วงการแฟชั่นจะเปลี่ยนมากแค่ไหน เมื่อไม่มี Karl Lagerfeld

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง


วงการแฟชั่นถึงคราวโศกเศร้าอีกครั้ง เมื่อคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ (Karl Lagerfeld) ดีไซเนอร์ระดับไอคอนและตำนานของวงการ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของแบรนด์ดังหลายแบรนด์เสียชีวิตลงในวัย 85 ปี เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ความสูญเสียครั้งนี้ นับว่าเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการแฟชั่นโลก เพราะคาร์ลไม่ใช่แค่ดีไซเนอร์ชื่อดังคนหนึ่ง แต่เขาคือคนที่ทั้งวงการแฟชั่นยกย่องว่าเป็นแรงบันดาลใจ เป็นตัวแทนแห่งความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ที่เป็นความภูมิใจของวงการ และเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนวงการแฟชั่นมาอย่างยาวนาน

ในโอกาสนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” ขอนำเสนอเรื่องราวของดีไซเนอร์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคคนนี้ ตั้งแต่เส้นทางอาชีพ ความสำเร็จ และอิทธิพลของเขาที่มีต่อวงการ รวมถึงหาคำตอบว่า เมื่อไม่มีคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์แล้วจะส่งผลต่อวงการและแบรนด์ต่าง ๆ อย่างไรบ้าง

 

เส้นทางสร้างชื่อ Karl Lagerfeld

คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เป็นชาวเยอรมันโดยกำเนิด แต่เขาย้ายไปเริ่มเส้นทางอาชีพและใช้ชีวิตในฝรั่งเศส เมืองหลวงแฟชั่นโลก และทำงานในวงการแฟชั่นจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต

เขาเข้าสู่วงการแฟชั่นโดยการเข้าแข่งขันการออกแบบที่จัดโดยสมาคมขนสัตว์นานาชาติ ในปี 1954 ซึ่งเขาชนะเลิศการประกวดครั้งนั้น และเสื้อโค้ตที่เขาออกแบบถูกนำไปผลิตโดยแบรนด์บัลแม็ง (Balmain) และนั่นเป็นโอกาสก้าวสำคัญของคาร์ล เมื่อปิแอร์ บัลแม็ง (Pierre Balmain) ดีไซเนอร์ดังในยุคนั้นได้เลือกคาร์ลไปทำงานเป็นผู้ช่วยของเขา

หลังจากทำงานเป็นผู้ช่วยบัลแม็งได้ระยะหนึ่ง คาร์ลขยับขยายย้ายไปทำงานเป็นอาร์ต ไดเร็กเตอร์ กับ ฌ็อง ปาตู (Jean Patou) ในปี 1957

วิถีแบบทั่วไปไม่อาจนำมาซึ่งความยิ่งใหญ่กว่าคนทั่วไป กับคาร์ลก็เป็นเช่นนั้น เพราะวิถีที่เขาเลือกคือ การออกมาเป็นดีไซเนอร์อิสระเมื่อปี 1962 ซึ่งนับว่าเขาเป็นดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์คนแรก ๆ ของวงการเลยทีเดียว ในช่วงที่เป็นฟรีแลนซ์ คาร์ลได้สร้างสรรค์ผลงานให้กับแบรนด์ มาริโอ วาเลนติโน (Mario Valentino), โคลเอ้ (Chloe) และชาร์ลส จอร์แดน (Charles Jourdan)

ปี 1965 คาร์ลร่วมงานกับแบรนด์เฟนดิ (Fendi) และทำมาจนถึงปัจจุบันในตำแหน่งครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แผนกเสื้อผ้าสตรีและขนสัตว์ คาร์ลมีอิทธิพลต่อการออกแบบของเฟนดิตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลา 54 กว่าปี

ปี 1975 คาร์ลเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์คนแรกที่ครีเอตน้ำหอมที่ไม่มีฉลากออกมาภายใต้แบรนด์โคลเอ้ แม้ว่าเขาไม่ใช่ดีไซเนอร์คนแรกที่ทำน้ำหอม แต่สิ่งที่ทำให้เขาโดดเด่นกว่านักออกแบบที่ทำงานกับแบรนด์ใหญ่ ๆ คือ เขาเป็นคนแรกที่ได้ใช้นามสกุลของตัวเองเป็นชื่อโปรดักต์ภายใต้แบรนด์ใหญ่

 

ปลุก Chanel จากความหลับใหลสร้างตำนานบทใหม่

ปี 1983 คาร์ลเข้ามาร่วมงานกับแบรนด์ชาแนล (Chanel) ในตำแหน่งครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ และเขาได้ช่วยให้ชาแนลพ้นวิกฤตทางการเงิน เนื่องจากในยุคนั้น หลังจากที่โคโค่ ชาแนล (Coco Chanel) ผู้ก่อตั้งแบรนด์เสียชีวิตไปในปี 1971 ชาแนลกำลังหลงทางหันเข้าสู่กระแสแฟชั่นของยุคนั้น ซึ่งนั่นถือเป็นความผิดพลาดล้มเหลว เมื่อคาร์ลเข้ามา เขาจึงตั้งใจเปลี่ยนแปลงมัน และเขาก็ทำได้สำเร็จ โดยการนำความคลาสสิกในแบบของชาแนลมาผสมผสานปรุงแต่งเข้ากับความล้ำในแบบของเขา

คาร์ลเปรียบเทียบสถานการณ์ของชาแนลในตอนนั้นว่า “เป็นความงามที่หลับใหล” และเขาต้องปลุกมันขึ้นมาให้สวยงามมีชีวิตชีวา หนึ่งในสิ่งที่เขาทำคือเปลี่ยนชาแนลจากแบรนด์ที่โฟกัสการขายน้ำหอมให้เป็นแบรนด์ที่โฟกัสสินค้าแฟชั่น

ตอนนั้นเขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “อะไรที่ผมออกแบบโคโค่ (ชาแนล) คงไม่ชอบ แต่แบรนด์ก็เป็นแค่สัญลักษณ์ ผมต้องมาอัพเดตให้มันมีอะไรใหม่ ๆ ผมทำสิ่งที่เธอไม่ได้ทำไว้ ผมต้องทำสิ่งที่เป็นตัวเอง ผมต้องเอาตัวเองออกมาจากสิ่งที่ชาแนลจะเป็นหรือควรจะเป็น”

ผลงานสำคัญที่สุดของคาร์ลกับชาแนลคงจะเป็นการให้กำเนิดโมโนแกรม CC ไขว้กัน ซึ่งสามารถวางลงตัวกับทุกไอเท็ม ไม่ว่าจะเป็นกระเป๋า รองเท้า เข็มขัด เสื้อผ้า หรือเป็นตุ้มหู เข็มกลัด กลายเป็นสัญลักษณ์ติดตาที่ทำให้รู้ว่านี่คือชาแนลมาจนถึงทุกวันนี้

คาร์ลประสบความสำเร็จกับชาแนลและทำงานกับชาแนลเรื่อยมา ด้วยความคิดสร้างสรรค์และพลังงานอันน่าทึ่ง เขาสร้างสรรค์คอลเล็กชั่นใหม่ ๆ ออกมาให้วงการแฟชั่นฮือฮาเสมอ ๆ ควบคู่กับการจัดแฟชั่นโชว์ที่สุดครีเอตอลังการ จนทำให้ใคร ๆ ที่สนใจแฟชั่นก็ต้องเฝ้ารออยากดูแฟชั่นโชว์ของชาแนลว่าจะออกมาในรูปแบบไหน

REUTERS/Gonzalo Fuentes

ขณะเดียวกับที่ทำงานกับชาแนล คาร์ลได้ก่อตั้งแบรนด์ Karl Lagerfeld และร่วมงานกับแบรนด์อื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์ชั้นสูงหรือแบรนด์ฟาสต์แฟชั่น แต่งานหลักภารกิจใหญ่ของเขาก็ยังคงเป็นการพาชาแนลครองความเป็นผู้นำต่อไป

 

แรงบันดาลใจ-อิทธิพลของคาร์ลต่อวงการแฟชั่น

ด้วยผลงานความคิดสร้างสรรค์อันเหนือชั้น การทำงานหนัก และวิธีคิดในแบบที่หาได้ยากยิ่ง ทำให้คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ไม่ใช่เพียงเป็นดีไซเนอร์ชื่อดังคนหนึ่ง แต่เขาคือไอคอนของยุคสมัย เป็นแรงบันดาลใจของคนในวงการแฟชั่นทั่วโลก

ตลอดเวลา 65 ปี ที่คาร์ลโลดแล่นอยู่ในวงการนี้ ผลงานของเขาสร้างอิมแพ็กต์มากมาย และบางอย่างที่เขาทำถือว่าเป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมแฟชั่นเลยก็ว่าได้ ที่สำคัญคือเขาเป็นคนสำคัญที่มีส่วนในการขับเคลื่อนวงการแฟชั่นโลก ดังที่ เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) ประธานและซีอีโอบริษัท LVMH บริษัทแม่ของแบรนด์ชาแนลและแบรนด์หรูอีกหลายแบรนด์ กล่าวว่า “การจากไปของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ทำให้เราสูญเสียอัจฉริยะด้านการสร้างสรรค์ ผู้ซึ่งช่วยให้ปารีสกลายเป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่นของโลก”

หมู-พลพัฒน์ อัศวประภา หรือ หมู ASAVA ดีไซเนอร์ชื่อดังของไทย แสดงมุมมองที่มีต่อคาร์ลว่า ที่ฝรั่งเศสมีสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแฟชั่นอยู่ 3 คน คือ คริสเตียน ดิออร์ (Christian Dior), อีฟส์ แซงต์ โลรองต์ (Yves Saint Lau-rent) และโคโค่ ชาแนล (Coco Chanel) สำหรับคาร์ลที่เข้ามาสานต่อและปลุกชีพชาแนลขึ้นมาทำให้ชาแนลเป็นแบรนด์ที่เข้มแข็ง เป็นตำนานแฟชั่นโลกมานาน 30 กว่าปี และเป็นคนที่สร้างสรรค์ผลงานยอดเยี่ยมระดับ hit the jackpot มาตลอด ขณะที่ดีไซเนอร์คนอื่นทำแจ็กพอตได้ 2-3 ครั้งก็ถือว่าดีแล้ว จึงนับว่าคาร์ลเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ 4 ของวงการแฟชั่นก็ว่าได้

“คาร์ลเป็น designer of designers เป็นครูที่ดีไซเนอร์ต้องมอง เขาไม่กลัวการเปลี่ยนแปลง เขาพลิกเกมตลอดเวลา ทำให้รู้สึกว่าชาแนลไม่แก่ เขาวิ่งไปข้างหน้าอย่างล้ำสมัยแต่ยังมีความต่อเนื่องกับอดีต ทำให้คนบริโภคไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกวิ่งนำ แต่เป็นการเดินจูงมือไปด้วยกัน ไม่ขาดการเชื่อมโยง จะเห็นได้ว่าคนที่เป็นแฟนชาแนลใส่มาตั้งแต่รุ่นย่าจนรุ่นหลาน ซึ่งเป็นผลจากความหลักแหลมของคนออกแบบ เป็นความร่วมสมัยในความคลาสสิก”

“คาร์ลเป็นดีไซเนอร์ที่ฉลาดมาก สิ่งที่น่าจดจำ คือ มุมมอง วิธีคิด แอตติจูดของเขา เขาเป็นคนซ่า เปรี้ยว นำสมัย ขณะเดียวกันก็แฝงความฉลาดหลักแหลมและตัวตนที่ชัดเจน อีกสิ่งที่ชื่นชมคือ ในความนิ่งมีความเคลื่อนไหว มันคือวิทยายุทธ์ขั้นสูงสุด ไม่ต้องวิ่งเร็ว แต่มีความเคลื่อนไหว ทำให้คนรู้สึกว่า ถ้าลงทุนกับชาแนลแล้วจะอยู่กับมันได้อีกนาน โดยไม่รู้สึกว่าเก่าหรือแก่ เป็นพรสวรรค์ของดีไซเนอร์ที่คิดอย่างนี้ได้ อีกสิ่งมหัศจรรย์ของคาร์ลนอกเหนือจากผลงานการออกแบบคือแฟชั่นโชว์ที่ถือว่าเป็น The grand show of the world เป็นการผนวกเอ็นเตอร์เทนเมนต์เข้ากับแฟชั่น เข้ากับความเป็นโอต์กูตูร์ ทำให้เป็นแฟชั่นโชว์ที่ต้องจับตามองเสมอ”

REUTERS/Stephane Mahe

ในแง่แรงบันดาลใจ หมูบอกว่า สิ่งที่ตัวเขาได้จากคาร์ล คือ วิธีคิด มุมมอง การมองโลก คาร์ลเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ใส่ใจและจดจ่อกับสิ่งที่ทำ เป็นคนเรียนรู้เสมอ เป็นคนรู้ลึกรู้จริงในสิ่งที่ทำ

“ทั้งชาแนลและคาร์ลเหมือนกันคือเป็นในแบบที่ตัวเองเป็น สร้างตัวตนในแบบที่เป็น เขามีความมุ่งมั่นที่จะเป็นคนคนนี้ การที่เขาเดินทางมาถึงจุดนี้มันต้องใช้พลังและความสร้างสรรค์สูงมาก เขาเชื่อในสิ่งที่ทำ เขาเชื่อว่ามันมีคุณค่า และเขาทำให้คนเชื่อ ทำให้คนศรัทธา ซึ่งความเชื่ออันนี้มันมีมูลค่ามหาศาล สำหรับคาร์ลเสื้อผ้าไม่ใช่แฟชั่น แต่มันคือแอตติจูด มันคือการเปลี่ยนแปลง ซึ่งผมได้นำเอาวิธีคิดของเขามาย่อยในหัวแล้วสร้างงานในแบบของตัวเอง เขาเป็นแรงบันดาลใจของดีไซเนอร์มากมายทั่วโลก รวมถึงคนอาชีพอื่นที่ได้สัมผัสกับเขา ไม่ว่าจะเป็นช่างภาพ นางแบบ ก็คงรู้สึกว่าเขาไม่ได้เป็นแค่ดีไซเนอร์”

ด้าน ดวง-วรรณพร โปษยานนท์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารฮาร์เปอร์ส บาร์ซาร์ ประเทศไทย กล่าวว่า คาร์ล นับเป็นบุคคลระดับไอคอนที่เป็นส่วนสำคัญมากในการขับเคลื่อนวงการแฟชั่นโลก

“คาร์ลเป็นแรงบันดาลใจของดวงเสมอ เขาคือนักปฏิวัติ เขาคือผู้สร้างความทันสมัยต่อวงการแฟชั่น ทุกครั้งที่ดวงได้ดูเสื้อผ้าที่เขาสรรค์สร้าง ตาของดวงจะเป็นประกายเสมอ มีความรู้สึกว้าวในใจตลอด คาร์ลดำรงดีเอ็นเอหรือเอกลักษณ์ของแบรนด์ชื่อดังเอาไว้ได้อย่างดี แต่คาร์ลก็เข้าใจในตัวแบรนด์และพัฒนาให้แบรนด์มีสิ่งใหม่ ๆ เสมอ ดวงมีโอกาสเจอเขาหลายครั้งที่แฟชั่นโชว์ที่มิลาน และปารีส ดวงชื่นชมคาร์ลมาก และคาร์ลจะอยู่ในใจดวงเสมอ”

ส่วน แป้ง-อรประพันธ์ สุทธินรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์แบรนด์วิคธีร์รัฐ (Vickteerut) มองว่า คาร์ล  ลาเกอร์เฟลด์ เป็นตัวอย่างของความคิดสร้างสรรค์ที่เยี่ยมยอด และยังเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับคนทำงานให้ไม่หยุดคิดสิ่งใหม่ ๆ และสร้างผลงานที่น่าจดจำ เข้ากับยุคสมัย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตาม

“คาร์ลเป็นแรงบันดาลใจและเป็นตัวอย่างของการทำงานหนัก ถึงแม้คาร์ลจะอายุมากแล้วแต่ยังไม่หยุดทำงาน เคยอ่านสัมภาษณ์ของเขา เขาบอกว่างานออกแบบคือลมหายใจของเขา เขาจะไม่หยุดทำงานหากเขายังมีชีวิตอยู่ มันน่าทึ่งมากที่เขาผ่านมาทุกยุค และไม่ว่าจะยุคไหนผลงานของเขาก็ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา”

 

ทั้งวงการอาลัยความสูญเสียครั้งใหญ่แห่งยุค

ทันทีที่มีข่าวว่าคาร์ลเสียชีวิต ผู้คนในวงการแฟชั่นรวมถึงแฟน ๆ ทั่วโลกต่างแสดงความอาลัยต่อการจากไปครั้งนี้ พร้อมถึงกล่าวสดุดีความสามารถระดับอัจฉริยะของคาร์ล ซึ่งยากจะหาใครทัดเทียม

อาเลน เวอร์ไธเมอร์ (Alain Wertheimer) ซีอีโอแบรนด์ชาแนล กล่าวว่า “ต้องขอบคุณความสร้างสรรค์อันอัจฉริยะของเขา ด้วยความเอื้ออาทร ความมีน้ำใจ และความสามารถอันแสนพิเศษ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์คือผู้นำของยุคนี้ ซึ่งมีส่วนอย่างมากมายต่อความสำเร็จของชาแนลทั่วโลก ไม่เพียงแต่ผมสูญเสียเพื่อนไป แต่เราทุกคนต่างสูญเสียความคิดสร้างสรรค์อันยิ่งใหญ่ ซึ่งเราได้ให้อิสระแก่เขาในการเปลี่ยนแปลงสร้างตัวตนใหม่ของแบรนด์นับตั้งแต่ต้นยุค 1980s”

ด้าน เบอร์นาร์ด อาร์โนลต์ (Bernard Arnault) ประธานและซีอีโอของ LVMH บอกว่า “การจากไปของคาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ ทำให้เราสูญเสียอัจฉริยะด้านการสร้างสรรค์ ผู้ซึ่งช่วยให้ปารีสกลายเป็นเมืองหลวงแห่งแฟชั่นของโลก และทำให้เฟนดิ (Fendi) เป็นแฟชั่นเฮาส์อิตาลีที่ล้ำสมัยที่สุด เราเป็นหนี้เขาอย่างมากมาย รสนิยมและความสามารถของเขานั้นยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ผมเคยรู้จัก ผมจะจดจำจินตนาการอันยิ่งใหญ่ของเขาเสมอ ความสามารถในการให้กำเนิดเทรนด์ใหม่ ๆ ในทุกฤดูกาล พลังงานที่ไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยของเขา … โลกแฟชั่นและวัฒนธรรมสูญเสียแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ไป”

แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) บรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก อเมริกา พูดถึงคาร์ลว่า “วันนี้โลกเราสูญเสียยักษ์ใหญ่ในหมู่มนุษย์ คาร์ลเป็นมากกว่านักออกแบบที่ยิ่งใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดของเรา ความคิดสร้างสรรค์อันอัจฉริยะของเขานั้นน่าทึ่งมาก และการได้เป็นเพื่อนกับเขาคือของขวัญอันล้ำค่า คาร์ลยอดเยี่ยมมาก เขาร้าย เขาตลก เขาใจดีมาก ฉันจะคิดถึงเขามาก ๆ”

 

ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีคาร์ล

สำหรับผลกระทบ ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับแบรนด์ต่าง ๆ ที่คาร์ลร่วมงาน หมู อาซาว่า มองว่า ทิศทางของแบรนด์ว่าจะเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหน หรือจะดำเนินตามแนวทางเดิมนั้นขึ้นอยู่กับครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนใหม่ที่มารับช่วงต่อ

“เป็นเรื่องยากที่จะหาตัวแทนของคาร์ล คาร์ลเป็นคนที่สร้างความอุดมสมบูรณ์อย่างต่อเนื่องยาวนาน ฉะนั้นคนที่จะเข้ามาแทนเขาจึงมีภาระใหญ่มากรออยู่ ผมคิดว่าแบรนด์คงจะ struggle อยู่ระยะหนึ่งจนกว่าจะหาคนมาแทนที่ได้ลงตัวและไปต่อได้ ซึ่งคาดเดาไม่ได้ว่าจะนานแค่ไหน ในกรณีของบางแบรนด์ใช้เวลานานเป็น 10-20 ปี แต่บางแบรนด์อาจจะลงตัวเลยตั้งแต่คนแรก”

เมื่อมองแยกแต่ละแบรนด์ หมูมองว่า แบรนด์ชาแนล และเฟนดิ น่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเป็นแบรนด์ใหญ่ที่เข้มแข็ง น่าจะมีการเตรียมตัววางแผนส่งต่อที่น่าจะไปต่อได้ แต่แบรนด์ Karl Lagerfeld น่าเป็นห่วง เพราะแบรนด์นี้คือตัวคาร์ล เมื่อไม่มีคาร์ลจึงน่าจะลำบาก

วรรณพร โปษยานนท์ บรรณาธิการบริหารนิตยสารฮาร์เปอร์ส บาร์ซาร์ ประเทศไทย มองว่า สิ่งที่คาร์ลสร้างไว้ยังคงส่งต่อแรงบันดาลใจอย่างมากให้ทีมนักออกแบบแฟชั่นที่อยู่ล้อมรอบตัวของเขา การทำงานกับห้องเสื้อชั้นสูงชื่อดังมีหลายหน่วยที่เกี่ยวข้อง แบรนด์ใหญ่อย่างเฟนดิและชาแนลมีดีเอนเอของแบรนด์ที่ชัดเจนมาก ทั้งซิลเวีย เวนตูรินี่ เฟนดิ (Silvia Venturini Fendi) เจ้าของที่ทำงานคู่กับคาร์ลก็ยังอยู่ และความเป็นโคโค่ ชาแนล ก็ยังมีอัตลักษณ์ที่ชัดมาก จึงไม่น่าเป็นห่วงแบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั้งสอง

ส่วนความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับวงการแฟชั่นนั้นคงเป็นอย่างที่หลายคนกล่าวไว้ว่า ความคิดสร้างสรรค์ในแบบของคาร์ลที่เคยทำให้วงการเคลื่อนไหวอย่างมีเสน่ห์จะหายไปส่วนหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่คาร์ลสร้างไว้คงจะเป็นการสร้างมาตรฐานขั้นสูงที่คนในวงการจะต้องรันต่อไปให้ไม่ด้อยกว่าที่เคยเป็นมา