรก่อน จากนั้นจึงจะสามารถกลับไปแข่งรถได้

ความสนใจด้านการแข่งรถของพศินไม่ได้เป็นเพียงงานอดิเรกชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น แต่เขายังให้ความสำคัญและมุ่งมั่นถึงขนาดเคยคว้ารางวัลชนะเลิศจากรายการเซอร์กิตเดสปา-ฟรองโกชองส์ที่เบลเยียมมาแล้ว พศินบอกว่าการแข่งรถถือเป็นพาร์ตใหญ่ของชีวิตเลยก็ว่าได้

ชายหนุ่มอารมณ์ดี ยิ้มเก่ง เล่าถึงจุดเริ่มต้นความสนใจกีฬาแข่งรถว่า เริ่มจากการขับรถโกคาร์ตในงานวันเกิดเพื่อนตอนอายุ 12 ขวบ แม้จะรู้สึกกลัวความเร็วอยู่บ้าง แต่ในความกลัวนั้นก็มีความตื่นเต้นแฝงอยู่ด้วย

ตั้งแต่นั้นมา พศินจะไปฝึกขับรถกับพ่อทุกวันหลังเลิกเรียน จากการขับโกคาร์ตฝึกฝนจนไต่ระดับขึ้นไปเป็นรถขนาดใหญ่สู่นักแข่งทีมเฟอร์รารี่ในปัจจุบัน

กว่าจะเข้าไปแข่งในทีมเฟอร์รารี่ได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย พศินบอกว่าเขาเริ่มจากการแข่งในเอเชียกับทีมบีเอ็มฯที่มาเลเซีย เซี่ยงไฮ้ และญี่ปุ่นก่อน เรื่องค่าใช้จ่ายในการแข่ง พศินเป็นคนควักกระเป๋าจ่ายเองทั้งหมด จากนั้นจึงค่อย ๆ ขยับไปแข่งในระดับยุโรปและอเมริกา ทำให้เริ่มมีสปอนเซอร์เข้ามาช่วยซัพพอร์ตมากขึ้น ซึ่งรายการที่พศินลงแข่งก็มีทั้งแบบ 24 ชั่วโมง, 12 ชั่วโมง และ 6 ชั่วโมง

นอกจากการแข่งรถแล้ว อีกหนึ่งความชอบของพศินที่ดูจะสวนทางกับความเร็วอยู่หน่อย ๆ ก็คือ การเลี้ยงปลา ชอบถึงขนาดที่ทำอควาเรียมย่อม ๆ ไว้ภายในบ้านกันเลย ขณะเดียวกันในห้องทำงานของเขาก็มีตู้ปลาเอาไว้มองเพลิน ๆ ระหว่างทำงาน พศินบอกว่าความชอบส่วนนี้อาจจะเป็นคู่ตรงข้ามกับความเร็วจากการแข่งรถ เพราะการได้ลองพักเบรกจากสปีดบนสนามมานั่งฟังเสียงน้ำ มองดูปลาว่ายไปมาก็ทำให้ใจเย็นลงบ้าง หากวันไหนกลับจากออฟฟิศมาเหนื่อย ๆ เขาชอบที่จะมานั่งดูปลาว่ายไปมามากกว่าออกไปแฮงเอาต์ข้างนอก ส่วนปลาที่เลี้ยงก็ไม่ใช่ปลาสวยงามทั่วไป แต่เป็นนักล่าอย่างปลาช่อนยักษ์อเมซอน

“ผมเริ่มซื้อปลามาเลี้ยงตั้งแต่อายุ 18-19 ทยอยซื้อมาเรื่อย ๆ จนมีช่วงหนึ่งบ้ามากต่อเติมฟากหนึ่งของห้องทำเป็นตู้อควาเรียม ลึก 4 เมตร ยาว 13 เมตร เวลาทำความสะอาดต้องลงไปว่ายเช็ดกระจกกันเลย ปลาที่ผมเลี้ยงอาจจะดูไม่ค่อยสวยงามสำหรับคนไม่ชอบปลา แต่ผมชอบดูเวลามันว่ายแล้วค่อย ๆ กินเนื้อ พอมันเริ่มเป็นผู้ล่าผมว่ามันน่าสนใจ” พศินเล่าถึงเสน่ห์ของปลาที่เขาชื่นชอบ ซึ่งแน่นอนว่าในความเงียบสงบของเสียงน้ำก็มีความท้าทายน่าตื่นเต้นที่คล้ายกับการแข่งรถอยู่ด้วย

ส่วนเป้าหมายในเส้นทางความเร็ว พศินตั้งเป้าแข่งให้ครบ 4 สนาม ที่เป็น “บักเก็ตลิสต์” ในวงการแข่งรถ ซึ่งตอนนี้เขาเข้าแข่งขันมาแล้ว 2 รายการ ได้แก่ เดย์โทนา ที่อเมริกา และเซอร์กิตเดอสปา-ฟรองโกชองส์ที่เบลเยียม เหลืออีก 2 สนามคือ เล มานส์ ที่ฝรั่งเศส และนูร์เบอร์กริง ที่เยอรมนี ซึ่งพศินมองว่า นี่คือ 2 สนามใหญ่ที่แชลเลนจ์ตัวเขาในฐานะนักแข่งรถเป็นอย่างยิ่ง

แต่ก่อนที่จะทำ “บักเก็ตลิสต์” อีก 2 สนามลุล่วงไปได้ พศินเลือกสวิตช์ตัวตนจากความฝันนักแข่งรถสู่บทบาทนักธุรกิจรุ่นใหม่ เขาเริ่มต้นเล่าว่า ตอนเข้ามาทำงานแรก ๆ ไม่มีความรู้ด้านการบริหารมาก แต่เพราะมีทีมที่ดีจึงสามารถปั้นโปรเจ็กต์แรกสำเร็จได้ ซึ่งโปรเจ็กต์ที่ว่าก็เป็นส่วนสำคัญที่พศินใช้เป็นเครื่องพิสูจน์ตัวเองกับครอบครัวด้วย

“โปรเจ็กต์แรกที่ผมทำ คือ เปิดคลังกระจายสินค้าเพื่อขยายฐานรองรับการเติบโตของบริษัท เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมานารายา กรุ๊ปมีการเติบโตสูงมาก ผมมองว่าเรื่องคลังสินค้าเป็นสิ่งสำคัญ เราต้องใส่ใจตั้งแต่ขั้นตอนการจัดเก็บของก่อนไม่ใช่อยู่ดี ๆ มีออร์เดอร์มาแต่หาของส่งไปไม่ทันมันไม่ได้ ตอนแรก ๆ ที่เข้ามาบริหารคุณพ่อคุณแม่ท่านก็มีกังวลอยู่บ้าง แต่เราก็พิสูจน์ให้เห็นว่า เราทำได้ เราดูแลตัวเองได้ พยายามเอาความคิดไอเดียใหม่ ๆ มาเสนอ ซึ่งท่านก็รับฟัง ไม่ปฏิเสธก่อน ถ้ามีเหตุผลจะบอกว่าลองดู ถ้าพลาดก็ให้ลองใหม่ เราโชคดีที่มีโอกาสแบบนี้ ทำให้เรียนรู้ได้เร็ว และเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเองไม่ใช่เรียนรู้จากที่คนอื่นบอกว่าทำไม่ได้ทั้งที่เรายังไม่ได้ลอง”

พศินเล่าต่อว่า โปรเจ็กต์ขยายคลังสินค้าที่มีมูลค่าเกือบ 1,000 ล้านบาทผ่านไปได้ด้วยดี ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะตัวเขาได้เข้าไปคลุกคลีในโรงงานตั้งแต่เด็ก โดยที่ไม่ได้คิดว่าเป็นการปูทางหรือเก็บเกี่ยวความรู้ในฐานะทายาทของบริษัท เป็นเพียงความสนุกในทุกช่วงปิดเทอมเท่านั้น พอมองย้อนกลับไป การเข้าไปช่วยงานในหลาย ๆ ส่วนของแบรนด์ทั้งทำหน้าที่แคชเชียร์ ลูกค้าสัมพันธ์ และฝ่ายงานบรรจุภัณฑ์ ก็ทำให้เขาได้เรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยมาเรื่อย ๆ

จากมุมมองที่เปิดกว้างของครอบครัวเขามักจะนำไอเดียใหม่ ๆ เข้ามาปรับจูนกับสไตล์การทำงานตลอด นอกจากการนำเรื่องเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาผสานกับการทำงานแล้ว ตัวตนความเป็นลูกครึ่งไทย-กรีก บวกกับมุมมองแบบนักเรียนนอกการทำงานของพศินจึงเน้นความตรงไปตรงมา และระดมความคิดเห็นจากทีมมากกว่าจะยึดเสียงตัวเองอย่างโดด ๆ แต่สิ่งที่เขาเจอกลับพบว่า พนักงานหลายคนเกรงใจและไม่กล้าออกไอเดียอะไรมาก เพราะมองว่าเป็นลูกเจ้านาย ทำให้พศินต้องคอยดึงให้ทุกคนช่วยกันโต้ตอบมีปฏิสัมพันธ์กันมากกว่านี้

“เวลาทำงานผมจะค่อนข้างกันเอง ไม่ค่อยซีเรียส ไม่อยากให้มองว่าเป็นลูกเจ้านายแล้วจะเสนอความคิดเห็นอะไรไม่ได้ เราต้องแชร์กันเพราะเป็นทีมเดียวกัน ทีมเราทำงานกันแบบ always on ทุกคนสามารถโทร.หรือไลน์หากันได้ตลอดเวลา ถ้าอยู่ ๆ เกิดปิ๊งไอเดียอะไรขึ้นมาก็โทร.หาได้เลย เคยมีดึกสุดที่ไลน์มาประมาณตีสองตีสามพอตื่นมาเห็นก็ลุยต่อทันที ส่วนเรื่องไอเดียใหม่ ๆ คงจะเป็นพวกเทคโนโลยีที่ดึงเข้ามาแล้วช่วยพัฒนาส่วนการจัดเก็บและการกระจายสินค้าได้ดีขึ้น อย่างพวกเรื่อง working environment ดูเรื่องไฟ เรื่องฝุ่น ระบบหมุนเวียนอากาศ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เร็วและดียิ่งขึ้น”

ด้วยความตรงไปตรงมาสไตล์นักเรียนนอก พศินเองก็ยอมรับว่า ตรงนี้เป็นปัญหาในการดีลงานอยู่เหมือนกัน ต้องมีการปรึกษาคุณแม่เรื่องการเลือกใช้คำพูดอยู่บ้าง เพราะบางคำที่เป็นภาษาอังกฤษเมื่อนำมาแปลเป็นไทยอาจจะทำให้ความหมายบิดพลิ้วและไม่ตรงกับความตั้งใจในการสื่อสาร ทางคุณแม่จะให้คำแนะนำว่าพูดอย่างไรให้คนเข้าใจ เพราะการจะปั้นทีมที่ดีขึ้นมาได้ก็ค่อนข้างยากพอสมควร ต้องดูว่าแต่ละคนเป็นอย่างไร ค่อย ๆ แก้ไปทีละจุดเพื่อสร้างทีมให้แข็งแกร่งขึ้น

หลังจากโปรเจ็กต์คลังสินค้า พศินเดินหน้าต่อกับ “นารายา ทีรูม” ที่ไอคอนสยาม เขาบอกว่าเป็นทั้งความท้าทายและความสนุกไปพร้อม ๆ กัน นับว่าเป็นครั้งแรกที่นารายาเดินหน้าเข้าสู่ตลาดอาหารและเครื่องดื่ม (F&B) และแน่นอนว่าการจัดเก็บสินค้าอย่างกระเป๋าและอาหารเป็นคนละเรื่องกันโดยสิ้นเชิง แม้ว่านารายา ทีรูมจะตั้งอยู่ในทำเลหรูอย่างไอคอนสยาม แต่พศินยังคงรักษาคอนเซ็ปต์เดิมของทางแบรนด์ไว้ คือต้องเข้าถึงทุกคนด้วยราคาและคุณภาพที่เหมาะสม

ส่วนเป้าหมายของนารายาในอนาคตพศินบอกว่า เมื่อก่อนเคยวางแผนยาว ๆ 7-8 ปี แต่ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปมาก การวางแผนแบบปีต่อปีจึงอยู่ในระดับที่กำลังดี โดยเป้าหมายในระยะสั้น ๆ นี้คือขยายตลาดต่างประเทศซึ่งการจะไปถึงเป้าหมายที่บริษัทคาดหวังไว้ได้สิ่งสำคัญ คือ กำลังการผลิตที่เข้มแข็ง พศินมั่นใจว่านี่คือจุดแข็งที่สุดของนารายา

“ผมคิดว่าเราช่วยดูแลชาวบ้าน ให้เขาหารายได้เพิ่มโดยที่ไม่ลำบากสำหรับเขามาก ในส่วนของ open sources production ทั้ง 4,000 ครอบครัว แต่ละปีจะมีช่วงทำนาของเขา พอหมดฤดูทำนาจะมีช่วงว่าง เราก็อาศัยเวลาตรงนั้นให้เขาผลิตกระเป๋า ทำให้มีรายได้เสริมเข้าไปอีกทาง ถ้ารวม ๆ ทั้งฝั่งเมกเกอร์ที่เป็น open sources production และในโรงงานเรามีประมาณ 3,000-4,000 คน ปีที่ผ่านมาเราลงทุนเปิดร้านใหม่ 13-14 สาขาภายใน 6 เดือน ถือว่าเป็นการเติบโตที่ไวมาก ตอนนี้ก็มีการมองเรื่องส่งออกไว้หลายที่ ทั้งยุโรป อังกฤษ จีน สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และอินเดีย”

“เราคือสินค้าสำหรับทุกคน” เป็นประโยคที่พศินเน้นย้ำตลอดการพูดคุย แม้ว่าสินค้าตัวล่าสุดของนารายาจะมีการนำผ้าไหมมาทำกระเป๋า แต่ราคาก็ไม่ได้พุ่งสูงเกินเอื้อมไปกว่าเดิมมาก ตามคอนเซ็ปต์เดิมที่ทางแบรนด์ยึดมั่นมาตลอด 30 ปี คือราคาย่อมเยา วัสดุทนทาน เลอะได้ ซักล้างได้ ใช้ได้ทุกวัน