มองความสัมพันธ์คู่รัก ผ่านปรากฏการณ์ “คบซ้อน” ของคนดัง

 พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง
ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานอกจากข่าวการบ้านการเมืองที่กำลังเป็นที่สนใจ ฝั่งวงการบันเทิงก็มีข่าวใหญ่ยึดพื้นที่สื่อตลอดหลายวันเช่นกัน กับข่าวของนักร้องอารมณ์ดี “ป๊อป-ปองกูล” คบซ้อนแฟนสาวนอกวงการเป็นเวลาถึง 10 ปีเต็ม และก็ไม่ใช่แค่ป๊อปเท่านั้น แต่ยังมีกรณีดาราสาวฝั่งอโศก “ญิ๋งญิ๋ง-ศรุชา” ที่ออกมาเปิดใจทั้งน้ำตาถึงสาเหตุการเลิกรากับนักร้องเลือดอีสาน “ตูมตาม-ยุทธนา” ว่าเกิดจากเรื่องของมือที่สามเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เรานึกไปถึงความสัมพันธ์ฉันคู่รักในสังคมสมัยใหม่ เพราะไม่ใช่แค่คนบันเทิงเท่านั้น แต่การคบซ้อนหรือมีบุคคลที่สามเข้ามาเอี่ยวยังพบได้จากคู่รัก

คนธรรมดาทั่วไปอีกมากมาย ทั้งหมดจึงเป็นที่มาของคำถามที่ว่า ทำไมความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนจึงไม่เพียงพอ เพศชายมีโอกาสนอกใจมากกว่าเพศหญิงหรือไม่ มีวิธีการป้องกันไม่ให้คู่รักของเรานอกใจหรือเปล่า ซึ่งวันนี้ “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” จะพาทุกท่านไปสำรวจ เรียนรู้ และหาคำตอบที่ว่าพร้อม ๆ กัน

 

นั่งไทม์แมชีน-ย้อนวิวัฒนาการเรื่อง “เพศ”

นิยามตัวตนของเพศชายที่เรามักได้ยินกันอย่างผู้ชายไม่รู้จักพอ เพศชายมักมาก เหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาเรื่องเพศตั้งแต่อดีตกาล โดย ดร.ภัคนันท์ จิตต์ธรรม อาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาสังคม คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้พาเราย้อนไทม์ไลน์เรื่องเพศไปตั้งแต่ช่วงเวลาที่โลกยังไม่มีฐานคิดว่าด้วยเรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว”

ดร.ภัคนันท์เล่าว่า แพตเทิร์นชีวิตคู่แบบผัวเดียวเมียเดียวเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ หากกลับไปดูในเชิงชีววิทยาตั้งแต่หลายพันปีก่อนจะพบว่า ผู้หญิงเป็นเพศที่ต้องใช้เวลาในการสืบพันธุ์นานกว่า ต้องตั้งครรภ์-เลี้ยงดูบุตรเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี ต้องเป็นคนพยุงครอบครัว และได้รับความคาดหวังจากสังคมในฐานะ “แม่” สูงกว่าเพศชายในบทบาทพ่อ

หากดูบทบาทหน้าที่ในแง่นี้แล้วผู้ชายจึงมีหน้าที่ในการขยายพันธุ์ โดยเป็นผู้ให้สเปิร์มกับผู้หญิง กล่าวคือ ในเชิงวิวัฒนาการวิธีที่จะขยายพันธุ์ได้มากที่สุด คือการให้สเปิร์มกับผู้หญิงหลาย ๆ คน ผู้ชายจึงไม่รู้สึกว่าการมีคู่รักทีละหลายคนเป็นเรื่องผิดแผกอะไร แต่เมื่อผ่านเวลามาถึงยุคที่ผู้หญิงเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตนมากขึ้น การกำหนดบรรทัดฐานทางสังคมอย่างการมีผัวเดียวเมียเดียวจึงกลายเป็นวิธีแก้ปัญหาตรงนี้

แม้ปัจจุบันค่านิยมการมีคู่รักทีละหลายคนจะไม่ได้รับการยอมรับในระดับสากลแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรอบคิดแบบดั้งเดิมได้กลายเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ “สังคมชายเป็นใหญ่” นั่นเอง ความเหลื่อมล้ำทางเพศก็ยังมีให้เห็นกันอยู่

“ธรรมชาติทางเพศก็ยังไม่เปลี่ยนแปลง ผู้ชายยังมีหน้าที่ให้สเปิร์มอยู่ แต่ถามว่าเราจะนำตรงนี้มาแก้ต่างให้กับเพศชายได้หรือไม่ เพราะในปัจจุบันผู้ชายที่สามารถปฏิบัติตามหลักผัวเดียวเมียเดียวก็มีอยู่มากมาย”

 

“คอมมิตเมนต์” ความมั่นคงปลอดภัยในความสัมพันธ์

ด้าน ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ หัวหน้าศูนย์สุขภาวะทางจิตอาจารย์ประจำสาขาวิชาจิตวิทยาการปรึกษา คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายความรักของบุคคลในเชิงจิตวิทยาว่า พื้นฐานความรักที่ทำให้มีความสุขประกอบไปด้วยความอบอุ่น ความตื่นเต้น และความรู้สึกคอมมิตเมนต์ คำถามที่อาจารย์ชวนคิดก็คือ สุดท้ายแล้วความรักเป็นไปเพื่ออะไรกันแน่

“จริงอยู่ที่ความตื่นเต้นเป็นส่วนหนึ่งของความรัก แต่ถ้าเราหยุดอยู่ที่ความตื่นเต้น ไม่ให้โอกาสตัวเองคอมมิตกับใครหรือเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ โอกาสที่จะเจอความปลอดภัยมั่นคงกับใครสักคนก็คงยาก หลายคนอยากได้ความหวือหวาตื่นเต้นเลยไปแสวงหาจากบุคคลที่สาม แต่สิ่งนี้ไม่ได้คงอยู่ตลอดไป เมื่อคบหากับใครไปนาน ๆ ความหวือหวาตื่นเต้นจะลดลง ถ้าเราไม่ให้โอกาสตัวเองคอมมิตกับใครยาว ๆ ความรักในเชิงส่งเสริมเกื้อกูลกันและกันก็ไม่เกิด”

นอกจากนี้อาจารย์ณัฐสุดายังชี้ให้เห็นถึงคำศัพท์เกิดใหม่แห่งยุค อย่าง “คนคุย” ที่เกิดจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้การติดต่อสานสัมพันธ์เกิดขึ้นได้ง่าย เมื่อการพบคนใหม่ ๆ ไม่ใช่เรื่องยาก ความลังเลใจไม่พร้อมผูกมัดคอมมิตกับใครอีกคนหนึ่งจึงเกิด เพราะหากคนนี้ไม่ใช่ เราก็สามารถเปลี่ยนคนคุยไปได้อีกเรื่อย ๆ สุดท้ายทั้งสองอาจจะแยกทางกันไปทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มต้น แต่ถามว่าการไม่นิยามด้วยคำว่าแฟนสามารถหักห้ามไม่ให้ความรู้สึกเราก้าวล่วงไปมากกว่านั้นได้จริงหรือไม่

“จากทฤษฎีจะตั้งคำถามว่า เรามองตัวเราและมองคนที่มีความสัมพันธ์ด้วยอย่างไร ถ้าเรามองตัวเองมีคุณค่า มองอีกฝ่ายว่าเป็นที่พึ่งพิงได้ มันก็เป็นความสัมพันธ์ที่ดีได้ แต่บางครั้งเราไม่มีความมั่นใจ ไม่เชื่อว่าอีกคนพึ่งพิงได้ เมื่อมีความทุกข์ก็กั๊กไว้ไม่อยากปล่อยใจไปตามความรู้สึก เพราะถ้าคอมมิตไปแล้วคนนี้ทำร้ายความรู้สึกเรา ก็ยิ่งเจ็บสิ แต่ความรักก็เป็นเรื่องพาราดอกซ์ ถามว่าจริง ๆ แล้วเรายับยั้งความเจ็บได้มั้ย ก็ไม่ได้ แล้วไอ้ความกลัวคอมมิตเนี่ยลึก ๆ แล้วเรารู้สึกผูกพันหรือเจ็บมั้ยในบางเหตุการณ์ที่เขาทำ เราก็รู้สึก กลายเป็นความย้อนแย้งในความสัมพันธ์ที่สลับซับซ้อนขึ้นเรื่อย ๆ”

 

เลือกคนที่ “เหมาะสม” แต่ “ไม่ใช่” หนึ่งสาเหตุนอกใจ

ปัญหาระหว่างคู่รักที่เกิดขึ้นนอกจากเหตุผลสุดคลาสสิกอย่างทัศนคติไม่ตรงกันแล้ว เหตุผลส่วนตัวอย่างเรื่องเซ็กซ์ก็นับว่าเป็นประเด็นใหญ่เช่นกัน หลายคู่เลือกที่จะแยกทางกันไป หรือบางคู่มองว่าคู่ของตนดีพร้อมทั้งรูปร่างหน้าตา ฐานะทางการเงิน และประวัติครอบครัว แต่เรื่องบนเตียงกลับไม่สามารถตกลงได้ ทำให้ต้องไปแสวงหาตรงนี้จากบุคคลที่สามมาเต็มเติม ซึ่งตรงนี้ ผศ.ดร.ณัฐสุดามองว่าไม่แฟร์อย่างยิ่ง การหลบเลี่ยงปัญหาในลักษณะนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้

“บางคนคิดว่าคนที่เราเลือกเป็นคนที่เหมาะสมด้วยคุณสมบัติที่ดีหลายอย่าง แต่จุดที่ขาดไปก็รู้สึกว่าสำคัญและต้องการ เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องจบความสัมพันธ์กับคนแรกเลยเลือกที่จะไปตามหาส่วนที่ขาดจากคนอื่นแทน ซึ่งถ้าคนแรกไม่ใช่จริง ๆ ก็ควรที่จะหยุดความสัมพันธ์ไปเริ่มต้นใหม่ ไม่ว่าจะผู้ชายหรือผู้หญิงต้องทำความเข้าใจว่าทุกคนเท่าเทียมกัน ต้องไม่คิดว่าใครเป็นชอยซ์ของใคร”

อาจารย์ณัฐสุดายังชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของบางคู่ที่ตกลงคบหากันแบบ “สามคนผัวเมีย” ด้วยว่า การที่เราอยู่กับความสัมพันธ์แบบนี้ได้ต้องกลับมาทบทวนก่อนว่า เกิดจากความต้องการของตัวเราเองจริงหรือไม่ หรือยอมรับในสถานะนี้เพียงเพราะกลัวจะสูญเสียคนรักไปกันแน่

 

การสื่อสาร : ปัจจัยสำคัญของชีวิตคู่

“ความสัมพันธ์ที่สื่อสารกันได้คือความสัมพันธ์ที่เฮลตี้ที่สุด” ผศ.ดร.ณัฐสุดาให้คำตอบกับปัญหารักซ้อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งอาจารย์มองว่า การสื่อสารพูดคุยกัน คือสิ่งสำคัญที่สุดในทุก ๆ ความสัมพันธ์ โดยเฉพาะกับคู่รักหรือคู่ชีวิต เพราะความสัมพันธ์ที่ดีต้องเป็นความสัมพันธ์ที่ให้เกียรติให้คุณค่า เกื้อหนุนกัน ให้ต่างฝ่ายมีโอกาสเติบโต และพัฒนาตัวเองอย่างเต็มที่ หากมีอะไรไม่เข้าใจต้องปรึกษาพูดคุยกันได้ สื่อสารกันได้ นี่คือสัญลักษณ์ความสัมพันธ์ที่เฮลตี้ที่สุด แต่ถ้าเราเลี่ยงปัญหาด้วยการขมวดทิ้งไว้ และไปสร้างความสัมพันธ์อื่น ๆ แทนที่ ความเฮลตี้ในระยะยาวจะไม่เกิดขึ้น

ตรงกับที่ ดร.ภัคนันท์บอกว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือคู่รักต้องสื่อสารกัน ต้องตกลงกันดี ๆ ตั้งแต่แรก แต่เอาเข้าจริงแล้วไม่มีคู่รักคู่ไหนที่จะมาแจกแจงกฎเกณฑ์การคบกันตั้งแต่เริ่มต้นว่า

เธอต้องทำแบบนี้ หรือห้ามทำแบบนั้น ส่วนใหญ่เราจะคาดหวังจากภายในเองมากกว่า ฉะนั้นหากเกิดเรื่องจนถึงจุดที่ไม่พึงพอใจก็ควรจะเปิดอกคุยกัน ขีดเส้นให้ชัดเจน บางกรณีคู่รักทราบเรื่องแต่เลือกที่จะไม่พูดและปล่อยไปเรื่อย ๆ ก็นับเป็นการเสริมแรงอีกทางเช่นกัน

“ความสัมพันธ์ของคนสองคนจึงขึ้นอยู่กับความหนัก-เบา ไดนามิกระหว่างกัน ไม่มีสูตรตายตัวว่าอีกคู่แก้ปัญหาด้วยวิธีแบบนั้นแล้วคู่เราจะประสบความสำเร็จด้วย สิ่งสำคัญคือ open communication ต้องเข้าใจบุคลิกภาพของคู่เราก่อนว่าต้องสื่อสารแบบไหน มีการประนีประนอมเกิดขึ้นหรือไม่”

ฉะนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักจึงต้องเป็นการคุยกัน ปรับความเข้าใจกัน และที่สำคัญคือคนนอก คงไม่มีวันรู้ดีไปกว่าคนในความสัมพันธ์ว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหาเหล่านั้นเกิดจากอะไร และต้องหาทางแก้อย่างไร