ความสำเร็จของ “พ่อเหว่ง-แม่ตุ๊ก” แห่ง Little Monster เพจเลี้ยงลูกที่มีผู้ติดตาม 2.3 ล้านคน

พิราภรณ์ วิทูรัตน์ : เรื่อง

ในยุคที่มีเพจเฟซบุ๊กและช่องยูทูบเกิดขึ้นมากมาย ยุคที่ใคร ๆ ก็สามารถสร้างรายได้จากการตั้งเพจเปิดแชนเนลของตัวเองได้ทั้งรีวิวอาหาร-หนัง-เพลง หรือจะเป็นเพจบิวตี้บล็อกเกอร์รีวิวเครื่องสำอางก็มีอยู่หลายสิบเพจ ในจำนวนที่ว่าเราเห็นจะมีอยู่เพจเดียวที่ออกจะแหวกแนวไปจากคนอื่น ๆ ซะหน่อย

“Little Monster” คือเพจที่เรากำลังพูดถึง

สิ่งที่น่าสนใจสำหรับ Little Monster คือเจ้าของเพจไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียง ไม่ใช่เน็ตไอดอล ไม่เคยมีผลงานในวงการมาก่อน แต่ปัจจุบัน Little Monster ได้รับความนิยมจนมียอดกดไลก์ทะยานไปถึง 2.3 ล้านไลก์เข้าไปแล้ว ! “ดีไลฟ์-ประชาชาติธุรกิจ” พูดคุยกับ “พ่อเหว่ง-แม่ตุ๊ก” สองสามีภรรยาผู้ปลุกปั้นเพจและช่องยูทูบ Little Monster ทั้งในฐานะของคนทำเพจที่ประสบความสำเร็จ และคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่

ตุ๊ก-นิรัตน์ชญา การุณวงศ์วัฒน์ หรือ “แม่ตุ๊ก” ชื่อที่แฟน ๆ เรียกกันติดปากตามลูก ๆ ของเธอ เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเปิดเพจว่า หลังจากคลอดลูกคนแรกเธอมีอาการซึมเศร้าหลังคลอด (baby blues) ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านชอบค้นคว้ามาตั้งแต่เด็ก จึงทำให้รู้อาการของตัวเองเร็ว เมื่อพบแพทย์แล้วคุณหมอได้แนะนำให้เธอหากิจกรรมที่ชอบทำเพื่อเป็นการผ่อนคลาย จนในที่สุดตุ๊กได้พบกับการเขียนเพจเฟซบุ๊กที่มีจุดเริ่มต้นจากการไม่เจอเพจใดตอบโจทย์กับความต้องการของตัวเธอเองเลย


“ส่วนตัวตุ๊กเป็นคนชอบเขียนชอบโพสต์ในเฟซบุ๊กยาว ๆ อยู่แล้ว พอเราป่วยก็ลองเสิร์ชหาเพจที่ตรงกับความต้องการของเรา ปรากฏว่าไม่มีเลย ไม่มีเพจไหนพูดถึงภาพของคนเป็นแม่แบบที่เราเผชิญ ทำไมตามสื่อมีแต่ภาพบทบาทแม่ที่ให้ความรู้สึกสวยงามล่ะ ไม่เห็นมีแม่โทรม ๆ เลยก็ยิ่งรู้สึกหดหู่ไปอีกว่าทำไมไม่เหมือนที่เขาบอก เลยลองปรึกษากับพี่เหว่งดูว่าเราจะทำเพจนะ พี่เหว่งเขาก็สนับสนุน เราทำคอนเทนต์ พี่เหว่งทำกราฟิกช่วยวาดภาพประกอบ ก็เริ่มมาจากตรงนั้น”

เมื่อถามว่าช่วงแรกทั้งคู่ตั้งเป้าเพจไว้ประมาณเท่าไหร่ เหว่ง-ภูศณัฎฐ์ การุณวงศ์วัฒน์ ถามเรากลับทันทีว่า “จะให้ผมบอกจริง ๆ มั้ยว่าตุ๊กคาดหวังเท่าไหร่ ตุ๊กตั้งไว้ 5 พันเท่านั้นแหละ ผมเลยบอกตุ๊กว่าถ้าจะหวังแค่นี้อย่าทำ พี่ตั้งให้เลย 1 แสน” 1 แสนไลก์สำหรับคนธรรมดาที่เพิ่งเปิดเพจได้ไม่นาน

ตุ๊กบอกว่าดูเป็นจำนวนตัวเลขที่ไกลตัวมาก และไม่เคยคิดว่าเพจจะมาไกลแตะหลักล้านได้อย่างทุกวันนี้ แต่ด้วยความที่เหว่งเป็นคนชอบตั้งเป้าสูงไว้ก่อน ประกอบกับตุ๊กออกจากงานมาเลี้ยงลูกเต็มตัว เขาจึงแนะนำให้ภรรยาทำเพจอย่างเอาจริงเอาจังระหว่างนี้ไปเลย

“เราอยู่สายอาชีพนี้มา ทำพวกกราฟิกงานแอนิเมชั่น รู้ว่านี่มันคือการสร้างแคแร็กเตอร์ พอถึงจุดหนึ่งผมเห็นแล้วว่ามันต่อยอดได้อีกนะ ซึ่งก็ไม่รู้หรอกว่าจะเลี้ยงตัวเราได้ขนาดนั้นหรือเปล่า คิดแค่ว่าดีเหมือนกัน ตอนนั้นตุ๊กก็ไม่ได้ทำงานอะไร ถ้ามันเป็นรายได้ของตัวเขาเองได้มันก็ดี ปรากฏว่าเดือนหนึ่งยอดไลก์เพจปาไปหมื่นกว่าแล้ว เลยบอกเขาว่านี่ไงตั้งทำไม 5 พัน ทำให้จริงจังไปเลย คำว่าจริงจังไม่ได้แปลว่าเราจะหาเงินแต่ให้เขามีอะไรทำเรื่อย ๆ แล้วเขาก็สนุกกับมัน ตุ๊กเป็นคนเนี้ยบ ต้องเป๊ะ ถ้าไปกดดันว่าต้องอัพเพจสม่ำเสมอนะ เขาจะกดดันตัวเองอีกว่า เฮ้ย วันนี้ไม่มีอะไรลงเลย เราเลยบอกว่าถ้างั้นตุ๊กต้องทำสต๊อกคอนเทนต์ที่เป็นภาพนิ่งการ์ตูนไว้เยอะ ๆ หน่อยสัก 30 ภาพละกัน พอเปิดเพจก็ดึงที่คิดว่าดีที่สุดมา เราก็ช่วยกันวางแผน ผมวาดภาพช่วยวางสเต็ปของเพจ ตุ๊กเขียนเก่ง เรียบเรียงเก่งก็ทำคอนเทนต์ไป”

ถ้าใครติดตาม Little Monster ตั้งแต่แรกจะพบว่า คอนเทนต์ส่วนใหญ่เป็นการลงรูปการ์ตูนทั้งหมด หรือหากเป็นรูปถ่ายจริง ๆ ก็จะเห็นแต่ด้านหลังเท่านั้น ซึ่งการตัดสินใจเปิดหน้าครอบครัวทั้งพ่อเหว่ง แม่ตุ๊ก น้องจิน และน้องเรนนี่ ก็กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเพจ รวมถึงการขยายช่องทางการสื่อสารกับแฟน ๆ ไปสู่แพลตฟอร์มอื่นอย่างยูทูบด้วย จากเดิมที่เพจมียอดกดไลก์ 8 แสน หลังจากปล่อยคลิปวิดีโอตัวแรก Little Monster ก็พุ่งทะยานสู่ 1 ล้านไลก์ภายใน 2-3 วันเท่านั้น

“ก่อนหน้านั้นเราทำแอนิเมชั่นเป็นช่วงที่ยุ่งมากเหนื่อยมาก พอหนังจบก็รู้สึกว่าพอแล้วไม่อยากทำแล้วเลยออกมาอยู่บ้าน ตอนนั้นไปส่งจินที่โรงเรียนตุ๊กก็บอกว่าลองถ่ายรูปถ่ายวิดีโอดูมั้ยล่ะ เพราะเขาเห็นเราเล่นกับลูกเหมือนเล่นกับลูกชาย แต่นี่เป็นลูกสาว ก็ตั้งกล้องโทรศัพท์มือถือถ่ายส่งให้ตุ๊กดู เขาบอกเอาแบบนี้แหละ หลังจากนั้นก็ทำคลิปจ่ายตลาดในหมู่บ้าน ปรากฏว่าพอปล่อยลงไปมีคนสนใจเยอะ อาจจะด้วยองค์ประกอบหลายอย่างทั้งพ่อคุยกับลูกสาว เอากล่องทิสชูมาทำเป็นโทรศัพท์ ลูกถามแม่เป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งทั้งหมดไม่มีการเซตอัพอะไรเพราะเราก็ไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นนักแสดง คนที่ดูเขาก็มองเห็นว่า เออ มันเรียล มันธรรมชาติ จินก็เป็นเด็กไทยนี่แหละแต่พูดภาษาอังกฤษได้สองสามคำ ก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นที่ว่า โอเคถ่ายวิดีโอก็ได้”

เหว่งบอกว่า จุดที่ทำให้ Little Monster เข้าไปนั่งในใจใครหลาย ๆ คนน่าจะมาจากความเรียลของคลิปที่ไม่มีการประดิษฐ์หรือเซตอัพ อาจจะบรีฟเด็ก ๆ บ้างว่าวันนี้จะทำอะไรกัน แต่คำพูดหรือบทสนทนาเป็นไปตามธรรมชาติของน้อง ๆ ณ ขณะนั้นเลย ซึ่งทุกครั้งเหว่งและตุ๊กจะอธิบายให้ลูก ๆ ฟังก่อนว่าจะทำกิจกรรมแบบไหน จะถ่ายคลิปอะไร หากเขาไม่อยากทำก็ไม่มีการบังคับ และส่วนใหญ่จะเลือกกิจกรรมหรือท็อปปิกที่ลูก ๆ รู้สึกเอ็นจอยไปด้วยอย่างทำขนมกับแม่ พูดภาษาอังกฤษด้วยกัน เป็นต้น

แน่นอนว่าการตัดสินใจเปิดหน้าลงโซเชียลด้วยจำนวนผู้ติดตามหลักล้านต้องมาพร้อมกับกระแสที่ถาโถมเข้ามาในชีวิตประจำวัน ซึ่งตรงนี้เหว่งเล่าว่า เขาเองก็เป็นห่วงความรู้สึกของเด็ก ๆ เหมือนกัน ทุกครั้งที่ออกจากบ้านไปไหนก็มักจะมีแฟนเพจเข้ามาขอถ่ายรูปกับน้อง ๆ ทางภรรยาเองก็เคยเสนอว่า ไม่ต้องถ่ายวิดีโอโดยมีเด็ก ๆ ออกกล้องแล้วดีมั้ย แต่เหว่งมองว่า หากทำแบบนั้นจะเหมือนเป็นการบล็อกลูกทั้งที่ในอนาคตพวกเขาก็ต้องเผชิญกับปัญหาเหล่านี้อยู่ดี

“เรารู้สึกว่ามาอยู่ตรงนี้แล้วจะกลับไปให้คนไม่รู้จักเลยก็ไม่ได้ สิ่งที่ทำได้คือควรจะบอกลูกมากกว่าว่า ควรจะทำอย่างไรกับแฟน ๆ ที่เข้ามา ต่อไปถ้าเขาโตขึ้นไม่มีใครสนใจเขาแล้วมันจะเป็นอย่างไร ส่วนวันนี้ถ้าเขาไม่อยากถ่ายเราก็ให้สิทธิ์เขา สอนเขาว่าหนูบอกได้เลยว่าไม่อยากถ่ายรูป แต่อย่าไปหน้าบึ้งใส่คนอื่นเพราะเขาชอบเราเขาชื่นชมเรานะ เราก็บอกว่าพี่ ๆ เขาไม่ได้เอาเราไปทำอะไรนะลูก เขาชอบเรา ไม่ต้องไปร้องไห้เสียใจ ผมว่าจริง ๆ แล้วการอธิบายถึงเหตุผลให้เขาโตขึ้นมันดีกว่าการที่เราจะไปบล็อกเขาไว้ว่า อันนั้นอย่านะ อันนี้อย่าเลย ตรงนี้ทำให้เขาโตขึ้นด้วย อย่างตัวเราตอนเด็ก ๆ เป็นคนไม่กล้าแสดงออกอะไรเลย นี่กลายเป็นว่าถ้าเขาปรับตัวได้ไปอยู่เป็นเวที ทำงานหาเงินได้ด้วย วันหนึ่งเขาใช้ชีวิตได้โอเคขึ้น มันก็เป็นปัญหาที่เราควรจะแก้”

มาถึงตอนนี้ Little Monster กลายเป็นที่รู้จักของคนนับล้านทั่วประเทศ จากงานอดิเรกสู่อาชีพทำเงินหารายได้อย่างเต็มตัว เหว่งเล่าทิศทางของ Little Monster ต่อจากนี้ให้ฟังว่า ต้องมีการเชื่อมโยงทั้งออฟไลน์และออนไลน์เข้าหากันและกัน ต้องคิดอยู่เสมอว่า คอนเทนต์ที่ดีทำอย่างไรให้มันออกมาดีและเป็นประโยชน์มากที่สุด

“ถ้าแยกเป็นแพลตฟอร์มตอนนี้มีเพจเฟซบุ๊ก ช่องยูทูบ ไอจี ถัดมาเป็นโปรดักต์ของกินหมูฝอยกับไส้กรอก มีโปรดักต์ของใช้-กิฟต์ช็อปเป็นเสื้อผ้า โปสการ์ด ในอนาคตจะมีสื่อการเรียนการสอน เป็นการ์ตูนที่ให้สารประโยชน์กับเด็ก ๆ พ่อแม่ดูได้สอนลูกได้ พวกนี้จะไปลิงก์กับร้านอาหารคาเฟ่ที่สามพรานเป็นช็อป Little Monster มีโซนให้คุณพ่อคุณแม่กับลูก ๆ ทำกิจกรรมได้ ตุ๊กเขา

รับผิดชอบเรื่องคอนเทนต์การเขียน เราทำไม่ได้อยู่แล้ว เราเขียนไม่เป็นก็คิดว่าจะทำอะไรที่เป็นธุรกิจ แล้วประกอบร่างขึ้นมาในระยะเวลายืนยาวได้ ไม่ใช่แค่คนตามลูกเราในเพจก็จบไป ทั้งหมดนี้จะวกกลับไปที่จุดเริ่มต้นของเพจ คือมูฟจากคนไปสู่การ์ตูนอีกครั้ง ทำให้คนดูทุกครอบครัวรู้สึกว่า การ์ตูน Little Monster นอกจากสนุกแล้วยังสอนลูก ๆ เขาได้ด้วย”

แม่ตุ๊กยังฝากทิ้งท้ายไว้ด้วยว่า ในการ์ตูน Little Monster ได้ให้น้องจิน ลูกสาวคนโตเข้ามามีส่วนร่วมพากย์ตัวการ์ตูนด้วย ซึ่งน้องจินเองก็รู้สึกสนุกแฮปปี้ว่านี่คือเสียงของเขา นับว่าเป็นอีกหนึ่งผลงานที่น่าจับตามอง และคงจะถูกใจเหล่าแฟน ๆ ไม่น้อยเลยทีเดียว