ซันเต๋อ หนุ่มตี๋ชอบความสะอาด สู่นักวาดภาพที่สร้างชื่อจาก “ความมินิมอล”

รุ่งนภา พิมมะศรี : เรื่อง

ถ้าให้เดาว่าหนุ่มตี๋ หน้าตาดี รูปร่างสูงโปร่งคนนี้เป็นใคร อาจจะมีหลายคนเดาว่าเป็นนักร้อง ดารานักแสดงวัยรุ่น แต่ความจริงเขาคือคนทำงานศิลปะ นักวาดภาพประกอบ นาม “ซันเต๋อ” หรือ “Suntur” ชื่อจริงว่า ยศนันท์ วุฒิกรสมบัติกุล ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักและมีกลุ่มแฟนคลับของตัวเองมาแล้วหลายปี โดยมีความสะอาด เรียบง่าย แต่แฝงไอเดีย เป็นลายเซ็น

ผลงานภาพประกอบที่ซันเต๋อทำน่าจะเคยผ่านตาหลายคน ไม่ว่าจะเป็นภาพประกอบตามสื่อ ตามโฆษณา หรือบนโปรดักต์ อย่างเช่น งานที่ทำกับแบรนด์ใหญ่อย่างนิทรรศการ “Gift Factory” จัดโดย The Mall หรือคอลเล็กชั่นพิเศษ Objects of Desire กับ Siam Discovery

ส่วนอีกด้านหนึ่งในฐานะคนทำงานศิลปะ ซันเต๋อเคยมีนิทรรศการของตัวเองมาแล้ว ทั้งนิทรรศการ “Zero Decibel” นิทรรศการที่พูดถึงความเงียบ ซึ่งเขาสร้างสรรค์ระหว่างใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์กเมืองที่ห่างไกลจากคำว่า “เงียบ” สุด ๆ, นิทรรศการ Picnic with Suntur ที่ Time Square ฮ่องกง นอกจากนั้น เขายังนำไอเดียและสกิลที่มีต่อยอดทำสินค้าไลฟ์สไตล์ในชื่อแบรนด์ Suntur Store อีกด้วย

Zero Decibel

จากโปรไฟล์และชื่อเสียงในวงการที่ค่อย ๆ สั่งสมมา หนุ่มตี๋ชื่อซันเต๋อคนนี้ถือเป็นคนที่น่าทำความรู้จักและน่าจับตามองคนหนึ่ง

ซันเต๋อเรียนจบคณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังเรียนจบเขาทำงานโฆษณา ขณะเดียวกัน ด้วยความชอบวาดรูป เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่า “การวาดรูปจะเป็นอาชีพเลี้ยงดูเราได้ไหม” จึงเริ่มหาทางทำงานวาดภาพประกอบ

ซันเต๋อเล่าเส้นทางความเป็นมาให้ฟังว่า “ผมอยากทำอาชีพวาดภาพประกอบมาก แต่ผมไม่รู้จะเริ่มทำยังไง จะไปถามใคร เขาก็ไม่ได้แนะนำผม”

ด้วยความที่ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน เขาจึงเอาผลงานของตัวเองโพสต์ลงอินสตาแกรมเมื่อปี 2554 หรือ 8 ปีก่อน ซึ่งในยุคนั้นยังไม่ค่อยมีคนเอาภาพวาดไปเผยแพร่ทางออนไลน์มากนัก เมื่อมีคนเห็นผลงานผ่านทางออนไลน์ ชื่อและงานของ “ซันเต๋อ” จึงเริ่มเป็นที่รู้จักขึ้นมา แล้ว “งาน” ก็ตามมา ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า งานแรกที่ได้รับคืองานวาดภาพประกอบในนิตยสาร Computer Arts

Zero Decibel

“ตอนที่โพสต์ภาพผลงาน เราก็ไม่ได้มีแผนว่าจะลงผลงานเพื่อให้คนจ้าง แต่ลงเพราะเราไม่รู้จะเอางานไปเสนอให้ใคร เหมือนเราโยนงานเราขึ้นไปในอากาศ เผื่อมีคนมาเห็น พอทำทุกวันมันก็มีคนมาเห็น พอคนเห็นผลงานของเรา ก็มีคนเข้ามาจ้างเรา”

เมื่อแจ้งเกิดในฐานะนักวาดภาพประกอบได้แล้ว ซันเต๋อจึงทำงานวาดภาพประกอบควบคู่กับการทำงานโฆษณาอยู่ 5 ปี ก่อนจะตัดสินใจลาออกจากงานโฆษณาไปหาประสบการณ์ต่างแดนที่นิวยอร์ก เมืองแห่งแสงสีและความวุ่นวาย ซึ่งตรงข้ามกับสไตล์ของเขาอย่างสิ้นเชิง

แม้อยู่ในนิวยอร์กที่ซึ่งนิยมศิลปะสีสันจัดจ้าน ฉูดฉาด ซึ่งตรงข้ามกับความ “น้อย” ของซันเต๋อ แต่สไตล์งานของซันเต๋อก็ไม่ได้ไหลไปตามสิ่งแวดล้อม

“โชคดีตรงที่เราไปเห็นงานอย่างนั้นแล้วเราไม่ไหลไปตามงานพวกนั้น เราพยายามหาทางที่งานเราจะโดดเด่นในหมู่คนที่เขาวาดเยอะ ๆ”

คนที่ได้ชมผลงานของซันเต๋อมักจะบอกว่า งานของเขาเหงา ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าไม่เคยพูดเอง แต่คนอื่นบอกอย่างนั้น เขาบอกว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนขี้เหงามากมายขนาดนั้น แต่ก็ยอมรับว่ามีบางรูปที่วาดจากความเหงาจริง ๆ และยอมรับว่าชีวิตที่นิวยอร์กเหงาและนอยด์กว่าชีวิตที่เมืองไทย ซึ่งความเหงา ความนอยด์ในช่วงนั้นก็มีผลต่องานที่เหงาขึ้นกว่าแต่ก่อน

“มันก็เหงากว่าไทย เพราะว่าอยู่ที่นี่เรามีตัวตน มีคนรู้จักงานเรา แต่ไปอยู่ที่โน่นเราทิ้งทุกอย่าง เริ่มใหม่ มันนอยด์หลายอย่างครับ เรื่องค่าใช้จ่ายด้วย ค่าใช้จ่ายที่นิวยอร์กมันสูง อยู่ไทยเราใช้เงินได้สบายกว่านี้ แต่พอไปอยู่ที่โน่น ไหนจะค่าเช่าบ้าน ต้องส่งเงินกลับมาผ่อนบ้านที่ไทย งานที่นิวยอร์กมันมีการแข่งขัน เราไม่ใช่คนที่ได้งานที่นิวยอร์กเสมอไป งานส่วนใหญ่ที่ผมทำก็เป็นงานจากไทย มันนอยด์หลายอย่างครับ ภาษาเราก็ไม่เก่ง เพื่อนน้อยลง สมมุติร้อยคนที่ไทย ไปอยู่ที่โน่นอาจจะเหลือสองคน อาจจะรู้สึกนอยด์ว่าหลายอย่างมันน้อยลงกว่าตอนที่อยู่ไทยมาก”

กับภาพจำที่คนจดจำว่างานซันเต๋อต้องมินิมอล เจ้าตัวอธิบายขยายความว่า

“เราไม่ได้ใช้สไตล์มินิมอลทุกงาน เราต้องดูก่อนว่างานนี้ควรวาดเยอะหรือวาดน้อย มันก็มีหลายงานที่ผมวาดเยอะมาก บางงานเราทิ้งสเปซได้ ขึ้นอยู่กับว่างานนั้นเหมาะกับสไตล์ไหน แต่โดยส่วนตัวผมชอบงานมินิมอล มันน่าจะมาจากการแต่งตัว หรือทุกอย่างที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ผมคิดว่ามันมาจากที่ผมไม่ชอบอะไรรก ๆ ผมชอบอะไรสะอาด ๆ และผมชอบงานสเปซเยอะ ๆ รู้สึกว่าอะไรมันไม่จำเป็นเราก็ไม่ต้องใส่เข้ามาในงานเรา”

ช่วงที่อยู่นิวยอร์ก ซันเต๋อได้รับคำชวนจากเพื่อน 2 คนให้ทำแบรนด์ด้วยกัน จึงเกิด Suntur Store ที่กล่าวไปแล้วข้างต้น โดยเพื่อนสองคนเป็นฝ่ายจัดการ บริหาร ประสานงาน ทำการตลาด การขาย ประชาสัมพันธ์ แล้วปล่อยให้ซันเต๋อ มีอิสระเต็มที่ในด้านการออกแบบ

“คือเราอยากต่อยอดงานวาดของเราออกไป เพราะเราวาดเป็นงานเฟรมจะมีแค่คนเดียวที่สามารถซื้องานเราได้ เรารู้สึกว่าอยากให้งานมันเป็นมากกว่าเฟรมไปติดบ้านรูปเดียว ฉะนั้น มันก็จะออกมาเป็นเคสโทรศัพท์ เป็นกระเป๋า เป็นอะไรที่ใช้ในชีวิตประจำวันได้”

จากนักวาดภาพมาสู่การทำแบรนด์ ซันเต๋อบอกว่า ต้องศึกษาใหม่หมด รวมถึงเพื่อนอีก 2 คนที่เรียนด้านมาร์เก็ตติ้งก็ต้องศึกษาใหม่เช่นกัน

“สมมุติว่าจะเข้าไปขายที่หนึ่ง เราต้องมีความรู้ว่าเราจะทำยังไง เข้าไปยังไง เราต้องทำยังไง ใครคือคนที่จะซื้อเรา เราก็พยายามคุย เราไม่รู้ว่ามันถูกหรือผิด เราไม่เคยทำเรื่องขายของ แต่เราก็เอาหลักจากการที่เราเคยทำโฆษณามาปรับใช้ ทำยังไงให้ของเราน่าสนใจ ทำยังไงให้เราเป็นแบรนด์ที่มีตัวตน ซึ่งเพื่อนสองคนก็แนะนำ อย่างการตั้งชื่อแบรนด์ เพื่อนบอกว่าก็เอาชื่อเราเป็นชื่อแบรนด์เลย เพราะว่ามีคนรู้จักอยู่แล้ว”

ซันเต๋อ เปิดเผยว่า สินค้าที่ขายดีที่สุดของแบรนด์ คือ กระเป๋าผ้า ส่วนเรื่องรายได้ไม่สามารถเปิดเผยได้ บอกได้เพียงว่ารายได้จากแบรนด์ไม่ดีเท่ากับอาชีพรับวาดภาพประกอบ แต่เขารู้สึกว่าการทำแบรนด์มันเติมเต็มอะไรบางอย่าง และมีส่วนส่งเสริมอาชีพรับวาดภาพประกอบที่เป็นรายได้หลัก

“มันช่วยส่งเสริมตัวเราด้วย ถ้าพูดในมุมอาชีพ เพราะคนที่จะมาจ้างงานบางคนเขามาเห็นโปรดักต์ว่างานเราไปอยู่ในกระเป๋าผ้าแล้วมันโอเค ถ้าเขาเป็นแบรนด์สินค้าที่ทำกระเป๋าผ้า เขาก็อาจจะมาจ้างเราได้”

ถามถึงผลงานที่คิดว่าเป็นมาสเตอร์พีซ เขาตอบได้ทันทีว่า “ตอนนี้ผมชอบงานเพนติ้งที่จัดนิทรรศการ Zero Decibel ครับ มันเป็นงานที่มาจากตัวเราร้อยเปอร์เซ็นต์ คือก่อนหน้านี้ผมทำงานให้ลูกค้าตลอด เพราะฉะนั้น งานมันไม่ได้ออกมาจากความคิดเราร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว มันต้องโดนลูกค้าบรีฟ แต่งานนี้มาจากความคิดเราร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วก็คิดว่าติดใจ มันเป็นงานที่เหนื่อยมาก บางงานแก้เป็นเดือนเลยเพราะเรายังไม่ถูกใจ แต่พอทำเสร็จไปแล้วรู้สึกว่าอยากทำอีก”

ตอนนี้หลังแจ้งเกิดมาประมาณ 8 ปี ซันเต๋อในวัย 29 ย่างเข้า 30 ยังเป็นนักวาดภาพประกอบที่มีงานแน่น ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าก็ต้องมีการปฏิเสธลูกค้าบ้าง “งานไหนที่ผมไม่อยากทำ ผมรู้สึกว่าวาดไปก็ไม่ใช่เป็นงานที่เราภูมิใจ มันจะมีบางโจทย์ที่ไม่อยากทำ เราก็จะเรียกราคาสูงหน่อย ให้มันคุ้มกับที่เราต้องเครียด ถ้าเขาสู้เราก็พร้อมจะสู้เหมือนกัน” และเขาเปิดเผยอีกว่า งานที่ไม่อยากทำคืองานขององค์กรที่สตริกต์รูปแบบมาก ๆ ทำให้ไม่ได้ปล่อยไอเดียของตัวเอง

อนาคตระยะยาวซันเต๋อบอกว่า เขามีเป้าหมายอยากเป็นศิลปิน “อยากทำงานไฟน์อาร์ต เพนต์รูปขาย อยากทำเป็นอาชีพ ผมมองว่างานภาพประกอบ พอเราอายุมากเขาก็คงจะไปจ้างเด็ก ๆ ผมมองศิลปินกับนักวาดภาพประกอบต่างกันตรงที่ศิลปินยิ่งแก่ยิ่งขลัง แต่นักวาดภาพประกอบ ยิ่งแก่ยิ่งไม่สดใหม่ คนที่เขาจ้างนักวาดภาพประกอบ เขาอาจจะอยากได้อะไรที่สดใหม่ตลอดเวลา”

ส่วนในอนาคตอันใกล้ ๆ นี้ อีกหนึ่งผลงานใหญ่ของซันเต๋อกำลังจะเกิดขึ้น คือผลงานการออกแบบภาพประกอบให้กับสำนักพิมพ์มติชน รวมถึงออกแบบปกหนังสือใหม่ 2 เล่ม ที่จะเผยโฉมให้เห็นกันในงานมหกรรมหนังสือฯเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ …งานมินิมอลของซันเต๋อกับสำนักพิมพ์ที่ทำหนังสือเนื้อหาหนักและจริงจังอย่างมติชน จะผสานกลมกลืนกันอย่างไร นี่คือสิ่งที่น่าติดตาม